สนองปณิธานเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ทรงห่วงใยทุกข์สุขราษฎร จัดตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ มหานนท์ หนึ่งในคณะทำงาน อีกทั้งยังเป็นเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้บอกเล่าเกี่ยวกับการทำงานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมุ่งมั่นในการช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดี อีกทั้งยังเป็นผู้สานต่อโครงการใหญ่ในพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี อีกด้วย

การจัดตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างจากสถาบันการศึกษาและราชวิทยาลัยทางการแพทย์แห่งอื่นๆ อย่างไรบ้าง

ต้องอธิบายก่อนว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น เป็นโครงการที่ตั้งต้นมาจากพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  ที่ต้องการผลิตบัณฑิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ที่ขาดแคลน โดยมีพื้นฐานมาจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่มีมากว่า 30 ปี ราชวิทยาลัยเพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2559 นี่เอง เป็นองค์กรอิสระในกำกับของรัฐ โดยรัฐบาลให้เงินสนับสนุนระดับหนึ่งภาระงานเหมือนมหาวิทยาลัยและสถาบันสาธารณกุศล เช่น สภากาชาดไทย  รวมกันเป็นราชวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศที่มีพระราชบัญญัติของตัวเองชัดเจน

สำหรับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เราจัดให้มีหลักสูตรแพทย์ สัตวแพทย์ นักรังสีเทคนิค พยาบาล วิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ  โดยเราเน้นผลิตบัณฑิตในด้านการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ได้ทำในด้านอื่นๆ เราเน้นผลิตบุคลากรเหล่านี้ เพื่อเติมเต็มบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีคุณสมบัติเฉพาะให้ประเทศชาติทั้งในเวลานี้และต่อไปในอนาคต ซึ่งสถานศึกษาอื่นๆ ไม่ทำ อันนี้ก็เป็นความแตกต่างอีกประการหนึ่ง แต่เราผลิตบุคลากรจำนวนไม่มาก เน้นเติมเต็มในส่วนที่ขาดเฉพาะเรื่องและจำเป็นสำหรับอนาคตจริงๆ

นอกจากนี้หลักการหลักของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นภารกิจและเป้าหมายที่ชัดเจนแตกต่างจากสถาบัน อุดมศึกษาอื่นๆ ที่ให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาเพียงอย่างเดียว คือ เรามีภารกิจที่ต้องสนองพระปณิธานในการช่วยเหลือประชาชนในสังคม ทรงเป็นห่วงคนที่ตกทุกข์ได้ยากหรือลำบาก งานสาธารณกุศลเป็นภารกิจที่ฟังดูเผินๆ ไม่ใหญ่ แต่จริงๆ แล้วใหญ่มาก และเราก็ต้องพยายามทำให้ได้

คุณหมอวางแผนในการบริหารงานไว้อย่างไรบ้าง

ในส่วนตัวผม ผมอยากให้ราชวิทยาลัยแห่งนี้ เหมือนต่างประเทศในลักษณะที่ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ซึ่งในบ้านเราบางครั้งการบริหารจัดการเรื่องวิชาการ หรือมีการแบ่งแยกระหว่างกันเยอะ ทั้งทางวิชาชีพและการบริหาร แต่ในต่างประเทศนั้นเขารวมกัน เช่น วิชาเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ เขาอยู่ด้วยกัน ไม่มีกำแพงกั้นระหว่างกัน เวลาทำวิจัยก็ไปด้วยกัน ไม่เหมือนบ้านเราที่แยกกันหมด ต่างคนต่างไม่รู้กันว่าใครทำวิจัยอะไร จะช่วยกันได้อย่างไร  ซึ่งที่นี่ผมกำหนดหลักการชัดเจน โดยไม่แบ่งภาควิชา จัดให้เรียนหรือทำวิจัยด้วยกัน ผมอยากให้นักศึกษาแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์เมื่อจบออกไปแล้ว สามารถทำงานด้วยกันเป็นทีม  ซึ่งหากว่าตอนเรียนต่างคนต่างเรียนแล้วเขาจะทำงานร่วมกันได้อย่างไรเมื่อจบออกไป ถ้าจับมาเรียนด้วยกันสักระยะเวลาหนึ่ง ผลของงานก็จะมีคุณภาพร่วมเรียนเป็นทีม ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนทำงานด้วยกัน แล้วรู้ว่าเราทำอะไร เพื่อนร่วมทีมทำอะไรกันอยู่ เมื่อทำงานร่วมกันก็จะมีความก้าวหน้าทางวิชาการเป็นอย่างมาก

นักศึกษาที่สนใจจะมาเข้าเรียน  มีวิธีสมัครเข้ามาอย่างไร

เราแบ่งการรับนักศึกษาเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นการรับตรง โดยนำคะแนนสอบจากโรงเรียนเขามาพิจารณา แล้วเรียกมาสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ง่ายแบบทั่วไป เราจะสัมภาษณ์อย่างจริงจัง มีผู้สัมภาษณ์ 5-6 คน แยกห้องสัมภาษณ์ครั้งละครึ่งชั่วโมง ต่างคนต่างให้คะแนน แล้วนำคะแนนเหล่านั้นมารวมกับคะแนนสอบออกมาเป็นมาตรฐานเฉลี่ยหารสอง

กลุ่มที่สองคือ เด็กที่ผ่านการสอบของรัฐจากข้อสอบกลาง

กลุ่มที่สาม เป็นเด็กมาจากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ ซึ่งอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เราให้โควต้ารับเด็กที่เรียนทางสายวิทยาศาสตร์ โดยนำคะแนนของเขามาพิจารณาแล้วเรียกสัมภาษณ์ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเรารับเด็กจากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยมาเป็นปีแรก ผมได้ติดตามดูพบว่าผลการเรียนของเด็กค่อนข้างดี ก็หวังว่าเขาจะเรียนจบ เขาจะกลับไปเป็นผู้นำในท้องถิ่นของเขา

นอกจากเรื่องการศึกษาวิจัย  คุณหมอเตรียมแผนของราชวิทยาลัยฯ ในช่วงต่อไปอย่างไรบ้าง

ตอนนี้เรามีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นหลัก นอกจากนี้พระองค์ท่านยังพระราชทานพระดำริในการจัดตั้งศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไป เปิดให้บริการแล้วและมีศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ซึ่งจะทำเฉพาะด้านมะเร็ง  ซึ่งเราเปิดบริการส่วนนี้มา 8 ปีกว่าแล้ว เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็ง อีกศูนย์การแพทย์หนึ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 3-4 ปีข้างหน้า  โดยมีที่มาจากการที่พระองค์ท่านมีพระประสงค์ที่จะทำถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่จะมีพระชนมายุครบ 90 พรรษาในปี 2560 แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงพระราชทานชื่อเป็น “ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์” เป็นสถานพยาบาลระดับตติยภูมิ รักษาครบทุกโรค ตั้งอยู่ในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ โดยจะทำสะพานจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ปัจจุบันข้ามคลองเปรมประชากรเข้าไปที่ศูนย์ฯ

และตอนนี้มีอีกโครงการที่พระองค์ท่านมีพระดำริคือ อยากให้มีโรงพยาบาลเฉพาะทางผู้สูงอายุ ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีว่า แนวโน้มในอนาคตอันใกล้นี้สังคมเราจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุไม่ใช่คนพิการ แต่เป็นคนอายุมากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ  เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาจึงไม่เหมือนกับโรงพยาบาลทั่วไปต้องมีศูนย์ฟื้นฟู    เพื่อให้เขากลับไปอยู่ด้วยตัวเองได้  โดยเราต้องออกแบบโรงพยาบาลให้เสร็จก่อน  คิดว่าคงจะเกิดขึ้นได้ใน 4-5 ปีข้างหน้า

ตอนนี้กำลังเขียนโครงการการหาบุคลากรมาฝึกอบรม พวกหมอก็ต้องส่งไปอบรมสำหรับโรงพยาบาลเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุด้วยเพราะจะมีทั้งการรักษาแบบฉุกเฉิน และการรักษาแบบทั่วไป ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก มีส่วนที่เป็นการฟื้นฟูและพัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจและสมองของผู้สูงอายุ อย่าลืมว่าผู้สูงอายุบ้านเราเริ่มต้องช่วยตัวเองมากขึ้น และเราต้องรู้ว่าต้องเตรียมความพร้อมไว้ให้ผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง ไม่อย่างนั้นเขาก็จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีคุณภาพ เจ็บป่วยก็ทำอะไรไม่ได้ต้องพึ่งลูกหลาน  พึ่งรัฐบาลอย่างเดียว  เราจึงต้องเตรียมตัวให้เขาแข็งแรงมีคุณภาพจนถึงระยะสุดท้ายหรือเกือบระยะสุดท้ายของอายุขัย

โรงพยาบาลของเราจะมีศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เช่น ฟิตเนส เพราะว่ากล้ามเนื้อของผู้สูงอายุตามวัยที่เพิ่ม การที่กล้ามเนื้อบางส่วนหายไป ทำให้กล้ามเนื้ออีกส่วนต้องมาทดแทน ส่วนที่ทำหน้าที่ทดแทนก็จะปวดเมื่อยเพราะทำงานหนัก อันนี้เราต้องดูแลฝึกสอน การออกกำลังกายจะไปฝึกเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไปก็ไม่ได้  เพราะสุขภาพร่างกายเปลี่ยนไปแล้ว  ก็ต้องเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ให้ด้วย  โดยต้องมีบุคลากรเฉพาะที่รู้และชำนาญเรื่องผู้สูงอายุ

ทั้งนี้โครงการส่วนหนึ่งของเราก็จะขยายไปอยู่ต่างจังหวัดด้วยในอีก 5-6 ปีข้างหน้า เพราะตอนนี้พระองค์ท่านประทับที่โคราชก็มีพระดำริที่จะให้ตั้งโรงพยาบาลสัตว์ที่นั่น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน โดยจะมีสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตด้วย  ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลผู้สูงอายุ  โรงพยาบาลสัตว์ เรามีนโยบายหนึ่งที่ชัดเจนว่า  ต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย ต้องทำไปด้วยกันหมด ไม่ว่าประชาชน สัตว์ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นต้องประสานรวมอยู่กันให้ได้

คุณหมอทำงานมากขนาดนี้  สนุกไหม

สนุกครับ ได้ทำอะไรเยอะแยะ  แพรว เป็นคนแรกที่ผมพูดด้วยว่า สนุก คนอื่นมักจะถามว่า หมอคงเหนื่อย ซึ่งผมก็ตอบว่าไม่เหนื่อย จะเหนื่อยได้อย่างไร วันหนึ่งมีเวลาเท่าเดิม ทำงานเท่าเดิม ทำได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ชั่วโมงไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำเท่าเดิมแล้วจะเหนื่อยกว่าเดิมได้อย่างไร แต่ยอมรับว่าทำได้หลายอย่าง เวลาพักผ่อนผมก็เต็มที่นะ ผมนอนวันละ  8 ชั่วโมง 3 ทุ่มก็นอนละ ตื่นเช้าออกกำลังกาย  เข้ายิมและวิ่งสลับกัน  ส่วนเรื่องไปเที่ยว  ปีหนึ่งผมจะไปเที่ยวต่างประเทศ 1 ครั้ง

 ทราบว่าตอนนี้โรงพยาบาลก็กำลังทำวิจัยเรื่องอัลไซเมอร์ด้วย

ใช่ครับ  คุณพ่อผม (พล.ต.อ.ณรงค์  มหานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ) ตอนนี้อายุ 93 ปีแล้ว  ยังแข็งแรง แต่จำอะไรไม่ค่อยได้  ผมถึงอยากทำเรื่องอัลไซเมอร์  และทูลกระหม่อมทรงเล็งเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญและเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆในสังคมผู้สูงอายุ  ซึ่งโรคนี้อาหารการกินมีส่วนมาก  ทำให้ชะลอโรคได้  หรืออาหารบางชนิดก็ทำให้เสี่ยงที่จะเป็นสมองเสื่อมมากขึ้นได้

หลักการที่ถูกต้องคือ ควรกินอาหารครบหมู่ในปริมาณพอเพียง ผมสังเกตพฤติกรรมคนไข้ของผมมานาน ถึงหาคำตอบสั้นๆได้ เพราะพวกเขาชอบถามว่ากินนั่นกินนี่ให้สุขภาพดี อายุยืนขึ้น ดีไหม ซึ่งพอผมไปศึกษาตำราจริงๆ พบว่าไม่มีอาหารหรือสิ่งใดเลยที่กินเพียงอย่างเดียวแล้วทำให้สุขภาพร่างกายทุกอย่างดีขึ้น อายุยืนขึ้น ในประวัติศาสตร์จีน ฮ่องเต้ต่างๆ พยายามหามากว่า 2 พันปี ก็ไม่พบว่ายาอายุวัฒนะคืออะไร ถ้าหาเจอก็เจอไปแล้ว  แต่ข้อมูลที่พบมาตั้งแต่ในอดีตและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทุกระดับตั้งแต่ระดับเซลล์ถึงสัตว์ทดลองและคน  สิ่งที่พิสูจน์ว่าทำแล้วสุขภาพดีขึ้น อายุยืนขึ้น คือ “กินให้น้อย” แต่ครบหมู่  เคยติดตามข่าวเมื่อสัก 2 ปีก่อน เขาพิสูจน์ได้ว่า การปล่อยให้เซลล์ในร่างกายอดๆ อยากๆ เป็นช่วงๆ จะทำให้มีคุณสมบัติข้อหนึ่ง คือ สามารถไปขจัดสิ่งที่เป็นขยะที่ทำให้เกิดความแก่ ความเสื่อมได้ดีขึ้น  ในสัตว์ก็เช่นกัน เขานำหนูมาทดลอง กลุ่มหนึ่งกินน้อย อีกกลุ่มกินปกติ ผลปรากฏว่ากลุ่มกินน้อยอายุยืนกว่า ในคนก็เช่นคนญี่ปุ่นที่เกาะโอกินาวะ  กินแบบพอดีๆ เขาก็มีอายุยืนที่สุดในโลก

ทุกวันนี้ยังไม่พบสาเหตุการเป็นอัลไซเมอร์อย่างชัดเจน แต่สาเหตุหนึ่งที่พอบอกได้ที่อาจจะมีส่วนก็คือ พฤติกรรมการกินของคนสมัยนี้ที่เปลี่ยนไป ทำให้มีผลต่อแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ของเรา ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยขจัดสารพิษหลายอย่าง  ปรากฏว่าเรากินอาหารแบบปัจจุบัน รวมทั้งการกินอาหารสำเร็จรูปที่ผ่านการอุ่นในไมโครเวฟ อาหารที่มีกากใยน้อย มีผลทำให้แบคทีเรียที่ดีและจำเป็นลดปริมาณลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสารพิษที่เรากินเข้าไปผ่านเนื้อสัตว์ ไขมัน ไข่แดง ถูกดูดซึมเข้าไป สะสมจนเกิดการอักเสบในร่างกาย ทำให้เส้นเลือดในตัวเสียไปด้วย มีผลให้เกิดโรคหัวใจ โรคสมอง เวลานี้ทั่วโลกกำลังสนใจวิจัยเรื่องเหล่านี้อยู่

 

เป็นเพราะคนมีอายุยืนยาวขึ้น ปัญหาเรื่องโรคต่างๆ จึงปรากฏชัดเจนมากขึ้นด้วยไหมครับ

ตอนแรกคิดว่าอย่างนั้น แต่ตอนหลังตรวจพบว่าคนที่เป็นโรคอายุน้อยลงเรื่อยๆ อย่างโรคหัวใจนี่ชัดเจน  คนอายุน้อยลงก็เป็นมากขึ้นแต่ก่อนไม่มี ตอนนี้คนอายุ 30-40 ปีก็เป็นแล้ว ผมว่าเป็นผลมาจากอาหารการกินและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

ส่วนประกอบหลักที่ทำให้อาหารอร่อย มีรสชาติมีอยู่ 3 ส่วน คือ ความมัน  ความหวาน  ความเค็ม คือ เกลือ  ทั้งสามส่วนผสมในสัดส่วนที่แตกต่างกัน แล้วทำให้อาหารมีเท็กซ์เจอร์ คือความนุ่ม กรอบ ต่างกันไปแต่ละแบบ มีรสชาติแตกต่างกันออกไป อาหารที่มีรสจัดอร่อยจะมีความเค็มเยอะ ถ้าคนที่ไม่ได้ทำอาหารเอง ซื้ออาหารมากินก็ยากที่จะควบคุมตรงนี้ สิ่งที่ทำได้ คือ ต้องกินน้อย เพื่อนำสิ่งที่ไม่ดีเข้าไปในร่างกายให้น้อยที่สุด

เมื่อก่อนผมก็ดุคนไข้บ่อยๆ ว่าทำไมไม่กินอาหารจืดๆ แต่เดี๋ยวนี้เห็นเลยว่าทุกคนไม่มีเวลา แค่นั่งรถกลับบ้านก็แย่แล้ว  กว่าจะกลับถึงบ้าน หิวโซ กว่าจะทำอาหารเสร็จเป็นลมพอดี ส่วนใหญ่เลยจึงซื้อกิน ดังนั้นจึงควรกินให้น้อยและต้องออกกำลังกายด้วย  ความจริงเราต้องออกกำลังกายเยอะขนาดนี้ไหม ถ้าเรากินพอเพียง กินเหมือนสมัยก่อน นั่งให้น้อยลงไม่ถึงกับต้องออกกำลังกายอย่างหนัก เหมือนที่เราพูดกันในขณะนี้คือ สัปดาห์ละ 4 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที  แต่ด้วยพฤติกรรมการกินที่เป็นอยู่ทำให้ต้องเป็นอย่างนั้น  ถ้าย้อนไปอดีต ไปไหนเราก็เดินกันไป อาหารก็กินพอดีๆ  จึงไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายมากอย่างปัจจุบัน

ตั้งแต่คุณหมอเข้ามารับหน้าที่นี้ พบอุปสรรคปัญหาอะไรบ้างไหมครับ

ผมมาที่นี่ก็ราว 2 ปี ถือว่ายังไม่นานนักนะครับ แต่สิ่งที่ผมพบคือ คนยังไม่ค่อยเข้าใจแนวความคิดแบบใหม่ๆ ผมจึงต้องพยายามช่วยชี้แจงว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ด้วยความที่ตั้งขึ้นมาอย่างค่อนข้างรวดเร็ว จนบางคนที่ยังไม่รู้บอกว่าวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจน คิดว่าเราเป็นโรงพยาบาลมะเร็งอย่างเดียว พอเราจะขยายอะไรเพิ่มขึ้นตรงนี้ก็ต้องค่อยๆอธิบายแล้วคนที่ไม่รู้  พระองค์ท่านทรงเคยทำอะไรไว้บ้าง

ก่อนผมมาก็ไม่ค่อยรู้หรอกว่า พระองค์ท่านทรงทำอะไรบ้าง  ซึ่งทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์จริงๆ เหมือนนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ประชาสัมพันธ์อะไรก็ไม่ค่อยกล้า เพราะทำงานวิจัย เขียนงานวิจัยอยู่ในห้องทดลอง แต่เมื่อผมมาทำงานที่นี่ได้ศึกษาจริงๆ แล้ว พระองค์ท่านทรงทำไว้มากมาย หลายๆ งานเป็นผลงานวิจัยระดับนานาชาติที่เขาชื่นชมและรับรองสิ่งที่ทรงทำไว้ ผมเข้ามาถึงรู้ว่าทรงทำไว้เยอะ

ผมจึงต้องมีหน้าที่ช่วยพูดว่า พระองค์ท่านทรงทำอะไรเพื่อประชาชนไว้มากมายจริงๆ

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up