การบอกว่าเคยดูดวงให้ใคร คือการตลาดฝ่ายมารที่ผมไม่ชอบ

“ผมเชื่อว่า มนุษย์ในโลกหลายหมื่นล้านคนน่าจะมีคนที่สวรรค์ให้อะไรมากกว่าปกติ เพียงแต่ว่า ผู้วิเศษหรือเอ็กซ์เมนที่เหนือธรรมชาติเหล่านั้น รวมถึงคนที่อยู่ในอาชีพผมด้วยก็เถอะ”

ปีใหม่นี้ ฉันจะเฮงไหม ได้แต่งงาน ปรับตำแหน่ง ถูกหวยหรือเปล่า! หรือหิมะจะตกกรุงเทพฯ น้ำท่วมซ้ำ แผ่นดินแยก เจ็บป่วย ฯลฯ เห็นทีฉันต้องจัดบ้าน เปลี่ยนเบอร์มือถือ แล้วติดสติ๊กเกอร์ท้ายรถว่า เจ้าแบล็คคันนี้เป็นสีขาว บลา บลา บลา…

เอาล่ะ ไหนบอกผมสิว่า เมื่อปีใหม่มาถึง คุณไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย… แต่ถึงคิดก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเสียหน่อย และผมก็โกยหลายคำเรื่องเหล่านั้นมาให้ ‘หมอช้าง-ทศพร ศรีตุลา’ เปิดตำราดวงดาว เอาล่ะ โชคดีตลอดบทสัมภาษณ์และ พ.ศ. 2556 สวัสดีปีใหม่ครับ

MR.PRAEW : ขอคำถามนี้ก่อน สติ๊กเกอร์สุดฮิตอย่าง ‘รถคันนี้สีขาว’ รวมถึงอีกสารพัดสีที่ช่วยให้ดวงเจ้าของรถดีขึ้น ผมสงสัยว่า เราหลอกโชคชะตาได้ขนาดนั้นหรือ
หมอช้าง : มันช่วยให้ร้านสติ๊กเกอร์ขายดีเท่านั้นครับ (หัวเราะ) ผมไม่โทษคนติดนะ เพราะเขาไม่ได้เรียนโหราศาสตร์ จึงเชื่ออาจารย์ที่แนะนำ ทั้งที่ความจริงโหราศาสตร์ไม่มีกลไกแบบนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าผมทำป้ายแขวนตัวเองว่า ณเดชน์ มิสเตอร์แพรวจะเชื่อไหมว่า ผมคือณเดชน์

MR.PRAEW : ไม่เชื่อ
หมอช้าง : นั่นไง (หัวเราะ) ในทางโหราศาสตร์ เราทำแค่ความสบายใจไม่ได้ ถ้าสีของรถไม่ตรงกับดวงชะตา ก็แก้ไขได้ตั้งหลายวิธี เช่น หากล่องใส่ทิชชู่ หรือหมอนที่เป็นสีถูกโฉลกมาไว้ในรถ แต่ถ้าอยากติดสติ๊กเกอร์สี คุณต้องติดทั้งคัน ไม่ใช่แค่ข้อความ

MR.PRAEW : หมอช้างคิดอย่างไรกับเทรนด์เปลี่ยนเบอร์มือถือให้ดวงดี
หมอช้าง : อธิบายอย่างนี้ดีกว่า ผมแบ่งศาสตร์การพยากรณ์ได้ 5 อย่าง หนึ่ง การศึกษาจากดวงดาวคือ โหราศาสตร์ สอง การศึกษาสภาพแวดล้อม ทิศทางคือ ฮวงจุ้ย สาม ศึกษาจากกายภาพของคนคือ โหวงเฮ้งและลายมือ สี่ การเสียงทายเช่น เซียมซี ไพ่ยิบซี และสุดท้ายคือ เรื่องเหนือธรรมชาติต่างๆ ซึ่งสมัยนี้มีกันเยอะ สำหรับเรื่องตัวเลขคือกรอบเล็กๆ ในตำราโหราศาสตร์ ไม่ใช่เนื้อหาหลัก แต่เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว คนจึงสนใจ

MR.PRAEW : ติดใจเรื่องเหนือธรรมชาติ เหมือนเดี๋ยวนี้เมืองไทยมีผู้วิเศษเต็มเมือง คุณคิดยังไง
หมอช้าง : ผมเชื่อว่า มนุษย์ในโลกหลายหมื่นล้านคนน่าจะมีคนที่สวรรค์ให้อะไรมากกว่าปกติ เพียงแต่ว่า ผู้วิเศษหรือเอ็กซ์เมนที่เหนือธรรมชาติเหล่านั้น รวมถึงคนที่อยู่ในอาชีพผมด้วยก็เถอะ หลายคนใช้ความรู้โดยไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อน เช่น บอกแม่คนหนึ่งที่เสียลูกว่า ลูกไม่ได้บุญที่คุณทำให้ เพราะเขากำลังทรมานในนรกขุมนั้นขุมนี้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครพิสูจน์ได้ ต้องตายไปด้วยกันถึงรู้ แต่คำถามคือ จิตใจของแม่คนนั้นจะรู้สึกอย่างไร ขณะเดียวกันคนที่เขาตั้งใจทำงานที่เป็นประโยชน์ก็พลอยโดนด่าไปด้วย

ติดตามอ่านต่อได้ที่ นิตยสารแพรว ฉบับ 801 วันที่ 10 มกราคม 2556 คอลัมน์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up