วริศรา ลี้ธีระกุล

ดีของลูกคือแค่มีเรา วริศรา ลี้ธีระกุล อดีตมิสเอเชีย 2531 หนีเมืองกรุง ปั้นสุข ใช้ชีวิตที่เชียงดาว

วริศรา ลี้ธีระกุล
วริศรา ลี้ธีระกุล

“ไม่ห่วงว่าดีที่สุดคืออะไร เพราะดีของลูกคือแค่มีเรา” หนึ่งในบทสนทนาจากหัวอกคนเป็นแม่ที่มองความสุขและชีวิตของลูกคือที่หนึ่ง โดยเจ้าของคำพูดนี้ก็คือ โรส – วริศรา มหากายี หรือ วริศรา ลี้ธีระกุล ผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายจากเวทีประกวดนางสาวไทยปี 2531 และเป็นตัวแทนสาวไทยประกวดเวทีมิสเอเชีย จนคว้าตำแหน่งมิสเอเชียประจำปี 2531 ที่ประเทศอังกฤษมาครองได้สำเร็จ พร้อมกับการเดินเข้าสู่วงการบันเทิง รับหน้าที่พิธีกรและนักแสดง ก่อนที่จะผันชีวิตจากเมืองกรุงไปอยู่ที่เชียงดาวเพื่อให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

ประกวดนางสาวไทยปีเดียวกับปุ๋ย – ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก แม้ไม่ได้ตำแหน่งนางสาวไทยปี 2531 แต่โรส – วริศรา ลี้ธีระกุล สามารถคว้าตำแหน่งมิสเอเชียปี 2531 ที่ประเทศอังกฤษไปได้สำเร็จ ซึ่งเป็นสาวไทยคนที่สองที่คว้าตำแหน่งได้ ถัดจากสาวไทยคนแรกคือ จ๊ะโอ๋ – ทวินันท์ คงคราญ มิสเอเชียปี 2530

วริศรา ลี้ธีระกุล

วริศรา ลี้ธีระกุล เป็นหนึ่งในผู้หญิงหลายคนที่พูดได้ว่าเกิดมาแล้วไม่ว่าอยู่ที่ใดก็สามารถสร้างคุณค่า ความดีให้แก่ตัวเองและสังคมได้ หลายคนอาจคุ้นเคยกับเธอผ่านบทบาทพิธีกรรายการ อาทิ ศุกร์สบาย, ลุ้นข้ามโลก รวมถึงบทบาทนักแสดง จนกระทั่งมีข่าวการสมรสกับคุณโอ๊ค – คฑา มหากายี ซึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ขึ้นมา หลายปีมาแล้วที่คุณโรสได้วางชื่อเสียงเงินทองจำนวนมากลง โดยออกจากวงการ ทิ้งการใช้ชีวิตแสนเร่งรีบในเมืองกรุง ไปปักหลักอาศัยอยู่ที่เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีบ้านอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตเรียบง่าย โดยมีลูกๆ น้องช้างน้อย – ด.ช.เป็นตา และน้องลิบตา – ด.ญ.ลิบตา มหากายี คอยเติมเต็มให้ชีวิตสมบูรณ์ รวมถึงยังคงดูแลโรงแรมพระนครนอนเล่น ย่านบางขุนพรหม ที่ได้เปิดสอนทำ “ขนมปังเปลี่ยนชีวิต” เพื่อช่วยเหลือ มอบความสุข มอบอาชีพให้แก่ผู้อื่นด้วย

แพรวดอทคอม มีโอกาสพิเศษได้พูดคุยกับคุณโรส – วริศรา เพื่ออัพเดตถามไถ่เรื่องราวชีวิตของเธอ แม้การพูดคุยครั้งนี้จะไม่ได้มีแสงสปอตไลท์ หรือมีการแต่งหน้า แต่งตัวเพื่อเตรียมสัมภาษณ์มาก่อน แต่เรื่องราวที่ได้จากบทสนทนานี้ทำให้ซึมซับได้ว่าคนเรามีแสง มีพลัง และคุณค่าของชีวิตอยู่ในตัวมาก โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแสงสปอตไลท์มาฉายให้เด่นเลย ไม่รอช้า ไปฟังเรื่องราวดีๆ ให้พลังงานบวกจากเรื่องราวของคุณโรสพร้อมๆ กันเลยค่ะ…

เริ่มต้นขออัพเดตชีวิตคุณโรสกันก่อนว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง และพักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ถาวรเลยหรือเปล่า

คุณโรส: ตอนนี้ก็ดูลูกเป็นหลักค่ะ ย้ายมาอยู่ที่เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพราะโฮมสกูลให้ลูกๆ ด้วยทรัพยากรการเรียนรู้ที่ต่างจังหวัดเอื้อกว่าค่ะ มีสอนขนมปังเดือนละครั้ง และดูแลโรงแรมพระนครนอนเล่นที่กรุงเทพฯ

ถามถึงลูกทั้งสอง “น้องช้างน้อย – น้องลิบตา” ตอนนี้อายุเท่าไหร่และเรียนที่ไหนกันบ้างคะ แล้วสไตล์การเลี้ยงดูลูกๆ ของคุณโรสเป็นอย่างไรบ้าง แตกต่างจากเดิมหรือเปล่า

คุณโรส: ช้างน้อย (ด.ช.เป็นตา มหากายี) ตอนนี้ 9 ขวบค่ะ ส่วนลิบตา (ด.ญ.ลิบตา มหากายี) 5 ขวบครึ่ง ลาออกจากโรงเรียนมาจะ 2 ปีแล้วค่ะ มาสอนเอง คุณพ่อเขาอยากสอนลูกเองค่ะ เราทำบ้านเรียนชื่อว่า “บ้านเรียนทางช้างเผือก” สอนโดยเอาความสนใจลูกเป็นตัวนำเนื้อหาที่จะเรียนค่ะ เรียนรู้ผ่านธรรมชาติและการลงมือทำ เน้นทักษะชีวิต รู้ความหมายของสิ่งที่จะเรียน เรียนไปเพื่ออะไร ไม่ใช่แค่ท่องจำ เช่น โรสสอนลูกๆ ทำขนมปัง เขาได้ชั่งตวง เรียนเลขจากตรงนั้น มีทักษะการนวด ใช้มือ ใช้ความรู้สึก ฝึกสังเกต พออบเสร็จ เราก็จะเอาไปขาย เขาก็ต้องช่วยบรรจุและก็ไปนั่งขาย รู้จักทอนตังค์ คิดตังค์ และสื่อสารกับคนอื่นค่ะ

หรือบางทีจะเปิดคลาสสอนเด็ก เขาก็จะมาเป็นครู ต้องออกแบบตำราสอน หัดเขียน หัดสะกด วาดภาพประกอบ ซ้อมทำ เขาก็จะได้ทักษะเรื่องภาษาไทยกับการถ่ายทอดให้คนอื่นผ่านการสอนค่ะ โรสจะเน้นสอนเรื่องวิชาชีพ ทำขนม ตัดเย็บ ภาษา ส่วนคุณพ่อจะเน้นเรื่องธรรมชาติ ศิลปะ ชีวะ ฟิสิกส์ ส่วนวิชาอื่นที่เราสอนไม่เป็นก็ให้น้องๆ ไปเรียนกับคนอื่นค่ะ เช่น ดนตรี ภาษาจีน

ถามว่าแตกต่างจากเดิมไหม มากค่ะ เพราะดูแลเองหมด ไม่ได้ฝากทุกอย่างไว้กับครูเหมือนแต่ก่อนตอนอยู่ในโรงเรียน มันอาจจะไม่สมบูรณ์ในแบบหนึ่ง แต่มันก็ได้มาซึ่งแบบเดิมให้ไม่ได้ เด็กๆ ร่วมจัดตารางเรียนกับพ่อแม่ เสนอความเห็นได้ และสุดท้ายต้องประเมินตัวเองได้ค่ะ ทุกวันศุกร์เราจะมีการประเมินกันด้วยการพูดคุยก่อนอาหารเย็น ให้พูดถึงตัวเองว่าอาทิตย์ที่ผ่านมาเรามีข้อเสียอะไร ข้อดีอะไร เราพัฒนาอะไร อะไรที่เรายังติดขัด เราอยากขอโทษใคร อยากขอบคุณใคร 4 คน พ่อ แม่ ลูก ต้องพูดกันหมดค่ะ ลูกสาวจะชอบมากช่วงเวลานี้

ถามถึง “บ้านเรียนทางช้างเผือก” คุณโรสและคุณโอ๊คได้ช่วยกันดีไซน์ออกแบบร่วมกันเลยใช่ไหมคะ เป็นอย่างไรบ้าง

คุณโรส: ช่วยกันทั้งสองคนเลยค่ะ บ้านก็ออกแบบเพื่อให้รองรับการเรียนลูกด้วย สามีจะเป็นคนวางแผนการเรียนค่ะ เขาก็จะรับผิดชอบดูแลเนื้อหาที่เขาถนัดสอน โรสก็ดูแลในส่วนของโรส เราก็จะสลับกันสอน สลับกันทำงานบ้าน ทำสวน ตารางสอนก็จะเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เด็กๆ สนใจค่ะ

เมื่อได้เห็นลูกๆ มีพัฒนาการตามที่ได้เลี้ยง ได้สอนเอง เพราะที่ติดตามน้องๆ จะเห็นว่าได้ลงมือปลูกสวน ปลูกผักเองด้วย ความรู้สึกของคนเป็นแม่ต่อลูกๆ รู้สึกอย่างไรบ้าง แล้วมีการวางแผนอนาคตให้พวกเขาอย่างไร 

คุณโรส: ที่บ้านจะแปะตารางไว้ เด็กๆ จะรู้หน้าที่และทำตามตารางค่ะ แต่ก็ทำมั่งไม่ทำมั่ง (หัวเราะ) แล้วแต่ว่ามีเรื่องอะไรมาแทรก แล้วเราดูว่าเหมาะกับการเรียนรู้ตอนนั้นค่ะ รู้สึกว่าลูกแข็งแรงขึ้นทั้งภายนอกและภายใน เขารู้สึกอิ่มที่มีพ่อและแม่ให้เวลาเขาเต็มที่ 24 ชั่วโมงเลย เขาจึงมั่นคง มั่นใจที่จะทำ มีความกล้า สุขภาพแข็งแรง มีรอยยิ้ม มีความตื่นรู้ในดวงตา มีอิสระ ช่วยเหลือตัวเองได้ ดูแลตัวเองเป็น เท่าที่เห็นเขาทำได้ดีขึ้นทุกๆ วัน ก็มีความสุขแล้วนะคะในฐานะคนเป็นแม่ แต่เรื่องอนาคตว่าเขาจะสอบที่ไหน เข้ามหาวิทยาลัยไหม ไม่ห่วงเลยค่ะ อยากเห็นเขาได้มีชีวิตที่เหมาะกับเด็กๆ มากกว่า ได้เล่น ได้เรียน ได้ทำอยู่กับธรรมชาติ มีรอยยิ้ม มีสุขภาพแข็งแรงพอแล้ว

ถ้าเรามัวแต่เพ่งที่อนาคต เราจะไม่เห็นปัจจุบันเลย สมัยก่อนไม่มีเวลาให้ลูกขนาดนี้ค่ะ เช้ามาไปส่ง เย็นไปรับ กินข้าวนี่ต้องตักไปกินในรถ ไปรับลูกที่โรงเรียน ลูกหมดพลังทุกวัน สลบคารถ เราเองก็หมดพลังด้วย คิดแล้วเราคงต้องเลือก เลยต้องตัดเรื่องของตัวเองทิ้ง และมาเริ่มดูแลเขาเองเท่าที่เราทำได้ ไม่ห่วงว่าดีที่สุดคืออะไร เพราะดีของลูกคือแค่มีเรา และก็รู้สึกว่าคุ้มมากที่เราเลือกเดินไปกับลูก ได้เห็นเขาเติบโต และเขาก็ได้เห็นว่าเราทำให้เขาทั้งชีวิต

ถามเรื่องสอนทำ “ขนมปังเปลี่ยนชีวิต” กันบ้าง จุดเริ่มต้นมาจากอะไรคะ ปกติคุณโรสเป็นคนชอบทำอาหาร ทำขนมอยู่แล้วด้วยหรือเปล่า

คุณโรส: เปล่าเลยค่ะ ไม่ชอบทำอาหาร (หัวเราะ) จุดเริ่มต้นคือทำโรงแรม และอยากเสิร์ฟขนมปังดีๆ ให้แขก ก็ไปลงคลาสขนมปัง ให้พนักงานไปเรียน เขาดันไม่ว่างไป เราเลยต้องไปเอง พอไปทำแล้วชอบ ก็เลยทำมาเรื่อยๆ ก่อนหน้าชอบเย็บผ้า แต่เป็นคนทำแล้วไม่สุด เย็บแล้วค้างคาไว้กับจักรตลอด (หัวเราะ) พอมาทำขนมปังมันเลิกหรือหยุดไม่ได้ ใจร้อนก็ไม่ได้ มันค่อยๆ สอนเรา เลยเห็นว่ามันเปลี่ยนเราได้นะ จากนิสัยใจร้อน ไม่รอ ก็ต้องรู้จักรอ จากที่ทำอะไรไม่จบ ไม่สำเร็จ เราก็เริ่มเห็นความสำเร็จ และเวลาเราเห็นความสำเร็จบ่อยขึ้น เราก็เกิดความมั่นใจ ภูมิใจ มันเปลี่ยนวิธีคิดเรา ดัดนิสัยเรา ที่สำคัญขนมปังทำให้เราใกล้ชิดธรรมชาติ ให้เราเคารพธรรมชาติ เคารพอากาศ ยีสต์ จุลินทรีย์ รู้จักใช้เซ้นส์ ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส เลยคิดว่าการทำขนมปังเป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แค่ได้ขนมปัง ที่มาเปิดสอนก็ไม่ใช่ว่าเก่งอะไรนักหนา (หัวเราะ) แต่มีความรู้สึกว่าอยากถ่ายทอดให้คนรับรู้ว่าขนมปังมันมีชีวิตนะ มันสื่อสาร มันเชื่อมโยงธรรมชาติกับเรา อยากให้คนได้มีโอกาสรู้จัก รู้สึกกับธรรมชาติผ่านขนมปัง

ที่ผ่านมามีเรื่องน่ารักพิเศษๆ ในช่วงที่คุณโรสทำขนมปังกับคนที่มาเรียนบ้างไหมคะ อย่างเขาได้นำไอเดียมามิกซ์กับไอเดียเรา หรือนำไปทำขายประมาณนี้

คุณโรส: เรื่องน่ารักมีหลายเรื่องที่ประทับใจเรา เช่น พี่คนหนึ่ง คุณพ่อเขาเป็นคนทำขนมปัง แต่ท่านเสียไปนานแล้ว พี่คนนี้ทำขนมปังไม่เป็น ไม่ชอบ แต่ก็มาลงเรียนเพราะอยากรู้ว่าทำไมพ่อถึงหลงใหลขนมปัง วันที่เขามาเรียน เขาได้กลิ่นยีสต์ ทำให้เขาคิดถึงพ่อ พอกลับบ้านไป เขาไปยืนบอกพ่อว่าเขารู้แล้วทำไมพ่อถึงรักขนมปัง อีกวันเขากลับมาที่โรงแรม มาขอบคุณเราที่ทำให้เขาเข้าใจพ่อ เรากอดให้กำลังใจกัน น้ำตาไหลพรากทั้งห้องเรียน (หัวเราะ) เรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกดีใจที่ได้ทำหน้าที่คนสอนขนมปัง มันมีค่าต่อใจมาก

อีกเรื่องก็คือก่อนเลิกเรียนเราคุยกันเสมอว่าเราอยากให้ขนมปังสามารถสร้างที่ยืนให้คนอื่นๆ ที่ไม่มีที่ยืนบ้าง เช่น คนติดคุก เด็กกำพร้า เด็กดอย โดยเราจะรวมตัวกันไปช่วยสอน หรือใครอยากให้ไปช่วยตรงไหนก็ไปช่วยๆ กัน อยากสร้างสังคมขนมปังที่สามารถสร้างพื้นที่ยืนให้คนตัวเล็กๆ ได้ ก็มีนักเรียนหลายคนไปเริ่มทำ สอนเด็กบนดอยหรือคนไร้บ้าน บ้างก็ทำขนมปังหารายได้ไปทำบุญ ฯลฯ นี่คือหัวใจของงานสอนเลย อยากให้ขนมปังมันทำงานกับคน

โรงแรมพระนครนอนเล่น คุณโรสก็ยังนำความเป็นไทยมาผสมกับธรรมชาติ
โรงแรมพระนครนอนเล่น คุณโรสก็ยังนำความเป็นไทยมาผสมกับธรรมชาติ

เรียกว่าส่งต่อความสุข ความดีเป็นทอดๆ ต่อกันเลย แล้วปกติสถานที่หลักๆ ของคุณโรสจะเปิดสอนที่บ้านเลยหรือเปล่าคะ

คุณโรส: ที่กรุงเทพฯ สอนที่โรงแรมพระนครนอนเล่นเดือนละครั้งค่ะ ที่เชียงดาวจะสอนที่บ้าน ดูรูปได้ในเพจขนมปังเปลี่ยนชีวิตค่ะ

ถามถึงความรักกับคุณโอ๊ค การใช้ชีวิตครอบครัวจากวันแรกจนถึงปัจจุบันกันบ้าง เพราะถือว่าชีวิตคู่ของคุณโรสก็มีทัศนคติไปในทางเดียวกันด้วย และเป็นคู่ที่คบกันมานาน เวลาเจอปัญหา ความไม่เข้าใจกัน มีวิธีดูแลกันและกันอย่างไรบ้างคะ

คุณโรส: ก็เถียงกันค่ะ (หัวเราะ) แต่เป็นคนไม่โกรธทั้งคู่ คือส่วนมากจะเถียงเรื่องลูก แม่จะทำอย่าง พ่อจะทำอย่าง แต่สุดท้ายผลัดกันยอมค่ะ เพราะเรารู้ว่าเรามีเป้าหมายเดียวกันคือรักลูก อยากทำให้เขาเหมือนกัน และก็พยายามมีกิจกรรมคล้ายกันค่ะ ไม่แยกว่าเรื่องของเธอ ของฉัน มีอะไรจะเล่าให้กันฟังตลอด ให้รู้ว่าปัจจุบันเราทำ เราคิดอะไร ก็ช่วยกันส่งเสริม แนะนำกัน คือถ้าคุยกันน้อยมันจะเหมือนไม่รู้จักกัน ต่างคนต่างทำเรื่องตัวเอง แต่นี่เราคุยกันทุกเรื่อง ไม่อยากฟังก็พูด (หัวเราะ) ทำอะไรก็ช่วยกันทุกเรื่องค่ะ แม่ทำขนมปัง พ่อก็ติดเตา เก็บล้างอะไรอย่างนี้ ส่วนมากพ่อจะช่วยแม่นะคะ (หัวเราะ) เพราะงานหลักพ่อมีแค่เรื่องลูก เรื่องค่าย และทำสวนค่ะ แม่มีงานสอน งานโรงแรม งานก่อสร้าง งานบ้าน แต่รวมๆ เราจะช่วยกันค่ะ สามีเคยพูดว่า ร่วมทุกข์ ร่วมสุข คือร่วมทุกอย่าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่เอา เอาสุขอย่างเดียว และชีวิตสมรสคือการที่มีรสนิยมสมกัน รสชาติเดียวกันก็จะอยู่กันได้กลมกลืนยิ่งขึ้นค่ะ เขาถึงเรียกว่าคู่สมรส

ชีวิตของคุณโรสตอนนี้ก็ดูแฮ็ปปี้กับทุกๆ วันอยู่แล้ว เคยมีความคิดแวบๆ ไหมคะว่าอยากกลับไปทำงานในวงการบันเทิง อย่างพิธีกร นักแสดง

คุณโรส: เคยนะคะ แต่ก็คิดว่าไม่เหมาะแล้ว อ้วน (หัวเราะ) และงานที่ทำตอนนี้คือเป็นงานที่เราชอบแล้ว เลือกแล้วเวลายังไม่พอเลยค่ะ กับสามีตอนนี้งานหลักคือการศึกษา ไม่ใช่แค่ให้ลูกตัวเอง ปีหน้านี้คิดว่าจะทำค่ายเพื่อเด็กคนอื่นๆ ด้วยค่ะ อยากทำห้องเรียนนอกโรงเรียนกัน ก็ขอบคุณที่ยังจำโรสได้แล้วอุตส่าห์มาสัมภาษณ์นะคะ

คิดว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่อยากเลี่ยงชีวิตในเมืองไปใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่ต่างจังหวัดอย่างคุณโรส มีวิธีแนะนำพวกเขาอย่างไรบ้างคะ

คุณโรส: อืม…ตอบยากนะข้อนี้ บางทีเพื่อนๆ ก็ชอบแซวว่า แหม…ก็แกรวยหนิ ถึงทำได้ จะบอกเลยว่ามีเงินถึง แต่ใจไม่ถึงก็ไม่มีประโยชน์ ที่บ้านก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร โชคดีที่เรารู้สึกตัวเร็วว่าอยากใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด เลยหาที่ทางไว้ที่ต่างจังหวัดนานแล้ว ตอนราคาที่ไม่แพง ถ้าเป็นตอนนี้คงไม่มีปัญญา แต่สิ่งที่ทำให้เราทำได้คือ ใจ สามีบอกว่า move and the way will open เราไม่รู้หรอกว่าการเปลี่ยนตัวเองมาอยู่ต่างจังหวัดจะเจอกับอะไร ลำบากไหม หรือสบายไหม อยู่ได้จริงไหม แต่เราไม่กลัว และคิดว่าคำตอบที่ดีคือการได้ลองทำมัน กล้าเปลี่ยนตัวเองก่อน เจอปัญหาก็ด้นหาทางออกไป คิดว่ามันท้าทาย มันสนุก ก็กล้าเดินออกมาเอง แต่ถ้ากลัวและติดกับความรู้สึกเดิมๆ ก็จะไม่มีทางเดินใหม่ๆ เงินจำเป็นไหม ตอบเลยจำเป็น แค่เราอย่าดูถูกตัวเอง คนอื่นทำได้ เขาทำยังไง เราก็ไปศึกษาหาทางของเราเอง อยู่นี่โรสก็หาเงินก๊อกแก๊กไปให้พอมีเงินซื้อข้าวกิน สอนบ้าง ทำขนมขายตลาดนัดบ้าง ใช้เงินประหยัดๆ ก็อยู่ได้ เพียงแต่รายได้มันไม่หวือหวาแบบที่เราคุ้น แต่ก็ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตที่เงินมากมายอาจทำให้เราไม่ได้ ก็คงต้องลองตัดสินใจกันดูว่าเราทนกับวิถีเดิมไหวอยู่ไหม ถ้าไหวก็โอเค แต่ถ้าเริ่มปฎิเสธมัน เราต้องอย่าเฉย แต่ต้องเริ่มหาทางออกให้ตัวเองได้แล้ว แค่นั้นค่ะ

มาลาดาราษ
มาลาดาราดาษ
มาลาดาราษ
มาลาดาราดาษ
วริศรา ลี้ธีระกุล
มาลาดาราดาษ

สุดท้ายก่อนจบบทสนทนา เราได้ถามถึงที่มาของคำว่า “มาลาดาราดาษ” ซึ่งเมื่อรู้ความหมายก็สัมผัสได้ถึงความลึกซึ้ง ความคิดที่คุณโรสและคุณโอ๊คสร้างขึ้นเลย โดยคุณโรสกล่าวว่า มาลาดาราดาษ เป็นชื่อบ้านของเธอที่สื่อว่า ณ ที่นี้มีดอกไม้ ดวงดาวมากมาย ซึ่งบ้านหลังนี้ก็ได้เตรียมห้องพัฒนาทักษะไว้สอนเด็กๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเวิร์คชอปเล็กๆ อย่างเรื่องการทำขนมปัง งานผ้า งานไม้ งานปั้น งานอาหาร ส่วนบ้านเรียนที่ตั้งชื่อว่าบ้านเรียนทางช้างเผือก เพื่อสื่อให้เด็กเข้าใจได้ง่าย เรียกว่าหลังจบการสนทนา ความหมายของบ้านที่แพรวดอทคอมเข้าใจมาตลอด มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่าเดิมมากเลยจริงๆ และเชื่อว่าบ้านของใครหลายคนก็สร้างสุขได้เช่นอดีตมิสเอเชีย โรส – วริศรา ลี้ธีระกุล

 


เรื่อง: กัญญาวีร์ วิมลรัตน์
ภาพ: Facebook-Rose Varisaraขนมปังเปลี่ยนชีวิตMahakayi KataPhranakorn-NornlenVintage Gallery: Beauty Queen & Star

Praew Recommend

keyboard_arrow_up