เปิด 3 เรื่องราวแสนพิเศษ ของผู้ที่เคยถวายงานรับใช้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างใกล้ชิด

เรื่องราวแสนพิเศษจากเหล่าทายาทของผู้ที่เคยถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดถ่ายทอดเป็นความประทับใจส่งต่อมายังรุ่นลูก และพวกเขายังได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

1หม่อมหลวงสราลี กิติยากร

คุณน้ำผึ้งเป็นธิดาคนเล็กของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร และเป็นพระขนิษฐาในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ซึ่งคุณพ่อของคุณน้ำผึ้งเป็นพระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ครอบครัวคุณน้ำผึ้งจึงมีโอกาสถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่สมัยเสด็จตา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

“ตั้งแต่อายุ 9 เดือน คุณพ่อกับท่านแม่ก็พาน้ำผึ้งตามเสด็จไปยังจังหวัดต่าง ๆ จำได้ว่าเมื่อตอนอายุประมาณ 7 – 8 ขวบ นั่งรถจี๊ปไปกับคุณพ่อและท่านแม่ตามเสด็จ สภาพถนนเป็นดินสีแดง เห็นชาวบ้านมาเฝ้าฯ รับเสด็จเต็มไปหมดแล้วอากาศร้อนมาก เราเป็นเด็ก เวลาเหนื่อยเพลีย มีงอแงบ้าง ท่านแม่ก็จะสอนว่า ต้องอดทน ๆ ไม่บ่น

“ภาพที่จำได้ติดตาคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประทับกับพื้น แล้วมีพระราชปฏิสันถารกับชาวบ้านอย่างไม่ถือพระองค์

“ตอนเด็ก ๆ เวลาเข้าวังหรือตามเสด็จ น้ำผึ้งและเด็ก ๆ รุ่นเดียวกันก็เล่นซนกันอย่างสนุกสนาน มีปีนพระตำหนักกันด้วย มีครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เด็ก ๆ เข้าเฝ้าฯ เพื่อทรงอบรม โดยรับสั่งว่า ‘ซนมากไปแล้วนะซนให้พ่อแม่ต้องเป็นห่วง ทำอะไรต้องรู้จักคิดนะ ถ้าเราเกิดตกลงไปแล้วแข้งขาหัก หรือบาดเจ็บ พ่อแม่จะรู้สึกอย่างไร’ ทรงพระเมตตามากไม่ได้ทรงทำให้กลัว แต่พวกเราจะรู้สึกเกรงในพระบารมีของพระองค์ท่านมากกว่า

“เวลาคุณพ่อเข้าเฝ้าฯถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านจะนำพระราชดำรัสมาสอนลูก ๆ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งบ่อยครั้งว่าเราต้องร้จู ักมีความเพียร มีความพยายาม ถ้าไม่มีจะหาความสำเร็จได้ยาก และเรื่องความพอเพียง เงินเหลือสลึงก็ให้เก็บใส่กระปุกออมสินสี่สลึงพึงบรรจบให้ครบบาท เราต้องรู้จักมัธยัสถ์ มีความเพียงพอและรู้จักอยู่อย่างพอเพียง แล้วเราจะอยู่อย่างสบาย พวกเราก็จะน้อมนำมาใช้และถ่ายทอดต่อไปยังลูกหลาน”

“ท่านแม่เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นน้ำผึ้งอายุประมาณ 10 เดือน เริ่มคลานและกำลังฝึกยืน จู่ ๆ น้ำผึ้งก็ค่อย ๆ เดินและคลานจากท่านแม่ไปยังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วไปเขย่าพระเก้าอี้ก่อนพูดภาษาเด็กว่า ‘จู่อั๋วจ๋า ๆ’ ก็คือ พระเจ้าอยู่หัว แล้วพระองค์ท่านก็ทรงอุ้มน้ำผึ้งขึ้นมากอด ทำให้น้ำผึ้งรู้สึกว่า เราโชคดีมากจริง ๆ”

มีอีกหลายเหตุการณ์สำคัญที่คุณน้ำผึ้งมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ และยังคงเก็บบันทึกเรื่องราวไว้ในความทรงจำไม่ลืม

“อีกครั้งตอนขอเข้าเฝ้าฯทั้งครอบครัว ตอนคุณพ่ออายุครบ 72 ปีพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อป่วยเป็นโรคหัวใจ ‘อย่าดื้อมากนักนะอ้วน ดูแลตัวเองด้วยนะ ผู้เป็นภรรยาและลูก ๆ เขายังต้องการคนที่ดูแลเขาอยู่ แล้วเขาเป็นห่วง อยากให้ผู้เป็นพ่อ ผู้เป็นสามีอยู่กับเขานาน ๆ’

แม้คุณน้ำผึ้งจะไม่มีโอกาสถวายงานโดยตรงเหมือนอย่างเสด็จตาคุณพ่อ และท่านแม่ แต่ก็พยายามหาโอกาสถวายงานในทางอ้อม

“น้ำผึ้งทำงานทางด้านบันเทิง เวลาได้ทำรายการเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริ หรือโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ทำให้ได้สัมผัสกับชาวบ้านในพื้นที่ จึงทราบว่าเขายากจนจริง ๆ เมื่อมีโอกาสเข้าไปเยี่ยม พวกเราจะซื้อของใช้จำเป็นพวกเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา อาหารและขนมไปแจกชาวบ้าน โดยใช้เงินส่วนตัว และมีผู้ร่วมสมทบเงินกับเราด้วย เวลาอยู่ในพื้นที่แล้ว น้ำผึ้งจะชอบสอนเด็ก ๆ ประมาณว่า ‘รักพระราชาเราไหม ถ้ารักพระองค์ท่าน วันนี้เราเป็นเด็กดีหรือยัง ต้องทำความดีนะในหลวงจะได้ภูมิใจ’

“เหตุที่พูดอย่างนี้ เพราะเมื่อสิบกว่าปีก่อน น้ำผึ้งเคยเข้าเฝ้าฯแล้วได้ยินพระองค์ท่านรับสั่งว่า‘การที่คนทำความดีให้เราก็เป็นสิ่งที่ดีเราก็ยินดี แต่เราอยากให้ทุกคนทำดีเพื่อตัวเองมากกว่าที่จะทำความดีให้กับเรา เพราะเมื่อทำแล้วประโยชน์สูงสุดจะเกิดกับตัวผู้ลงมือทำ’

“น้ำผึ้งทำอย่างนี้มากว่าสิบปีแล้ว มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ เพราะเมื่อเรามีส่วนในการช่วยสังคม เท่ากับมีส่วนได้ช่วยพระองค์ท่าน”

2ศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์

อดีตเอกอัครราชทูต บุตรชายคนโตของพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ อดีตเลขาธิการพระราชวัง และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กับท่านผู้หญิงกุณฑี ไกรฤกษ์ นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

“นามสกุลไกรฤกษ์ของเราได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เป็นตระกูลเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี และได้มีโอกาสเข้าถวายงานในพระราชวงศ์จักรีต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่สมัยคุณทวด คุณตา (พระยาอุดมราชภักดี)หรือคุณปู่ (พระยาประเสริฐศุภกิจ) ที่เข้าถวายงานแด่รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องมาถึงรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ และผม

“เริ่มจากคุณพ่อเริ่มเข้ารับราชการในพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตำแหน่งหัวหน้ากองมหาดเล็ก ช่วงที่ผมเรียนอยู่โรงเรียนวชิราวุธ จำได้ว่าตอนนั้นคุณพ่อแทบไม่อยู่บ้านเลย เสาร์อาทิตย์ก็ทำงานตลอด เพราะต้องตามเสด็จฯไปต่างจังหวัดและต่างประเทศบ่อยครั้ง กระทั่งอายุ 64 ปี ท่านล้มป่วยจึงต้องกราบบังคมทูลลา เพราะไม่สามารถถวายงานต่อไปได้ ส่วนคุณแม่ก็ถวายงานสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มาโดยตลอด เป็นภาพแห่งความประทับใจที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก และปลูกฝังความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เกิดในจิตวิญญาณของผม

“เมื่อผมจบการศึกษากลับมารับราชการ ณ กระทรวงการต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯทั้งสองพระองค์บ่อยครั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2518 สมเด็จพระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯให้ผมเป็นหัวหน้าคณะนำผ้าไหมมัดหมี่ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯไปเผยแพร่ ณ เมืองโอซากา ก่อนหน้าที่จะเสด็จฯไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นการเสด็จฯเพื่อทรงเผยแพร่งานศิลปาชีพในต่างประเทศเป็นครั้งแรก

“ผมจำเหตุการณ์ทุกครั้งได้อย่างขึ้นใจ ทั้งคราวไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตกัมพูชา ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เพราะทุกครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระบรมราโชวาท และพระราชทานแนวทางการเข้าถึงจิตใจของผู้คนในแต่ละประเทศได้อย่างแยบยล เช่น คราวเกิดเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐอเมริกา มีรับสั่งให้ผมรีบเดินทางไปปลอบขวัญและช่วยเหลือเขา ทรงพระอัจฉริยภาพมาก โดยเฉพาะด้านการแสดงความเห็นอกเห็นใจ

“อีกเหตุการณ์ที่ผมประทับใจเป็นอย่างมากคือ ทุกฤดูร้อนพระองค์ท่า่นเสด็จ ฯไปประทับที่หัวหิน เวลาที่ทรงเรือใบ คุณพ่อก็ร่วมแล่นเรือใบตามเสด็จด้วยตลอด และการที่ครอบครัวเรามีบ้านพักอยู่ที่หัวหินบางครั้งพระองค์ท่านเสด็จฯมาที่บ้าน ทรงเรือใบ หรือทรงดนตรีกับวง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งทำให้ผมได้รู้จักกับภรรยา (ม.ร.ว.เบญจาภา จักรพันธุ์ธิดาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ) ที่ตามเสด็จมาด้วยในฐานะนักร้องประจำวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์

“เมื่อตัดสินใจจะใช้ชีวิตร่วมกัน ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานน้ำสังข์สมรส จากนั้นทุกวันศุกร์ผมจะขับรถไปส่งภรรยากับวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์เป็นประจำ บางครั้งก็มีโอกาสนั่งฟังพระองค์ท่านทรงดนตรีด้วย

“ตลอดเวลาที่ผ่านมาครอบครัวทั้งฝั่งผมและภรรยารู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น โดยที่พระองค์ทรงพระกรุณาให้เราได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดและมีพระเมตตาแก่ครอบครัวเรามาตลอด

“เราจะขอแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่”

3ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร

คุณฝันเป็นบุตรสาวคนเดียวของท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตรคุณข้าหลวงคนแรกในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เธอจึงจดจำความประทับใจที่คุณแม่เล่าให้ฟังได้เสมอ

“ครอบครัวของเรามีโอกาสถวายงานพระบรมวงศานุวงศ์มาตั้งแต่รุ่นคุณตา พันตรี หลวงพลหาญสงคราม เป็นนายทหารใต้บังคับบัญชาของพันเอก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ต่อมาคือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระบิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) กระทั่งปี 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณตาไม่เห็นด้วยจึงไปเข้ากลุ่มกับกบฏบวรเดช และถูกยิงเสียชีวิตที่ทุ่งบางเขน ตอนนั้นคุณแม่ (ท่านผู้หญิงพึงจิตต์) อายุเพียง 2 ขวบ จึงไปอาศัยอยู่กับญาติ โดยมีท่านนักขัตรฯเป็นผู้ส่งเสียให้เรียนโดยทุกเดือนจะเข้าไปที่วังเทเวศร์เพื่อรับเงินจากคุณท้าววนิดาพิจาริณี[พระอัยยิกา (ยาย) ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ]

“กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหมั้นกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ิ พระบรมราชินีนาถ แล้วเสด็จกลับเมืองไทย ท่านนักขัตรฯ จึงทรงเรียกคุณแม่ให้เข้าไปพบที่วังและรับสั่งว่าให้มาอยู่กับสมเด็จพระราชินีซึ่งตอนนั้นคุณแม่อายุประมาณ 19 ปี แก่กว่าพระองค์ท่านเล็กน้อย เมื่อคุณ แมถามว่า่ ให้ทำอะไร ท่า่นนักขัตรฯก็รับสั่งเพียงว่าให้อยู่เป็นเพื่อนสมเด็จฯนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของคุณแม่ในการถวายงานในตำแหน่งคุณข้าหลวงคนแรกในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

“คุณแม่ตามเสด็จพระองค์ท่านไปทุกที่ตั้งแต่วันราชาภิเษกสมรสเป็นต้นมา ทั้งช่วงที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อเสด็จฯไปทรงเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการกว่า 27 ประเทศ โดยทำหน้าที่ดูแลฉลองพระองค์และรับใช้ส่วนพระองค์สมเด็จฯ ช่วงต่อจากนั้นเวลาเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎร คุณแม่ทำหน้าที่จดรายละเอียดทุกอย่าง ใครชื่ออะไร มีลูกกี่คน บ้านอยู่ไหน เพราะช่วงแรกยังไม่มีผู้ถวายงานมากนัก คุณแม่ต้องทำทุกอย่างให้ทั้งสองพระองค์ แม้ว่าโดยตำแหน่งจะเป็นคุณข้าหลวงสมเด็จฯ เพราะว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงเลือกใช้แต่คนคุ้นเคย คุณแม่จึงได้มาถวายงานรับใช้เรื่องแผนที่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานชั้น 3 มีห้องแผนที่ของพระองค์ท่าน ซึ่งแต่ละแผ่นนั้นมีรายละเอียดมากมาย เมื่อพระองค์ท่านจะเสด็จฯไปที่ใด คุณแม่ต้องไปนำแผนที่ของสถานที่นั้นมาถวาย หรือตามเสด็จไปด้วย

“หน้าที่หลัก ๆ ของคุณแม่คือ ถวายงานรับใช้เรื่องส่วนพระองค์คุณแม่เล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯทรงเห็นว่าห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรกมาก จึงมีรับสั่งให้คุณแม่เข้าไปจัด แต่คุณแม่เกรงว่าจะโดนกริ้ว หากพระองค์ท่านทรงหาของไม่เจอ เพราะว่าในห้องทรงงานมีของเยอะมาก และประทับทรงงานที่พื้น คุณแม่จึงใช้วิธีวาดแผนที่บอกตำแหน่งสิ่งของต่าง ๆ ที่จัดใหม่ตั้งไว้บนโต๊ะเป็นเหมือนลายแทงสมบัติ (ยิ้ม)

“อย่างที่ทราบกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานอย่างมากมาย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทุกภูมิภาค คุณแม่จะจัดกระเป๋า 4 ภาคเตรียมไว้ เช่น ถ้าเสด็จฯเชียงใหม่ ก็เตรียมเสื้อกันหนาว ถ้าเสด็จฯหัวหินก็เตรียมหมวกหรือเสื้อสีสด ๆ หลายคนอาจคิดว่าคนที่ทำงานในวังเป็นคนเรียบร้อย สำรวม แบบแม่พลอย แต่ความจริงชาววังถึกและแกร่งมากนะ (ยิ้ม) ทำงานกันทั้งวัน อย่างพระองค์ท่านเสด็จฯเยี่ยมราษฎรตามจังหวัดต่าง ๆ บางครั้งไปตั้งแต่บ่ายสามจนถึงสี่ห้าทุ่มยังไม่ได้เสวย ซึ่งพระองค์ท่านก็ไม่ทรงลุกหรือพักเลย อย่างมากก็เสวยลูกอม

“อย่างดิฉันเองมีโอกาสได้ตามเสด็จตั้งแต่เด็ก เพราะคุณแม่พาเข้าวังตั้งแต่อายุ 10 วัน เห็นคุณแม่ถวายงานทุกวัน ทุกปิดเทอมก็มีโอกาสตามเสด็จด้วย ไปเชียงใหม่กับหัวหินบ่อยที่สุด เพราะมีช่วงปิดเทอมนานหน่อย ซึ่งเวลาพระองค์ท่านเสด็จฯจะมีเต็นท์ที่ประทับและโต๊ะตัวเล็กสำหรับทรงงาน เพียงแค่นั้น และหน้าที่ของเด็ก ๆ อย่างเราคือนำข้าวกล่องไปแจกตำรวจตระเวนชายแดน หรือทหารที่มายืนอารักขาในบริเวณใกล้เคียง บางครั้งได้มีโอกาสรับกระเป๋าทรงสมเด็จฯบ้าง ถวายลูกอมบ้าง

“ดิฉันจำได้ว่าทุกครั้งที่เสด็จฯไปตามที่ต่าง ๆ พระหัตถ์ของพระองค ์ท่านมีแผนที่อยู่ตลอด และมีพระวรกายแข็งแรงมาก เวลาเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้งเราต้องคอยดูพระบาทของพระองค์ท่านว่าก้าวซ้ายหรือก้าวขวา เพราะทั้งสองพระองค์ทรงพระดำเนินเร็ว ต้องตามให้ทันไม่เช่นนั้นตกขบวนแน่ ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงรักษาพระสุขภาพโดยการออกพระกำลังสม่ำเสมอ จึงทรงพระดำเนินขึ้นลงเขาได้เป็นชั่วโมง ดิฉันได้มีโอกาสวิ่งตามเสด็จตอนทรงออกพระกำลัง หรือว่ายน้ำตามเสด็จสมเด็จฯที่หัวหินบ่อย ๆ ทรงว่ายน้ำจากทุ่นกลางทะเลเข้าฝั่งได้เร็วมาก

“ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ท่านไม่เคยหยุดทรงงานเลยทรงทำทุกอย่างเพื่อประชาชนทุกคน ฉะนั้นการถวายงานรับใช้พระองค์ท่านก็ย่อมไม่มีวันหยุดและเกษียณเช่นกัน อย่างคุณแม่เข้าถวายงานตั้งแต่อายุ 19 ปี จนตอนนี้ 87 ปีแล้ว ก็ยังคงถวายงานดูแลพระตำหนักทุกวัน

“นับเป็นความโชคดีของครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้”

ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับที่ 883 ปักษ์วันที่ 10 มิถุนายน 2559

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up