ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล

ดูแลดอยตุงมานาน! ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล สานต่อ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง แทนคุณหญิงพวงร้อย

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล

รับหน้าที่ต่อจาก คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา สำหรับ คุณดุ๊ก-ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ที่ทางคณะกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประกาศแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมูลนิธิฯ อย่างเป็นทางการแทนคุณหญิง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล

คลุกคลีอยู่กับการพัฒนาสังคม และช่วยให้ชาวเขา ชาวเผ่ามีอาชีพมั่นคงในการดำรงชีวิตมาเป็นเวลานาน สำหรับ หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ลูกชายของ หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล หลานชายของกรมพระยาดำรงชานุภาพ ซึ่งล่าสุดได้มีการอัพเดตจากทางคณะกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่องแต่งตั้งให้คุณดุ๊ก รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Deputy Chief Executive Officer) ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer) ของมูลนิธิฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป แทนคุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา ที่รับหน้าที่ดูแลมูลนิธิฯ รวมถึงถวายงานสมเด็จย่ามาเป็นเวลานาน

ด้านประวัติการทำงาน หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล มีประสบการณ์การทำงานสายธุรกิจและการเงินก่อนเข้าทำงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในปี พ.ศ.2548 ในตำแหน่งผู้จัดการส่วนการตลาด รับผิดชอบการตลาดแบรนด์ “ดอยตุง” จากนั้นในปี พ.ศ.2550 ได้เข้ามาดูแลรับผิดชอบโครงการขยายผลการพัฒนาตามตำราแม่ฟ้าหลวง ทั้งในและต่างประเทศ ก่อนดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปี พ.ศ.2558 รับผิดชอบการบริหารงานธุรกิจเพื่อสังคม “ดอยตุง” ทั้งหมด

ในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ หม่อมหลวงดิศปนัดดา อยู่แนวหน้าในการขับเคลื่อนขบวนการธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยมาโดยตลอด รวมทั้งมีบทบาทอย่างแข็งขันในการเผยแพร่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาสู่ระดับโลกตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยจะนำมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมต่อไป

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล

สำหรับข้อมูลของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์นี้ เดิมชื่อมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในปี 2515 เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและเพิ่มรายได้แก่ชาวเขา รวมถึงยังคอยส่งเสริมและหาตลาดงานด้านหัตถกรรมให้แก่ชาวเขาต่างๆ จนผลงานของชาวเขาได้รับความนิยม ส่งออกทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่มีการเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

 

 


เรียบเรียงโดย: บะหมี่กุ๊งกิ๊ง_แพรวดอทคอม
ข้อมูลและภาพ: ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ, http://www.maefahluang.org/index.php?lang=th

Praew Recommend

keyboard_arrow_up