หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ความผันผวนของบ้านเมืองและชีวิต (ตอนที่ 8)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ความผันผวนของบ้านเมืองและชีวิต (ตอนที่ 8)

หม่อมเจ้าการวิก ทรงศึกษาในฝรั่งเศสได้ไม่นาน ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย นั่นคือ คณะราษฎร ได้ก่อการยึดอำนาจและเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475  ทำให้ท่านต้องทรงสูญเสียบุคคลที่ทรงรักไปอย่างไม่ทันคาดคิด…

ในหลวงรัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ

เรื่องการเรียนนั้น ในฐานะที่เป็นเด็กนักเรียนต่างชาติแล้วต้องมาเริ่มเรียนภาษาใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ลำบากอยู่บ้าง แต่ความที่ยังเด็ก ภาษาจึงเข้าหัวเร็ว และเรียนได้ดี เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงมีหมายกำหนดการเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเมื่อพ.ศ.2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พี่คัสตาวัสเสด็จมาพาผมไปเข้าเฝ้าฯและตามเสด็จด้วย ซึ่งเป็นช่วงที่ผมปิดเรียนพอดี เพื่อเป็นการพระราชทานรางวัล โดยลงเรือหรูข้ามมหาสมุทรสี่วันสี่คืน ไปขึ้นฝั่งที่นิวยอร์ก และตามเสด็จอยู่เกือบเดือน เมื่อจะเสด็จฯเข้าประเทศแคนาดา ผมถึงกลับมาฝรั่งเศส เพราะโรงเรียนเปิดเรียน

หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธ์ุ เมื่อวัยรุ่น

จนในที่สุด ผมก็เป็นเด็กเรียนเก่งสอบได้ที่ 1 อีกครั้ง ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนได้รางวัลยอดเยี่ยมด้วย พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งว่า จะเอารางวัลอะไรให้เขียนจดหมายกราบบังคมทูลมา ผมจึงเขียนจดหมายกราบทูลขอพระราชทานเครื่องฉายภาพยนตร์ที่มีเสียงด้วย เป็นภาพยนตร์ 8 มิลลิเมตร ซึ่งตอนนั้นมีเพียงฝรั่งเศสที่สามารถผลิตได้ ยี่ห้อปาเต๊ะตราไก่ พระองค์ท่านก็มีพระราชหัตถเลขาตอบกลับมาว่าดี จะได้ดูกันทั้งครอบครัว และอาจจะได้ดูเรื่องสารคดีที่เป็นประโยชน์ด้วย แต่ผมไม่ได้รับเพราะราชเลขาฯไม่ได้จัดการให้

ในหลวงรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จฯเยือนอเมริกา
ในหลวงรัชกาลที่ 7 และสมเด็จฯ เสด็จฯแคนาดา

ส่วนภาษาไทยนั้นผมก็ไม่ลืม เพราะต้องเขียนจดหมายกลับมากราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวและส่งถึงเสด็จพ่อสัปดาห์ละ 2 ฉบับอยู่เป็นประจำ โดยเขียนในทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งโรงเรียนกำหนดให้เป็นวันหยุดกลางสัปดาห์ กับวันอาทิตย์ที่โรงเรียนหยุดเรียนตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์ที่จะไม่ทำงาน พระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีรับสั่งว่าแปลกสำหรับเด็ก เพราะทรงคาดว่าผมจะเหมือนเด็กทั่วไปที่ขี้เกียจ มัวแต่ผลัดวันว่าไว้พรุ่งนี้ค่อยเขียน แต่ก็ไม่ถึงพรุ่งนี้เสียที

เรื่องที่เขียนจดหมายไปถวายนั้นเป็นเรื่องทั่วๆไป เมื่อทรงอ่านแล้วก็ทรงรู้สึกสนุก เช่นตอนนั้นเด็กฝรั่งเศสบางคนที่มีความนิยมในลัทธิเผด็จการเห็นรูปมุสโสลินี ผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์แห่งอิตาลี ที่เวลาเดินชอบทำท่าเชิดหน้าคางยื่น ก็เลียนแบบบ้าง หรือเรื่องความเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาของคนฝรั่งเศส ซึ่งบรรยากาศที่นั่นเป็นประชาธิปไตยมาก แม้จะมีความนิยมต่างกันเขาก็ไม่ตีกัน แต่นานๆก็มีเรื่องอยากจะประชาทัณฑ์คนบางคนกันบ้าง คือ มีคนนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์คนหนึ่งมีชื่อเสียงพอควร วันหนึ่งแกเห็นขบวนแห่ศพผ่านมา คนริมถนนทุกคนจะถอดหมวกออกเพื่อเป็นการให้เกียรติ รถยนต์ก็จะหยุดให้ขบวนผ่าน แต่ความที่แกเป็นคนที่ไม่ยึดถือในธรรมเนียมต่างๆ แกก็เดินตัดขบวนเฉย จนเกือบถูกประชาทัณฑ์เอา เป็นต้น

สำหรับข่าวคราวทางเมืองไทย นอกจากผมได้รับทราบจากทางจดหมายที่ติดต่อแล้ว อีกทางหนึ่งคือ การได้พูดคุยกับคนไทยที่เดินทางมาฝรั่งเศส ต้องแวะที่ท่าเรือเมืองมาร์เซลย์ก่อนจะไปเรียนหนังสือที่เมืองอื่น หรือมาถ่ายเรือก่อนไปประเทศอื่น และในตอนนั้นทางเมืองไทยต้องจ้างชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเป็นกงสุล เพราะทางเมืองไทยยังไม่ถึงกับส่งคนไทยไปเป็นกงสุล เวลามีคนไทยมากงสุลคนนี้ก็มาพาผมไปต้อนรับ โดยขู่ครูใหญ่ที่โรงเรียนด้วยว่า ผมต้องทำหน้าที่กงสุลอีกผู้หนึ่งด้วย ทำให้ครูในโรงเรียนรู้สึกเกรงใจผมอยู่บ้าง

เวลาที่มีคนไทยมา กงสุลชอบไปต้อนรับมาก เพราะเขาได้เบิกเงิน และเป็นโอกาสที่เขาได้รับประทานอาหารแบบตะวันออก ซึ่งมีอยู่เพียงร้านเดียวเป็นของชาวศรีลังกา โดยทางร้านจะทำแกงมัสมั่นไก่กึ่งแกงกะหรี่ราดข้าวแค่รายการเดียว ของหวานก็เป็นกล้วยทอดกับเนยจนสุกโรยน้ำตาลเอาเหล้าใส่แล้วจุดไฟ ซึ่งกงสุลชอบมาก ใครมาก็พาไปที่ร้านนี้ คนไทยที่เพิ่งมาถึงก็พอใจ เพราะเบื่ออาหารฝรั่งในเรือที่ต้องรับประทานกันมาเป็นแรมเดือน ผมเองก็ชอบเหมือนกัน ด้วยเป็นโอกาสที่ผมจะได้เปลี่ยนรสชาติอาหารด้วย

ประมาณต้นปีพ.ศ.2475 เหตุการณ์ทางเมืองไทยเริ่มมีความวุ่นวายทางการเมืองรุนแรงขึ้น ก่อนจะมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี แล้ววันหนึ่งผมก็ได้รับจดหมายจากทางบ้านแจ้งว่ายายถึงแก่กรรมแล้ว แต่จะเป็นเพราะโรคอะไรและเสียเมื่อไหร่ผมก็ไม่ทราบ เพราะกว่าจดหมายจะมาถึงก็กินเวลาเป็นเดือน ซึ่งสมัยนั้นคนมีความคิดแปลก ถ้ามีคนในครอบครัวเสียชีวิตเขาจะปิดกันเป็นความลับไม่ให้เด็กที่เรียนอยู่เมืองนอกรู้ กลัวจะเสียใจจนเรียนไม่ได้ต้องทิ้งไว้สักระยะหนึ่งก่อนถึงค่อยบอก ตอนผมทราบข่าวรู้สึกเสียใจมากแต่ก็ทำใจได้ เพราะเริ่มโตพอจะเข้าใจในเรื่องกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่มีการเกิดการดับขันธ์บ้าง…ภาพและคำอบรมสั่งสอนของยายผมยังจดจำและระลึกถึงอยู่เสมอจนบัดนี้

นายทหารที่ถูกจับเป็นตัวประกัน

แล้วในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เหตุการณ์สำคัญยิ่งในเมืองไทยก็ได้เกิดขึ้น เมื่อคณะนายทหารและพลเรือนจำนวนหนึ่งได้ยึดอำนาจจากพระเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบใหม่ที่ชื่อว่า ‘ประชาธิปไตย’ ผมทราบข่าวนี้จากหนังสือพิมพ์ฝรั่งซึ่งมีรายละเอียดไม่มากนัก ผมรู้สึกตกใจมาก ไม่นึกว่าจะมีใครกล้าทำกับพระเจ้าแผ่นดินอย่างนี้ ส่วนรายละเอียดต่างๆของเหตุการณ์นี้ ผมมาทราบและศึกษาเอาทีหลัง

ราวกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2475 ผมได้รับโทรเลขฉบับหนึ่งจากเมืองไทยแจ้งว่าเสด็จพ่อสิ้นพระชนม์แล้ว ผมรับทราบข่าวนี้ด้วยความตกใจและเสียใจอย่างรุนแรง แม้จะทราบก่อนแล้วว่าเสด็จพ่อประชวรด้วยโรคเบาหวานอยู่ มีเรื่องที่เล่ากันมาและผมทราบทีหลังว่า เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เสด็จพ่อโทมนัสอย่างยิ่ง ถึงกับรับสั่งว่า

“กล้าทำอย่างนี้กับพระเจ้าอยู่หัวเชียวหรือ” เพราะความเชื่อของคนโบราณนั้นยึดถือเรื่องการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอย่างเคร่งครัด การล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินถือเป็นบาปมาก เมื่อมาเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จึงทำให้พระอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วจนสิ้นพระชนม์ แต่การที่ผมจะเดินทางกลับมาร่วมงานพระศพนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน และติดขัดกับอุปสรรคต่างๆ ประจวบกับสถานการณ์ทางเมืองไทยยังวุ่นวาย พระราชวงศ์ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า…

ภายหลังทางญาติได้เก็บพระทนต์ (ฟัน) ของเสด็จพ่อมาแกะเป็นพระพุทธรูปไว้องค์หนึ่งและมอบให้ผมไว้บูชารำลึกถึง เมื่อตอนที่ผมเดินทางกลับเมืองไทยในช่วงหลังมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ไม่ช้านานนักที่ผมพอจะทำใจได้ในเรื่องการสิ้นพระชนม์ของเสด็จพ่อ เพราะผมโตพอที่จะเข้าใจถึงความพลัดพราก ความสูญเสียที่ต้องเกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา และผมก็หวังว่า สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นมาในครอบครัวของผมและบ้านเมืองนั้นคงจะหยุดยั้งแต่เพียงนี้ และคลี่คลายไปในทางที่ดี หากความประสงค์ของผมที่ตั้งไว้มิได้เป็นไปอย่างที่หวัง

เหตุการณ์ต่างๆยังคงเกิดขึ้นและรุนแรงอย่างน่ากลัวทีเดียว

ติดตามอ่านย้อนหลังได้ที่

ใต้ร่มฉัตรตอนที่ 7 

ใต้ร่มฉัตรตอนที่ 6

ใต้ร่มฉัตรตอนที่ 5

ใต้ร่มฉัตรตอนที่ 4

ใต้ร่มฉัตรตอนที่ 3

ใต้ร่มฉัตรตอนที่ 2

ใต้ร่มฉัตรตอนที่ 1 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up