อาลัย “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” บุคคลสำคัญผู้เป็นอนาคตของไทย-อาเซียน

“ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ”ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย อดีตเลขาธิการอาเซียน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสียชีวิตหัวใจวายเฉียบพลัน 

เป็นอีกครั้งที่เมืองไทยต้องสูญเสียบุคคลที่มีคุณค่าและมีความสามารถไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อ “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ”ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย อดีตเลขาธิการอาเซียน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ท่ามกลางความเสียใจของไทย-อาเซียน แม้วันนี้ดร.สุรินทร์จะจากไปแต่เรื่องราวดีๆยังคงอยู่ โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ในนิตยสารแพรว ปีที่ 29 ฉบับที่ 686 แม้ว่าเรื่องราวจะผ่านมานานแล้ว แต่เมื่อได้ลองย้อนกลับก็รู้สึกว่าข้อคิดที่เคยให้ไว้ในนิตยสารนั้นนอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่แล้ว ยังช่วยพัฒนาชาติบ้านเมือง รวมถึงอนาคตของภูมิภาคให้ก้าวต่อไปในวันข้างหน้าด้วย

“ชีวิตของผมคุณพ่อคุณแม่ไปเรียนที่เมกะตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ผมจึงโตมากับคุณตาคุณยายที่ปอเนาะ เมื่อเข้าเรียนคุณยายให้เปลี่ยนจากชื่อ “อับดุล ฮาลีม” เป็น “สุรินทร์”ตามชื่อนักการเมืองชื่อดังคนหนึ่งในสมัยนั้น โดยชีวิตในตอนนั้นก็เป็นเด็กบ้านนอกไม่มีอะไรเหลือเฟือ ไฟฟ้าไม่มี ต้องเดินทางไปกลับวันละ 10 กิโลเมตร แต่ก็มุ่งมั่นที่จะเรียนเพราะรู้ตั้งแต่เด็กว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะเป็นทางออกของชีวิต และเหมือนฟ้าเต็มใจทำให้เกิดโอกาสนั้น เริ่มจากสมัยมัธยมได้รับทุนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ไป รัฐมินิโซตา สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ได้วิชาภาษาอังกฤษและพิมพ์ดีดติดตัวกลับมา พอกลับมาก็ตั้งใจสอบเข้า คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อขึ้นปี 3 ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ ในแคลลิฟอร์เนียร์ โดยตอนเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่องทฤษฎีการเมืองสมัยกลางของตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งตอนไปสอบอาจารย์บอกว่าเพื่อนกำลังหานักศึกษาที่สนใจเรื่องนี้ นั่นจึงเป็นที่มาของการเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด”

“แม้จะได้รับเลือกให้เรียนแต่เขาไม่ได้พูดถึงทุนแต่ก็อยากที่จะลองเสี่ยง ซึ่งเมื่อไปถึงได้ตัดสินใจบอกไปตามตรงว่าไม่มีเงินค่าเรียน ซึ่งทางมหาลัยได้ติดต่อกลับไปที่อาจารย์ที่ส่งใบสมัครให้ในตอนแรกปรากฏว่ามีเงินกองทุนของสมาคมวินสัต เอส เชอร์ชิลจึงส่งมาให้ 1 หมื่นเหรียญฯ โดยหลังจากที่เรียนไปได้ 1 เทอมทางมหาลัยธรรมศาสตร์ได้เสนอทุน และในช่วงเดียวกันนั้นก็ได้ทราบว่ารุ่นพี่บางคนได้รับทุนจากร็อคกี้เฟลเลอร์แต่ต้องใช้ทุนเป็นสองทุน1ปีต่อการทำงานสองปี แต่การเป็นด็อกเตอร์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จึงตัดสินใจเบรคไว้ก่อนและกลับมาเมืองไทย”

“สมัยอยู่ที่อเมริกาผมเป็นหัวหน้านักศึกษาไทยจึงได้มีโอกาสพบกับ “คุณอานันท์ ปันยารชุน”และท่านได้พูดว่าถ้ากลับเมืองไทยให้ไปเยี่ยม และเมื่อกลับมามีโอกาสได้พบกันอีกครั้ง ได้พูดคุยจนคุณอานันท์ทราบว่าผมอยากเรียนภาษาอาหรับ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้ขอทุนไว้กับร็อกกี้เฟลเลอร์ ปรากฏว่าคุณอานันท์ยกหูพูดกับทูตอียิปต์สามวันต่อมาจึงได้รับข่าวดีว่าผมได้ทุน”

“สำหรับเส้นทางการเมืองนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2529 ปีนั้นพรรคประชาธิปัตย์ต้องการผู้สมัครใหม่ และผมก็ได้เป็นผู้ลงสมัครครั้งแรกในเขต 1 จ.นครศรีธรรมราช แต่นั้นก็ทำให้ต้องเจอกับประสบการณ์อันตรายถึงชีวิตจังหวะก้าวของผมค่อนข้างมั่นคงไม่รีบร้อน คุณชวนบอกเสมอว่าอยากทำงานการเมืองต้องสุกงอมในสภาก่อน หลังจากที่ได้เป็นส.ส.3สมัย ก็ได้รับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ แม้หลายคนจะบอกว่าตำแหน่งที่ผมได้รับเป็นที่เหลือจากการแบ่งสรร ไม่มีอำนาจ หรือประโยชน์ ลายเซ็นไม่มีค่า นอกจากงานในตำแหน่งก็ยังแสดงหาความรู้จากการเดินทางทำให้ได้รับรู้ข่าวสารและทัศนคติจากคนอื่นๆ และต้องการที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติมากกว่านี้ จนวันนึงได้รับโอกาสให้มาทำตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ซึ่งผมมีความฝันว่าอีก 20 ปีคนอาเชียจาก500กว่าล้าน จะกลายเป็นเป็น 700 กว่าล้าน การจัดตั้งอาเซียนผมมองว่าเป็นการเกาะกลุ่มกันที่ทำให้เรามีอำนาจต่อรองและคนอื่นให้ความสำคัญกับเรามากขึ้นเพราะโลกสมัยให้อยู่คนเดียวไม่ได้”

“ในฐานะพ่อ ผมบอกลูกเสมอว่าไม่มีอะไรที่พ้นไปจากความพยายามและผมเชื่อว่าทุกคนพัฒนาได้อยู่ที่โอกาสนั้นจะมาจากความดิ้นรนหรือสวรรค์ประทานให้ ชีวิตเราสั้นนิดเดียว ถ้าไม่สร้างตัวเองให้สำเร็จ ไม่พร้อม คงช่วยคนอื่นไม่ได้”


นิตยสารแพรว ปีที่ 29 ฉบับที่ 686

Praew Recommend

keyboard_arrow_up