“พลิกไทยขยับ” ดีแทคคัดสุดยอด 5 นักพลิกไทย จิตอาสาสร้างสรรค์สังคม

Alternative Textaccount_circle

พลิกไทยขยับ… คัดสุดยอด 5 นักพลิกไทยจิตอาสาสร้างสรรค์สังคม อีกหนึ่งโครงการของดีแทคที่ใช้เวลาในการคัดสรรร่วมกับคณะกรรมการฝีมือคุณภาพ ผ่านการทำเวิร์คช็อปอย่างเข้มข้น จนคัดเหลือสุดยอด 5 โครงการนักพลิกไทย

 

       พลิก…วอล์คเกอร์ ไปได้ทุกที่ที่มีทาง

‘อาจารย์คะ หนูมีแบบสเก๊ตช์ Able Walker มานำเสนอ’

อาจารย์จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ อาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สาธิตจุฬาฯ หันมาตามเสียงเรียก พร้อมกับดูภาพสเก๊ตช์วอล์คเกอร์ในมือของ ‘เด็กหญิงสุพิชญาณ์ เหมรัญช์โรจน์’ นักเรียนชั้นป.6 พร้อมเพื่อนร่วมทีม 4 คนที่เล่าอย่างตื่นเต้นว่า สามารถปรับตามระดับขึ้นลงของบันไดได้ โดยไม่ต้องใช้วอล์คเกอร์หลายตัวค่ะ ขณะที่ตามอง สมองเขาก็คิดว่า จะทำอย่างไรให้ไอเดียนี้เป็นจริง นี่จึงเป็นที่มาของการรวมองค์ความรู้ขั้นเทพ ทั้งอาจารย์ แพทย์ และวิศวะ

”เด็กนักเรียนคนนี้คือลูกสาวของคุณหมอโสฬพัทธ์นี่ละ เริ่มต้นจากน้องได้รับอุบัติเหตุสะโพกหลุดออกจากเบ้า ต้องนั่งวีลแชร์ พร้อมด้วยวอล์คเกอร์อีก 2 ตัว ตัวแรกใช้สำหรับทางเรียบ อีกตัวใช้สำหรับขึ้นบันได โดยขาหน้าจะสั้นกว่าขาหลัง พอถึงบริเวณชานพักก็ต้องเปลี่ยนใช้วอล์คเกอร์สำหรับทางราบ แล้วพอจะขึ้นบันไดต่อก็เปลี่ยนกลับมาใช้วอล์คเกอร์สำหรับขึ้นบันได เพื่อนต้องเดินหิ้ววอล์คเกอร์และวีลแชร์เดินตามเป็นขบวน เขาจึงเกิดความคิดว่า ทำไมจึงไม่มีวอล์คเกอร์ที่สามารถปรับเดินได้ทั้งทางราบและขึ้นบันได รักษาตัว 3 เดือนหาย เขาทิ้งวอล์กเกอร์ แต่ไม่ทิ้งไอเดีย ซึ่งผมอยากให้เขาทำในสิ่งที่นอกเหนือการเรียนหนังสือ ได้ทดลอง ไม่ต้องกลัวผิดถูก ผมจึงคุยกับคุณหมอโสฬพัทธ์ ซึ่งเป็นแพทย์ทางสมองของผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่าน่าจะนำมาพัฒนาต่อ ต่อมาได้รู้จักกับ ผศ.ดร.สัณหพศ จันทรานุวัฒน์ จากภาควิชาวิศวกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ครบองค์ความรู้”

พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้เป็นทั้งแม่และแพทย์เล่าว่า “อาจารย์สัณหพศ เป็นพี่ที่น่ารัก ทำงานวิจัยด้วยกันมาหลายชิ้น กว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เด็กๆ กับอาจารย์อยู่ในห้องแล๊ปอาจารย์ที่โรงเรียนถึงเที่ยงคืนติดต่อกันสองสามอาทิตย์ จำได้ตอนที่พัฒนาจนเป็นรูปเป็นร่าง เรานำไปประกวดที่เจนีวาโดยวางคอนเซ็ปท์ว่า เป็นวอล์คเกอร์สำหรับผู้พิการ แต่ปราฏว่ากลุ่มที่สนใจคือ กลุ่มผู้สูงอายุชาวสวิสหลายคนที่มาขอลองใช้ เดินขึ้นบันไดจำลองที่เราพกไปด้วย จนกระทั่งขอซื้อ จากที่ดิฉันทำงานในศูนย์ทางสมองผู้สูงอายุรู้เลยว่า เขารับสิ่งใหม่ๆ ยากมาก มีแค่ไม้เท้าหรือวอล์คเกอร์เท่านั้นที่ไม่ยอมให้อยู่ห่างตัว เปรียบเหมือนอวัยวะของเขาเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นหากเปลี่ยนธงมาที่กลุ่มผู้สูงอายุจะมีประโยชน์กับเขามากๆๆ แต่ก็อีกล่ะ หากเราไม่ได้พบกับโครงการพลิกไทยที่ไม่ได้จบอยู่ที่รางวัล ยังให้เงิน 100,000 บาทมาพัฒนางานต้นแบบเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้งาน ทำให้คอนเซ็ปท์จากหิ้งสู่ห้างของเราเป็นจริง อย่างน้อยได้ช่วยเปลี่ยนสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยขณะนี้ที่มีอัตราเร่งสูงมาก จนคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อชลอความเจ็บไข้ได้ป่วยของผู้สูงอายุที่ต้องการการพึ่งพิง ให้เป็นผู้สูงอายุที่สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกหลานในการดูแลผู้สูงอายุได้มหาศาล เพราะเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคภัย ช่วยเหลือตัวเองได้ 200 บาทอยู่ได้สบายๆ แต่หากผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน ไม่กล้าไปไหน เริ่มต้องมีค่าผู้ดูแลเดือนละหมื่น หากติดเตียง ก็มีค่าใช้จ่ายแอบแฝงทางการแพทย์อีกต้องเพิ่มจากวันละ 200 บาทเป็น 1,000 บาท ยิ่งเข้าโรงพยาบาลคืนละเป็นหมื่น ดังนั้นวอล์คเกอร์ตัวนี้ จะเป็นสื่อที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมั่นใจกล้าออกจากบ้าน ให้เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้พบปะเพื่อนฝูง ไม่เหงา ซึ่งเราต้องการที่จะผลักดันให้สังคมไทย เป็นสังคมผู้สูงอายุตัวอย่างในเอเชียเลย

“เวอร์ชั่นที่เรานำเสนอโครงการพลิกไทย สามารถปรับ 2 ขาหน้าสำหรับขึ้นบันไดหรือทางลาดชันได้อัตโนมัติ” ผศ.ดร.สัณหพศ จันทรานุวัฒน์ อธิบายถึงจุดเด่น “วิธีการทำงานง่ายๆ คือเวลาขึ้นบันได ผู้สูงอายุกดปุ่มที่อยู่บนที่จับ แผงวงจรจะทำงานให้มอเตอร์หด 2 ขาหน้าสั้นขึ้นเท่ากับขั้นบันได ผู้สูงอายุสามารถยกวอล์คเกอร์เดินขึ้นบันไดได้ ต่อเมื่อถึงบริเวณชานพักก็กดปุ่มขาก็กลับมาตรงเหมือนเดิม การลงบันไดก็เช่นกัน และสามารถพับได้”

อาจารย์จีระศักดิ์เพิ่มเติมว่า “ตอนที่เราทดลองใช้กับศูนย์ผู้สูงอายุที่แพร่งภูธร ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ภายใต้การดูแลด้านสุขภาพของสภากาชาดไทย 2  โดยดึงผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้านออกมาร่วมทำกิจกรรม เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เด็กๆ ในทีมเป็นหน่วยให้กำลังใจผู้สูงอายุ บางคนยังยอมรับตัวเองไม่ได้จึงไม่ยอมใช้ ก็ต้องใช้ความน่ารักของเด็กไปช่วยจับจึงยอม มีอาม่าอายุ 80 กว่า สอนอยู่แค่ 2-3 นาทีก็ใช้เดินขึ้นบันไดบ้านตัวเองอย่างคล่องแคล่วมาก คือภาพแห่งความสำเร็จของพวกเราเลย ทั้งได้สร้างเยาวชนที่มีจิตสาธารณะ ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็มีคุณภาพ”

“ในอนาคตจะพัฒนาเป็นระดับไฮเอนท์ คือเพิ่มความปลอดภัยและดูแลสุขภาพมากขึ้น” คุณหมอเสริม “เช่น หากขาวอล์คเกอร์เอียงไปด้านหน้าหรือด้านหลังมากไปจะมีเสียงเตือน หรือหากขาไม่แตะพื้นครบทั้ง 4 ข้างก็จะร้องเตือนเช่นกัน เพิ่มล้อ มีระบบเบรคอัตโนมัติ แต่ในเบื้องต้นปรับน้ำหนักให้เบาก่อน ซึ่งตอนนี้เริ่มมีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ แล้วดูว่าตอบโจทย์ผู้สูงอายุไหม ด้วยความช่วยเหลือของดีแทคทำให้เราสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุในการใช้งานได้มากขึ้น คือติดตั้ง IOT (Internet of thing) หากผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุ แค่กดปุ่มระบบโครงข่ายสัญญาณของดีแทคติดต่อถึงหน่วยงานทางการแพทย์ ลูกหลาน ญาติ สามารถมาช่วยเหลือได้ทันเวลา ต่อไปอาจพัฒนาถึงวิเคราะห์ชีพจรผู้สูงอายุหากสูงเกินมาตรฐาน ก็ส่งสัญญาณเตือนไปที่ลูกหลานได้เช่นกัน ภายใน 6 เดือนผู้สูงอายุได้ใช้แน่ๆ เบื้องต้นผลิต 10 ชิ้นไว้ที่ชุมชนแพร่งภูธร ในอนาคตจะมีขายราคาไม่แพง หรือแจกฟรี แต่ก็ต้องนำจำนวนก้าวมาแลก”

‘โครงการพลิกไทย ทำให้เราได้ทำความฝันให้เป็นจริง เสมือนรางวัลที่มีเกียรติและยิ่งใหญ่กว่าเหรียญทองจากเวทีใดๆ’

ชาวคณะนักพลิกไทย

  • นายคณิน เกียรติอร่ามกุล
  • ผศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ
  • รศ.พญ.กฤษณา พิรเวช
  • ดช.กร เหมรัญช์โรจน์
  • ดช.มัฌชิมา สุธีโสภณ
  • ดญ.กุลณัฐโตวกิกยั
  • ดญ.จ้าวไหม ตั้งสิริพัฒน์

 

   พลิก…อักษรเบรลล์ให้เป็นของเล่น

‘ครูครับ ครูครับ จังหวัดตากมีเสียงอยู่จังหวัดเดียว อันอื่นพังหมดแล้วครับ’

ครูเบนซ์ ของเด็กพิการทางสายตาในโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดนครราชสีมา มูลนิธิธรรมมิกชนเพื่อคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่กำลังเดินขึ้นบันไดโรงเรียนหันไปตามเสียงเด็กชายกอล์ฟที่พูดรัวเร็ว เธอรู้เลยว่า เด็กชายหมายถึง แผนที่ประเทศไทยที่เธอนำความรู้ด้านอิเล็คโทรนิกส์กับความรู้ทางประวัติศาสตร์มารวมไว้ด้วยกัน เมื่อกดที่จังหวัดไหนจะมีเสียงอธิบายประวัติจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้เด็กพิการทางสายตาได้มีโอกาสรู้จักประเทศไทยได้เท่าเทียมคนตาปกติ คงไม่มีอะไรน่าดีใจเท่ากับงานที่สร้างสรรค์ได้ใช้งานจริง แม้จะพังสักกี่ครั้ง เธอก็ยินดีซ่อม

“จุดเริ่มต้นมาจากวิชาโปรเจ๊คท์ของนักศึกษา ส่วนใหญ่เมื่อเสร็จโครงการแล้วจะนำไปเก็บมากกว่าใช้งานจริง นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เพราะเราอยากผลิตแล้วนำไปใช้งานได้จริง จึงเขียนโครงการบริการทางวิชาการ โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือชุมชน โรงพยาบาล และโรงเรียน รวมถึงที่นี่ แต่ละที่มีความต้องการจริง แต่เขาไม่ค่อยดีใจหรือภูมิใจกับเครื่องมือที่เรามอบให้เท่ากับโรงเรียนนี้ เพราะแม้เด็กๆ ไม่สามารถมองเห็นว่า ของที่เรามอบให้หน้าตาเป็นอย่างไร แต่เขายิ้ม แค่นี้เราก็มีความสุข ยิ่งเห็นเด็กใช้แล้วชอบ ก็ยิ่งภูมิใจ เพราะให้เงิน ให้สิ่งของยังมีวันหมด แต่หากให้องค์ความรู้จะติดตัวเขาไปจนตาย รู้สึกอยากทำสิ่งของมาให้อีก” ครูเบนซ์ หรือตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือ ‘อาจารย์สุภาธิณี กรสิงห์’ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลอีสาน เริ่มต้นด้วยรอยยิ้มก่อนเล่าต่อว่า

“เราพบว่า โรงเรียนเด็กตาบอดค่อนข้างขาดสื่อการเรียนการสอน ดิฉันกับทีมอาจารย์จึงเริ่มประดิษฐ์สื่อการเรียนรู้ทางวิชาการให้กับนักเรียน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเป็นเด็กเล็ก ตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถม 6 ชิ้นแรกคือแผนที่ประเทศไทย ชิ้นที่สองคือรีโมทนำทางคนตาบอด คล้ายๆ กับจีพีเอส แต่ใช้ได้เฉพาะในอาคาร จนกระทั่งคุ้นเคยกับอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และนักเรียน ก็พบอีกว่าเด็กบางกลุ่มไม่สามารถเรียนอักษรเบรลล์ได้ เพราะยากเกินความสามารถ แล้วเมื่อจบป.6 เด็กๆ ต้องออกไปเรียนร่วมกับเด็กในโรงเรียนปกติ เมื่อเรียนไม่ได้ก็ทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษาไปอย่างน่าเสียดาย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำเครื่องมือที่ทำให้เด็กรู้สึกว่า การเรียนอักษรเบรลล์สนุก  เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นของเล่นได้ โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวที่เวลาเราอ่านหนังสือ หากโน๊ตไปด้วยจะทำให้จำแม่นขึ้น จึงคิดคอนเซ็ปท์การเรียนรู้อักษรเบรลล์ขั้นพื้นฐาน โดยใช้ทีมเดิม ซึ่งมีทั้งอาจารย์และอดีตนักศึกษาช่วยเขียนโปรแกรม โดยอยู่ภายใต้การช่วยเหลือเรื่องอักษรเบรลล์จากครูอ๋อง เป็นครูพิการทางสายตาที่สอนคอมพิวเตอร์ และมีห้องสมุดเบญญาลัยที่ช่วยตรวจเช็คความถูกต้อง โดยเฉพาะน้องกอล์ฟ เป็นเด็กพิการทางสายตาอย่างสมบูรณ์ ชอบอ่านหนังสือมาก เขานี่ล่ะ เป็นผู้ทดลองเครื่องได้ดีทีเดียว  หากผิดเขาบอกเลยว่า จังหวัดนี้อ่านไม่ถูกต้อง เจอกันวันนี้เขาบอกว่า เหลือจังหวัดตากมีเสียงอยู่จังหวัดเดียว นอกนั้นพังแล้ว (หัวเราะ)

“เครื่องนี้มีไว้เป็นผู้ช่วยครู ในการสอนอักษรเบรลล์ขั้นพื้นฐานให้กับเด็กพิการทางสายตาให้สามารถจดจำอักษรเบรลล์ได้แม่นยำขึ้น เหมาะกับเด็กเล็กและผู้ที่ไม่ได้พิการทางสายตามาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้อักษรเบรลล์ โดยถอดแบบมาจากเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ จะมีหมวดหลักคือ ปุ่มเรียน กับปุ่มฝึก โดยปุ่มจะนูนขึ้นเพื่อให้เด็กได้คลำ ซึ่งผู้พิการทางสายตามีความสามารถพิเศษทางการสัมผัส การรู้จำ และเรียนรู้ได้เร็วกว่าคนปกติ จึงไม่น่ามีปัญหากับการใช้เครื่อง แล้วเด็กตื่นเต้นกับเสียง เราจึงนำเสียงมาใช้ในการสื่อสาร เมื่อเด็กกดปุ่มเรียน เครื่องจะถามว่า อยากเรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือตัวเลข ซึ่งเป็นแบบเรียนของป.1โหมดภาษาไทยจะมีพยัญชนะตั้งแต่ก.ถึง ฮ อย่างอักษรเบรลล์ 1 เซลล์ ประกอบด้วย 6 จุด ตัวอักษร ก.จะเป็นจุดที่ 1- 2-4- 5 เครื่องจะพูดว่าจุดที่ 1-2-4-5 ซึ่งบนเครื่องมีปุ่ม 1-2-3-4-5-6  เด็กก็จะกดที่เครื่อง หรือโหมดภาษาอังกฤษ ตัว G ใช้ 2 เซลล์ ก็จะเป็น 6+1-2-4-5 เด็กจะกดปุ่มหมายเลข 6 ก่อน แล้วกดปุ่มที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งแทนเครื่องหมายบวก แล้วกด 1-2-4-5 ไม่ว่ากดถูกหรือผิดจะมีเสียงบอก ขณะที่หมวดฝึก วิธีการทำงานเหมือนกัน แต่ไม่บอกจุด เด็กต้องจำให้ได้ ทำให้เขาสนุกและจดจำได้แม่นยำขึ้น จะมีหน้าจอขึ้นอักษรเบรลล์กับอักษรปกติ เพื่อให้ครูหรือผู้ปกครองสามารถทบทวนให้เด็กได้ ในอนาคตจะพัฒนาให้มีปุ่มใช้งานได้จริง คือสามารถเซฟไฟล์แล้วปริ้นท์ส่งให้ครูตรวจได้

“ตอนแรกเรานำโครงการนี้ไปประกวดสตาร์ทอัพของมหาวิทยาลัย แต่เราไม่ได้เข้ารอบ เพราะกรรมการบอกว่า สตาร์ทอัพต้องทำเร็วขายเร็ว แต่เครื่องนี้ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล พร้อมกับแนะนำให้ส่งมาที่โครงการพลิกไทยของดีแทค เขาบอกว่า ดี เป็นแนวเดียวกับที่ดิฉันชอบคืองานบริการวิชาการ เมื่อได้มาเจอเพื่อนๆ ที่เข้าประกวดที่มาจากหลากหลายอาชีพมาก ตั้งแต่ตำรวจ ทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ จนกระทั่งชาวบ้านที่อยากช่วยเหลือชุมชน ได้เห็นกลุ่มคนที่มีใจที่อยากจะทำงานเพื่อสังคมจริงๆ จึงเป็นการช่วยเหลือกันมากกว่าแข่งขันกัน ตอนแรกคิดแค่ว่า อยากได้เงินทุนมาสร้างเครื่องให้เด็กได้ใช้ แต่ไม่คิดว่า โครงการพลิกไทยจะสนับสนุนด้วยการให้เงิน 100,000 บาท สร้างเครื่องต้นแบบก่อน พร้อมกับจัดหาอาจารย์มาช่วยวิเคราะห์ความเหมาะสมในการใช้งาน เพื่อออกแบบให้เด็กพิการทางสายตาได้ประโยชน์ที่สุด ดิฉันดีใจจนไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป ดิฉันสามารถพัฒนาเครื่องจนมาถึงจุดที่ต้องการได้ ในอนาคตที่ดีแทควางไว้คือ จะมอบให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ โรงเรียนละ 10 เครื่อง

“ดิฉันอยากให้เด็กพิการทางสายตาได้ใช้เครื่องนี้แล้ว มีกำลังใจที่อยากจะเรียน  มองอักษรเบรลล์เป็นเรื่องง่าย หากมีผลการเรียนดีและมีความสุข ดิฉันก็มีความสุขด้วย”

ทีมสร้างสรรค์อักษรเบรลล์

  • ผู้ช่วยศาสตราจารยวัชรพล นาคทอง
  • ดร.นุชนาฏ สันทาลุนัย
  • ดร.อภิญญา อินทรนอก
  • นายเอกจิต คุ้มวงศ์
  • นายเฉลิมเกียรติ สุตาชา
  • นายสุทธินันท์ ชั้นกลาง

Praew Recommend

keyboard_arrow_up