จากรากหญ้าสู่หน้าร้าน! 3 เกษตรกร เผยชีวิตนี้ขอยึดมั่นตามรอย ศาสตร์พระราชา

ศรัณยา กิตติคุณไพศาล ‘สวนบัวชมพู ทำนาตามศาสตร์พระราชา’
ลูกชาวนาจากอำเภอเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ ตัวอย่างชาวนารุ่นใหม่ที่ยิ่งทำ ยิ่งมีเก็บ มีกิน สวนกระแสกับชะตากรรมของชาวนาขณะนี้

“ดิฉันเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯตั้งแต่ ม.4 จนทำงาน แม้ได้เงินมาก แต่ความสุขลดลง จึงกลับบ้านมาซื้อที่ทำนา ณ ตอนนั้นไม่มีความรู้ก็ทำตามกันไปแต่พอเห็นปูในนาตายจากการใช้ยาฆ่าแมลง จิตตก เพราะไม่ใช่แนว ดิฉันจึงพยายามลดละยาฆ่าแมลง แต่ก็ไปต่อไม่ถูก จนกระทั่งได้มีโอกาสเรียนรู้กับอาจารย์เดชา ศิริภัทร ที่มูลนิธิข้าวขวัญ ยิ่งได้เรียนกับอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องตามเส้นทางของศาสตร์ของพระราชาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งถึงการปลูกข้าวแล้วแบ่งเป็นส่วนว่า เพื่อกิน ดิฉันจึงกันข้าวส่วนหนึ่งไว้เลี้ยงพ่อแม่ และนำไปถวายวัดกับทำทาน ดิฉันหุงข้าวให้ชุมชนกินฟรีตลอดชีวิต แล้วเก็บไว้ร้อยละ 30 พระองค์รับสั่งว่า เราควรขายคนใกล้
มากกว่าคนไกล เพราะช่วยลดค่าขนส่ง ดิฉันตักข้าวสารกล้องใส่ถุงพลาสติก ตั้งชื่อว่า ‘ข้าวรักแผ่นดิน’ ขายในชุมชน ใช้ประสบการณ์ทางการตลาดซื้อเวลาวิทยุชุมชนโฆษณาขายข้าวจนรู้จักทั้งอำเภอแล้วเปิดเพจชื่อ สวนบัวชมพู ณ ดอนคีรี เริ่มมีแฟนคลับเข้ามาสั่งซื้อในอินบ็อกซ์ ปี 2556 เข้าสู่โครงการผูกปิ่นโตข้าว เป็นกลุ่มคนที่ทำงานสื่อมารวมตัวกันเพื่อช่วยชาวนาตอนวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 แบ่งเป็นเจ้าบ่าวคือชาวนาที่ไม่ใช้สารเคมี ส่วนเจ้าสาวคือ ผู้บริโภค แล้วจับคู่กัน เพื่อให้ชาวนาได้มีโอกาสขายข้าวมากขึ้น

“เพราะความรักทำให้ดิฉันปลูกข้าวด้วยใจและให้เกียรติข้าว ผลคือจากที่นา 30 ไร่เพิ่มเป็น 90 ไร่ ปลูกข้าวแบบพออยู่พอกิน สีข้าวเดือนละครั้ง เพราะจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ข้าวสารอินทรีย์หากไม่รีบหุงภายใน 1 เดือน ในอุณหภูมิที่เชียงดาว จะเกิดเชื้อราตัวเดียวกับสารก่อมะเร็ง จึงต้องย้ำกับลูกค้าว่า ใส่ในตู้เย็นเก็บไว้ได้ 6 เดือน แม้
เราไม่สามารถแก้ปัญหาในโลกนี้ได้ทั้งหมด ต้องแก้ที่ใจเรา แล้วลงมือทำดิฉันจึงทำงานอาสาที่สามารถช่วยได้พร้อมกับดึงหน่วยงานต่าง ๆ มาเป็นเครือข่าย เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ชาวนาเช่นเดียวกับการผ่านเข้ารอบการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ความดีใจไม่ได้อยู่ที่ชื่อเสียงแต่อยู่ที่เป้าหมาย คืออยากได้เงินรางวัลไปช่วยสนับสนุนกองทุนปลูกป่า
ของกลุ่มเยาวชนเขียวสดใส รักษ์ป่าเชียงดาว กับแรงบันดาลใจจากคลิปรายการโทรทัศน์ที่ไปสัมภาษณ์คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ได้รู้วิธีคิดในการทำงาน ซึ่งไม่ได้สร้างความร่ำรวยให้ตัวเองอย่างเดียว แต่ทำเพื่อคนอื่นด้วย ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แม้จะต่างวิธีการ ทำให้มีแรงบันดาลใจเตรียมเอกสารทั้งคืนเพื่อจะส่งใบสมัครให้ทัน
“ปรากฏว่าสิ่งที่ดิฉันได้มากกว่าที่คิดคือ การได้พบกับสุดยอดเกษตรกรอีก 9 คน”

เรื่อง/ภาพ :นิตยสารแพรว

Praew Recommend

keyboard_arrow_up