เคล็ดลับ! ทำธุรกิจโรงแรมอย่างไรให้มั่นคง ยืนยาวกว่า 40 ปี คุณธเนศ ศุภรสหัสรังสี

คุณธเนศ ศุภรสหัสรังสี เจ้าของกิจการกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทเครือซันไชน์  ปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ท 9 แห่งในพัทยานาจอมเทียน และสัตหีบ ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ  ทั้งยังพ่วงตำแหน่งรักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรีและสมาชิกสภาเมืองพัทยา ธุรกิจโรงแรมที่คุณธเนศรับช่วงต่อจากรุ่นคุณพ่อ ณ ตอนนี้ยังคงอยู่ในความดูแลของคุณธเนศ ซึ่งโรงแรมถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ  และได้รับผลกระทบง่ายที่สุดเวลามีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การจะสร้างธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนและอยู่ได้อย่างยาวนานกว่า 40 ปี นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขาคนนี้ทำได้และไม่เคยหยุดพัฒนาธุรกิจของตัวเองพยายามหาไอเดียและลงทุนสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ก้าวทันโลกอยู่ตลอดเวลา อะไรที่ทำให้เขายังรักษาธุรกิจของครอบครัวให้แข็งแรงอยู่ได้ และเขามีแนวคิดอย่างไรในการเริ่มลงทุนธุรกิจใหม่ๆ เรามาหาคำตอบจากคุณธเนศ ศุภรสหัสรังสี กันเลย

รับไม้ต่อจากรุ่นพ่อ…ต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง
เมื่อ 43 ปีที่แล้ว คุณพ่อเริ่มทำมาจาก 27 ห้อง จากนั้นก็พัฒนาเพิ่มมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 9 แห่ง ห้องพักรวมๆ ประมาณพันกว่าห้อง ซึ่งธุรกิจในรุ่นของผมก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และก่อนที่ผมจะเข้ามารับช่วงต่อคุณพ่อนั้น ตัวผมจบรัฐศาสตร์แต่เมื่อรู้ว่าต้องมาทำงานด้านโรงแรม ผมก็เลือกเรียนปริญญาโทด้านการเงินเพื่อมาต่อยอดทันที แล้วศึกษาจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละเจนเนอร์เรชั่นอย่างรุ่นคุณพ่อผมก็คงต้องบอกว่า การแข่งขันไม่ได้สูงมากเพราะมีโรงแรมไม่มาก แต่ในขณะนี้โรงแรมถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ และได้รับผลกระทบง่ายที่สุด แต่ด้วยความที่ทางเราสั่งสมประสบการณ์ด้านนี้มาหลายสิบปี ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวและอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อจะแก้ปัญหาให้ได้ด้วยตัวเอง  

ธุรกิจเติบโตไม่ได้…ถ้าขาดความร่วมมือจากทุกฝ่าย
จริงๆ เราไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านต้องกำหนดทิศทางร่วมกัน มีการวิเคราะห์และประเมินผลงานและมีการติดตามผล ฉะนั้นหลักๆ แล้วก็คงต้องบอกว่าความสำเร็จมาจากทีมงาน เพราะธุรกิจโรงแรมมันเป็นธุรกิจที่มันไม่เหมือนโรงงานอุตสาหกรรมที่ว่าเราผลิตอะไรออกไป ถ้าของมันใช้ไม่ได้ก็โยนทิ้ง เพราะเป็นธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังมองไม่เห็นเบื้องหน้า แต่ธุรกิจโรงแรมคือการให้บริการลูกค้าคือบุคคลที่สำคัญที่สุด ต่อให้เรามีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย แต่ยังไงหัวใจหลักสำคัญก็คือเรื่องคน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องการบริการเรื่องคนที่เรามีอยู่คือปัจจัยหลักสำหรับความสำเร็จ

อีกปัจจัยหนึ่งก็คือคู่ค้าต่างๆ เช่น บริษัททัวร์ เว็บไซต์ตัวแทนจำหน่ายท่องเที่ยวออนไลน์ที่เข้ามาสนับสนุน หรือแม้กระทั่งสถาบันการเงินที่ให้โอกาสเรา เพราะว่าทุกโรงแรมส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินทุนของเราเองเพียงพอที่จะทำ ก็ได้โอกาสจากสถาบันการเงินต่างๆ อย่างเช่น TMB  ที่ให้สินเชื่อเรามาซื้อที่ดินในการขยายกิจการแล้วก็ก่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม

เอาใจเขามาใส่ใจเรา…ไม่ว่าลูกค้าหรือพนักงาน
ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ผมว่าคุณพ่อดูแลพนักงานเหมือนกับคนในครอบครัว พนักงานเดินมาก็จำชื่อได้เกือบหมด แต่พอ ณ ปัจจุบัน จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเยอะมากๆ อาจจะไม่ได้ใกล้ชิดกันเหมือนสมัยคุณพ่อ แต่เราได้ทำกิจกรรม CSR หลายอย่างเพื่อช่วยเหลือพนักงานของเรา เช่น การให้ทุนการศึกษา ซึ่งตรงนี้เราก็ทำมาสิบกว่าปีแล้ว แจกทุนการศึกษาให้กับบุตรพนักงานทุกปี แล้วผมว่าเรื่องสวัสดิการอะไรต่างๆ พวกนี้ถ้าชีวิตเขาได้รับความอำนวยความสะดวกก็จะทำให้จิตใจของพวกเขาโอเคกับเราสามารถให้บริการที่ดีให้กับลูกค้าได้ จริงๆ ผมก็คุยกับพนักงานตลอด ผมก็บอกว่าเราต้องยอมรับว่าในแง่ของการลงทุนเรื่องระบบการตกแต่ง ถ้ามีเงินผมว่ามันก็ลงได้แต่สิ่งที่มันซื้อไม่ได้ก็คือเรื่องจิตใจ รอยยิ้ม การบริการของพนักงาน ตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นจุดต่างและจุดแข็งของเรา อย่างเช่น สมมติบอกว่าแอร์ยี่ห้อนี้ดีที่สุด เย็นที่สุด ที่นอนยี่ห้อนี้สบาย ถ้าเราคิดว่ามีเงินลงทุนแล้วมันคุ้มเราก็ลงทุนได้ สุดท้ายต่อให้องค์ประกอบพวกนี้ดีหมดทุกอย่าง แต่ถ้าลูกค้ามาเจอพนักงานไม่ยิ้มหน้าบึ้ง ไม่สามารถสร้างความประทับใจในครั้งแรกได้ หรือแม้แต่การบริการที่มันไม่ตอบสนอง ในที่สุดลูกค้าก็ไม่ประทับใจ ผมว่าประมาณ 70% เป็นเรื่องของคนและการบริการมากกว่าตัวระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

เดินหน้าธุรกิจครอบครัว…ด้วยความก้าวทันโลก
ปัจจุบันมันมีเรื่องเทคโนโลยี เรื่องอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วย อย่างเช่น การขายห้องทางอินเตอร์เน็ต สมัยก่อนขายห้องเราก็จะมีราคาแน่นอนตายตัว High season หน้าหนาวขายราคานี้ Low season ขายประมาณนี้ แต่เดี๋ยวนี้จะตั้งราคาตายตัวไม่ได้ ต้องปรับไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วง เพราะมีระบบคอมพิวเตอร์และออนไลน์อื่นๆ เข้ามามีบทบาทในการจองที่พักมากขึ้น  คือผมมองว่าพอเทรนด์โลกมันเปลี่ยน สุดท้ายผมว่าเราก็ต้องตามเทรนด์ให้ทัน ซึ่งปัจจุบันด้วยเทรนด์ที่เศรษฐกิจยุโรปอาจจะไม่ดี จำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปเริ่มน้อยลง มันก็มีการปรับตัว เพราะฉะนั้นผมว่าโรงแรมรุ่นใหม่ๆ จะต้องดูเข้ากับเทรนด์มากขึ้น แล้วต้องเหมาะสำหรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องบอกว่าจริงๆ แล้วเกือบจะทุกชาติ นักท่องเที่ยวถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือแบบออฟไลน์กับออนไลน์ คนที่ซื้อออฟไลน์คือคนที่ไปซื้อกับตัวแทนขายทัวร์ ซึ่งกลุ่มนี้จะค่อนข้างเป็นคนยุคเก่า เขาก็จะชอบโรงแรมที่ดูเหมือนบ้าน มีความสงบร่มรื่น แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจพักไม่นานอาจไม่ต้องการห้องที่มีขนาดใหญ่เหมือนในอดีต ชอบอะไรที่มันแปลกๆ ใหม่ๆ ใกล้สถานที่ท่องเที่ยว ใกล้แหล่งช้อปปิ้งที่เดินไปได้ง่าย ซึ่งของเราก็จะมีโรงแรมทั้งสองลักษณะที่ตอบรับตลาดเกือบทุกตลาดที่มันเกิดขึ้น

ธุรกิจอาจจะพัง…ถ้าไม่ทำด้วยใจ
ถ้าจะส่งธุรกิจต่อไปถึงรุ่นที่สามคือรุ่นลูกของเรา ผมว่าอันนี้คือเรื่องที่ยากเพราะต้องบอกว่าเขาเกิดมาในยุคที่พร้อมทุกอย่างสะดวกสบายทุกอย่าง แล้วเด็กรุ่นใหม่จะมีอิสระมีเสรีมากขึ้น คือหลายครอบครัวที่เห็นหน้ารุ่นปู่ มาจนถึงรุ่นพ่อ พอมาถึงรุ่นลูกก็ต้องหยุดลงเพราะไม่ได้ตั้งใจจะสานต่อจริงๆ ต้องบอกว่างานโรงแรม งานบริการมันเป็นงานที่เรียกว่ามันไม่มีวันหยุด วันที่คนอื่นหยุดวันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือเป็นวันหยุดยาวอย่างช่วงเทศกาล ปกติเราจะไม่ค่อยได้ไปไหน เพราะมันเป็นช่วงที่ลูกค้าเยอะเราก็ต้องมาดูแล ซึ่งถามว่าคนจะมาชอบทำงานด้านนี้ได้ ก็ต้องมีจิตใจที่ชอบ รักอยากที่จะทำ เพราะฉะนั้นคือสุดท้ายมันก็อาจจะฝืนไม่ได้ถ้าเขาไม่ชอบจริงๆ ธุรกิจอาจจะมีปัญหาและไม่ยืนยาว ในที่สุดคงต้องวางระบบให้มันดี ไม่ว่าใครจะมาทำก็ทำให้ได้ตามระบบที่วางไว้ คนมาบริหารงานอาจเป็นมืออาชีพ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในครอบครัว

อนาคตไม่มีล้ม…หากวางแผนอย่างรอบคอบ
ทุกครั้งที่เราจะมีการขยาย เราก็ค่อยเป็นค่อยไป คือเราไม่ได้ขยายแบบก้าวกระโดด และต้องมีความมั่นใจว่าตลาดที่เราทำอยู่มันมีการขยายตัว มันมีความต้องการเพิ่มขึ้นจริง เหมือนอย่างโรงแรมราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา ตอนนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว เราก็ดูว่าแนวโน้มนี้ต่อไปในเรื่องประชุมสัมมนา การส่งเสริมการท่องเที่ยว เรื่องพวกนี้มันจะมากขึ้น เราเลยมองว่ามีความจำเป็นจะต้องขยายเฟสที่สอง เพราะจากนี้เลยไปสัก 20 กิโลเมตรก็จะเป็นสนามบินอู่ตะเภาที่เป็นของทหารเรือ ซึ่งประกาศชัดเจนว่าจะเป็นสนามบินแห่งชาติแห่งที่สาม เพราะว่าสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิมีพื้นที่จำกัดในที่สุดคงขยายไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้จะเป็นสนามบินแห่งชาติแห่งที่สาม แล้วก็จะเชื่อมโยงด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงทั้งสามสนามบิน อีกหน่อยคนมากรุงเทพฯ ก็อาจจะมีบางส่วนมาลงที่นี่แทนแล้วนั่งรถไฟฟ้ากลับไปกรุงเทพ-พัทยา ซึ่งอาจใช้เวลาสัก 40-50 นาที เพราะฉะนั้นเราก็มีความเชื่อมั่นว่าความเจริญเติบโตคงจะมีมากขึ้น แทนที่มันจะเป็นแค่เรื่องนักท่องเที่ยวอย่างเดียว ก็จะมีคนที่มาทำธุรกิจมาทำการค้าโซนนี้เพิ่มขึ้นด้วย

รู้จักการบริหารเงิน…ช่วยให้คว้าโอกาสทองทันเวลา
โรงแรมราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา ในเบื้องต้นตอนที่เราซื้อที่แปลงนี้ก็ขอเป็นสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ และได้รับความสนับสนุนจากทาง TMB แล้วตอนนี้เงินกู้จ่ายครบถ้วนไปหมดแล้ว ในส่วนตัวก็ยังมีการใช้บริการเงินฝาก แล้วก็เรื่องเงินเดือนพนักงานการลงทุนส่วนตัวก็ใช้บริการผ่านทาง TMB อยู่ รวมถึงเรื่องประกันชีวิตประกันภัยต่างๆ ด้วย ก็เรียกว่าใช้บริการเกือบครบทุกอย่างทางด้านการเงิน

ผมมองว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินมันก็คล้ายๆ กันจริงๆ ผมก็ใช้เกือบทุกสถาบันการเงินเกือบทุกแบงค์ แต่จุดที่อาจจะสร้างความแตกต่าง ผมว่าทาง TMB ค่อนข้างใส่ใจแล้วก็ดูแลลงไปในรายละเอียดปลีกย่อย อย่างเช่น สมมติว่าเรามีการซื้อกองทุน หรือมีอะไรต่างๆ เขาจะคอยติดตามผลให้เราว่า ณ ปัจจุบันกองทุนกองนี้สถานะมันเป็นยังไง แนวโน้มเป็นยังไง แล้วก็มีกำไรประมาณขนาดนี้จะขายออกหรือทำอะไรก่อนไหม ซึ่งผมว่ามันก็ทำให้เราซึ่งไม่ค่อยมีเวลามากนัก สะดวกขึ้น ข้อดีก็คือเขาคอยเตือนเราตลอด ถ้าเรายุ่งมากๆ เคยซื้อกองทุนธนาคารอื่น บางที่เขาไม่ได้เตือน บางครั้งผ่านช่วงกำไรไปแล้ว จนกลับมาขาดทุนอีกรอบก็ยังไม่ได้ขายเลย เพราะฉะนั้นผมว่า TMB นี่แหละที่เป็นผู้ช่วยในการบริหารเงินที่ดีสำหรับผม

เคล็ดลับที่คุณธเนศได้แชร์ให้ทราบกันทั้ง 7 หัวข้อนี้ ต้องบอกว่าแต่ละหัวข้อมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะทุกอย่างคือส่วนประกอบที่ทำให้ธุรกิจโรงแรมยังคงยั่งยืนมาถึง 40 ปี ไล่เรียงมาตั้งแต่การเริ่มจับธุรกิจ และบริหารธุรกิจเมื่อมาอยู่ในมือของตัวเอง การใส่ใจพนักงานให้ได้เท่าที่รุ่นพ่อเคยทำเอาไว้ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจของพนักงานให้มีความรักต่องานได้ จากนั้นก็ไม่ทิ้งการอัพเดทเทรนด์การท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วยระยะเวลาที่บริหารงานด้านนี้มาอย่างยาวนาน ถ้าไม่อัพเดทเทรนด์ใดๆ ก็ไม่สามารถอยู่รอดในวงการนี้ได้ นี่จึงเป็นเคล็ดลับที่จะต้องเช็คลิสต์ไว้เลยก็ว่าได้ และเคล็ดลับสุดท้ายที่จะขาดไปไม่ได้ในการทำธุรกิจ นั่นก็คือเรื่องของเงิน ที่ถ้าหากบริหารจัดการไม่ดีในเรื่องของการลงทุนต่างๆ จากจะได้กำไร อาจจะขาดทุนจนธุรกิจมีปัญหาได้ แต่สิ่งที่คุณธเนศเลือกให้เข้ามาดูแลด้านการเงินอย่าง TMB ก็สามารถตอบโจทย์ ทำให้ปัญหาด้านเงินในธุรกิจคล่องตัว และด้วยองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้คุณธเนศยืนหยัดในวงการท่องเที่ยวมาได้จนถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเคล็ดลับที่เจ้าพ่อแห่งวงการท่องเที่ยวได้ให้ไว้ ถือเป็นประโยชน์ในการเดินตามรอยไม่น้อย สำหรับคนที่กำลังมองธุรกิจด้านนี้อยู่ ถ้าหากนำเคล็ดลับ 7 หัวข้อนี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับตัวเอง ไม่แน่ว่าตำแหน่งเจ้าพ่อธุรกิจแห่งวงการท่องเที่ยวคนต่อไปอาจจะเป็นคุณก็ได้

ขอขอบคุณ คุณธเนศ  ศุภรสหัสรังสี สมาชิก TMB WEALTH BANKING

สนใจบริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน TMB ADVISORY เพิ่มเติม https://www.tmbbank.com/TMBADVISORY/wb4
ให้คุณได้สัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่าง ด้วยบริการวางแผนทางการเงินการลงทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านไลฟ์สไตล์ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ TMB EXCLUSIVE LINE 0-2055-1558

Praew Recommend

keyboard_arrow_up