หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก…ก่อนจะถึงสันติภาพ (ตอนที่28)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก ลักลอบเข้าเมืองไทย

หม่อมเจ้าการวิก และคณะเพื่อนทหารเสรีไทยเตรียมตัวลักลอบเข้ามาปฏิบัติการในเมืองไทยผ่านเป็นไปด้วยดี เพราะได้รับความช่วยเหลือจากคณะเสรีไทยในเมืองไทย ขณะที่สถานการณ์สงครามโลกในยุโรปได้สิ้นสุดลงเมื่อเยอรมันประกาศยอมแพ้

ในราวเดือนสิงหาคม พ.ศ.2487 ปู่จุดได้รับอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ของกองกำลัง 136 ในแคนดี้ ให้ส่งพวกช้างเผือกกลุ่มที่สามเข้าประเทศไทย และทางนายปรีดีขอให้ส่งแดง คุณะดิลก เข้ามาพร้อมกับคณะที่สามนี้ด้วย

ขณะนั้น แดงซึ่งได้เดินทางกลับมายังศรีลังกาเพื่อร่วมงานกับหน่วย O.S.S. ของสหรัฐฯ ปู่จุดจึงได้ติดต่อถึงกองบัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรที่แคนดี้ ขอตัวแดงมาร่วมคณะของกองกำลัง 136 ซึ่งทาง O.S.S. ตอบตกลง และแดงได้เดินทางมาฝึกกระโดดร่ม แต่เคราะห์ร้ายที่การซ้อมครั้งแรกแดงได้รับบาดเจ็บค่อนข้างหนัก ต้องนอนพักผ่อนอย่างน้อย 1 เดือน

แต่คณะที่จะกระโดดร่มเข้ามาโดยใช้ชื่อรหัส‘บริลหลิก’ (BRILLIG) ประกอบด้วยกฤษณ์กับประเสริฐ ซึ่งถูกกำหนดให้ร่วมคณะกับแดงนั้นไม่สามารถที่จะเลิกได้ ทั้งสองจึงเข้าเมืองไทยมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน และให้ไทยทำหน้าที่เป็นสถานีวิทยุแห่งที่สองอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อรับข้อความที่หัวหน้าขบวนการต้องการให้ส่งถึงกองกำลัง 136 ในขั้นต่อไป

หลังจากคณะบริลหลิกเข้าประเทศไทยแล้ว ปู่จุดได้เขียนแผนงานอย่างสวยหรูว่า SIAM PLAN ระบุจุดประสงค์ในการช่วยเหลือประเทศไทยในด้านการฝึกอบรม และสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ในการต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งร่วมปฏิบัติงานกับกองบัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร-ซีแอค (SOUTH EAST ASIA COMMAND-SEAC)

พันโทปีเตอร์ พอยน์ตัน หรือปู่จุด

ทางสำนักงานใหญ่ของกองกำลัง 136 ในแคนดี้ เสนอแผนนี้ต่อซีแอคอย่างภาคภูมิ แต่ยังทำอะไรจริงจังไม่ได้ ต้องรอทาง S.O.E. ในลอนดอนสั่งการก่อน หน่วยงานนี้ขาดความคล่องตัวในการทำงาน เพราะคณะทำงานเป็นตัวแทนมาจากกระทรวง (กลาโหม ต่างประเทศ สงคราม เศรษฐกิจ) การจะพิจารณาแผนงานแต่ละเรื่องจึงเสียเวลาและมีอุปสรรค แล้วระยะทางก็ห่างไกลกันมาก การติดต่อทางโทรเลขย่อมไม่สะดวกเท่ากับการพบหน้าคุยกันโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของแผนนี้ ปู่จุดได้ส่งพันตรี แอนดูรว์ กิลคริสต์ ผู้ช่วยผบ.ไปเจรจากับสำนักงานใหญ่ของกองกำลัง 136 ที่แคนดี้ เสนอแผนส่งพวกช้างเผือกกลุ่มที่ 4 เข้าประเทศไทยโดยเร็วที่สุด แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจา โดยให้ความเห็นว่าปู่จุดเป็นคนมองไทยในแง่ดี และไว้ใจขบวนการในประเทศมากเกินไป และแนะนำให้เปลี่ยนแผนการใหม่ คือ ส่งกลุ่มช้างเผือกเข้าไปดำเนินงานเป็นเอกเทศ ไม่ต้องขึ้นกับขบวนการในประเทศ และปฏิบัติงานตามแผนของกองกำลัง 136 เท่านั้น

เมื่อกิลคริสต์กลับมารายงานความล้มเหลวนี้ ปู่จุดก็รายงานชี้แจงไปว่า คณะช้างเผือก 2 และคณะกุมารจีน 3 คณะที่เข้าไปในไทยโดยไม่ได้ติดต่อล่วงหน้ากับขบวนการในประเทศ ล้วนปฏิบัติงานไม่สำเร็จ ในขณะที่คณะบริลหลิกซึ่งขบวนการในประเทศรับรู้มาแต่ต้นกำลังปฏิบัติได้ผลดียิ่ง ในที่สุดทางแคนดี้ก็จำนนด้วยเหตุผลที่เป็นจริง จึงสั่งให้ดำเนินการตามที่ปู่จุดเสนอ หลังจากต้องเสียเวลาไปนานถึง 2 เดือน

หลวงอดุลเดชจรัส

ในต้นเดือนพฤศจิกายน ปู่จุดส่งวิทยุถึงป๋วยว่า จะส่งพวกช้างเผือกไปลงที่ภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าชุกชุมแต่ฝ่ายไทยตอบกลับมาว่า หลวงอดุลฯขอเสนอให้ลงที่บริเวณป่าในอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานีแทน เพราะจะปลอดภัยกว่า และไม่ถูกชาวบ้านสงสัย ซึ่งคณะที่กระโดดเข้ามานั้นใช้รหัสว่า ‘คัพลิ่ง’(COUPLING) ประกอบด้วยเสนาะ (หัวหน้าคณะ) ประโพธ (ส่งวิทยุ) และเทพ (ผู้ช่วย) โดยเดินทางออกจากอินเดียตอนหัวค่ำของคืนวันที่ 5 ธันวาคม รุ่งขึ้นป๋วยส่งข่าวมาว่าทุกคนปลอดภัย และให้เตรียมตัวส่งเข้ามาอีกในเดือนหงายตอนต้นปีพ.ศ.2488 ต่อไป

เหตุการณ์ต่อมาคือ เมื่อคณะบริลหลิกได้เข้าพบนายปรีดีและหลวงอดุลฯ แล้วหัวหน้าขบวนการทั้งสองก็ตกลงใจจัดส่งตำรวจสันติบาลชุดแรกออกไปฝึกอบรมในศรีลังกา ตำรวจคณะนั้นมีทั้งหมด 8 คน มีร้อยตำรวจเอก รัตน์ วัฒนะมหาตม์ เป็นหัวหน้าคณะทางกองกำลัง 136 ให้ชื่อรหัสตำรวจคณะนั้นว่า ‘ช้างดำ’ (เรียกย่อๆว่า BLACKS) ซึ่งมีจุดประสงค์รับไปฝึกเป็นพนักงานวิทยุ เพื่อช่วยปฏิบัติงานแทนพวกเราในระหว่างที่ทุกคนเข้ามาปฏิบัติงานในเมืองไทย โดยผมได้รับคำสั่งให้ขึ้นเครื่องบินคาทาลีนา (CATALINA) มารับคณะนี้ที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล ในคืนหนึ่งของปลายเดือนธันวาคม โดยสวัสดิ์เป็นผู้พานายตำตรวจทั้ง 8 คนลงเรือศุลกากร ออกจากฝั่งมาขึ้นเครื่องบินที่จอดรออยู่กลางท้องทะเล แล้วนำทั้งหมดไปที่เมืองโฮรานา (HORANA) ประเทศศรีลังกาแทนในอินเดีย ซึ่งบริเวณนั้นเป็นดงมะพร้าว และอยู่ในที่ลี้ลับพอควร ผมอยู่ที่นั่นคืนหนึ่ง จากนั้นก็กลับมายังกัลกัตตา

(คณะที่มาฝึกเป็นพนักงานวิทยุนี้ ภายหลังได้กลายเป็นกำลังสำคัญของเมืองไทยในด้านเครือข่ายการสื่อสาร และร้อยตำรวจเอก รัตน์ วัฒนะมหาตม์ ได้เป็นหัวหน้าข่ายสื่อสารคนสำคัญของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ กินตำแหน่งพลจัตวา (พันตำรวจเอกพิเศษ))

เมื่อคณะคัพลิ่งเข้าเมืองไทยมาแล้ว เป็นอันว่ายังเหลือคณะช้างเผือกอยู่ในอินเดียอีก 10 คน คือ จีริดนัย ภีศเดช บุญส่ง ปัทม์ อรุณ วัฒนา กำแหง ประพฤทธิ์ ทศ และผม ซึ่งแผนการของปู่จุดในช่วงปลายปีพ.ศ.2487 คือ จะแยกพวกเราทั้งสิบคนออกเป็น 5 คณะ เพื่อเร่งส่งเข้าเมืองไทยให้หมดภายในต้นปีพ.ศ.2488 เขาจึงคาดคั้นเคี่ยวเข็ญให้ทุกคนฝึกหัดส่งวิทยุให้มีมาตรฐาน แต่พวกเราที่ฝึกส่งวิทยุไม่ผ่านมี 3 คน คือ อรุณ บุญส่ง และทศ

พลจัตวาวิคเตอร์ เจคส์

ในระหว่างเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ พวกเราได้ไปเดลีเพื่อเยี่ยมเยียนพบปะเพื่อนฝูงเสรีไทยฝ่ายบุ๋นที่ทำงานอยู่ที่นั่น ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่จะได้เห็นหน้ากันเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ เพราะพวกเราที่ฝ่ายบู๊ทุกคนจะต้องเข้าเมืองไทยภายในพ.ศ.2488

เพื่อนๆที่เดลีอาลัยพวกเรามาก เป็นห่วงว่าพวกเราที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในประเทศคงจะไม่รอดชีวิต เมื่อถึงเวลาที่ทหารไทยและขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทยลุกฮือขึ้นปฏิบัติการร่วมกับกองทัพสัมพันธมิตร เพราะได้ยินมาว่าพวกญี่ปุ่นเป็นทหารกล้าตาย สู้จนถึงที่สุดโดยไม่ยอมแพ้

แล้วในช่วงปลายปีนั้นเอง ทุกคนก็ได้รับข่าวดีของสงครามในยุโรปคือ กองทัพอังกฤษ สหรัฐอเมริกาและรัสเซียกลับเป็นฝ่ายรุกกลับ คาดว่าเยอรมันและอิตาลีจะต้องพ่ายแพ้ในไม่ช้า ทางเอเชียเองแสนยานุภาพของญี่ปุ่นก็อ่อนกำลังลงมาก และตกเป็นฝ่ายรับ ในพม่ากองทัพอังกฤษเริ่มได้เปรียบในการรบบริเวณคาบสมุทรอาราข่าน ใกล้พรมแดนอินเดีย และเตรียมส่งทหารมาเสริมกำลังรบในตะวันออกไกล

แล้วสงครามโลกในยุโรปก็ยุติลงเมื่อมุสโสลินี-ผู้นำอิตาลีถูกจับและประหารชีวิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2488 ฮิตเลอร์กระทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2488 และเยอรมันประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2488

สันติภาพโลกกำลังจะหวนคืนสู่โลกในไม่ช้านี้แล้ว

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up