หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก ฝึกหนักที่อินเดีย (ตอนที่ 21)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก กับเรื่องราวการฝึกการรบในหน่วยกองโจรสุดทรหด 

หม่อมเจ้าการวิก และคณะนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษที่ได้ฝึกปฏิบัติการแบบกลุ่มกองโจรนั้น  ใช้นามแฝงว่า ช้างเผือก(WHITE ELEPHANTS) และใช้ชื่อย่อว่า THE WHITE  ซึ่งทุกคนในกลุ่มถูกฝึกจนแข็งแรง สมบุกสมบันและทรหดมาก ซึ่งประสบการณ์พฤติกรรมในการฝึกแต่ละหลักสูตรของแต่ละคนนั้นมีหลากหลายอารมณ์ความรู้สึกปนกัน

เมืองปูนาที่พวกเรามาฝึกเป็นทหาร อยู่ห่างจากบอมบ์เบย์ลงไปทางใต้ราว 190 กิโลเมตร เมืองนี้มีชื่อเสียงมากในหมู่คนอังกฤษว่ากันว่านายทหารอังกฤษที่ไปรับราชการในอินเดีย พอเกษียณแล้วมักจะอยู่ที่นี่เพราะอากาศดี สภาพแวดล้อมสวยงาม เป็นเมืองตากอากาศที่ใช้ได้ทีเดียว

ค่ายที่พวกเรามาฝึกนั้น ชื่อค่ายคารัควัสลา อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนัก หน้าค่ายฝึกมีทะเลสาบกว้างใหญ่ น้ำใสสะอาด ค่ายตั้งอยู่ในบริเวณป่า มีภูเขาล้อมรอบ ด้านหน้าของค่ายมีรั้วลวดหนามกั้น และมีทหารยามเฝ้า แต่พื้นที่โดยรอบเป็นเนินเตี้ยๆ ไม่มีรั้วกั้น ที่พักในค่ายเรียกว่านีลเซ่น ฮัท (NIESEN HUT) เป็นกระท่อมแผ่นโลหะ ทาบติดกันด้วยน้อต รูปร่างเหมือนกระบอกใส่ลูกเทนนิสผ่าครึ่งแล้วคว่ำลง อยู่ได้ 2-3 คน กระท่อมแบบนี้สร้างง่าย รื้อง่าย กรุผ้าข้างในมีเตียง โต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้หวายคนละตัว ห้องน้ำด้วย ผมจับคู่อยู่กับอรุณ ส่วนเพื่อนคนอื่นๆก็จับคู่อยู่กันไป ในค่ายนี้มีแต่พวกทหารเสรีไทยเท่านั้น บนทะเลสาบฝั่งตรงข้ามมีค่ายฝึกคอมมานโดใหญ่กว่าค่ายของพวกเรามาก เป็นของลอร์ดหลุยส์ เมาน์แบทเทน ฝึกปฏิบัติการผสม มีทั้งทหารเรือ บก และอากาศ (COMBINED OPERATIONS)

ในช่วงนี้ผมขออธิบายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มของทหารไทยสักนิด เพื่อให้เห็นว่าทางกองทัพอังกฤษเขาเปลี่ยนความตั้งใจจากตอนต้นที่ไม่สนใจไยดีกับพวกเรา ถึงส่งไปเป็นทหารกองกุลี ตอนนี้เปลี่ยนแผนจะใช้พวกเราในทางที่เหมาะควร คือให้ไปช่วยรบญี่ปุ่นในเมืองไทย ซึ่งตรงนี้คงขอยกให้เป็นผลงานของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และเสรีไทยในอเมริกา ที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันไม่ประกาศสงครามกับไทย และยอมรับให้เสรีไทยเข้าฝึกทหารในลักษณะที่เป็นประโยชน์ การปฏิบัติของพวกท่านเหล่านั้นทำให้อเมริกาเห็นใจ และเป็นผลให้เขาช่วยเหลือประเทศไทยในสภาวะหลังสงครามเลิกให้กลับมีอธิปไตยเสมือนก่อนสงคราม ทำให้อังกฤษยอมลดหย่อนข้อเรียกร้องต่อไทย บทบาทของเสรีไทยสายอเมริกาจึงมีส่วนสำคัญในการกอบกู้สถานการณ์ของประเทศไทยให้พ้นจากสภาพผู้แพ้สงครามมากกว่ากลุ่มเสรีไทยของพวกเรา

หม่่อมเจ้าการวิก ทรงชุดทหารเมืองร้อน

เมื่อพวกเรามาถึงอินเดีย ทุกคนได้รับการโอนสังกัดมาอยู่ในหน่วยเจเนอรัล ลิสต์ (GENERAL LIST)  มีสัญลักษณ์เป็นรูปสิงโตคู่กับม้าที่มีเขาตรงหน้าผากหนึ่งอัน (สัญลักษณ์ของอังกฤษนี้เปรียบเสมือนตราครุฑของไทย) หน่วยนี้เป็นหน่วยทหารที่ทางการใช้ให้ปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสมและความถนัด ตราของหน่วยนี้เหมือนตราของบริษัทน้ำซอสยี่ห้อครอสแอนด์แบล็คเวลล์ (CROSS AND BLACKWELL)จึงถูกล้อว่าเป็นกองทัพทหารราบเบาของบริษัทนั้น

ประสิทธิภาพของหน่วยนี้สามารถนำไปเข้ากองกำลัง 136 หรือนำไปกระทรวงการสนเทศ หรือไปอยู่หน่วยสืบราชการลับใดก็ได้

กองกำลัง 136 (FORCE 136) นี้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบริหารงานพิเศษที่เรียกว่า SPECIAL OPERATIONSEXECUTIVE (S.O.E) ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนสงครามพิเศษขึ้นในอังกฤษ เพื่อฝึกอบรมทหารอังกฤษและเสรีชนที่หนีมาจากประเทศของตนที่ถูกเยอรมันยึดครอง และมาจัดตั้งที่อินเดียด้วย (รวมทั้งค่ายที่พวกเรามารับการฝึกด้วย) เพื่อให้การฝึกอบรมสำหรับทหารที่จะไปปฏิบัติงานในประเทศที่อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น

ผมขออธิบายสักเล็กน้อยว่า การดำเนินงานของหน่วย S.O.E. ในลอนดอนต้องกระทำโดยการประสานงานของคณะเสนาธิการทหารทั้งสามเหล่าทัพ คือ ทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ กระทรวงการสงครามและเศรษฐกิจ (MINISTRY OF ECONOMIC WARFARE) และกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเสนอแผนงานต่อนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล และกองกำลัง 136 ซึ่งเป็นสาขาของ S.O.E. ในอินเดีย มีนายคอลิน เอช. แม็คเคนซี (COLIN H. MACKENZIE) เป็นผู้บัญชาการประสานงานกับกองบัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรประจำเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีพลเรือเอกลอร์ดหลุยส์ เมาน์แบทเทน เป็นผู้บัญชาการสูงสุด

กองกำลัง 136 แบ่งออกเป็นแผนกประเทศพม่า แผนกประเทศไทย แผนกอินโดจีนของฝรั่งเศส มีสำนักงานอยู่ในกัลกัตตา แผนกมลายู แผนกสุมาตรา และชวา สำนักงานอยู่ในโคลัมโบ (ศรีลังกา) ส่วนสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองแคนดี้ (ศรีลังกา) สำหรับแผนกประเทศไทยนี้เป็นแผนกที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นแผนกสุดท้าย ทีแรกทางสำนักงาน S.O.E. ในลอนดอนคิดไม่ตกว่าจะใช้พวกเราทั้ง 36 คนอย่างไรดี เพราะทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษปักใจเชื่อว่ารัฐบาลไทยร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น แต่เมื่อทางลอนดอนพิจารณาหลายอย่างแล้ว ตัดสินใจส่งพวกเรามาอินเดีย จึงเปิดแผนกประเทศไทยขึ้นและโอนนายทหารต่างชาติ เช่น อังกฤษ ฮอลันดา เดนมาร์ก ที่เคยทำงานในประเทศไทยมานานจนรู้จักดีและพูดไทยได้เข้ามาร่วมงานด้วย

การมาอยู่ที่ค่ายนี้ ทุกคนต้องฝึกการโกหกและใช้ชื่อลับ ด้วยการตั้งขึ้นใหม่และถูกสั่งห้ามติดต่อกับทหารชาติอื่น แม้กระทั่งเพื่อนทหารเสรีไทยที่แยกไปทำหน้าที่อื่นก็ตาม ทุกอย่างเป็นราชการลับหมด เพื่อป้องกันว่าเวลาถูกจับไปแล้ว จะไม่ปล่อยข่าวหรือเรื่องของคนอื่น

หม่อมเจ้าการวิก ทรงชุดทหารเมืองร้อน ฉายครึ่งองค์
ธนา โปษยานนท์

การฝึกของพวกเราที่นี่ เรียกง่ายๆว่า การสู้รบแบบกลุ่มกองโจร (GUERRILLA WARFARE) เป็นการฝึกการรบในหน่วยกองโจรที่ปฏิบัติการเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อลอบจู่โจมโดยศัตรูไม่รู้ตัวแล้วสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว การฝึกนั้นได้แก่ วิธีการก่อวินาศกรรม การใช้ดินระเบิด กลยุทธ กองโจร การดำรงชีพในป่า วิธีการต่อสู้มือเปล่า และใช้ของประจำตัวต่างอาวุธ และวิธีซ่อนเอกสารที่ติดตัวไป การใช้เรือใบ เรือพาย เรือแจว เรือยนต์ และรถทุกชนิด การส่งวิทยุ วิธีการใช้รหัสลับ การใช้อาวุธต่างๆ การกระโดดร่ม ฯลฯ ครูผู้ฝึกสอนพวกเราล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ในความเป็นจริงครูทุกคนต่างก็รู้วิชาต่างๆในหลักสูตรการรบแบบกองโจร และออกปฏิบัติการในสนามมาแล้ว

ในคณะครูฝึกมีคนหนึ่งชื่อ ร้อยเอกไซมอน รีด (SIMON REED) เป็นผู้สอนวิชาทหารทั่วไป และเป็นผู้ที่ต้องใกล้ชิดติดตามพวกเราในการฝึกซ้อมอยู่เสมอ เขาอยู่กับเราไม่นานก็สามารถพูดภาษาไทยได้ชัดมาก เขามีพรสวรรค์หลายอย่าง อายุแค่ 22 ปี แต่ทำเป็นวางมาดหลอกว่าอายุ 40 ปี ด้วยการไว้หนวดเฟิ้ม ใส่แว่นตาข้างเดียวแบบนายพลผู้ใหญ่ ขี้แอ็ค เดินส่ายอาดๆ พวกเราจึงเรียกกันว่า ‘ไอ้เฟิ้ม’ (สอง)

การฝึกของพวกเราที่ผมขอเล่าเป็นเรื่องแรก คือ การฝึกซ้อมทางน้ำในทะเลสาบหน้าค่ายนั่นเอง ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องลำบากสำหรับพวกเราสักนิด ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมว่ายน้ำ การแล่นเรือใบ การพายเรือยาว และเรือผ้าใบ การแจวเรือมาด แต่การฝึกที่ยากสำหรับผมคือ การหัดขี่ม้า เพราะขณะที่ม้าเดินช้าๆ ผมค่อยๆเอียงตกลงมา เพราะขาสั้นและอ้วน หนีบม้าไม่อยู่ และการฝึกรับส่งวิทยุที่ผมต้องใช้ความพยายามอย่างมากถึงจะผ่านมาได้

กล่าวถึงเรือที่ทางกองทัพอังกฤษเอามาให้พวกเราหัดแจวนั้นคือ ‘เรือจ้าง’ ที่พวกเราเป็นผู้ออกแบบให้หน่วยทหารช่างที่เมืองเคอร์คี (KHIRKEE) เป็นผู้ต่อ โดยผมได้รับมอบให้เป็นคนเขียนรูปเรือ ด้วยผมชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับช่วงที่อยู่บางปะอินเคยแจวเรือไปโรงเรียน พอจะจำสัดส่วนรูปร่างของเรือได้ และอรุณซึ่งเป็นวิศวกรโยธาเป็นผู้เขียนแบบแปลนตามมาตราส่วนสำหรับให้ช่างต่อ ผลออกมาเกือบเหมือนของจริง แต่โคลงกว่าเยอะ

การฝึกแจวเรือไม่เป็นเรื่องยากสำหรับพวกเรา โดยเฉพาะธนา ซึ่งเจ้าคุณพ่อของเขามีเรือแจวเป็นร้อยลำ เขาเป็นมืออาชีพมีลวดลายความถนัดในการแจว ด้วยยืนกอดอกเอนตัวพาดด้ามแจวโยกตัวไปมาอย่างไม่ต้องออกแรง เรือก็แล่นฉิวตรงแหนว ไอ้เฟิ้มเห็นชอบใจมากขอเรียนวิชานี้บ้าง นึกว่าง่าย พอขึ้นไปยืนโยกตัวได้ 2-3 ครั้ง แจวก็งัดหงายหลังตีลังกาลงไปลอยคอในทะเลสาบ

อีกครั้งหนึ่ง ครูฝึกสาธิตการวางดินระเบิดใต้น้ำ เพื่อสอนให้พวกเรารู้ว่า การวางระเบิดทำลายข้าศึกนั้น จะเป็นอันตรายร้ายแรงสำหรับผู้วางที่วางแล้วทิ้งช่วงว่ายกลับไปขึ้นเรือที่จอดรออยู่ห่างๆไม่ทัน ซึ่งในการฝึกซ้อมนั้นจะไม่ใช้ระเบิดจริง กระสุนจริง แต่ในวันนี้จำเป็นต้องใช้ระเบิดจริง เพื่อให้เห็นผลเป็นตัวอย่างชัดเจน…ทันทีที่เสียงระเบิดเงียบลง ปลาในทะเลสาบก็หงายท้องขาวๆนับร้อยตัว บรรดาทหารฝรั่ง ไทย แขก รีบลงเรือคว้าสวิงไปช้อนจับมาทำเป็นอาหารกันอย่างสนุกสนาน ทำให้ทุกคนต่างมีอาหารรสโอชากว่าอาหารจากโรงครัวเพิ่มขึ้นอีกมื้อหนึ่ง บทเรียนนี้ทำให้มีกฎห้ามใช้ระเบิดในการฝึก

พวกเราเริ่มฝึกได้ไม่นานก็มีนายทหารฝรั่ง 2 คน คือ พันตรีไบรซ์-สมิธ (BRYCE-SMITH) เราเรียกว่า ลุงไบรซ์ เพราะมีอายุแก่กว่าทุกคน (40 เศษ) เขาเคยทำงานอยู่ในแผนกป่าไม้ของบริษัทบอร์เนียวอยู่หลายปี รู้จักป่าในภาคเหนือของไทยดีกว่าพวกเราจึงต้องยกให้เขาเป็นครูสอนเรื่องป่าไม้ของไทยอีกคนหนึ่ง คนที่ 2 คือ พันตรีทอม ฮอบบ์ (TOM HOBBS) หรือหอบบส์ ซึ่งเราเรียกว่า ‘นายเหนื่อย’ เคยทำงานธนาคารชาร์เตอร์ดในกรุงเทพฯ ทั้งคู่เดินหนีออกจากเมืองไทย ตอนที่ญี่ปุ่นบุกเข้าเมืองไทยได้ทันเวลาก่อนจะถูกจับเป็นเชลย ซึ่งถูกส่งเข้ามาร่วมฝึกกับพวกเรา และได้กลับเข้าเมืองไทยอีกเพื่อร่วมปฏิบัติงานกับพวกเราด้วย

การฝึกกลุ่มกองโจรของพวกเรานั้นใช้นามแฝงว่า ‘ช้างเผือก’ (WHITE ELEPHANTS) ใช้ชื่อย่อว่า THE WHITE ซึ่งทุกคนในกลุ่มถูกฝึกจนแข็งแรง สมบุกสมบันและทรหดมาก ประสบการณ์พฤติกรรมในการฝึกแต่ละหลักสูตรของพวกเราแต่ละคนนั้นมีหลายอารมณ์ความรู้สึกปนกันไป

โดยบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะฝึก สร้างความ‘ฉงน’ แก่ผมมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up