ขาวตี๋ ดีกรีผู้บริหารรุ่นใหม่ รู้จัก โจ-เกรียงไกร ผู้กุมบังเหียนธุรกิจผ้าทอ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

จากชายหนุ่มผู้มีใจรักด้านศิลปะ ดนตรี ทำให้มุ่งมั่นที่จะเลือกเรียนด้านนิเทศศาสตร์ แต่ชีวิตกลับผกผัน เมื่อ โจล่ง หรือ โจ -เกรียงไกร เกียรติเสวีกุล หันกลับมามองธุรกิจอุตสาหกรรมทอผ้าของครอบครัวที่เขาเติบโตมาและอยู่กับมันมาโดยตลอด ความคิดที่ไม่อยากเห็นแม่เหนื่อยแล้ว และอยากทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อดูแลครอบครัว จึงทำให้เขายอมสละความฝัน ผันมามุ่งเรียนด้านแฟชั่นดีไซน์และการส่งออก จนทำให้ในวันนี้พลิกธุรกิจของครอบครัวให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

โจ – เกรียงไกร หรือ โจล่ง – เกรียงไกร เกียรติเสวีกุล ในตอนนี้เขาอายุ 30 ปี เมื่อย้อนไปในช่วงวัย 22 – 25 ปี เขาได้พลิกธุรกิจอุตสาหกรรมทอผ้าของครอบครัวให้กลับขึ้นมาประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจอีกครั้ง และยังมุ่งมั่นกุมอาณาจักรผ้าทอที่อยู่ในมือให้ดียิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบัน และถ้าหากใครชื่นชอบในสายดนตรี เชื่อว่าคงคุ้นหน้ากับหนุ่มขาวตี๋คนนี้กันอยู่บ้าง เพราะถึงแม้จะดูแลธุรกิจผ้าทอที่มีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาททั้งหมด แต่ในมุมความฝันทางสายศิลปะ ดนตรี เขาก็ไม่ลืมทำเป็นงานอดิเรกควบคู่กันไปด้วย จึงจะได้เห็นนักบริหารรุ่นใหม่คนนี้เป็น DJ หรือ MC ตามงานคอนเสิร์ตต่างๆ

เพื่อให้รู้จักนักบริหารรุ่นใหม่ไฟแรงคนนี้กันมากขึ้น มาฟังเรื่องราวจากปากเขากันดีกว่า จุดเริ่มต้น จุดผกผัน ชีวิต ความฝัน ความคิดที่ดูโตเกินวัย รวมถึงการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ของผู้ชายคนนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง เพราะถ้ามองในมุมแวดวงธุรกิจ เขาได้ขึ้นแท่นเป็น “นักธุรกิจอายุน้อยร้อยล้าน” ไปแล้วเรียบร้อย

หนุ่มโจ หรือ โจล่ง เกรียงไกร เกียรติเสวีกุล เริ่มร้อยเรียงเรื่องราวชีวิตก่อนเข้าสู่แวดวงธุรกิจให้ฟังว่า

“จริงๆ แล้วผมเป็นคนรักดนตรี ศิลปะ งานบันเทิง แต่ด้วยความที่บ้านผมเป็นโรงงานทอผ้า และแม่ต้องการคนช่วย และเห็นแม่ลำบากมานานตั้งแต่ผมยังเด็ก ผมไม่อยากเห็นแม่เหนื่อย จึงตั้งใจแน่วแน่ ยินดีทิ้งความฝันในสิ่งที่ตัวเองรัก ทั้งด้านดนตรีที่เคยทำเพลงไว้ก็หยุดและทิ้งหมด เพราะตอนแรกตั้งใจไว้ว่าถ้าจบมัธยมจะเรียนต่อด้านนิเทศศาสตร์ ก็ตัดสินใจเลือกเรียนคณะแฟชั่นดีไซน์และศึกษาเรื่องการส่งออก เพื่อนำสิ่งที่เรียนมาช่วยธุรกิจของที่บ้าน ความจริงแล้วก็ได้คลุกคลี เรียนรู้ คอยสังเกตการทำงานของแม่มาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นแล้ว จำได้ว่าตอนอายุ 17 ปี ผมลงไปเริ่มเรียนรู้เรื่องเส้นด้าย ผ้ามีกี่ชนิด การส่งผ้าเข้าโรงย้อมมีขั้นตอนอย่างไร ทอผ้าอย่างไรจึงจะมีคุณภาพ พอเริ่มเรียนมหาวิทยาลัย เวลาปิดเทอมก็จะเข้าไปช่วยทำงานเต็มตัว เพราะนึกอยู่ตลอดว่าไม่ว่าช้าหรือเร็ว เราก็คือคนที่จะต้องสานต่อธุรกิจ ตอนนี้ยังมีแรง มีไฟ ก็ควรรีบเรียนรู้และออกสตาร์ทเลย”

เป็นเรื่องปกติที่หลายครอบครัวนักธุรกิจย่อมมีการวางรากฐานและปลูกฝังลูกๆ ให้เดินตามรอย เพื่อสานต่อธุรกิจที่ลงแรงสร้างไว้ แต่ครอบครัว “เกียรติเสวีกุล” ไม่เป็นเช่นนั้น ยินดีให้อิสระลูกๆ ไม่เคยบังคับหรือโน้มน้าว

“ตั้งแต่ผมเกิดมา ลืมตาตื่นมาทุกเช้าก็เห็นโรงงานทอผ้า เห็นเส้นด้าย พอโตขึ้น ครอบครัวก็ไม่เคยปลูกฝัง กะเกณฑ์ หรือสั่งให้ผมต้องทำในสิ่งที่ครอบครัวทำ แต่เป็นด้วยตัวผมเองที่เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้ เพราะในใจลึกๆ อยากรีบเรียนจบเร็วๆ แล้วมาช่วยครอบครัว ซึ่งเมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย ผมก็มาช่วยครอบครัวดูแลธุรกิจทันที”

เมื่อต้องมารับผิดชอบธุรกิจอุตสาหกรรมผ้าทอของครอบครัว ใช่ว่าเขาจะทำเล่นๆ เพราะโจทุ่มเททั้งชีวิต ตั้งเป้าหมายเพื่อให้ครอบครัวประสบความสำเร็จ แม้ระหว่างทางต้องสัมผัสรสชาติของชีวิตหลากหลายที่ค่อยๆ สอนให้เขาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 

ปัจจุบันผมรับผิดชอบบริหารธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ทั้งการคัดสรรวัตถุดิบ พวกเส้นด้าย ตรวจสอบราคาตลาด ควบคุมคุณภาพ และลงแรงออกหาลูกค้าเอง ซึ่งทำแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานแล้ว ตอนแรกๆ ผมชอบให้คนขับรถไปส่งผมใกล้ๆ ที่หมาย เพื่อต่อรถเมล์แล้วลงเดินไปพบลูกค้า เพราะบางคนเขามีเวลาไม่มาก การไปรถส่วนตัวอาจเสียเวลามากกว่า เราจึงต้องใช้เวลาทุกนาทีให้มีค่ามากที่สุด” 

เหตุการณ์ประทับใจและยังคงจดจำ ที่สามารถมัดใจลูกค้ามาได้โดยตลอด ตั้งแต่เดินตลาดยังไม่มีใครรู้จัก

สไตล์การทำงานผมจะเอาความจริงใจและความเป็นตัวเองเข้าสู้ครับ ทุกๆ วันผมจะพยายามวิ่งเข้าหาลูกค้าทุกเจ้าเท่าที่จะทำได้ จากที่ลูกค้าไม่มั่นใจ ไม่กล้าสั่ง จนเริ่มสั่ง กลายเป็นบอกกันแบบปากต่อปาก เพราะความที่เราจริงใจ เอาใจใส่ในทุกรายละเอียด ตั้งใจบริการเขาอย่างเต็มที่ ประกอบกับเรานำเสนอแต่สิ่งที่ดีที่สุด ทั้งด้วยคุณภาพของผ้าและราคาสมเหตุสมผล ทำให้ลูกค้าทุกคนประทับใจและจดจำ จนเขาเรียกผมว่า ตี๋ขายผ้า โจตี๋ โจตี๋ผ้ายืด หรือโจล่ง ที่คนทั่วไปเรียกกัน ต่อมาก็เริ่มมีการขยายฐานลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนธุรกิจของเราสามารถขยายโรงงานใหม่เพิ่ ซื้อเครื่องเพิ่ม เพื่อรองรับลูกค้าและตอบสนองให้ได้อย่างพอเพียง

จากวันแรกจนถึงวันนี้ ถือว่าความทุ่มเทที่โจลงแรงเกินความคาดหมายของเขาไปเลย

“ลูกค้าติดใจในเนื้อผ้าและคุณภาพการผลิตของโรงงานเราครับ ผมเลือกที่จะไม่ขายตัดราคาใคร แต่เลือกที่จะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในคุณภาพ เพราะถ้าตัดราคากันเอง สุดท้ายตลาดจะตาย คนที่เสียหายคือโรงงาน”

แม้เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ แต่โจมีความคิดที่กล้าลุย กล้าเหนื่อย ไม่ยอมแค่นั่งอยู่ในห้องแอร์ แต่ต้องลุยไปในตลาด อัพเดตเทรนด์ตลอดว่าช่วงไหนเทรนด์สีไหนกำลังเป็นที่นิยม ดูแลลูกค้าว่าต้องการอะไร ที่สำคัญต้องใส่ใจในเนื้องาน โดยเฉพาะเรื่องผ้าเป็นสิ่งสำคัญ 

“มุมมองของผม ผ้าก็เหมือนอาหาร ถ้าเราปรุงอร่อย ใช้วัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ พอเขากินอิ่ม เดี๋ยวเขาก็ต้องกลับมากินอีก สิ่งสำคัญที่สุดที่ถือเป็นเคล็ดลับความสำเร็จในธุรกิจของเราคือการเข้าถึงลูกค้า ลงไปดูแลลูกค้า และสิ่งที่เป็นจุดแข็งของเราคือผ้ายืด ที่ทอออกมาแล้วมีการทดสอบสีและเปอร์เซ็นต์การยืดหยุ่นของผ้าที่ได้มาตรฐานสากล และเนื้อผ้ามีการสปริงตัวดี”

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตการทำงาน 

“ผมต้องการให้ลูกค้าเมื่อนึกถึงผ้ายืดที่มีคุณภาพในเมืองไทย ต้องคิดถึง R C Knitwear ที่ผมทุ่มเทปลุกปั้นขึ้นมาและความรักในธุรกิจของผมครับ”

เป็นธรรมดาที่การบริหารงานต้องเจอปัญหาเรื่องคน พนักงาน 

“พอเขาทอผ้าเป็นแล้วก็ลาออก แต่กว่าที่เราจะฝึกเขาจนเชี่ยวชาญ สามารถดูแลเครื่องทอผ้าได้ ต้องใช้เวลาและลำบากมาก” 

โจยอมรับว่าในการดำเนินธุรกิจ หากเราต้องการที่จะเติบโตไปข้างหน้า เป็นเรื่องปกติที่จะต้องพบอุปสรรค ปัญหา จำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเตือน สร้างแรงจูงใจ และให้กำลังใจตัวเองเสมอ เมื่อเผชิญหน้ากับอุปสรรค

สำหรับผม แรงจูงใจอันประเสริฐอย่างเดียวเลยคือการคิดถึงแม่ คิดถึงวันที่แม่ร้องไห้เพราะไม่มีคนช่วยแม่ แค่นี้ผมก็ไม่กลัวอะไรแล้ว พร้อมเสียสละเพื่อครอบครัว เพื่อให้แม่และครอบครัวเรามีความสุข อุปสรรคหรือปัญหาถึงจะใหญ่แค่ไหน ผมเชื่อว่าต้องข้ามผ่านมันไปได้ ทุกปัญหาจะต้องมีทางออก ผมพร้อมที่จะสู้กับมัน และจะไม่ยอมแพ้ เหมือนคำหนึ่งที่ผมชอบมากและบอกตัวเองเสมอว่า เราจะไม่แพ้ ถ้าเราไม่ยอมแพ้

แม้วัย 30 ปีที่อาจดูเป็นหนุ่มน้อยในแวดวงนักธุรกิจ แต่เขากลับมีความนิ่ง สุขุม ดูเป็นผู้ใหญ่เกินวัย นั่นเพราะได้รับการฝึกฝนให้มีความรับผิดชอบอยู่ตลอด รวมถึงประสบการณ์ทุกข์สุข หรือแม้กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต แต่สิ่งใดที่ทำให้เขาผ่านอุปสรรคมาได้ 

“ผมเชื่อว่าชีวิตคนเราทุกคนจริงๆ ไม่มีคำว่าล้มเหลวหรอกครับ มีแต่ล้มเลิก หากเราสู้และรักษาแพชชั่นหรือความปรารถนาเอาไว้ มันจะเป็นแรงผลักทำให้เราก้าวไปข้างหน้า ไม่หยุดนิ่ง ไม่ถอยหลังหรือล้ม ผมเชื่อจริงๆ ว่าถ้าเราตั้งใจทำวันนี้ให้ดีที่สุด เราจะมีวันพรุ่งนี้ และวันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จแน่นอน”

ไม่ใช่แค่ดูแลเรื่องธุรกิจตลอดเวลา แต่งานอดิเรกก็ต้องแบ่งเวลาให้ด้วย

“ผมอยากมีเวลามากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้เวลาพักผ่อนค่อนข้างน้อย ไหนจะต้องบริหารธุรกิจที่บ้าน ต้องออกไปพบลูกค้า และยังมีงานอดิเรกที่ชอบ ทำให้ผมมีเวลาพูดคุยกับคนในครอบครัวค่อนข้างน้อย แต่บทบาทในการดูแลธุรกิจ ผมจะเข้มงวดกับตัวเองมากๆ ไม่เคยทิ้งหน้าที่หลักที่ต้องทำ และตั้งใจจะสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้เติบโตยิ่งๆ ขึ้น

เลือกวิธีจัดการความเครียดที่จะมาบั่นทอนสุขภาพกายและใจอย่างไร

“เวลาเครียดผมชอบออกกำลังกาย เข้าฟิตเนส ต่อยมวย หรือไม่ก็นั่งวาดรูปเพื่อให้จิตใจนิ่งสงบลง หรือเลือกพูดคุยกับคนที่คิดบวก เพราะการทำแบบนี้เราจะได้รับพลังบวกกลับมาครับ”

ในมุมชีวิตส่วนตัว โจพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดสรรเวลาใน 1 สัปดาห์สำหรับ “สิ่งที่ต้องทำ” กับ “สิ่งที่อยากทำ” 

“สิ่งที่อยากทำและขาดไม่ได้เลยสำหรับผมคือการออกกำลังกายเล่นกล้าม ความที่เรามีหน้าที่รับผิดชอบมาก การดูแลสุขภาพจึงสำคัญ แม้งานจะยุ่งแค่ไหน ผมจะต้องจัดเวลาออกกำลังกายทุกวัน ควบคู่ไปกับการคุมอาหาร ไม่ใช่กินอะไรก็ได้ แต่จะเลือกกินแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ดีต่อสุขภาพเท่านั้น และพยายามจัดสรรเวลากินข้าวด้วยกันอย่างพร้อมหน้าในครอบครัว และหาเวลาไปวาดรูปกับครูศิลปะที่ผมเคารพนับถือ เพราะการวาดรูปให้ผมมากกว่าการวาดรูป”

เมื่อถอดหมวกจากมุมนักธุรกิจ หมวกอีกใบที่เขามีคือ มุมสายอาร์ต สายศิลปิน โดยโจเป็นลูกศิษย์ของ รูโต – หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ และครูปาน – สมนึก คลังนอก ศิลปินนักวาดภาพประกอบชื่อดัง

“ศิลปะช่วยผมได้มากในการดำรงชีวิต เราจะต้องมีศิลปะชีวิต สิ่งที่ครูโตสอนศิลปะผม ผมได้รับประโยชน์มากกว่าที่คิด เพราะศิลปะช่วยผมทางด้านจิตใจ ช่วยกล่อมเกลา ทำให้ผมมีความสุขุมและมีพลังคิดบวกตลอดเวลา ทำให้นิ่งและมีสมาธิ ทำให้ผมวาดรูปเก่งขึ้น และที่สำคัญทำให้ผมใช้ชีวิตอย่างมีสติ”

มองตัวเองเป็นคนแบบไหน 

“ผมเป็นคนลุยๆ ใจนักเลง กล้าได้กล้าเสีย เอาจริงเอาจัง แมนๆ และจริงใจครับ”

ไลฟ์สไตล์ในวันพักจากเรื่องงาน 

“สิ่งสำคัญผมจะพักผ่อนให้เพียงพอก่อนไปทำกิจกรรมต่างๆ เสมอ เพราะความพร้อมของร่างกายต้องมาก่อนครับ”

ความฝันสูงสุดสำหรับชีวิตนักธุรกิจจากวันนี้ไปถึงวันข้างหน้า

“สำหรับความใฝ่ฝันสูงสุดที่อยากก้าวไปให้ถึง และภาพจำเมื่อใครๆ นึกถึงผมคือ อยากให้ธุรกิจเติบโต ยิ่งใหญ่ อยากให้คนจำภาพผมในฐานะทายาทนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จโดยใช้เวลาเพียง ปี ตั้งแต่อายุ 22 – 25 ปี ในการพลิกธุรกิจของที่บ้านให้เติบโตและประสบผลสำเร็จด้วยความเสียสละที่มีต่อครอบครัว และผมหวังว่าวันข้างหน้าผมจะเป็นเถ้าแก่น้อยที่คนจดจำ หรือนักธุรกิจอายุน้อยร้อยล้านที่คนทั่วไปนึกถึงเป็นคนแรก และสร้างแรงบันดาลใจให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ครับ” 

 


เรียงเรียงโดย: Gingyawee_แพรวดอทคอม
ภาพ: IG @joe_long_9

Praew Recommend

keyboard_arrow_up