หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก รอนแรมถึงแอฟริกาใต้ (ตอนที่19)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก รอนแรมถึงแอฟริกาใต้ (ตอนที่19)

หม่อมเจ้าการวิก การเดินทางออกจากอังกฤษ เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับของคณะทหารเสรีไทยสายอังกฤษนั้น จุดหมายปลายทางแห่งแรกคือ แอฟริกาใต้ ซึ่งประสบการณ์ในดินแดนแห่งนั้น ต้องประสบกับสภาพสังคมที่มีการเหยียดผิวอย่างชัดเจน

เช้าวันที่สี่ พวกเราลืมตาตื่นขึ้นพลันได้กลิ่นเหม็นบูดเน่า ต่างหันไปทางหลวงภัทรฯที่นอนซุกอยู่ในมุมมืดๆ เพราะกลัวว่าจะเป็นอะไรไปเสียแล้ว พอผมเรียกเขาก็ขยับตัวพลิกกลับมาได้ค่อยโล่งอก ผมเลยเดินไปดูที่ห้องเก็บอาหารถึงรู้ว่าผักในนั้นเน่า จึงรีบขึ้นไปรายงานผู้บัญชาการ และขอให้ย้ายพวกเราขึ้นไปนอนที่ดาดฟ้าชั้นบนใกล้ปล่องเรือ ซึ่งขณะนั้นอากาศคลายความหนาวลงบ้าง โชคดีที่เมื่อทุกคนได้รับประทานแซนด์วิชกับดื่มน้ำชาร้อนที่คุณธนาให้แล้วก็รู้สึกดีขึ้นบ้าง ผมเดินไปซื้อลูกพีชกระป๋องมาให้หลวงภัทรฯ หลวงอาจฯ และคนอื่นๆ ที่อาการออกจะหนักรับประทาน เผื่อจะช่วยให้ดีขึ้นอีก หลวงภัทรฯกลืนเข้าไปได้สักสามสี่คำก็ยกมือไหว้ผมพร้อมกับครางเสียงอ่อยว่า

“ฝ่าบาททรงช่วยชีวิตกระหม่อม กระหม่อมจะไม่ลืมพระคุณเลย”

หลังจากที่เรือฝ่าพายุร้ายมาร่วม 5 วัน 5 คืน สภาพคลื่นลมในทะเลจึงดีขึ้น ทุกคนก็บรรเทาจากการเมาคลื่น และอากาศไม่หนาวท้องฟ้าแจ่มใส เพราะว่าขณะนั้นเรือกำลังแล่นเข้าเขตทวีปแอฟริกาเหนือ ทุกคนจึงเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นแบบทหารเมืองร้อน ซึ่งผมต้องขออธิบายเส้นทางการเดินเรือของพวกเราในครั้งนั้นสักนิด คือ ในช่วงสงครามตอนนั้น เยอรมัน (แม่ทัพ ROMMEL) มีชัยชนะในบริเวณแอฟริกาเหนือและน่านน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมีแผนที่จะยึดครองดินแดนบริเวณรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และคลองสุเอชที่ตัดผ่านเข้าทะเลแดง ย่านคาบสมุทรอาระเบียเพื่อจะออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ไปรวมกำลังกับกองทัพญี่ปุ่นที่กำลังแผ่อำนาจมาทางพม่าและอินเดีย

ฉะนั้นเรือลำเลียงของอังกฤษ จึงไม่สามารถที่จะอ้อมผ่านสเปนเพื่อตัดผ่านมาทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ เพราะเสี่ยงกับการถูกจมโดยตอร์ปิโด จึงต้องแล่นเรือมาทางด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกาแทน

หม่อมเจ้าการวิก ทรงชุดนาบทหาร ฉายเต็มองค์

เกือบหนึ่งเดือนนับตั้งแต่พวกเราออกเดินทางจากอังกฤษ จนกระทั่งมาถึงเมืองเคปทาวน์ (CAPE TOWN) เมืองท่าใหญ่ของประเทศแอฟริกาใต้ทางตะวันตกเฉียงใต้ หรือฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก วกเข้ามหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นจุดหมายแรกในการขึ้นบกเพื่อเตรียมตัวเดินทางต่อไป ประเทศนี้ผมได้ยินข่าวมานานแล้วในเรื่องการแบ่งผิวเหยียดผิวที่รุนแรง ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้เป็นคนผิวดำ ส่วนคนผิวขาวมีเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมดซึ่งเป็นเชื้อสายอังกฤษและดัตช์ แต่เป็นชนชั้นปกครองและอภิสิทธิ์ชน เมืองหลวงของประเทศ คือ พริทอเรีย (PRETORIA) ส่วนแคปทาวน์เป็นนครออกกฎหมาย แอฟริกาใต้มีความอุดมสมบูรณ์มากทั้งด้านการเกษตร แร่ธาตุ และอุตสาหกรรม แต่ด้วยประเทศประชาธิปไตยทางยุโรปหลายประเทศมีผลประโยชน์ในการค้ากับประเทศนี้ จึงทำให้ไม่มีนโยบายที่จะต่อต้านความคิดที่เหยียดหยามมนุษย์ในดินแดนนี้อย่างจริงจังเลย จนกระทั่งในช่วงหลัง จึงได้มีประธานาธิบดีเมลสัน เมนดูลา (เพิ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีพ.ศ.2556) เป็นคนผิวดำคนแรกนโยบายการเหยียดผิวจึงดูจะผ่อนคลายลงไปมาก และกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของโลก

ภาพสเก็ตช์หม่อมเจ้าการวิก ในช่วงสงคราม

ก่อนที่จะเรือจะเข้าเทียบท่าที่เคปทาวน์ นายทหารคนหนึ่งมาบอกพวกเราถึงเรื่องการเหยียดผิวของคนในประเทศนี้ เพราะคนผิวขาวที่นี่จะกีดกันคนผิวสีอื่นไม่เลือกหน้า แม้ว่าพวกเราจะเป็นทหารในกองทัพอังกฤษก็ตาม ซึ่งผมฟังแล้วคิดว่าอาจจะไม่รุนแรงตามที่เขาบอกก็ได้

เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว ผู้บัญชาการบนเรือได้ติดต่อกับผู้บัญชาการทหารอังกฤษในเมืองทราบว่ามีหน่วยทหารไทยซึ่งจะต้องเข้าค่ายผ่านชั่วคราว (TRANSIT CAMP) จนกว่าจะมีขบวนเรือไปตะวันออกไกล เขาจึงจัดให้คุณหญิงคุณนายที่เป็นภรรยาของนายทหารและพลเรือนชาวอังกฤษมารับพวกเราไปชมเมืองและดื่มน้ำชาที่บ้าน ซึ่งเป็นการต้อนรับอย่างให้เกียรติอย่างหรู

ที่ท่าเรือมีสตรีร่างอ้วนผิวขาวคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักร้องดังของแอฟริกาใต้มาเล่นหีบเพลงและร้องเพลงต้อนรับ จากนั้นบรรดาสุภาพสตรีที่คอยต้อนรับอยู่อย่างมีไมตรีก็พาพวกเราแยกกันไปขึ้นรถยนต์คันละสามหรือสี่คน ไปชมเมืองซึ่งใหญ่และทันสมัยและไปบ้านดื่มน้ำชา แต่สิ่งที่ผมสังเกตพบอย่างหนึ่ง คือ เมื่อขึ้นจากเรือเข้ามาอยู่ในค่ายทหารแล้ว คนที่ผมดกจะรู้สึกว่ามีทรายเต็มศีรษะ และเคี้ยวทรายกร้วมๆได้ในปาก เพราะว่ามีลมพัดมาจากทะเลทรายนั่นเอง

พอดื่มน้ำชาเสร็จ ออกจากบ้านคุณหญิงคุณนายมา ผมก็ไปซื้อผลไม้ เดินย้อนกลับไปขอบคุณที่พวกเธอให้ความกรุณาต้อนรับอย่างดีแล้วเดินเข้าเมืองมาเที่ยว พอรู้สึกกระหายน้ำก็เดินเข้าไปที่หน่วย วาย.เอ็ม.ซี.เอ เพื่อสั่งน้ำชาดื่ม เขาก็บอกให้เดินไปอีกที่แห่งหนึ่ง

“ผมชอบสถานที่นี้ เพราะดูน่ารัก”

            “ขอบคุณที่ชม แต่เราให้เข้าไม่ได้ เดินเลยไปอีกนิดจะพบสถานที่อย่างเดียวกับที่นี่”

ผมก็นึก เอ๊ะ! เอาจริงหรือนี่ แม้ผมจะแต่งชุดทหารอังกฤษ แต่หน้าผมดำ เขาถึงไม่ยอมให้เข้า ผมไม่อยากต่อล้อต่อเถียง เมื่อไม่ให้เข้าก็ไม่เอา จึงเปลี่ยนความตั้งใจจะเข้าไปดูหนังแทนก็เจอปัญหาเดียวกัน เขาไม่ยอมตีตั๋วให้

“ทำไมเล่า ผมอยากดูหนังเรื่องนี้นี่”

            “คุณเดินไปอีกฟากถนนหนึ่ง จะมีหนังเรื่องเดียวกันฉายอยู่”

เมื่อเขายืนกรานไม่ให้เข้า ผมเลยหมดอารมณ์ที่จะดู จึงเดินกลับมาที่เรือ กลับมาถึงท่านนายพลที่คุมเรือบอกว่า พวกเขาทำอย่างนี้ไม่ได้ พวกเรามาแล้ว ต้องยกย่องให้เกียรติในฐานะที่สวมเครื่องแบบทหารแห่งพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ พวกผมบอกไม่เอาแล้วไม่อยากไป พอเพื่อนๆที่เป็นทหารอังกฤษเห็นก็ถามว่า

“ทำไมอยู่ในเรือ ไม่ลงไปเที่ยว”

            “ขี้เกียจลงไป ไปที่ไหนเขาก็ไม่ให้เข้า” พวกเราตอบและเล่าเรื่องให้เขาฟัง

“โรงหนังอะไร พาไปหน่อย เดี๋ยวจะไปพังและพาพวกคุณเข้าไปดู” เขาถามด้วยความรู้สึกโกรธแทน

“ไม่เป็นไรหรอก เราไม่ต้องการความรุนแรง ช่างมันเถอะ”

นี่คือเรื่องที่ผมพบมาด้วยตัวเอง แต่สำหรับเพื่อนคนอื่นๆเจอนั้นก็หนักเบากันไปตามสถานการณ์

เรือศรีพยัคฆ์ที่นำคณะเสรีไทยออกเดินทางจากอังกฤษ

จากนั้นพวกเราก็เดินทางไปยังค่ายผ่านที่ตำบลรีทรีต (RETREAT) ซึ่งเป็นค่ายที่ทหารมาพักรอเรือชั่วคราว ระหว่างที่อยู่ค่ายนี้ก็ได้ฝึกเดินแถว เดินทางไกลตามเส้นทางต่างๆแก้เบื่อ ครูฝึกก็ใจดี ความเป็นอยู่ก็สะดวกสบายพอสมควร

วันหนึ่งมีนายทหารยศร้อยเอกของหน่วยทหารรักษาพระองค์อันลือชื่อ ชื่อเอ็ดวาร์ดส์ (EDWARDS) พวกเราตั้งฉายาให้เขาว่า ‘นายเฟิ้ม’ เพราะไว้หนวดเฟิ้มเป็นสง่ามาก เขาเดินผ่านเต็นท์ที่พักของเราและเข้ามาทักทายทำความรู้จักกัน จึงรู้ว่าเขามาจากอินเดีย กำลังรอเรือกลับไปอังกฤษเพื่อเยี่ยมบิดาที่ป่วยหนัก เมื่อเขารู้ว่าพวกเรากำลังรอเรือจะไปอินเดีย เขาก็ขอมาเป็นครูฝึกพวกเรา และเล่าเรื่องสถานการณ์ในอินเดียให้ฟังว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ทำให้พวกเรารู้สึกโล่งใจว่า คงไม่ต้องรบเสี่ยงชีวิตในสมรภูมิแขก และคงมีโอกาสที่จะได้เข้าเมืองไทยเพื่อรับใช้ชาติได้โดยตรงตามความประสงค์ที่มีมาแต่แรก

พวกเราอยู่ที่ค่ายนี้นานประมาณ 3 สัปดาห์จึงลงเรือ ‘เดวอนเชียร์’ (DEVONSHIRE) ซึ่งเป็นเรือโดยสารของอังกฤษ ออกจากท่าเรือเคปทาวน์แล่นอ้อมแหลมกู๊ดโฮป (CAPE OF GOOD HOPE) อันลือเลื่องของชาวเรือ (เพราะเรือสมัยโบราณอับปางลงแถวนี้บ่อยๆด้วยมักเจอพายุรุนแรง) เข้าสู่ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ถึงท่าเมืองเดอร์บัน (DURBAN) และไปเข้าค่ายผ่านที่ตำบลแคลร์วู้ด (CLAIRWOOD) อีกราวสัปดาห์หนึ่งโดยไม่ต้องฝึกอะไร จากนั้นก็เตรียมตัวไปลงเรือ ‘สตาร์ธแอรด์’ (STRATHAIRD)

เพื่อเดินทางสู่ประเทศอินเดีย อันเป็นจุดหมายปลายทางของพวกเราต่อไป

Praew Recommend

keyboard_arrow_up