หล่อ สมาร์ท กาญจนบุรี! แทนรัก ศุภทรัพย์ นักบินฝนหลวง กับภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าเม็ดเงิน

“ผมเป็น นักบินฝนหลวง ครับ”

คำแนะนำตัวบอกชัดถึงความภาคภูมิใจของ นักบินฝนหลวง แห่งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี หนุ่มน้อยผู้มีแววตามุ่งมั่นวัย 27 ปี แทน – แทนรัก ศุภทรัพย์ ลูกชายคนโตของ ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ นักแสดงรุ่นใหญ่  

เพราะได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวมาตลอดว่า ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ทำให้แทนตัดสินใจบินไปเรียนการบินหลักสูตร Private Pilot License ที่ Australian National Airline College ต่อด้วยหลักสูตร Commercial Pilot License ที่ Tailwheels Etc. Flight School สหรัฐอเมริกา จังหวะที่เรียนจบกลับมาเมืองไทย ช่วงที่รอเปลี่ยน License เป็นของไทย กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเปิดรับนักบินพอดี ซึ่งเป็นลักษณะการบินแบบ Hand Fly (การบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ เป็นการบินแบบใช้เครื่องวัด และ Auto Pilot คือมองแต่หน้าจอเป็นหลัก) อย่างที่หนุ่มแทนอยากทำ จึงตัดสินใจไปสมัคร

“เวลานั้นเพื่อนๆ ไปสมัครสายการบินพาณิชย์กันหมด ซึ่งถ้าเราใช้ค่าตอบแทนเป็นมาตรวัด สายการบินพาณิชย์ย่อมดีกว่า แต่ถ้าเลือกบินแบบ Hand Fly และเลือกความสุขในระยะยาว ผมว่านักบินฝนหลวงชนะ แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจได้ง่ายขึ้น มาจากคำพูดของคุณพ่อที่ว่า การเป็นนักบินฝนหลวง ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้ทำงานในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”

แทนรัก ศุภทรัพย์ นักบินฝนหลวง

แทนตัดสินใจสมัครที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเพียงแห่งเดียว ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ นั่นคือเพื่อทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในฐานะเป็นนักบินฝนหลวง

“ตอนนี้ผมประจำการที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี มีความสุขมากทุกครั้งที่ขึ้นบิน แม้จะมีคนบอกว่านักบินฝนหลวงต้องไปตามล่าเมฆ ซึ่งเป็นภารกิจที่เครียดและอันตราย เพราะต้องบินเข้าไปหากลุ่มเมฆที่กำลังเพิ่มความหนาแน่นมากขึ้น ที่เรียกว่าเมฆพายุ เพื่อทำภารกิจให้สำเร็จก็ตาม”

แทนเล่าว่า ภารกิจฝนหลวงประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ที่มีชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขั้นตอนแรกชื่อว่า “ก่อกวน”  โดยเช็คจากสภาพบรรยากาศที่ท้องฟ้าโล่ง ไม่มีเมฆ แต่มีความชื้น นักบินจะต้องบินขึ้นไปโปรยสารฝนหลวง เพื่อสร้างแกนขึ้นมาแล้วให้ความชื้นมาเกาะ จนค่อยๆ ก่อตัวเป็นก้อนเมฆ ขั้นตอนที่สอง เรียกว่า “เลี้ยงให้อ้วน” ด้วยการใช้สารฝนหลวงสูตรร้อนคือการทำให้เมฆฝนใหญ่ขึ้น และขั้นตอนสุดท้ายคือ “โจมตี” โดยการใช้สารฝนหลวงสูตรเย็น เพื่อลดอุณหภูมิใต้ฐานเมฆและนำพาเม็ดฝนให้ตกลงสู่พื้นดิน

หลักๆ ในการทำฝนหลวงแต่ละครั้งจึงต้องใช้เครื่องบินในการบรรทุกสารฝนหลวงสูตรเย็นและสูตรร้อน โดยเครื่องบินหนึ่งลำจะมีผู้ปฏิบัติการทั้งหมด 6 คน ประกอบด้วย นักบิน นักบินผู้ช่วย นักวิทยาศาสตร์เพื่อขึ้นไปดูสภาพของเมฆ ช่างเครื่อง และเจ้าหน้าที่โปรยสารฝนหลวงสองคน ซึ่งการขึ้นบินแต่ละครั้งมีแนวโน้มที่จะสามารถทำให้ฝนตกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ บางครั้งแนวโน้มไม่ดี แต่ฝนตกปริมาณมาก บางทีแนวโน้มดีมาก ฝนกลับตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกระแสลม การโปรยสาร ถ้าโปรยเร็วไปก็จะทำให้เมฆสลายตัวได้

คงมีหลายคนที่เข้าใจไปว่า ช่วงหน้าฝนนักบินฝนหลวงคงงดปฏิบัติภารกิจ นักบินหนุ่มบอกทันทีว่าผิดถนัด

แทนรัก ศุภทรัพย์ นักบินฝนหลวง

“ฤดูฝนมีความชื้นสูงเหมาะแก่การทำฝนหลวง งานของเราจึงเพิ่มขึ้น เพราะเวลาฝนตกจะตกไม่ทั่วถึง บางครั้งตกหลังเขื่อน เราก็ต้องพยายามควบคุมให้ฝนตกในเขื่อน เพื่อจะได้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโกคในช่วงหน้าแล้ง หรือเวลามีไฟป่า ทำให้เกิดหมอกควัน เราก็ต้องบินขึ้นไปทำฝนหลวงเพื่อช่วยสลายหมอกควัน”

เพราะฉะนั้นในหนึ่งปีจึงมีช่วงทำฝนหลวงประมาณ 10 เดือน ตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์หรือต้นมีนาคม จนถึงตุลาคม-พฤศจิกายน ฤดูหนาวไม่เหมาะกับการทำฝนหลวง เพราะความชื้นต่ำ ไม่คุ้มกับเงินที่จะเสียไป เพราะการทำฝนหลวงแต่ละขั้นตอนต้องใช้งบประมาณกว่า 70,000 บาท ซึ่งมาจากภาษีประชาชน นั่นทำให้การขึ้นบินแต่ละครั้งต้องทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

แทนยังเล่าถึงวันแห่งความภาคภูมิใจที่สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

“วันแรกที่ผมมีภารกิจทำฝนหลวงที่จังหวัดนครสวรรค์ ปรากฏว่าอาสาฝนหลวงได้โทรศัพท์มารายงานว่า… ฝนตกแล้วนะ ผมดีใจมาก จากที่เคยคิดว่าคนที่สามารถทำให้ฝนตกถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ แต่วันนี้ทีมที่ผมเป็นหนึ่งในนั้นสามารถทำได้

แทนรัก ศุภทรัพย์ นักบินฝนหลวง

“พ่อเคยบอกว่า คนทุกคนทำเพื่อความสุขของตัวเอง แต่ถ้าการทำนั้นสามารถส่งผลดีกับผู้อื่น ถือว่าโชคดีมาก ที่สิ่งที่ผมชอบสามารถช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเกษตรกร และชาวบ้านที่เดือดร้อนได้

“ที่สำคัญเมื่อผมมาทำงานตรงนี้ ยิ่งได้เห็นในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทำมาทั้งหมด ถ้าย้อนกลับไปตอนที่พระองค์ทรงคิดค้นการทำฝนหลวง ทรงใช้ความเพียรอย่างมาก ทรงต้องแบกความทุกข์ความเดือดร้อนของประชาชนที่พระองค์ต้องดูแล โดยไม่ทรงย่อท้อและยังทรงสู้จนสำเร็จ ทุกครั้งที่ผมบินขึ้นไปปฏิบัติงาน รู้สึกว่าเราเป็นเฟืองตัวหนึ่งที่อยู่ในโครงการของพระองค์ท่าน เราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

“วันนี้ผมทราบแล้วว่า การที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระวรกาย และพระสติปัญญากว่าสิบปีในการทรงทำให้เกิดฝนหลวงขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่เป็นหน้าที่หรือมีใครบอกให้ทำ พระองค์ทรงทำด้วยหัวใจที่เราสัมผัสได้ ยิ่งรู้สึกว่าฝนหลวงคือความรักที่พระองค์พระราชทานให้ประชาชน

“ภารกิจฝนหลวงจึงยิ่งใหญ่กว่าเม็ดเงินไหนๆ ในโลกนี้ และผมภูมิใจมากที่ได้เป็น นักบินฝนหลวง ครับ”

ที่มาเรื่อง : คอลัมน์ ‘คิดถึงพ่อ’ นิตยสารแพรว ฉบับที่ 908

เรื่อง : กิดานันท์ /ภาพ : วรสันต์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up