หม่อมเจ้าการวิก

ใต้ร่มฉัตร เปิดเรื่องราวชีวประวัติ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ชีวิตช่วงต้นสงครามโลกในยุโรป (ตอนที่13)

หม่อมเจ้าการวิก
หม่อมเจ้าการวิก

หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ชีวิตช่วงต้นสงครามโลกในยุโรป 

ในที่สุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้นในภาคพื้นทวีปยุโรป ผลกระทบก็ได้เกิดขึ้นกับในหลวงรัชกาลที่ 7 และผู้ติดตาม ซึ่งก็ทรงเตรียมการรับมหาภัยครั้งนี้อย่างเต็มพระกำลัง

พระตำหนักคอมพ์ตันเฮ้าส์

ระหว่างที่พระตำหนักคอมพ์ตันเฮ้าส์ กำลังซ่อมแซม พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯไปเมืองรัวย่าต์ (ROYAT) ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประทับรักษาพระองค์โดยการสรงน้ำแร่ จากนั้นจึงเสด็จฯประเทศอียิปต์เป็นลำดับต่อมา

ผู้ตามเสด็จประกอบด้วยสมเด็จพระบรมราชินี หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯและหม่อมเสมอ หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณีและผม โดยผมทำหน้าที่จัดการเรื่องตั๋วและจองที่ประทับถวาย โดยเสด็จฯมาลงเรือที่เมืองเนเปิล ประเทศอิตาลี และขึ้นฝั่งที่เมืองอเล็กซานเดรีย แล้วไปประทับโรงแรมเมน่าเฮ้าส์ (MENA HOUSE) ซึ่งเป็นเรือนไม้โบราณอยู่ใกล้ๆกับพีระมิดในกรุงไคโร ผมได้ตามเสด็จไปชมพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษามัมมี่และสิ่งของมีค่าต่างๆที่ขุดพบ พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วรับสั่งอธิบายได้หมดว่าสิ่งของแต่ละชิ้นมีที่มาอย่างไร ทั้งนี้เคยเสด็จฯอียิปต์มาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนเสด็จฯกลับเมืองไทยหลังจากทรงจบการศึกษาจากอังกฤษ และทรงพระอักษรไว้มากมาย ทั้งยังรับสั่งว่า

ในหลวงรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพฯ ทรงกล้อง

“มาดูแค่นี้ไม่พอ ต้องล่องแม่น้ำไนล์ด้วย เพื่อให้ได้บรรยากาศที่แท้จริง” (เพื่อให้เหมือนกับบรรยากาศในการอ่านนวนิยายของอกาธา คริสตี้)

ในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จฯเยือนต่างประเทศ

ช่วงที่เสด็จฯนั้นเป็นเวลาที่ทางการอียิปต์กำลังก่อสร้างเขื่อนอัสวานอยู่ พระองค์ท่านเสด็จฯลงประทับเรือไอที่มีใบพัดสองข้าง ล่องขึ้นล่องลงรวมเวลาราว 1 เดือน โดยระหว่างทางเสด็จฯได้ทรงแวะทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ มีที่แห่งหนึ่งทรงพบกับสิบตำรวจเอกคนหนึ่งไว้หนวดเฟิ้มคล้ายพระเจ้าไกเซอร์แห่งเยอรมนี ทีแรกผมนึกว่าเป็นนายพลเสียอีก แต่งตัวโก้มาก เขากราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯไปเสวยที่บ้านของเขาซึ่งใหญ่โตมาก เขาจัดอาหารพื้นเมืองมาถวาย มีอยู่รายการหนึ่งเป็นนกพิราบยัดไส้ ตัดหัว เท้าและถอดกระดูกออก เขาสาธิตการรับประทานด้วยการฉีกขาออกข้างหนึ่งจิ้มในน้ำจิ้มรสเผ็ดที่มีใบไม้ ดูคล้ายแกงขี้เหล็กรสชาติอร่อย ตอนหลังกลับมาบอกให้นายบวย นิลวงศ์ ทดลองปรุงถวาย เขาเก่ง ทำได้รสชาติใกล้เคียงมาก

อีกครั้งหนึ่งที่จำได้แม่นยำ คือ พระเจ้าอยู่หัวทรงได้พบกับขุนนางอียิปต์ผู้หนึ่ง ชื่ออาห์บุด ปาชา (AHBUD PASHA) เป็นมหาเศรษฐี มีเรือยนต์เร็วและไร่อ้อยใหญ่โต เขามีภรรยาเป็นชาวอังกฤษ ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯไปเสวย และเขาคือคนที่แนะนำให้ทรงรู้จักกับ ฯพณฯ อาลี มาเฮอร์ (ALI MAHER) นายกรัฐมนตรีอียิปต์ขณะนั้น ซึ่งผมจำความตอนหนึ่งที่เขากราบบังคมทูลถามว่า ในฐานะที่เมืองไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เขาอยากรู้ว่าควรทำอย่างไร เพราะอียิปต์ตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะแยกมาเป็นประเทศอิสระหรือจะยอมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติตะวันตกดังเดิม พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบว่า

“การไม่เป็นเมืองขึ้นใครนั้นจะมีศักดิ์ศรีกว่า แต่สิ่งที่จะต้องเสียสละคือ ต้องเปลืองเงินทองในการเลี้ยงรักษาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย ถ้าเผื่อยอมเป็นเมืองขึ้น ประเทศที่เป็นพี่เลี้ยงก็จะเป็นผู้ออกเงินให้ ตัวก็ทำหน้าที่ทำมาหากินของตนไป โดยไม่ต้องมีทหารป้องกันรั้วบ้านของตัวเอง”

เขาก็กราบบังคมทูลว่า รับสั่งสั้นและเข้าใจง่าย ตกลงท่านนายกฯจะไปดำเนินการอย่างไรไม่อาจทราบได้ จากนั้นไม่นานก็ได้รับข่าวว่าท่านถูกลอบสังหาร และนายพลนัสเซอร์ขึ้นมาเป็นผู้นำ และสถาปนาอียิปต์เป็นประเทศอิสระดังเช่นทุกวันนี้

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงกล้อง ทรงฉายพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

นอกจากนี้ ผมได้ตามเสด็จไปชมวิหารโบราณสถานหลายแห่ง โดยที่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสอธิบายให้ได้รับรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ตำนานประวัติความเป็นมาที่ทรงเล่านั้น หากจะเล่าในที่นี้ก็คงยืดยาวทีเดียว แต่ในระหว่างที่ยังเสด็จฯอียิปต์อยู่นั้น ก็มีข่าวลือว่าพระองค์ท่านทรงไปตั้งกองบัญชาการที่พม่าเตรียมเข้าเมืองไทย เพื่อทรงรับพระราชอำนาจคืน โดยจะมีคนทำการถวาย เรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ด้วยพระองค์ไม่ทรงทราบในเรื่องนี้เลย มีแต่ทางรัฐบาลสมัยนั้นที่ยังคงพยายามสร้างข่าวใส่ร้ายป้ายสีทำให้ต้องทรงเสียพระราชหฤทัยอยู่เสมอ และเหตุการณ์ที่ทรงเสียพระราชหฤทัยมากคือ เด็จอากรมหมื่นอนุวัตรฯที่ทรงถูกอัญเชิญขึ้นเป็นองค์ประธานผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน หลังจากที่เพิ่งทรงสละราชสมบัติใหม่ๆ ทรงถูกกดดันจากปัญหาต่างๆ จึงตัดสินพระทัยปลงพระชนม์องค์เองด้วยพระแสงปืน ตั้งแต่พ.ศ.2479

พระเจ้าอยู่หัวและผู้ตามเสด็จ ทรงใช้เวลาประพาสอียิปต์นานถึงเดือนเศษจึงเสด็จฯกลับถึงกรุงลอนดอน ไม่กี่วันต่อมาสถานการณ์สงครามที่ทรงดาดหมายไว้ก็เป็นเรื่องจริง เมื่ออังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมันในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2482 ตามสนธิสัญญาที่อังกฤษกับฝรั่งเศสได้ทำไว้กับประเทศโปแลนด์ โดยมีเงื่อนไขว่าหากมีประเทศใดมารุกล้ำดินแดนของโปแลนด์ ทั้งสองประเทศจะเข้าช่วยเหลือและประกาศสงครามด้วยทันที

ในช่วงต้นของสงคราม เยอรมันทำศึกในแผนที่เรียกว่า ‘สงครามสายฟ้าแลบ’ บุกเข้ายึดครองประเทศต่างๆในยุโรปด้วยกองทัพรถถังและการบินอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฮอลันดา เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก และสุดท้ายคือ ฝรั่งเศส ที่ยอมจำนน เพื่อมิให้เยอรมันบินมาทิ้งระเบิดในกรุงปารีสอย่างย่อยยับดังเช่นการรุกรานในประเทศอื่นๆ แต่ในช่วงปีแรกของการเริ่มสงคราม เยอรมันยังไม่บุกเข้าอังกฤษ แต่รัฐบาลซึ่งเปลี่ยนมาอยู่ภายใต้การนำของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล(SIR WINSTON SHERCHILL) นั้นได้เตรียมพร้อมที่จะรับมือสภาวะสงครามนี้ด้วยการจำหน่ายหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ พร้อมกับคูปองปันส่วนอาหาร และน้ำมัน ตอนกลางคืนก็ต้องอำพรางไฟไม่ให้แสงสว่างเล็ดลอดออกมาจนมืดมิดไปทั้งเมือง

เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล

เวลานั้นพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ และครอบครัวย้ายมาประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตันเฮ้าส์ด้วย เพื่อสร้างความอบอุ่นพระราชหฤทัยและใกล้ชิดกับพระองค์ท่านในยามสงคราม อีกทั้งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด และตอนหลังผมได้ย้ายมาอยู่ตำหนักบริดจ์เฮ้าส์ (BRIDGE HOUSE) ของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ และครอบครัว ซึ่งอยู่ห่างจากพระตำหนักราว 8 นาทีทางรถยนต์ เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดเกินไปในที่ประทับ

สถานการณ์ของสงครามเมื่อตอนที่ฝรั่งเศสยอมจำนนต่อเยอรมันเท่ากับว่าเหลือเพียงอังกฤษประเทศเดียวในยุโรปที่ยังยืนหยัดต่อสู้ต่อไป ขณะที่สหรัฐอเมริกายังยึดถือนโยบายความเป็นกลาง แต่ก็ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการสงครามให้แก่อังกฤษ ท่าทีของสงครามดูจะตึงเครียดมากขึ้น พระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งว่า จะต้องหนีลูกระเบิดเสียก่อน จึงทรงแปรพระราชฐานไปเช่าตำหนักใหม่ในเขตเดวอน (DEVON) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกลึกเข้าไป และหม่อมเจ้ากอกษัตริย์ สวัสดิวัตน์ พระอนุชาองค์หนึ่งในสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งทรงศึกษาอยู่ในเบลเยี่ยมได้เสด็จมาประทับด้วย

ในหลวงรัชกาลที่ 7และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

แต่นับวันสงครามดูจะทวีความโหดร้ายน่ากลัว พระเจ้าอยู่หัวทรงกังวลพระราชหฤทัยและห่วงใยครอบครัวของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ที่เพิ่งทรงมีโอรส จึงตัดสินพระราชหฤทัยเช่าโรงแรมประทับให้อยู่ลึกเข้าไปอีกในเขตนอร์ธเวลส์ (NORTH WALES) ชื่อโรงแรมเลคเวอร์นี (LAKE VYRWNYL HOTEL) ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูงมีทะเลสาบสวยงาม โดยเสด็จฯไปประทับพร้อมกับสมเด็จพระบรมราชินี พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ หม่อมมณี และโอรส (ม.ร.ว.เดชนศักดิ์ ศักดิเดชน์ ภาณุพันธุ์) ส่วนองค์อื่นๆ รวมทั้งผมยังคงอยู่ที่เวอร์จิเนียวอเตอร์ (เดี๋ยวนี้คนจะรู้จักเวอร์จิเนียวอเตอร์ในชื่อของเวนท์เวิร์ธ (WENTWORTH) ซึ่งมีสโมสรทางกีฬาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของอังกฤษมากกว่า) และได้ไปเข้าเฝ้าฯอย่างสม่ำเสมอ

ในระหว่างที่พระเจ้าอยู่หัวประทับที่โรงแรมนี้ เป็นเวลาเดียวกับที่เยอรมันส่งกำลังทางอากาศเข้ามาทำลายอังกฤษด้วยการทิ้งระเบิดถล่มกรุงลอนดอน และเมืองอุตสาหกรรมในชนบทที่สำคัญอยู่หลายครั้ง จำได้ว่าครั้งแรกที่ได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น ทุกคนตกใจ หากพระองค์ท่านเพียงแต่ทรงเลิกพระขนง (คิ้ว) และไม่ได้รับสั่งอะไร แล้วสิ่งที่ผมรู้สึกชื่นชมยิ่งนักคือ

การที่ได้เห็นความสามัคคี ความมานะอดทนบากบั่นของชาวอังกฤษที่ร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้เยอรมันอย่างไม่เกรงกลัวและไม่ขวัญเสีย…

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up