ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ สว.สหรัฐฯ ลูกครึ่งไทยคนแรก

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ
ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ

 

สำหรับนาง ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ  สตรีลูกครึ่งไทย – อเมริกัน แห่งพรรคเดโมแครต ผู้พิการสูญเสียขาทั้งสองข้างจนต้องใส่ขาเทียมและนั่งรถเข็น เหตุโดนยิงระเบิดขณะเป็นนักบินผู้ช่วยอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ UH-60 แบล็คฮอว์ค ระหว่างเข้าร่วมรบในสงครามรุกรานอิรัก ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.2555 เธอชนะการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 8 รัฐอิลลินอยส์ คว้าผลคะแนนเสียงชนะโจ วอลช์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน และเป็นสตรีเชื้อสายไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ผ่านการเลือกตั้งเข้าไปทำงานในรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเป็นสตรีชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าสภาแห่งรัฐอิลลินอยส์ ต่อมาในปี 2009 เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐ และปี 2012 เธอได้รับชัยชนะการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้เธอเป็นสตรีทุพพลภาพคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงเชื้อสายไทยคนแรกในประวัติศาสตร์

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ
ภาพ: Getty images

โดยครั้งหนึ่ง “นิตยสารแพรว” ได้มีโอกาสนั่งสัมภาษณ์เธอผ่านทางสไกป์ออนไลน์ตรงจากนครชิคาโก เรื่องราวของสตรีผู้พิการแต่หัวใจแกร่ง ที่มีประวัติเคยเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตอภิปรายโต้แย้งถึงนโยบายของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้รับเลือกแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐฯในปี พ.ศ.2552 ชนะคะแนนเสียงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขต 8 รัฐอิลลินอยส์ รวมถึงรับราชการเป็นทหารในสังกัดกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งรัฐอิลลินอยส์ เธอคนนี้เป็นอย่างไร แพรวพาย้อนรอยไปนั่งพูดคุยกันเลย

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ
ภาพ: Facebook – Tammy Duckworth

ทราบว่าชื่อ “ลัดดา” มีที่มาอย่างไรคะ?

แทมมี่: ใช่ค่ะ ตอนคุณเเม่ท้องเเทมมี่ ท่านฝันเห็น “ดอกไม้หอมสีขาว” จึงตั้งชื่อจริงให้ว่า “ลัดดา” มาจากดอกลัดดาวัลย์ค่ะ

ชีวิตครอบครัวของ ด.ญ.ลัดดาเป็นอย่างไรคะ?

แทมมี่: คุณพ่อ (แฟรงค์ แอล ดักเวิร์ธ) เป็นทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน เคยร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนถึงสงครามเวียดนาม ส่วนคุณเเม่ (ละมัย สมพรไพลิน) เป็นคนไทย เเทมมี่เกิดเเละเติบโตที่เมืองไทย เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนนานาชาติ International School Bangkok ต่อมาคุณพ่อทํางานเป็นเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ ต้องเดินทางไปๆมาๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่คุณเเม่เลี้ยงเเทมมี่กับน้องชาย (ทอม ดักเวิร์ธ) อยู่เมืองไทย แทมมี่จึงพูดไทยคล่อง หลังจากนั้นเราไปอยู่อินโดนีเซีย 8 ปี ก่อนจะย้ายไปปักหลักที่ฮาวายตอนเเทมมี่อายุ 16 ปี แม้จะมีเวลาอยู่ที่เมืองไทยบ้านเกิดเพียง 8 ปี เเต่เเทมมี่มีความเป็นไทยเต็มเปี่ยม ชอบอาหารไทย มีญาติพี่น้องที่เมืองไทย คิดว่าตัวเองเป็นผลผลิตของ 2 ประเทศ 2 วัฒนธรรม คือ ภายใต้ความแข็งแรงของอเมริกา เรายังไม่หลงลืมความอ่อนช้อยและมารยาทแบบไทยๆ

ชีวิตแทมมี่เจอมรสุมหลายครั้ง เริ่มจากตอนที่หน้าที่การงานของคุณพ่อซึ่งเคยดีมาตลอด แต่พออายุ 55 ปีกลับประสบกับภาวะว่างงาน สถานภาพครอบครัวเปลี่ยนทันที เราต้องย้ายจากบ้านหลังใหญ่มาอยู่ห้องสตูดิโอเล็กๆ ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันหาเงิน ตื่นเช้ามาต่อเเถวรับแสตมป์ค่าอาหารของรัฐบาล ได้ความช่วยเหลือเจือจุนจากผู้อื่นบ้างนิดๆหน่อยๆ แม่ต้องเย็บผ้าหารายได้ ส่วนแทมมี่พยายามส่งตัวเองเข้าเรียนวิทยาลัยด้วยการขอทุน และทำงานเสิร์ฟอาหาร ได้ค่าแรงวันละไม่กี่เหรียญ ประสบการณ์นี้เองที่ทำให้บอกตัวเองว่า สักวันเราต้องทำงานที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ
ภาพ: Facebook – Tammy Duckworth

การเติบโตมาในครอบครัวทหาร เป็นสาเหตุให้คุณแทมมี่อยากดําเนินรอยตามคุณพ่อหรือเปล่าคะ?

แทมมี่: ใจจริงทีแรกไม่ได้คิดจะเป็นทหารหรอกค่ะ แต่ความที่เรียนด้านรัฐศาสตร์การทูต พอจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ก็เรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน อาจารย์แนะนำให้เรียนด้านยุทธวิธีการเจรจาทางทหาร แทมมี่จึงสมัครเป็นนายทหารกองหนุน หรือ ROTC (The Army Reserve Officers’ Training Corps) ปรากฏว่าชอบทันที (หัวเราะ) เป็นโปรแกรมที่ทุกคนมีตำแหน่งเท่าเทียมกันทั้งชาย หญิง คนเอเชีย ผิวดํา ผิวขาว ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือต้องยอมเสียสละทำงานหนักเเละช่วยเหลือกัน แทมมี่ยิ่งเรียนยิ่งชอบ ไปๆมาๆจึงสมัครเป็นทหาร ได้รับการประดับยศเป็นนายร้อย หรือนายทหารสัญญาบัตร (Commissioned Officer) ของกองทัพบกสหรัฐฯ เมื่อปี 1992

ตอนนั้นต้องเลือกว่าจะทำงานทหารประเภทไหน เเล้วบังเอิญได้ยินมาว่าต่อให้ผู้ชายเลือกเป็น Finance Officer หรือนักกฎหมาย จะต้องเขียนว่า Infantry (ทหารราบ) หรือ Armor (ทหารยานเกราะ) เเล้วต้องไปออกรบ ไม่มีทางเลือก ขณะที่ทหารหญิงสามารถประนีประนอม ไม่ต้องไปรบก็ได้ โดยส่วนตัวคิดว่าไม่แฟร์ ไม่ต้องการหลบสิ่งที่อันตรายเพียงเพราะเราเป็นผู้หญิง จึงถามเจ้าหน้าที่ว่ามีงานทหารบกด้านไหนที่ผู้หญิงเข้าร่วมรบได้บ้าง เขาบอกมีแค่อย่างเดียว คือต้องสมัครเป็นนักขับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ โอเค เราเขียนเป็นนัมเบอร์วันเลย (หัวเราะ) แล้วสอบได้ด้วย ทั้งชั้นมีผู้หญิงเรียนเเค่ 2 คนเท่านั้น

หลังเข้าเรียนที่โรงเรียนการบินครบถ้วนตามหลักสูตรที่กําหนด เเทมมี่ก็สมัครเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังป้องกันชาติแห่งรัฐอิลลินอยส์ (Illinois Army National Guard) ในปี 1996 ทำคะแนนเป็นอันดับ 3 ในรุ่น ซึ่งมีประมาณ 40 คน ต้องฝึกบินหนักมาก เเทมมี่เคยขับเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กเข้าสู่สมรภูมิมาแล้วกว่า 200 เที่ยว บ้าระห่ำมาก (หัวเราะ) จากการทุ่มเทเเรงกายเเรงใจกับการบิน สุดท้ายจึงได้เป็นผู้บังคับการกองร้อยปฏิบัติการ แบล็กฮอว์ก UH-60A ทำหน้าที่ฝึกอบรมทหารอากาศ 60 นาย รวมทั้งดูแลการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์มูลค่ากว่า 50 ล้านดอลลาร์ ในฐานะผู้อำนวยการยุทธและผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการวางแผน มอบหมายหน้าที่ และติดตามภารกิจของกองกำลังพิเศษขนาดกำลังพล 500 นายในอิรัก

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ
ภาพ : Getty images

ช่วงที่ต้องไปประจำการอยู่อิรักลำบากไหมคะ?

แทมมี่: บอกตามตรงว่าการใช้ชีวิตอยู่ที่อิรักง่ายกว่าอยู่บ้านอีก (หัวเราะ) เพราะปกติต้องตื่นเช้าขับรถไปทํางาน เสาร์ – อาทิตย์ไปฝึกทหารอย่างน้อยเดือนละ 1 – 2 ครั้ง บวกกับต้องไปซ้อมการบินอาทิตย์ละ 1 – 2 ครั้ง คือมีหลายอย่างต้องทำ ขณะที่เมื่อประจำการอยู่อิรัก แน่นอนว่าลำบาก อยู่ไกลครอบครัว แต่ชีวิตง่าย ตื่นเช้ามาไปทำงานวันหนึ่งประมาณ 18 – 20 ชั่วโมง พอกลับถึงที่พักก็นอนหลับแบบสลบ ตื่นมาก็ไปทำงานต่อ เป็นแบบนี้ทุกวัน เสื้อผ้าใช้วิธีส่งซัก เพราะไม่มีที่ซัก อาหารประจำวันส่วนใหญ่เป็นอาหารไทยที่คุณแม่จัดเตรียมใส่กล่องส่งมาให้ที่แบกแดดเสมอ ชีวิตช่วงนั้นจึงมีแค่นอนกับทำงานปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนทหารด้วยกันให้ดีที่สุด

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ
ภาพ: Facebook – Tammy Duckworth

ขออนุญาตถามถึงเหตุการณ์เฉียดตายที่ทำให้ต้องใส่ขาเทียมได้ไหมคะ?

แทมมี่: จำได้ไม่ลืม วันที่ 12 พฤศจิกายน 2004 วันนั้นแทมมี่ปฏิบัติภารกิจขับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ก UH-60 โดยมีเพื่อนนักบินอีกคนช่วยกันขับ บินทั้งวันตั้งแต่ตีสามจนทั่วน่านฟ้าประเทศอิรัก ตอนกำลังจะกลับไปที่สนามบินได้รับคำสั่งด่วนว่ามีทหารอีก 2 นายต้องการขึ้นเครื่อง เราจึงบินไปรับ แต่ระหว่างทางกลับเครื่องบินเราถูกซุ่มโจมตีด้วยเครื่องยิงจรวด Rocket-Propelled Grenade (RPG) ขาขวาแทมมี่หายไปพร้อมระเบิดเลย ส่วนขาซ้ายและแขนขวาแหลกละเอียด วินาทีนั้นพยายามคุมสติบังคับเครื่องลงจอด แล้วยังพยายามดับเครื่องด้วย เพราะกลัวจะมีระเบิดหรืออะไรตามมาอีก ก่อนจะสลบไปเนื่องจากเสียเลือดมาก รู้ตัวอีกทีนอนอยู่โรงพยาบาลที่แบกแดดแล้ว และจำอะไรไม่ได้เลย

ทุกคนบอกว่าแทมมี่เพ้อถามหาลูกน้องตลอดว่าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็ถูกส่งไปรักษาตัวที่วอลเตอร์รีด (โรงพยาบาลทหารในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.) นานหลายสิบวัน พอฟื้นคืนสติขึ้นมาจึงรู้ว่าเสียขาทั้งสองข้างไปแล้ว เวลานึกย้อนหลังแทมมี่คิดว่าตัวเองโชคดีที่พกเหรียญหลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ ที่คุณแม่ให้คล้องติดตัวไว้ตลอดเวลา ถ้าไม่มีท่านคุ้มครองอาจไม่มีชีวิตรอดมาถึงวันนี้ก็ได้ แต่คุณแม่กลับบ่นน้อยใจว่าทำไมพระท่านไม่ช่วยลูกสาว (หัวเราะ)

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ
ภาพ: Facebook – Tammy Duckworth

ย้อนถามถึงความสนใจการเมือง เริ่มตั้งเเต่เมื่อไรคะ?

แทมมี่: ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล มีทหารชั้นประทวนที่ได้รับบาดเจ็บมาขอคำปรึกษาปัญหาสังคมสงเคราะห์จากแทมมี่ตลอดว่าจะได้รับเงินเดือนตามปกตินานเท่าไร ได้เงินชดเชยค่าบาดเจ็บอย่างไร หรือจะหางานพลเรือนได้ที่ไหน ซึ่งแทมมี่ก็ต้องโทรศัพท์ไปถาม ส.ส.หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบ่อยๆ แต่บางครั้งก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จากเหตุการณ์นี้จึงทำให้เรามีความมุ่งมั่นอยากจะลงสมัครผู้แทนเพื่อเป็น ส.ส. เพราะรู้สึกไม่พอใจกับกฎหมายเรื่องความช่วยเหลือและสวัสดิการของทหารที่ได้รับบาดเจ็บในสงคราม บวกกับตอนนี้แทมมี่ถือว่าตัวเองอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกว่า “โบนัสชีวิต” เพราะเราอาจตายไปกับเหตุการณ์ระเบิดครั้งนั้นแล้ว แต่เมื่อชีวิตได้โอกาสที่สอง มุมมองการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไป แทมมี่อยากทำตัวให้มีค่า ทำทุกอย่างที่คิดว่าถูกต้อง ไม่เคยกลัวหรือวิตกต่อการโจมตีทางสื่อหรือทางการเมือง

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ
ภาพ : Getty images

แล้วมาร่วมงานกับบารัก โอบามา ได้อย่างไรคะ?

แทมมี่: แทมมี่พบกับคุณบารัก โอบามา ครั้งแรกตอนนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลทหารที่วอลเตอร์รีด อาร์มี เมดิคัล เซ็นเตอร์ จำได้ว่าเขาเดินทางมาเยี่ยมทหารบาดเจ็บเป็นการส่วนตัวเงียบๆ ตอนกลางคืนรวมทั้งวันเสาร์ – อาทิตย์ เพื่อถามไถ่ทุกข์สุข นั่งฟังทหารแต่ละคนเล่าเรื่องราวว่าได้รับบาดเจ็บอย่างไร ครอบครัวเป็นอย่างไร พอออกจากโรงพยาบาลก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย ช่วงนั้นแทมมี่มุ่งมั่นอุทิศตนทำงานการกุศลเพื่อทหารผ่านศึกรัฐอิลลินอยส์ จนปี 2006 ก็ได้รับการเเต่งตั้งจากร็อด บลาโกเยวิช (Rod Blagojevich) อดีตผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ ให้เป็นผู้อำนวยการองค์การทหารผ่านศึก ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองเดินมาถูกทางเเล้ว จึงตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 6 เรียกว่าก้าวสู่วงการการเมืองเต็มตัวครั้งแรก เพราะแทมมี่เชื่อว่าการเข้าไปทำงานในสภาคองเกรสจะสามารถขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆที่อยากจะแก้ไขได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การปฏิรูปเรื่องการศึกษา เรื่องสิทธิสตรี รวมถึงเรื่องสวัสดิการที่เหมาะสมของเหล่าทหารผ่านศึกด้วย

เเม้ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นเเทมมี่จะเเพ้ เเต่อย่างน้อยก็ยังมีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต เมื่อมีโอกาสเจอคุณโอบามาอีกครั้ง  คราวนี้เขาออกปากชวนแทมมี่ให้ไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องทหารผ่านศึก พร้อมทั้งเสนอชื่อแทมมี่ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ตอนแรกก็งงว่าทำไมจึงอยากทำงานกับเรา เขาบอกว่าชอบโครงการที่แทมมี่เคยทำที่รัฐอิลลินอยส์  โดยเฉพาะการให้เงินช่วยเหลือ 600 เหรียญกับบริษัทที่จ้างทหารผ่านศึกทำงาน ซึ่งนับเป็นรัฐแรกในประเทศที่ทําแบบนี้ คุณโอบามาต้องการจะขยายโครงการนี้ไปทั่วประเทศ เลยถามว่าแทมมี่จะยอมออกจากอิลลินอยส์ไปวอชิงตันไหม ฟังแล้วในหัวเราตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า ต้องไปนะ (หัวเราะ) ไม่ไปไม่ได้ โดยเฉพาะงานนี้เป็นงานที่มีประโยชน์ต่อประเทศ

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ
ภาพ: Facebook – Tammy Duckworth

ภายนอกดูเป็นผู้หญิงหัวใจเเกร่งมากๆ ตัวตนของเเทมมี่เป็นอย่างนั้นไหมคะ?

แทมมี่: เป็นทหารมา 20 ปี ถ้าอ่อนแอคงทําไม่ได้ ก่อนหน้านี้แทมมี่ชอบช็อปปิ้ง ชอบเเฟชั่นเหมือนผู้หญิงทั่วไป แต่ชีวิตมาเปลี่ยนตอนที่โดนระเบิด พอตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่าตัวเองรอดตาย หลังจากนั้นทุกวันของเราก็มีค่ามาก เพราะเหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้ง ดังนั้นถ้ามีเรื่องอะไรที่เข้ามากระทบจิตใจ ทําให้เสียใจ หรือเหนื่อยล้าขนาดไหนไม่เป็นไร คิดเสมอว่าคงไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่าวันนั้นอีกแล้ว แทมมี่ยึดคติว่า “Count Your Blessings” คิดถึงสิ่งดีๆในชีวิต แม้วันพรุ่งนี้อาจเจอเรื่องที่ไม่ดีบ้าง แต่การมีชีวิตอยู่นับว่าเป็นเรื่องดีที่สุด ต้องนึกถึงสิ่งดีๆมากกว่าสิ่งไม่ดีค่ะ

 

ประวัติไม่ธรรมดา แต่ที่น่านับถือคือความคิดและจิตใจของเธอนี่แหละ…ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ ส.ว.รัฐอิลลินอยส์


เรียบเรียงโดย : Gingyawee_แพรวดอทคอม
ข้อมูล : นิตยสารแพรว ปักษ์ 796 ปี 2555
ภาพ : Getty Images, แฟนเพจ Facebook – Tammy Duckworth

Praew Recommend

keyboard_arrow_up