มิวนิก (Munich)

เที่ยวเมืองสวรรค์ Munich เสน่หาบาวาเรีย

มิวนิก (Munich)
มิวนิก (Munich)

มิวนิก นครใหญ่อันดับ 3 ของเยอรมนี เมืองหลวงแห่งแคว้นบาวาเรีย ดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมกอทิก อาหารการกินเลื่องชื่อหลากสีสัน และตำนานความรักอันอื้อฉาวของพระราชา ซึ่งเป็นที่มาของปราสาทที่โด่งดังไปทั่วโลก

มิวนิก (Munich)

 

สู่มิวนิกด้วยเทศกาล Oktoberfest
เราเดินทางถึงมิวนิกช่วงปลายเดือนกันยายน แล้วต้องพบความแปลกใจตั้งแต่นาทีแรก นั่นคือ เทศกาลเบียร์อ๊อกโตเบอร์เฟสต์ (Oktoberfest) ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ด้วยความที่ไม่ใช่สายดื่ม จึงไม่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลด้านนี้มากนัก บวกกับชื่อเทศกาลที่นึกไปว่าต้องจัดเดือนตุลาคมสิ ทำให้แปลกใจ แต่แอบดีใจ เพราะจะได้เข้าร่วมบรรยากาศกินดื่มอันแสนโด่งดังนี้สักครั้งในชีวิต

เทศกาลเบียร์ (Oktoberfest) มิวนิก

มาเรียนรู้ถึงที่มากันสักหน่อย อ๊อกโตเบอร์เฟสต์มีประวัติยาวไกลไปถึงปี ค.ศ. 1810 แรกเริ่มเดิมทีคือการจัดงานเฉลิมฉลองงานเสกสมรสของเจ้าชายลุดวิกกับเจ้าหญิงเทเรซีแห่งแซกโซนี (Therese of Saxony) งานนี้จัดขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1810 และพิเศษตรงที่มีการเชิญชวนประชาชนชาวมิวนิกเข้าร่วมงานด้วย โดยจัดกันที่ลานหน้าประตูเมือง นึกภาพย้อนไปก็คงเต็มไปด้วยบรรยากาศความสุขอันชื่นมื่น เรียกว่าชาวบ้านก็ได้มีส่วนร่วมกับงานมงคลของราชวงศ์อย่างใกล้ชิดทีเดียว

เทศกาลเบียร์ (Oktoberfest)

จากจุดเริ่มต้นของงานตรงนั้นได้พัฒนาเรื่อยมานับร้อยปี จนกระทั่งเป็นเทศกาลประจำปีและสร้างชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก จนปัจจุบันอ๊อกโตเบอร์เฟสต์ในปี ค.ศ. 2017 คือครั้งที่ 184 แล้ว

เทศกาลอ๊อกโตเบอร์เฟสต์ไม่ได้มีแค่การกินดื่มเท่านั้น แต่ยังมีขบวนแห่อันยิ่งใหญ่สนุกสนานตระการตาไปทั่วเมืองมิวนิก มีลานกิจกรรม เครื่องเล่นต่างๆ ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ มีซุ้มอาหารและเครื่องดื่มกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ

แน่นอนว่าพระเอกของงานนี้คือเบียร์และขาหมูเยอรมัน มาถึงที่แล้วก็ต้องลองบ้างเพื่อสัมผัสบรรยากาศ เบียร์เยอรมันเขาเสิร์ฟกันแบบแก้วใหญ่ยักษ์ มาพร้อมกับขาหมูหมักเบียร์และนำไปทอดแบบกรอบนอกนุ่มใน คนเยอรมันจะชนแก้วกันเสียงดังเฮฮา เรียกว่าบรรยากาศสุดแสนจะเอะอะมะเทิ่งมาก แต่ก็สนุกสนานสุดเหวี่ยงเต็มที่ และการได้แทรกตัว เข้าไปอยู่ในวงล้อมชาวเยอรมันท่ามกลางอ๊อกโตเบอร์เฟสต์นี่ บอกได้เลยว่า “ฟิน” จริงๆ

ปราสาทนอยชวานสไตน์ (Neuschwanstein Castle)

สำรวจเมืองมิวนิก
เราเริ่มต้นเดินชมเมืองมิวนิกกันที่จัตุรัสใจกลางเมือง มาเรียนพลัตซ์ (Marienplatz) ในอดีตสถานที่แห่งนี้เป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ ขายของสารพัดอย่าง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นศูนย์กลางในการจัดงานทั้งหลาย ทั้งศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ตรงกลางจัตุรัสมีรูปปั้นพระแม่มารีย์ทองคำบนเสาสูง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อจัตุรัสนี้ และเป็นที่ตั้งของศาลาว่าการเมืองแห่งใหม่อีกด้วย ซึ่งชั้นล่างของอาคารนี้คือศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวนั่นเอง

เรียกได้ว่าเป็นจัตุรัสที่รวมทุกอย่างไว้ครบครัน สีสันของนักแสดง Street Performer ทั้งหลายก็จะมาปล่อยของกันที่นี่ โดยรอบก็รายล้อมด้วยร้านอาหารและแหล่งช็อปปิ้งมากมาย และกิจกรรมยอดฮิตอย่างหนึ่งที่พลาดไม่ได้เลยคือ การรอชมตุ๊กตาเต้นระบำบนหอนาฬิกาที่อยู่บนศาลาว่าการ ซึ่งเขาโชว์กันแค่วันละ 2 รอบเท่านั้น คือ 11.00 น. และ 17.00 น.

ศาลาว่าการเมืองแห่งใหม่ของมิวนิกเป็นสถาปัตยกรรมแบบกอทิก สวยงามอลังการ และมีหอคอยที่เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวมุมสูงได้แบบไม่ต้องเดินให้เมื่อย เพราะมีลิฟต์ จากจุดชมวิวจะมองเห็นยอดโบสถ์เฟราเอนเคียร์เชอ (Frauenkirche) หรือที่คนไทยตั้งชื่อเล่นให้ว่าโบสถ์หัวหอมได้อย่างสวยงาม

ปราสาทนอยชวานสไตน์ (Neuschwanstein Castle)

โบสถ์เฟราเอนเคียร์เชอเป็นโบสถ์สถาปัตยกรรมกอทิกที่ใหญ่และเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งในมิวนิก เพราะสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1468 แต่เจอพิษสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถูกทำลายย่อยยับลงไป ก่อนที่จะบูรณะขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1953 ภายในโบสถ์มีความเรียบง่าย ดูสูงโปร่งจากการทาด้วยสีขาว และได้รับแสงจากหน้าต่างทรงสูงจำนวนมากที่ทำจาก กระเบื้องโมเสก ไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้คือ แท่นบูชาที่ตกแต่งอย่างหรูหราและรอยเท้าปีศาจ (Devil’s Footprint)

ทะเลสาบ

จุดต่อไปเราไปทำความรู้จักกับมิวนิกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นที่มิวนิกเรซิเดนซ์ (Munich Residence) มาเยือนที่นี่ คุณจะได้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง ศิลปวัฒนธรรม เรียกว่าครบเครื่องความเป็นมิวนิก เพราะภายในประกอบด้วยโซนต่างๆ ตั้งแต่โซนพิพิธภัณฑ์ (Residence Museum) จัดแสดงห้องต่างๆ ที่ผู้นำเคยใช้งาน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน ห้องรับแขก และห้องโถงสวยงามตระการตาสไตล์เรอเนซองซ์อย่างแอนติควาเรียม (Antiquarium)

โซนต่อมาคือห้องแสดงสมบัติ (Treasury) จัดเต็มทั้งเครื่องประดับ มงกุฎ แก้วแหวนเงินทอง และคริสตัล ส่วนโซนสุดท้ายคือโรงละครโอเปร่า (Cuvilliés Theatre) สวยงามอลังการด้วยโทนสีแดง – ทอง บรรยากาศดีมีมนตร์ขลัง ใครที่ชื่นชอบดนตรีคลาสสิก มาที่นี่จะสัมผัสได้ถึงความสุนทรีย์อย่างแท้จริง

ปราสาทนอยชวานสไตน์ (Neuschwanstein Castle)

ตำนานรักอื้อฉาวแห่งบาวาเรีย

มิวนิกถือว่าเป็นเมืองศูนย์กลางที่เดินทางแบบเดย์ทริปออกไปนอกเมืองได้อย่างสะดวก และแน่นอนว่าที่พลาดไม่ได้คือการมาเยือนปราสาทนอยชวานสไตน์ (Neuschwanstein Castle) โดยสามารถนั่งรถไฟจากมิวนิกมาที่เมืองฟุสเซน (Füssen) ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง

ปราสาทนอยชวานสไตน์โด่งดังที่สุด เพราะการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ทำออกมาได้งดงามราวกับเทพนิยาย ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา โอบล้อมด้วยแนวเทือกเขาแอลป์ สบายตาด้วยทะเลสาบโดยรอบ งดงามจนวอลท์ ดิสนีย์ นำโมเดลนี้ไปใช้กับดิสนีย์แลนด์

 

ปราสาทเทพนิยายแห่งนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมนับล้านคนต่อปี สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศเยอรมนี แต่หากย้อนกลับไปถึงที่มา เรื่องราวกลับเต็มไปด้วยความอื้อฉาว โศกนาฏกรรมความรัก การแย่งชิงอำนาจทางการเมือง และปริศนาฆาตกรรมอำพราง

ปราสาทนอยชวานสไตน์สร้างขึ้นโดยพระเจ้าลุดวิกที่ 2 (Ludwig II) พระราชาหนุ่มหล่อที่ขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมพรรษาเพียง 18 พรรษา พระองค์เป็นชายหนุ่มที่ลุ่มหลงชื่นชอบในบทกวี ดนตรีคลาสสิก และงานศิลปะ นักวิชาการบางคนบอกว่าหากเป็นศิลปิน ชีวิตอาจมีความสุขและประสบความสำเร็จ รวมทั้งไม่ต้องเจอกับชะตาชีวิตอันโหดร้ายเหมือนที่เจอในฐานะพระราชา

พระเจ้าลุดวิกที่ 2 มีพฤติกรรมชื่นชอบผู้ชายด้วยกัน พระองค์หลงใหลในตัวริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีหนุ่มในยุคนั้น และความรักที่มีต่อคีตกวีหนุ่มนี่เอง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้พระองค์สร้างปราสาทถึง 3 แห่งในบาวาเรีย

พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ทรงใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาลไปกับการสร้างปราสาท ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะขุนนางเริ่มเห็นว่าถลุงเงินมากเกินไป บวกกับความรักแบบชายต่อชายในยุคนั้นย่อมเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ บรรดาขุนนางจึงรวมตัวกันปลดพระองค์ออกจากตำแหน่ง ถอดมงกุฎพระราชา และนำพระองค์ไปกักบริเวณไว้ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยอ้างเหตุว่าพระเจ้าลุดวิกที่ 2 เป็นบ้า มีอาการป่วยทางจิต จึงไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็นนักปกครอง

เพียงสามวันหลังจากถูกถอดตำแหน่ง พระองค์ถูกพบเป็นศพลอยน้ำอยู่ในทะเลสาบ ด้วยพระชนมพรรษาเพียง 40 พรรษา แถลงการณ์อย่างเป็นทางการแจ้งว่า พระองค์สิ้นพระชนม์จากการจมน้ำและเป็นการฆ่าตัวตาย

ปราสาทนอยชวานสไตน์ (Neuschwanstein Castle)

จุดจบของพระองค์กลายเป็นตำนานประวัติศาสตร์ที่ยังมีการพูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้ มีภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นหลายเวอร์ชั่น มีสารคดีและบทความมากมาย แน่นอนว่ามีการตรวจสอบถึงสาเหตุการสิ้นพระชนม์ เพราะไม่พบน้ำในปอดของพระศพ และเชื่อว่าเป็นการฆาตกรรมมากกว่าที่จะทรงปลิดชีพพระองค์เอง รวมถึงประเด็นสำคัญว่ากษัตริย์หนุ่มไม่ได้เป็นบ้าอย่างที่ขุนนางตีตราพระองค์

ปราสาทนอยชวานสไตน์เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1868 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1886 (7 สัปดาห์หลังจากกษัตริย์ลุดวิกที่ 2 สิ้นพระชนม์) นับเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้วที่ชาวโลกได้รับรู้และสัมผัสปราสาท เทพนิยายและเรื่องราวที่เป็นเทพนิยายเช่นกันของผู้สร้าง

นอกเหนือจากปราสาทนอยชวานสไตน์ พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ยังทรงสร้างปราสาทอีก 2 แห่งในบาวาเรียด้วย คือ ปราสาทลินเดอร์ฮอฟ (Linderhof Palace) และปราสาทแฮร์เรนคิมเซ (Herrenchiemsee Palace) ส่วนพื้นที่โดยรอบปราสาทนอยชวานสไตน์ก็ยังมีปราสาทสีเหลืองทื่ชื่อว่า ปราสาทโฮเฮนชวานเกา (Hohenschwangau Castle) ให้ดูอีกด้วย ซึ่งเป็นพระราชวังฤดูร้อน สร้างโดยพระเจ้าแม็กซิมิเลียนที่ 2 (Maximilian II) พระราชบิดาของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 นั่นเอง ซึ่งพระองค์ก็เคยประทับที่ปราสาทนี้ในช่วงทรงพระเยาว์อย่างมีความสุข และเป็นแรงบันดาลใจที่จะสร้างปราสาทของพระองค์เองขึ้นบ้างนั่นเอง

น่าเสียดายและเป็นเรื่องน่าเศร้าที่อำนาจการเมืองเป็นเรื่องที่กำหนดชะตาชีวิตของใครต่อใครได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นธรรมหรือไม่ก็ตาม

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up