บี้ – สุกฤษฎิ์ว่าที่สตาร์บรอด์เวย์คนแรกของเมืองไทย

“บรอดเวย์คือเวทีระดับโลกเลยนะ ถือเป็นอีกโอกาสในการทำงานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพี่บอยก็สั่งการให้ผมเตรียมตัวอย่างใหญ่หลวงด้วยเช่นกัน ตั้งแต่เรียนภาษาอังกฤษ เรียนร้องเพลง ฝึกตีความบท”

จากเวทีออดิชั่น เดอะ สตาร์ ‘บี้ – สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว’ ใช้เวลาเดินทางบนถนนสายบันเทิงไทยเข้าสู่ปีที่ 8 พร้อมประสบการณ์ทำงานที่เรียกได้ว่า ครบถ้วนหมดจด ตั้งแต่ร้องเพลง เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา ละครโทรทัศน์ ละครเวที ภาพยนตร์ กระทั่งวันนี้ที่บี้กำลังจะก้าวขึ้นไปถึงบอร์ดเวย์ เวทีการแสดงระดับโลกที่หากไม่ใช่ตัวจริง คงไม่สามารถทำได้แบบฟลุ๊คๆ

หลังบี้กลับจากการเตรียมงานครั้งสำคัญที่นิวยอร์กได้ไม่กี่วัน แพรวชวนเขามานั่งคุยถึง ความท้าทายครั้งใหม่ รวมถึงอีกหลายแง่มุมที่อาจทำให้คุณๆ เข้าใจว่า เพราะอะไร ชายคนนี้จึงเดินทางมาได้ไกลขนาดนี้

โปรเจ็คท์บรอดเวย์เรื่อง ข้างหลังภาพ เริ่มต้นอย่างไรครับ
สำหรับในส่วนของผม โปรเจ็คท์บรอดเวย์เริ่มประมาณ 2 ปีก่อนครับ แต่พี่บอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ทำมา 3-4 ปีแล้ว เขาไปลงทุนทำโปรเจ็คท์ที่นิวยอร์กก่อน พี่บอยมีดีวีดีบันทึกละครเวทีที่ทำไว้ทุกเรื่อง เพื่อเป็นพอร์ตเสนองาน ผมเคยขอยืมดู ถูกปฏิเสธนะ เพราะพี่บอยกลัวหลุดไปถึงคนอื่นๆ ถ้าใครอยากดูต้องไปที่บ้านเขาเท่านั้น ซึ่งนักลงทุนที่นิวยอร์กเขาได้ดูแล้วสนใจ โดยเฉพาะเรื่องข้างหลังภาพ อยากลองทำเป็นบรอดเวย์ โดยแคสนักแสดงจากที่นิวยอร์ก แต่อยากได้พระเอกคนเดิมซึ่งหมายถึงผม เขาให้เหตุผลว่า ตอนแสดงดูมีความจริงใจดี

วันแรกที่บี้รู้ข่าวเป็นอย่างไร
ช็อกไปพักหนึ่งครับ บรอดเวย์คือเวทีระดับโลกเลยนะ ถือเป็นอีกโอกาสในการทำงานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพี่บอยก็สั่งการให้ผมเตรียมตัวอย่างใหญ่หลวงด้วยเช่นกัน ตั้งแต่เรียนภาษาอังกฤษ เรียนร้องเพลง ฝึกตีความบท ใช้เวลาสัปดาห์ละ 4-5 วัน ตกวันละ 6-8 ชั่วโมง ต้องขยับคิวงานกันวุ่นมาก เพราะพี่บอยถือว่าโปรเจ็คท์นี้สำคัญที่สุด เขาฝันมาตลอดว่าอยากพาละครเวทีของไทยไปให้ถึงบอรดเวย์ให้ได้ พอฝันใกล้เคียงความเป็นจริงขึ้นมา อะไรที่ไม่สำคัญในเวลานั้นจึงตัดออกไปก่อน ยกเว้นเรื่องเรียน หลังจากนั้นไม่กี่เดือนผมต้องบินไปเทสต์ที่นิวยอร์ก พอผ่านเรียบร้อยก็ต้องบินไปเตรียมงาน โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา บินไปนิวยอร์ก 7 ครั้งได้ครับ

แต่ละครั้งไปทำอะไรบ้าง
เยอะครับ เริ่มจากอ่านบทพร้อมกับทีมนักแสดง เพื่อดูว่าคำไหนยาก โน้ตเพลงไม่พอดีหรือเปล่า พยายามหาจุดอ่อนของตัวเองเพื่อแก้ไข ดูอารมณ์ร่วมกับนักแสดงคนอื่น นอกจากนี้คือการแก้ไขบท ถ้านับจากบทชุดแรกที่ผมได้รับกับครั้งล่าสุดเรียกว่าต่างกันมาก เพราะบางสถานการณ์ที่คนไทยเข้าใจ ฝรั่งก็ไม่รู้เรื่อง จึงต้องมีการปรับให้เรื่องดำเนินได้ราบรื่นขึ้น

เรื่อง ปารัณ เจียมจิตต์ตรง

ติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของหนุ่มบี้ต่อได้ที่นิตยสารแพรวฉบับ 832 วันที่ 25 เมษายน 2557 คอลัมน์สัมภาษณ์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up