ไหว้พระ 11 วัด รัตนโกสินทร์ เสริมสิริมงคลให้กับชีวิตและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน

ไม่ว่าจะมุมไหนของประเทศไทย ทุกที่ล้วนมีอารยธรรมงดงามที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว แม้แต่จังหวัดที่หนาแน่นไปด้วยผู้คนอย่ากรุงเทพมหานคร ก็ยังมีความน่าสนใจอีกมาก โดยเฉพาะวัดวาอารามอันเก่าแก่อย่าง 11 แห่งนี้ ที่ล้วนแต่เป็นที่ประทับจำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาแล้วทั้งสิ้น

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

เครดิตภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง

โครงสร้างวัดมีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล  (ข้อมูล: วิกิพีเดีย)

นอกจากนี้ในอดีตเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ สิริวฑฺฒโน ชมพูนุท) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน นิลประภา) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อมฺพร มหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๒๐ ซึ่งเป็นองค์ปัจจุบัน ได้ประทับจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้อีกด้วย

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

เครดิตภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551] และวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์[4] พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง 8,155,000 คน
นอกจากนี้ในอดีตยังเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรงฺสี) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๗ และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ สุขเจริญ) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑๗

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

เครดิตภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศน์และถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในอดีตเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปฺญญาอคฺโค) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น สุจิตฺโต นพวงศ์) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑๓ และ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน คชวัตร) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑๙

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

เครดิตภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหารที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐาน จึงทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี และเพื่อพระอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเพื่อที่พระองค์เองและเจ้านาย ข้าราชการ ที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้สะดวก วัดราชประดิษฐฯ จึงเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรกที่สร้างขึ้นเพื่อพระสงฆ์ในนิกายนี้ เพราะวัดอื่น ๆ ของฝ่ายธรรมยุตเป็นวัดที่แปลงมาจากวัดของมหานิกาย ในอดีตวัดนี้เคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๙

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

เครดิตภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดนี้เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย

ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี (ข้อมูล : วิกิพีเดีย)

ในอดีตยังเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสฺสเทโว พงษ์ปาละ) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑๒

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

เครดิตภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) ในสมัยธนบุรี จนกระทั่งในรัชสมัย รัชกาลที่ ๑ วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัดได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ ๕ ลูก (ข้อมูล : วิกิพีเดีย) ทั้งนี้ในอดีตเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

เครดิตภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้นพระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัด (ข้อมูล : วิกิพีเดีย) ในอดีตเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ เกตุทัต)สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑๔

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

เครดิตภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

วัดสระเกศ เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ข้อมูล : วิกิพีเดีย) ทั้งนี้ในอดีตเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(อยู่ ญาโณทโย ช้างโสภา) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑๕

วัดราชบูรณราชวรวิหาร

วัดราชบุรณราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ เดิมชื่อ “วัดเลียบ” ตั้งอยู่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วัดนี้เป็นวัดหนึ่งตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์ (ข้อมูล : วิกิพีเดีย) ในอดีตเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๖ (ประทับวัดมหาธาตุในพระนาม ประทับจริงวัดราชบูรณะ)

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อวัดสลัก สร้างในสมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี  (ข้อมูล : วิกิพีเดีย)

ในอดีตวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๒ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๓สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๔และ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๕

วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร

วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารสำคัญในวัดได้แก่ พระวิหาร และพระอุโบสถ มีลายพระมหามงกุฏอันเป็นตราประจำรัชกาลที่ 4 ทั้งที่หน้าบันและด้านบนของซุ้มประตูหน้าต่างเช่นเดียวกัน ผนังด้านในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมอันหลากหลายแตกต่างจากวัดอื่น เช่น เรื่องพระสาวกในบาลีและอรรถกถา พระอัครสาวก 11 พระองค์ อัครสาวิกา 8 องค์ ภาพการบำเพ็ญกรรมฐาน สิ่งที่พึ่งปฏิบัติเนื่องด้วยธรรมวินัย ธุดงควัตร บนบานหน้าต่างและบานประตูด้านในเขียนพระสูตรที่เป็นคาถาด้วยตัวอักษรบรรจง  (ข้อมูล : วิกิพีเดีย) ทั้งนี้ในอดีตเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี สิริสม) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ ๑๖

Praew Recommend

keyboard_arrow_up