บี๋ - อริยะ พนมยงค์

“คิดให้ใหญ่ ทำให้ไว ใจต้องกล้า” เปิดลายแทงความสำเร็จของ บี๋ – อริยะ พนมยงค์

บี๋ - อริยะ พนมยงค์
บี๋ - อริยะ พนมยงค์

เดือนแรกของปี 2560 วันนี้ Exclusive Talk เลยขอเสนอเรื่องราวของนักบริหารหนุ่มวัยกลางคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เขาคือชายไทยที่ใช้ชีวิตเติบโตและทำงานอยู่ต่างประเทศมาตั้งแต่เกิด จนกระทั่งได้กลับมาทำงานที่เมืองไทย ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ และประสบความสำเร็จอย่างมากหลังจากที่กระโดดเข้ามาในแวดวงธุรกิจออนไลน์ระดับโลก อะไรก็ตามที่หลายคนคิดว่ายาก คิดว่าชีวิตนี้คงทำไม่ได้ อยากให้มาฟังวิธีคิดของผู้ชายคนนี้ นักบริหารชีวิตที่ชื่อ บี๋ – อริยะ พนมยงค์

การทำงานด้านธุรกิจออนไลน์เป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันอยากทำมาก่อนหรือเปล่า

บี๋ – อริยะ : ไม่หรอกครับ สมัยนั้นยังไม่มีออนไลน์เลย ความใฝ่ฝันของผมจะแบ่งเป็นสองช่วง คืออย่างตอนเด็กมากๆ อยากเหมือนคุณพ่อ ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าคุณพ่อทำอะไร พอโตขึ้นเลยรู้ว่าเป็นวิศวกร แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบเลย ผมเลยแตกสายไปเรียนทาง Management นี่คือที่มาที่ไปว่าทำไมถึงได้ไปเรียนที่อังกฤษ

ความฝันที่สองคือ อยากจะทำอะไรที่ทำให้คุณปู่ภูมิใจ นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมไม่เคยมีข้อแม้หรือข้อสงสัยเลยว่าทำไมผมถึงต้องกลับมาทำงานเมืองไทย เพราะตัวผมเองเกิดที่ต่างประเทศและใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกมาตลอด ไม่เคยเรียนที่ไทย และคิดตลอดว่าต้องกลับมาเมืองไทย ผมว่าตัวเองเรียนรู้อะไรมาหลายอย่างจากเมืองนอก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดีทุกอย่างนะครับ บางอย่างที่เราน่าจะเอากลับมาใช้ในชาติของเราได้ ผมว่ามันก็มีนะ

บี๋ - อริยะ พนมยงค์

กลับมาทำงานที่เมืองไทยทั้งที่ยังไม่เคยสัมผัสกับวัฒนธรรมองค์กรแบบไทยๆ เลย พอเจอแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

บี๋ – อริยะ : นิสัยผมยังมีความเป็นฝรั่งค่อนข้างสูง คือผมกลับมาเมืองไทยปี 2001 ยอมรับเลยว่าระยะเวลา 15 ปี บวกกับอายุ ณ วันนี้ มันทำให้เราปรับตัวกับประเทศไทยได้ดีพอสมควร เข้าใจอะไรหลายอย่างได้มากกว่าปีสองปีแรกที่กลับมา ก็ถือว่าเรามีความบาลานซ์ระหว่างสองวัฒนธรรมของความเป็นไทย แต่นิสัยก็มีความเป็นฝรั่งอยู่ครับ วันที่ผมกลับมาไทยมีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมได้เข้าใจว่า อ่อ เรากลับมาเมืองไทยละ

เหตุการณ์อะไรที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น

บี๋ – อริยะ : ก่อนหน้านี้ตอนอยู่เมืองนอกผมก็ทำงานให้ออเรนจ์ที่โรมาเนีย พอย้ายมาที่ไทย ช่วงนั้นผมบินมาถึงตอนเช้า บ่ายเข้าประชุม เราคุยเรื่องระบบ และผมอยู่ในห้องประชุม อยู่ดีๆ ผมก็ถามว่า เออ ใครเลือกระบบนี้ เจ้านี้ ผมก็ไม่ได้คิดอะไร แค่อยากรู้ แล้วในห้องทุกคนเงียบหมดเลย ผมก็นึกในใจ เราทำอะไรผิดแน่นอนเลย แต่ก็ยังไม่เข้าใจ จนเดินออกมาเลยเข้าใจว่าสิ่งที่เราถาม ทุกคนที่อยู่ในห้องอาจจะคิดว่าผมไปจับผิดเขาว่าใครเลือก เพราะเป็นเจ้าที่ชื่อเสียงไม่ค่อยดี เลยรู้ว่าเรื่องแบบนี้ต้องคุยนอกห้อง มันคือคัลเจอร์ช็อกอันแรกของผม ก็รู้เลยว่าเราทำงานแบบฝรั่งจ๋าไม่ได้ (ยิ้ม)

การเป็นผู้นำมีความยากหรือง่ายอย่างไรบ้าง

บี๋ – อริยะ : จริงๆ แล้ว ณ วันนี้การที่เราเป็นผู้บริหารคนหนึ่งที่ดูแลองค์กร มีทีมงานเป็นของตัวเอง คัลเจอร์เราสามารถ Treat มันได้ ไม่จำเป็นต้องตามในสิ่งที่เราเคยเจอมา เพราะมันอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด คือต้องเลือกและปรับกันไป

อะไรที่เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นนักบริหาร

บี๋ – อริยะ : สำคัญที่สุดในการเป็นผู้บริหารคือ เรื่องบริหารคน มันท้าทายมากนะ เพราะการบริหารคนไม่เหมือนธุรกิจที่บริหารแบบตรงไปตรงมา แต่คนไม่ใช่ คุณมีร้อยคน พันคน คือแตกต่างกันหมด มันจะมีทั้งอายุ ภูมิหลังครอบครัว พื้นฐานการศึกษา ความต้องการที่แตกต่างกัน อันนี้คือโจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับผู้บริหาร

ผมเองมีโค้ชที่สอนผมมาว่า คนเรามีหูสองข้าง มีปากหนึ่งปาก เขาบอกว่า 2 ใน 3 เราควรใช้เวลาไปกับการฟังมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่มันกลับกัน คนเรามักจะพูดอย่างเดียว คุณพูดอะไรมา ผมแค่คอยจังหวะที่ผมเชื่อว่าผมจะพูดในสิ่งที่มันถูก แต่จริงๆ แล้วต้องกลับกัน โดยเฉพาะเราที่มีลูกน้องเยอะๆ แต่ผมอยากจะฟัง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ผมก็ยินดีที่จะฟังนะ

บี๋ - อริยะ พนมยงค์

แล้วเรื่องการบริหารคนที่บ้านใช้วิธีนี้ด้วยหรือเปล่า

บี๋ – อริยะ : (หัวเราะ) คือเราทั้งคู่มีข้อดี – ข้อเสียต่างกัน วันนี้เราเป็นคุณพ่อคุณแม่ เราต้องเอาสิ่งที่ดีที่สุดที่เรามีจากทั้งคู่และสิ่งที่เราพลาดมาสอนลูก แล้วไม่ใช่แค่สอนและใส่ไปอย่างเดียว แต่เราต้องฟังความต้องการของเขาด้วย ตอนนี้อาจจะยังฟังไม่เข้าใจ พูดไม่ได้ เพราะเขาแค่สองขวบ แต่อันนี้ก็คือเรื่องที่ภรรยาและผมคุยกันว่านี่คือสิ่งที่เราให้ได้

อย่างตอนอยู่บ้าน ภรรยาก็บังคับให้ผมพูดภาษาฝรั่งเศส คือก็เป็นเรื่องแปลกที่อยู่ดีๆ ทั้งบ้านมีผมพูดภาษาฝรั่งเศสคนเดียว และพูดกับลูก ก็ไม่มีใครเข้าใจ แต่ภรรยาบอกว่าไม่เป็นไร ซึ่งทุกวันนี้ลูกเข้าใจหมดเลย และภรรยาพูดภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษผมไม่ห่วง เพราะเขาไปโรงเรียนอินเตอร์ มันเป็นภาษาที่ง่ายมาก ที่เหลือเลยอยากให้เขาได้ภาษาอื่นๆ เป็นพื้นฐานอีก ซึ่งจะทำให้เขาได้เปรียบในเรื่องการสื่อสาร

อย่างที่สองที่ผมยังคิดไม่ออกว่าจะทำยังไง เพราะเขายังเด็ก คือผมอยู่ในโลกของเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต คืออาชีพการงานของผม ผมรู้ว่าถ้าใช้ให้ถูกต้อง ลูกผมจะเรียนรู้อะไรที่ผมสอนเขาไม่ได้ ผมอยากจะสอนให้เขาใช้เครื่องมือนี้ให้เป็นประโยชน์ แต่ที่ผมยังไม่รู้คือทำยังไงที่จะสอนเขาแล้วไม่เข้าไปเล่นเกม ไม่อยากให้เขาเครียด อยากให้เขาสนุกกับการเรียนรู้

ครอบครัวพนมยงค์
ภาพจาก FB : Bi Ariya Banomyong

จริงๆ คุณบี๋เป็นคนดุไหม

บี๋ – อริยะ : ถ้าเป็นที่ทำงานก็ได้ยินมาว่าลูกน้องเขากลัวผม เพราะผมอาจจะดูหน้านิ่งนิดนึง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันอยู่ที่สถานการณ์ เพราะเราก็เปิดโอกาสให้ลูกน้องเสนอไอเดียมา เราต้องสร้างให้เขาเรียนรู้ แต่แน่นอนว่าถ้ามีเรื่องของเป้าหมายหรือระยะเวลา มันก็มีความกดดันบ้าง

เวลาเจออุปสรรค นักบริหารอย่าง บี๋ – อริยะ พนมยงค์ จัดการอย่างไร

บี๋ – อริยะ : คือผมโชคดีที่ชอบมองว่าอุปสรรคคือความท้าทาย พอเจอเราก็เต็มที่ ไม่คิดว่ามันเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราท้อแท้ ทุกอย่างที่เราทำ เราไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า เราไม่มีวันที่จะเก่งที่สุด เราต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้ผมอายุ 43 แล้ว ถึงแม้ผมจะเป็นผู้บริหารองค์กร ผมก็ยังต้องเรียนรู้

บี๋ - อริยะ พนมยงค์

เคยคิดไหมว่าตัวเองจะก้าวขึ้นมาเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จได้มากขนาดนี้

บี๋ – อริยะ : ไม่ได้คิดครับ คือผมโชคดีที่เริ่มทำงานในยุคที่อินเทอร์เน็ตกำลังเริ่ม อยู่ในจังหวะที่โอกาสมาเร็ว แต่เราก็ต้องคว้าโอกาสนั้นด้วย ตอนแรกคุณแม่ก็แบบ เอ้ย จะดีเหรอ งานที่หนึ่งที่สองที่สามก็คิดแบบนั้น เราอยู่ในยุคที่โอกาสเข้ามาเยอะมาก เกิดธุรกิจใหม่ มีบริษัทที่เปิดใหม่ อย่าง Line เมื่อ 5 ปีที่แล้วก็ยังไม่มี คือเราต้องกล้าที่จะลอง

ย้ายมาที่นี่ก็หลายปีแล้ว แต่สื่อก็ยังคงจับตามอง

บี๋ – อริยะ : ผมรู้สึกอุ่นใจนะ แต่ก็กดดันนิดหน่อย อุ่นใจตรงที่ว่าขอบคุณทั้งพาร์ตเนอร์และสื่อมวลชนที่เรารู้จักกันมานาน ให้การต้อนรับจากที่ผมอยู่ Google ไป Line เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกดี ความที่เราคิดว่าคนจะมองว่าเราตัดสินใจถูกไหม เพราะ Google นี่ยักษ์ใหญ่ของโลก และเราเลือกมาที่นี่ แต่กลับเป็นกระแสที่ดีมาก แต่มันมีความกดดันด้วย การย้ายไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องที่ยากคือเราจะทำยังไงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เราเหมาะกับความคาดหวังที่ทุกคนมีให้มาหรือเปล่า ก็มีคิด จนตอนนี้เราก็อยู่ในจุดที่ธุรกิจหลากหลาย มีอะไรให้ทำเยอะ และเกิดการเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร

 

อ่านต่อหน้า 2

Praew Recommend

keyboard_arrow_up