ใต้ร่มฉัตร

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ในวัยเยาว์ (ตอนที่ 2)

ใต้ร่มฉัตร
ใต้ร่มฉัตร

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ในวัยเยาว์ที่อยุธยา ทรงเป็นเด็กที่มีความซุกซน แก่นแก้ว ใช้ชีวิตอย่างสุขสงบ จนถึงวันที่สิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 6 พระชะตาชีวิตของท่านก็เริ่มเปลี่ยนไป…

หม่อมเจ้าการวิกทรงฆ้องวง เมื่อวัยเยาว์

2. วัยเด็กจอมซน

ตอนเด็กๆ ผมเป็นลูกที่อยู่ใกล้ชิดเสด็จพ่อมากที่สุด ด้วยความที่เป็นเด็กดื้อ ซน และชอบแกล้งผู้อื่น อย่างร้ายถึงกับเคยถูกพี่เปาเหวี่ยงลงจากนอกชาน เพราะไปด่าท่านเข้า เสด็จพ่อจึงทรงเอาไว้ใกล้ตัว ต่างกับเจ้าพี่องค์อื่นๆ ที่ทรงส่งเข้าวังมาอยู่ในพระอุปการะของเจ้าพี่ดวงแก้ว ซึ่งทรงทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจัดการในเรื่องต่างๆ แทนเสด็จพ่อ หรือไม่ก็ถวายให้บรรดาพระญาติผู้ใหญ่ตามวังต่างๆ ช่วยอบรมเลี้ยงดู หากเป็นชายก็จะถวายเป็นมหาดเล็ก หากเป็นหญิงก็ให้มีกิริยามารยาทเรียบร้อย เรียนรู้เรื่องการบ้านการเรือน ซึ่งเป็นธรรมเนียมหนึ่งของบรรดาเจ้านายในสมัยนั้นนิยมปฏิบัติ

ตอนนั้นผมยังป่าเถื่อน จึงยังไม่ทรงกล้าส่งไปไหน แต่แล้วเสด็จพ่อกับแม่ก็ยังเอาผมไว้ไม่ไหว ต้องมอบให้ยาย ซึ่งเป็นคนธรรมะธัมโมมาก คอยเลี้ยงดูผมเวลากินกับนอน ผมจึงผูกอยู่กับยาย ทุกคืนก่อนนอนยายจะสวดมนต์บทต่างๆ ยาวมากจนผมฟังเพลินหลับไป และผมก็จำบทสวดมนต์ต่างๆ ได้มาตลอด กระทั่งบางคนบอกว่าผมเหมือนคนเคยบวชเรียนมา ทั้งที่ผมไม่เคยบวชเรียนมา ทั้งที่ผมไม่เคยบวชเลย แล้วยายก็เป็นคนทำให้ผมกลายเป็นเด็กท่าจะดีกับคนอื่นเขาขึ้นมาได้

การที่ผมเป็นเด็กดื้อ ไม่ได้หมายความว่าเก่งกล้าอะไร กลับเป็นเด็กที่ขี้ขลาด กลัวกระทั่งกล้องถ่ายรูป ซึ่งสมัยก่อนเป็นกล้องใหญ่ๆ ตั้งบนขาหยั่ง ดูเหมือนสัตว์โบราณ และต้องใช้เวลานานในการถ่าย พอเขาเอาผ้าคลุมกล้องจะถ่ายทีไร ผมก็ร้องจ๊ากวิ่งหนี ทำให้ผมไม่มีรูปถ่ายตอนเด็กๆ เลย

กลอ้งถ่ายภาพแบบโบราณที่ หม่อมเจ้าการวิกทรงกลัว

อย่างหน้าน้ำ น้ำจะขึ้นสูงท่วมเสาเรือนเกือบถึงพื้น วันหนึ่งผมมองลงไปใต้ถุน คิดในใจว่าต้องมีอะไรแน่ๆ จึงก้มลงดู เห็นพญานาคตัวเบ้อเริ่ม มีหงอน มีเกล็ดลายกนกเหมือนรูปเขียนในโบสถ์ ก็ตกใจวิ่งร้องไปหายาย พอมาดูอีกที ปรากฏว่า เป็นงูเหลือมตัวใหญ่มาก นั่นเป็นจินตนาการกับความบ้าปนกัน ทำให้ผมเห็นเป็นพญานาค

หรืออย่างเวลาท้องฟ้ามืดครึ้ม มีพายุเมฆทะมึนมา ผมก็ร้องไห้กลัว วิ่งหนีเข้าไปคลุมโปงในห้องยาย ยายก็จะบอก “ท่านชายของยายเป็นคนเก่ง ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวยายจะเสกมีดอีโต้ไปตัดลมให้” แล้วยายก็พาออกไปทำท่าตัดลมตามทิศต่างๆ พร้อมกับสวดคาถากำกับด้วย คาถาที่สวดนั้นว่าอย่างไร ผมก็จำไม่ได้ แต่เห็นผลทันที คราวหลังมีลมพายุมาอีก ยายก็ให้ผมเป็นคนรำอีโต้แล้วสวดคาถาเอง ซึ่งวิธีที่ยายสอนนี้เท่ากับสอนให้ผมมีความกล้าและเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น

อีกเรื่องที่ผมจำได้ถึงความเก่งของยายคือ ผมเป็นโรคตาแดง มีขี้ตาเต็มตา ความเชื่อโบราณบอกห้ามส่องกระจกถึงจะหายเร็ว ถ้าส่องแล้วตาจะบอด เพราะเมล็ดข้าวในตาดำมันจะใหญ่ปิดตาดำจนมองไม่เห็น ด้วยความดื้อ ผมก็แอบไปส่องกระจกที่แขวนอยู่ แล้วก็ต้องร้องลั่นด้วยความตกใจที่เห็นขี้ตาเป็นเมล็ดข้าว ยายได้ยินก็ถามว่า

“ท่านชายแอบไปส่องกระจกมาใช่ไหม ไม่เป็นไร เดี๋ยวยายจะแก้ให้ ทีหน้าทีหลังอย่าดื้ออีก”

แล้วยายก็สั่งผมไปหาเมล็ดข้าวมา ๓ เมล็ดวางที่ขอบโต๊ะ ใช้อีโต้สับ เป่ามนตร์เพี้ยง บอกว่าหายแล้ว จากนั้นไม่นานผมก็หายจากโรคตาแดง ไม่รู้เป็นเพราะการรักษาความสะอาดหรือเวทมนตร์ของยาย แต่นั่นทำให้ผมเชื่อและศรัทธาในความเก่งของยายมากขึ้น

ความเป็นเด็กบ้านนอกที่อยู่ใกล้ชิดกับเรือยนต์ เขาทำอะไรผมก็ไปดูไปช่วย จึงทำให้ผมมีความชำนาญในการซ่อมแซมเครื่องยนต์ของเรือ และเดินเรือเป็นมาตั้งแต่อายุแค่ ๗ ขวบ เวลาเสด็จพ่อเข้ากรุงเทพฯ ต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีบางปะอิน ผมก็ออกเรือไปส่ง ทรงภูมิใจมาก และผมก็ท่องชื่อเรือยนต์หลวงได้ครบทั้ง ๔๐ กว่าลำ เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา (สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ) เสด็จพร้อมหม่อมแผ้ว (ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี) มาเยี่ยมเสด็จพ่อ หม่อมแผ้วก็สอนให้ผมท่องชื่อเรือพร้อมกับพิมพ์ดีดให้ดู ผมก็หัดพิมพ์เองจนสามารถพิมพ์ดีดได้ และผมก็หัดเขียนรูปเรือด้วย คนที่มาเห็นก็บอกว่าเหมือนเรือนั่นเรือนี่ ฯลฯ

สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กับหม่อมแผ้ว

วันหนึ่ง เสด็จอากรมหมื่นอนุวัตรฯ ซึ่งมักเสด็จโดยขบวนเรือตุ๊กๆ (เรือสูบเดียว) มาเยี่ยมที่ตำหนักท้ายเกาะบ่อยๆ รับสั่งให้ผมลองแข่งเรือกับพี่จักรพันธ์ (พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ โอรสของเสด็จอา) ตอนนั้นทรงมีชันษาราว ๑๖ ปี

พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์
พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในวัยหนุ่ม

เสด็จอาให้ผมขับเรือจักรเพชร เป็นเรือยนต์เล็กๆ ของท่าน ส่วนพี่จักรพันธ์ทรงขับเรืออภัยโทษ ซึ่งเป็นเรือลำยาว แล้วตรงท้ายเกาะต้องเลี้ยววงกว้างถึงจะเลี้ยวได้ ผมก็เลี้ยวตัดปรื้ดเลย เสด็จอาก็รับสั่งว่า

“อ้อ…เป็นมวย ไม่เลี้ยวโค้งตาม”

ในช่วงนั้นผมเคยตามเสด็จพ่อ ซึ่งต้องมาทำหน้าที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในยามที่เสด็จฯมาทรงทอดกฐิน ณ วัดวิเวกวายุพักตร์ อยู่บ้างไม่กี่ครั้ง แต่เฝ้าอย่างไกลๆ เพราะผมยังเด็ก ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปถึงชั้นใน และเป็นช่วงปลายรัชกาลแล้ว ความทรงจำเกี่ยวกับพระองค์ท่านจึงมีไม่มาก และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘

เมื่อผลัดแผ่นดินใหม่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ และในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ พร้อมพระมเหสี คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่ผมอย่างสูงสุด ดุจร่มเงาแห่งฉัตรที่ปกแผ่ให้ความอบอุ่นแก่ชีวิตผมตลอดมา

(ติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในวันศุกร์ที่ 7 เมษายน)  

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up