หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก…ยุทธการเพื่อสันติภาพ (ตอนที่26)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก กับการฝึกกระโดดจากเครื่องบิน ยุทธการนี้เพื่อสันติภาพ

หม่อมเจ้าการวิก กับขั้นตอนการฝึกต่อมาร่วมกับคณะเพื่อนทหารเสรีไทยคือ การฝึกการกระโดดร่มจากเครื่องบิน เนื่องจากการเดินทางเข้าเมืองไทยของดร.ป๋วยและคณะด้วยเรือดำน้ำนั้นถือว่าล้มเหลว และเสียเวลา 

เมื่อผลการปฏิบัติงานพริตชาร์ด (PRITCHARD) ของกองกำลัง 136 ที่ส่งป๋วย สำราญ และประทาน เดินทางโดยเรือดำน้ำด้วยมุ่งหวังจะเข้าประเทศไทยต้องล้มเหวลง พันโท ปีเตอร์ พอยน์ตัน ผบ.กองกำลัง 136 แผนกประเทศไทย จึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะส่งคณะช้างเผือกเข้าเมืองไทยทางทะเลอีก เพราะเห็นว่าเป็นการเสียเวลามาก คือต้องพยายามติดต่อกับขบวนการในประเทศผ่านทางจีน และรอฟังข่าวคราวแสดงการรับรู้ทางวิทยุกระจายเสียงอีก

พันโท พอยน์ตันเองก็ไม่ค่อยวางใจฝ่ายจีน เพราะทราบข่าวจากท่านชิ้นว่า คุณจำกัดไม่ได้รับความสะดวกจากจีน ต่อมาทางจีนก็ส่งมรณบัตรแจ้งว่าคุณจำกัดเสียชีวิตแล้ว ส่วนคุณสงวน ตุลารักษ์ และคุณแดง คุณะดิลก ได้เดินทางจากจีนไปวอชิงตัน ดังนั้นการติดต่อของอังกฤษกับฝ่ายจีนจึงไม่อาจทำได้ง่ายนัก อีกประการหนึ่ง คณะเสรีไทยสายอเมริการุ่นแรกก็เข้าไปอยู่ที่จุงกิงแล้ว จึงคิดว่าควรปล่อยให้การปฏิบัติงานด้านประเทศจีนเป็นภาระของฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากกว่าอังกฤษ

ในต้นปีพ.ศ.2487 อังกฤษส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดลิเบอเรเตอร์ หรือ B-24 ขนาด 4 เครื่องยนต์หลายลำมาอินเดีย ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่มาก คนไทยเรียกว่าป้อมบินยักษ์ มีระยะบินปฏิบัติงานไกลพอที่จะบินไป-กลับระหว่างอินเดียกับไทยได้ พันโท พอยน์ตัน (พวกเราเรียกว่า ‘ปู่จุด’) จึงวางแผนใหม่ โดยจะใช้ B-24 เป็นพาหนะนำคณะช้างเผือกเข้าเมืองไทยด้วยการกระโดดร่ม ดังนั้น คณะช้างเผือกของเราจึงต้องเดินทางไปฝึกการกระโดดร่มที่ราวัลปินดีในแคว้นปัญจาบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยคณะแรกที่ถูกวางตัว คือ ป๋วย ประทาน และเปรม ใช้ชื่อรหัสว่า แอพพริเอชั่น 1(APPREATION 1) คณะที่สองได้แก่ สำราญ ธนา และรจิต ใช้รหัสว่า แอพพริเอชั่น 2(APPREATION 2) พวกที่เหลือรวมทั้งผมได้มาฝึกในเวลาต่อมา

หลังจากที่พวกเราได้รับคำสั่งให้แยกไปฝึกหลักสูตรการรบประเภทต่างๆ แล้วได้รับคำสั่งให้เดินทางมาสมทบกันเพื่อเตรียมตัวฝึกกระโดดร่ม และลุงไบรซ์ก็ได้มาฝึกกับเราด้วย

สวัสดิ์ ศรีสุข

เมื่อพวกเรารวมตัวกันครบ ทางโรงเรียนสอนการกระโดดร่ม (AIRLANDING SCHOOL) ได้ส่งนายสิบคนหนึ่งมารับพวกเราไปพักอยู่ใกล้หมู่บ้านชัคลาลา (CHAKLALA) ในเขตเมืองราวัลปินดี โรงเรียนนี้สังกัดกองทัพอากาศ (ROYAL AIR FORCE) แต่ตัวพันตรี ธอร์นตัน (THORNTON) ผอ.การฝึกและนายสิบผู้ฝึกสอนเป็นทหารหน่วยพลร่ม ที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ห่างไกลจากชุมชน เป็นสถานที่โล่งโปร่งสบาย พวกเราฝึกกายบริหารแบบปกติของกองทัพ (ไม่ต้องฝึกแบบฤาษีแล้ว) หัดกระโดดจากที่สูงแล้วม้วนตัวกลิ้ง นายสิบพาวิ่งและเดินไกลๆอย่างเร็วๆอยู่สี่วัน เมื่อเห็นว่าพวกเราพละกำลังอยู่ตัว ล้มตัวกลิ้งได้คล่องแคล่ว เขาก็บอกว่าจะให้กระโดดร่มในวันที่ห้า เขาว่าพวกเราสมบูรณ์และตัวอ่อนดี ฝึกกระโดด 5 ครั้งคงคล่อง โดยกระโดด 4 ครั้งตอนกลางวัน และกระโดดตอนกลางคืนอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนวันซ้อมกระโดดจากเครื่องบิน เขาพาไปดูโรงพับร่มชูชีพ เพื่อสร้างความสบายใจว่า ร่มทุกคันได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน พนักงานในโรงพับเป็นทหารหญิงทั้งหมด เพราะผู้หญิงทำงานประเภทนี้ประณีตกว่าผู้ชาย เขาเอาร่มมาคลี่ตรวจตะเข็บและรอยเย็บสายโยงกับผืนร่มให้พวกเราอุ่นใจว่า ร่มทุกคันอยู่ในสภาพเรียบร้อย หลังจากนั้นก็พาดูทุกขั้นตอนของการพับและห่อร่ม โดยใช้เชือกขนาดเล็กรัดไว้หลายเปลาะ จนกระทั่งร่มถูกพับเป็นถุงสี่เหลี่ยม ซึ่งผู้กระโดดจะเอาสะพายหลัง มีเชือกเส้นหนึ่งเย็บติดไว้กับขอบร่มไม่แน่นนัก ปลายอีกข้างหนึ่งของเชือกมีห่วงเหล็กสำหรับคล้องกับราวเหล็กบนเครื่องบิน เมื่อผู้กระโดดออกจากเครื่องบินแล้ว เชือกเส้นนี้จะกระตุกถุงร่มแรงพอที่จะทำให้เชือกเส้นที่รัดถุงรัดขาด จากนั้นเชือกทุกเส้นที่รัดร่มไว้ก็จะขาดออกตามลำดับ ร่มจึงคลี่ออกตามขั้นตอน โดยไม่มีทางที่สายโยงจะพันกันเอง หรือพันร่มจนกางไม่ได้ นอกจากนักกระโดดคนนั้นถึงคราวจริงๆ

ตามที่เขาสาธิตให้ดูและอธิบายให้ฟัง ก็น่าเชื่อว่าร่มทุกคันจะกางลงสู่พื้นดินอย่างปลอดภัย แต่พวกเราเคยได้ยินข่าวพลร่มชะตาขาดที่กระโดดลงไปแล้วร่มไม่กาง โอกาสเช่นนี้อาจมีความเป็นไปได้น้อย ทว่าพวกเราก็อดรู้สึกหวาดหวั่นเสียมิได้

ในตอนเช้าของวันซ้อมกระโดดจากเครื่องบินครั้งแรก พวกเราต้องฝึกภาคพื้นดินตามปกติ จนถึงเที่ยง ทุกคนออกจะไม่รื่นเริงเหมือนปกติ หลังอาหารกลางวันเขาพาพวกเราไปสนามบิน ปกติเครื่องบินที่ใช้ฝึกซ้อมมีเครื่องบินฮัดสันและลิเบอเรเตอร์ (B-24) เครื่องบินฮัดสัน (หรือดาโกตา) นั้น พลร่มจะกระโดดออกทางประตู แต่เครื่องลิเบอเรเตอร์ที่พวกเราใช้ฝึกนี้จะใช้การหย่อนตัวออกจากช่องที่พื้นเครื่องบิน ตามปกติมีฝาปิดช่องว่างนั้นไว้ ตามด้านข้างของลำตัวเครื่องบินมีรางสำหรับให้พลร่มขึ้นไปนั่งเรียงกันเพื่อเตรียมตัวพุ่งออกไปข้างนอก รางนั้นมีระดับเอียงไปทางช่องว่างที่พื้น ปลายข้างต่ำของรางอยู่ที่ปากช่อง คนที่กระโดดต้องนั่งเหยียดขาตรงตามแนวราง มือสองข้างจับราวริมรางไว้

ก่อนขึ้นเครื่อง พันตรี ธอร์นตัน ทบทวนขั้นตอนให้ฟัง และกำชับว่า ต้องทำตัวตรง อย่างอขา เอาแขนแนบตัว ขาชิดกัน ถ้าเรากางแขนขาจะโดนลมปะทะมากทำให้ร่มแกว่งไกว อาจหมุนควงแบบสว่าน ถ้ากระทบถึงพื้นดินในขณะที่ขาถ่างอาจมีอันตรายจากการที่เท้าถึงพื้นไม่พร้อมกัน ข้อเท้าอาจหัก แล้วขณะที่ร่มกางมันจะฉุดกระชากลำตัว ต้องจับสายร่มทั้งสองมือคอยดึง ในช่วงที่มันกำลังแกว่งตัวเราไปข้างหลัง การดึงสายร่มไว้เป็นการขืนการแกว่งไปด้านหลัง ทั้งนี้เพื่อให้การแกว่งของร่มลดเหลือน้อยที่สุด ก่อนที่ตัวจะตกถึงพื้นดิน และในขณะที่เท้ากำลังจะแตะพื้นต้องย่อขา เพื่อลดความกระเทือน พอเท้าถึงพื้นก็ให้ม้วนตัวกลิ้งทันที เพื่อให้มีการกระแทกน้อยที่สุด

พันตรี ธอร์นตันเขามีอารมณ์ขัน บอกพวกเราว่า อย่าตำหนิตัวเองว่าเป็นคนขี้ขลาด ความหวาดกลัวในการกระโดดร่มเป็นเรื่องปกติ ตัวเขาเองเคยกระโดดมาร่วมสามสี่ร้อยครั้งแล้วยังกลัว ทุกครั้งนอกจากบางครั้งที่ถือว่าไม่เมามากเกินไปก็ทะเลาะกับภรรยาแล้วอยากฆ่าตัวตาย คนไหนบอกว่าไม่กลัวอย่าไปเชื่อ เพราะคนไม่ใช่นก ต้องกลัว!

พอเครื่องบินขึ้นวนรอบบริเวณที่จะให้กระโดดแล้วผ่านพื้นที่ป่าช้าที่อยู่ใกล้ๆกับโรงเรียนเห็นแผ่นหินขาวๆ ซึ่งเป็นแผ่นจารึกหน้าหลุมศพเขาบอกว่า

IN THE END, WE ALL LAND IN THE CEMETERY.” หมายความว่า ในที่สุดพวกเราก็ต้องมาที่ป่าช้า แต่เมื่อเห็นว่าพวกเราไม่ขันด้วย ก็บอกต่อไปว่า

“อย่าลืมนะ พวกเราเป็นพลร่มชาย ต้องชิดขาชิดเท้าไว้ พลร่มหญิงน่ะไม่เป็นไร เพราะเธอมีไขมันมาก มีความยืดหยุ่น รับแรงกระแทกดีกว่าผู้ชาย” แล้วเขาก็เตรียมตัวกระโดดลงไปเป็นคนแรกให้ดูเป็นตัวอย่าง

การเตรียมตัวกระโดดร่มของพวกเรานั้นใส่ชุดรัดกุมอย่างเต็มที่มีสิ่งป้องกันการกระแทก กันน็อค แต่ตัวพันตรี ธอร์นตัน เขาแต่งทหารชุดเครื่องใหญ่ กระดุมทองเหลืองมันวาว เอาหมวกหนีบพับยัดใส่ใต้อินทรธนู รองเท้าที่สวมไม่ใช่บู๊ตแต่เป็นรองเท้าหนังสีน้ำตาลขัดมัน ไม่ช้าเขาก็ร่อนลงสู่พื้นดินในท่าที่สง่าโดยไม่ต้องม้วนตัวกลิ้ง เพราะเขากะเวลาที่เท้าจะถึงพื้นได้ดี และย่อขาถูกจังหวะ ไม่กระแทกพื้นแรง เขาดึงหมวกออกมาปัดรองเท้าปัดแขนแล้วสวมศีรษะ คอยดูและชี้ขึ้นไปยังพวกเราที่กระโดดลงมาทีละคนๆ

จุ๊นเคง (พัฒพงศ์) รินทกุล

ตำแหน่งของผมอยู่เป็นคนแรกๆของกลุ่ม นายสิบพี่เลี้ยงให้คำเตือนสามจังหวะ ACTION STATION! พอสิ้นเสียง GO, ONE, TWO, THREE… มือสองข้างของผมที่จับขอบรางอยู่จนชื้นแฉะก็เอามาปิดหน้าป้องกันใบหน้าชนกับขอบ (กันหน้ากระแทกแตก) ปล่อยตัวเลื่อนไถลปราด พอหลุดออกจากเครื่องเหยียดตัวตรงแล้ว ผมร้องเฮ้ย! ร่มก็เปิดพึ่บ กลิ้งตัวเมื่อถึงพื้น ไม่ทันได้ตื่นเต้นหรือกลัวแต่วินาทีที่หลุดออกจากเครื่องและร่มเริ่มเปิด เสียงหวีดหวิวของลมที่พัดผ่านสร้างความรู้สึกที่สงบสุขราวกับขึ้นสวรรค์

ช่วงเวลาที่กระโดดจากอากาศถึงพื้น ต้องใช้เวลารวดเร็วมาก เพราะเครื่องบินจะบินอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 600 ฟุต ซึ่งถือเป็นระยะที่สูงที่สุดสำหรับการปล่อยตัว ไม่ใช่อยู่สูงเกินไปจนกระโดดลงมาแล้วแกว่งต่องแต่งให้ข้าศึกมีเวลาส่องปืนยิงเล่น หรืออยู่ระยะใกล้จนกระทั่งลงมาถึงพสุธาแล้วร่มไม่ทันกางอย่างนี้ไม่รอดแน่

พันตรี ธอร์นตันชมพวกเราว่ากระโดดได้ดี เหยียดตัวเป็นแท่งลงมาได้สวย และแสดงความยินดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แล้วถามว่า

ARE YOU SCARED?” (ปอดแหกมั้ย) ก่อนจะสำทับว่า

“คอยดูเถอะ พรุ่งนี้จะเสียวสยองยิ่งกว่าวันนี้” ซึ่งก็เป็นความจริง คืนนั้นทุกคนรู้สึกเครียดและกลัวที่จะต้องกระโดดในวันพรุ่งนี้ เพราะเป็นธรรมชาติของคนที่รู้แล้วว่า หากกระโดดลงมาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ครั้งแรกที่กลัวนั้นเพราะยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้เขาจึงให้กระโดดร่มตอนบ่าย เพื่อว่ากระโดดลงมาแล้วไม่ต้องทำอะไร ได้นอนพักผ่อนหรือทำอะไรที่ผ่อนคลายอารมณ์เต็มที่

พวกเราฝึกกระโดดร่มตอนบ่ายอีก 3 ครั้ง มีครั้งหนึ่งกำแหงลงผิดจังหวะ ตัวกระแทกพื้น และช็อคลุกขึ้นมาพูดปากคอสั่น นายสิบพี่เลี้ยงบำบัดด้วยการเอากำปั้นทุบหลังดังพลั่ก! ก็หายปลิดทิ้ง

ครั้งที่ห้ากระโดดตอนกลางคืนราวๆสามทุ่ม มีเรื่องตื่นเต้นนิดหน่อยคือ อรุณกระโดดไปลงใกล้หมู่บ้าน พวกแขกเห็นเข้านึกว่าเป็นญี่ปุ่น ประเดี๋ยวหนุ่มแขกหลายคนเอามีดพร้าและขวานจะมาสับ แต่รถจี๊ปทหารแล่นเข้ามารับได้ทันท่วงที…

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up