อยู่ดี กินดี สองคำสั้นๆ ที่เขียนง่าย แต่ทำได้ยาก โดยเฉพาะถ้าโจทย์นั้นคือ ทำให้คนทั้งประเทศ

อยู่ดี กินดี สองคำสั้นๆ ที่เขียนง่าย แต่ทำได้ยาก โดยเฉพาะถ้าโจทย์นั้นคือ ทำให้คนทั้งประเทศ

หากนั่นคือภารกิจสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงทำมาตลอดพระชนม์ชีพ โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ทรงเลือกใช้ คือ การประมง ซึ่งหากหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไป เมื่อ 60 ปีก่อน ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงเท่าใดนัก ทั้งที่มีประชาชนในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมาก เข้าไม่ถึงแหล่งโปรตีนที่สำคัญนี้

ก้าวสำคัญของประมงไทย
ในช่วงแรกของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักว่าประชาชนยากจนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทยังขาดสารอาหารโปรตีน สัตว์น้ำจำพวกปลาน้ำจืดมีจำนวนไม่เพียงพอกับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะชาวบ้านในภาคเหนือและภาคอีสานที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ ขณะที่หนองบึงหลายแห่งก็เผชิญกับปัญหาน้ำเน่าเสีย จึงมีพระบรมราโชบายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการประมงอย่างครบวงจร ทั้งด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การวิจัย การอนุรักษ์สัตว์น้ำ รวมถึงการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรด้านการประมง

พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเริ่มต้นเมื่อกรมประมงแห่งเมืองปีนังส่งปลาหมอเทศให้กรมประมงไทยมาทดลองเพาะเลี้ยงเมื่อพ.ศ.2492 ปรากฏว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนต่อโรคและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เมื่อความทราบถึงในหลวงรัชกาลที่9 จึงมีพระราชดำริให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศมาทดลองเลี้ยงในพระที่นั่งอัมพรสถานเมื่อปีพ.ศ.2495 หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านจากทั่วประเทศเข้ารับพระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศเพื่อนำไปเลี้ยงต่อ เหตุการณ์ในครั้งนั้นนับเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทำให้คนไทยได้เรียนรู้และสนใจการเลี้ยงปลาอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีกิจกรรมการศึกษาวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรประมงน้ำจืด ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง(ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดฉะเชิงเทรา, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่างคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสกลนคร, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดนราธิวาส) โดยทรงเน้นให้ทำการทดลองที่สามารถใช้ในท้องที่ได้จริงเพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างวิชาการชั้นสูงกับเกษตรกรทุกคน

หลากหลายพระราชดำริด้านการประมง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการค้นคว้าวิจัยทางด้านการประมงเพื่อนำความรู้เหล่านั้นส่งต่อให้แก่เกษตรกร และมีพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายในพื้นที่ที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งหรืออุทกภัย เพื่อเป็นบ้านให้สัตว์น้ำดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2527 ความตอนหนึ่งว่า

“…ควรดำเนินการพัฒนาการประมงให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศโดยการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติเช่นห้วยหนองให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาและส่งเสริมให้ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนั้นได้ทั้งการประมงและการปลูกพืชผักบริเวณรอบๆหนองน้ำด้วยเพราะการขุดบ่อใหม่มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำหรือน้ำท่วมปลาก็จะหนีไปหมด…”

แนวพระราชดำรินั้นก่อให้เกิดโครงการมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรประมง โดยมีการกำหนดนโยบายส่งเสริมการปล่อยสัตว์น้ำชนิดต่างๆ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาชนิดที่เหมาะสมลงในแหล่งน้ำนั้นๆ

อีกปัจจัยสำคัญที่ทรงให้ความสำคัญคือการจัดการทรัพยากรประมงทรงมุ่งมั่นงานด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรประมงควบคู่ไปกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งกระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง ด้วยการสงวนพันธุ์และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำพร้อมเร่งรัดปล่อยพันธุ์ปลาชนิดต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาโตเร็วที่เหมาะสมในแต่ละท้องที่ลงในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้มีสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของประชาชนไว้บริโภคต่อไป

ในกรณีที่ปลาบางชนิดหายากและมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนลดน้อยลงจนอาจสูญพันธุ์ได้ เช่น ปลาบึก ซึ่งเป็นปลาในอันดับ Catfish ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทำการค้นคว้าหาวิธีการที่จะอนุรักษ์พันธุ์ปลาชนิดนี้ไว้ พร้อมทั้งทรงให้กำลังใจผู้ค้นคว้าตลอดเวลา กระทั่งสามารถผสมเทียมพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้สำเร็จ

การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ทรงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาวิจัยตามแนวพระราชดำริ เพื่อหาแนวทางใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งแบบอเนกประสงค์และเกื้อกูลกัน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี โดยได้มีการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนาผสมผสานกับการอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลนทดแทน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำและความขัดแย้งระหว่างนาข้าวกับนากุ้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดทำ “โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ” จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยการกำหนดเขตเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้เป็นสัดส่วน โดยการสร้างเขื่อนป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาทำความเสียหายให้นาข้าว อีกทั้งยังทรงแนะนำให้ทำระบบบำบัดน้ำเสียจากการเพาะเลี้ยงกุ้งก่อนจะปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งทำระบบชลประทานน้ำเค็มและคลองระบายน้ำเสียแยกจากกัน

ปลานิล MISSION ที่ไม่ IMPOSSIBLE

หากพูดถึงการพัฒนาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ นั่นคือพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลานิล ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ (ในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น) เสด็จฯมาทรงเยือนประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ.2507 ในครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่9ทรงต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ และจัดโปรแกรมช่วงหนึ่งให้ไปทอดพระเนตรปลาที่พิพิธภัณฑ์ปลา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งผศ. ดร.ธรณ์ ธำรง- นาวาสวัสดิ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็นการทูตหยุดโลก

“หลายคนอาจสงสัยว่ามกุฎราชกุมารจากญี่ปุ่น มหาอำนาจแห่งเอเชีย เสด็จฯมาไทยเป็นครั้งแรก ทำไมเราไม่จัดประชุมให้หนักพูดคุยเรื่องการบ้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วในหลวงรัชกาลที่9 ทรงทราบว่าองค์มกุฎราชกุมารโปรดเรื่องปลาเป็นพิเศษ และในขณะนั้นคนไทยก็ต้องการโปรตีนเพื่อพัฒนาร่างกาย พัฒนาสมอง แต่โปรตีนจากเนื้อสัตว์อื่นล้วนมีราคาแพงเกินกว่าที่ชาวบ้านสามัญชนจะหากินได้ทุกวี่วัน”
หลังจากการทูตครั้งสำคัญในครั้งนั้น วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2508 มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นก็ทรงน้อมเกล้าฯถวาย ปลาทิโลเปียนิโลติกา(Tilapianilatica) จำนวน50ตัวแด่ในหลวงรัชกาลที่9 ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลี้ยงในบ่อบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตต่อมาได้พระราชทานชื่อเป็นภาษาไทยนี้ว่า ปลานิล ให้เชื่อมโยงกับชื่ออังกฤษ

ในเวลาไม่ถึงขวบปีวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 จากปลานิล50ตัวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานลูกปลานิล 10,000 ตัวแก่กรมประมงนำไปขยายพันธุ์ที่แผนกทดลอง และเพาะเลี้ยงเพื่อแจกจ่ายให้แก่ราษฎรตามความต้องการซึ่งปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของเกษตรกร เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตไวไม่ว่าปล่อยที่ใดก็ออกลูกออกหลานอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นจึงมีคำร้องขอพันธุ์ปลาเข้ามาที่กรมประมงเป็นจำนวนมากจนผลิตไม่ทันเมื่อความทราบถึงในหลวงรัชกาลที่9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้บ่อปลาที่สวนจิตรลดาช่วยผลิตลูกปลา หากพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็อาจกล่าวได้ว่าจะมีพระมหากษัตริย์ใดในโลกนี้ที่ใช้บ้านของตัวเองเป็นกรมประมงแห่งที่2เพื่อจะช่วยให้ปลากระจายไปถึงคนไทยทั้งประเทศ โดยปลานิลที่เพาะเลี้ยงในสวนจิตรลดาเป็นที่รู้จักกันในนาม ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงจากครั้งที่ได้รับการน้อมเกล้าฯถวาย ซึ่งจะพระราชทานแก่กรมประมง เป็นพันธุ์ปลาพระราชทานแก่ราษฎรในขณะเดียวกันบ่อยครั้งเวลาที่เสด็จฯไปทรงเยี่ยมชาวบ้าน ไม่ว่าที่ใดก็มักจะทรงปล่อยปลาลงแหล่งน้ำด้วยพระองค์เอง เพื่อให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ในพ.ศ.2510 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ขอพระราชทานพันธุ์ปลาที่อุดมด้วยโปรตีนไปบริจาคให้แก่ชาวบังกลาเทศที่กำลังประสบปัญหาภาวะขาดแคลนอาหาร พระองค์พระราชทานลูกปลานิล จำนวน 500,000 ตัวเป็นการช่วยเหลือ

วันเวลาหมุนผ่านจนถึงวันนี้ ปลานิลกลายเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ในปัจจุบันสามารถผลิตปลานิล ได้ปีละ 220,000 ตัน ส่งออกไปทั่วโลก สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 10,000 ล้านบาท และยังสร้างอาชีพให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอีกนับไม่ถ้วน

สำคัญที่สุดคือการที่คนไทยทั้งประเทศมีแหล่งโปรตีนราคาไม่แพง ที่หาซื้อได้ง่าย ปลานิลกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีขายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าในภัตตาคารหรือร้านอาหารข้างทาง เป็นปลาที่คนไทยทั้งประเทศได้กิน สมดังพระราชปณิธานที่อยากให้คนไทยได้กินดีอยู่ดี

โดยหนึ่งในพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับพระราชปณิธานเรื่องการประมง ที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ความตอนหนึ่งว่า

“…ประโยชน์อันพึงประสงค์ของการพัฒนานั้นก็คือความผาสุกสงบความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและประชาชนแต่การที่จะพัฒนาให้บรรลุผลเป็นประโยชน์ดังกล่าวได้จำเป็นที่จะต้องพัฒนาฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้อยู่ดีกินดีเป็นเบื้องต้นก่อน…จึงอาจพูดได้ว่าการพัฒนาก็คือการทำสงครามกับความยากจนเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนโดยตรงเมื่อใดก็ตามที่ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีและประเทศชาติมีความสงบมีความเจริญเมื่อนั้นการพัฒนาจึงจะถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นชัยชนะของการพัฒนาอย่างแท้จริง…”

เมื่อนำเรื่องราวตั้งแต่บรรทัดแรกของบทความนี้มาต่อรวมเป็น จิ๊กซอว์ จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเรื่องการประมงอย่างเป็นระบบที่สมบูรณ์ ตั้งแต่การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การพัฒนาและรักษาแหล่งน้ำ จนถึงการที่ทำให้เกษตรมีปลาให้จับ และคนไทยได้กินปลาอย่างยั่งยืน ทรงเล็งเห็นว่าการประมงคือกระดูกสันหลังข้อหนึ่งของชาติ จึงทรงให้ความสำคัญมาโดยตลอด ดังเช่นปรากฏการณ์เรื่องปลานิล ซึ่งอาจเรียกได้ว่านี่คือ ยุทธศาสตร์เรื่องของปลาที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดในโลก เป็น Mission Impossible ที่กลายเป็นความจริงแล้ว

ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เล่าต่อถึงประเด็นนี้ว่า “หลักการของการประมงโลกคือทำให้มีแหล่งโปรตีนราคาถูกให้คนทั้งโลกมีโอกาสได้กินปลาและเมื่อย้อนเวลากลับ60ปีก่อนมีไม่กี่คนที่รู้เรื่องนี้แต่โชคดีมีคนหนึ่งคนที่รู้และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอดนั่นคือในหลวงรัชกาลที่9ทรงทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้เรื่องปลานิลเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคำถามต่อมาคือพระองค์ทำได้อย่างไรผมว่าคงมีคำตอบเดียว

“นั่นคือ ความรักที่ทรงมีต่อพสกนิกร”

ข้อมูลและภาพ : นิตยสารแพรวฉบับ 915

Praew Recommend

keyboard_arrow_up