สุขาเจ้าปัญหา อาซึกะ โซเอะจิมะ (AsukaSoejima) พนักงานต้อนรับ

อาซึกะสาวลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นที่จับพลัดจับผลูมาทำงานในเมืองไทยกว่า 2 ปี เธอต้องปรับตัวหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาภายในห้องน้ำ

“สำหรับฉัน เรื่องที่แตกต่างกันมากระหว่างการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นกับเมืองไทย คือ การใช้ห้องน้ำในห้างหรือที่สาธารณะอย่างการใช้ชักโครก เวลาคนญี่ปุ่นทำธุระเสร็จ จะปิดฝาโถไว้ก่อนแล้วค่อยกดน้ำเพื่อไม่ให้เชื้อโรคกระจายขึ้นมา แต่มาอยู่เมืองไทยพอเดินออกจากห้องน้ำ คนไทยที่รอคิวอยู่มักเลี่ยงไปใช้ห้องอื่นเสมอ มารู้ทีหลังว่าการปิดฝาโถส้วมแปลว่ากดชักโครกไม่ลง โอ้…มิน่าถึงโดนมองแปลกๆ คงคิดว่าเราทำธุระไม่เรียบร้อย (หัวเราะ)

อีกอย่างคือคนญี่ปุ่นถือว่าการเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ต้องเงียบๆ และไม่ควรมีใครมายุ่มย่าม ห้องน้ำตามที่สาธารณะจึงมักมีปุ่มกดเป็นเสียงดนตรีหรือเสียงแทรกซ้อนอื่นๆ เพื่อกลบเสียงการทำธุระ ส่วนแม่บ้านจะเข้ามาทำความสะอาดเป็นเวลา แต่ห้องน้ำเมืองไทยโดยเฉพาะในห้าง นอกจากไม่มีปุ่มตัวช่วยที่ว่าแล้ว ยังมีแม่บ้านยืนประจำอยู่ตลอดเวลา บางแห่งมีถึง 2 คน คนไทยอาจไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับคนญี่ปุ่นอย่างฉันรู้สึกอึดอัดทุกครั้ง เพราะรู้สึกเหมือนถูกจับตามองตลอดเวลา

ยิ่งกว่านั้นฉันเคยอยู่ในห้องน้ำ แล้วคุณแม่บ้านสอดไม้ม็อบลอดใต้ประตูมาถูในห้อง (หัวเราะ) เป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกอารมณ์เหมือนโดนเร่งให้ทำธุระไวๆ เจออย่างนั้นจะยอมแพ้ รีบลุกออกมา

เชิญคุณแม่บ้านเต็มที่เลยค่ะ

เรื่อง : โทมาลิน
ภาพ : อิทธิศักดิ์, โยธา
สถานที่: ห้องอาหารยามาซาโตะ โรงแรม ดิ โอคุระ เพรสที กรุงเทพฯ
ที่มา : นิตยสารแพรวฉบับ 840 คอลัมน์ 108 คำถาม

Praew Recommend

keyboard_arrow_up