เครื่องดนตรีส่วนพระองค์

เผยโฉมครั้งแรก 7 เครื่องดนตรีส่วนพระองค์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9

เครื่องดนตรีส่วนพระองค์
เครื่องดนตรีส่วนพระองค์

เป็นที่ทราบกันดีว่าพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นสูงส่งเพียงใด ทุกบทเพลงพระราชนิพนธ์ยังคงติดตราตรึงใจของประชาชนชาวไทยมิลืมเลือน

รวมถึง รศ. ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ หนึ่งในสมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งเคยมีโอกาสได้ถวายงานอย่างใกล้ชิดอยู่หลายครั้ง จนเกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งนี้ รศ. ดร.ภาธร จึงได้นำเรื่องราวที่เป็นความทรงจำทั้งหมดมาร่วมถ่ายทอดให้ประชาชนได้ทราบ พร้อมกับนำเครื่องดนตรีส่วนพระองค์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ตนและอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ผู้เป็นพ่อ  รวมถึงเครื่องดนตรีส่วนพระองค์บางชิ้นที่มีผู้ทำถวาย นำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก

musical-instrumental

ทั้งนี้เครื่องดนตรีส่วนพระองค์ที่นำมาจัดแสดงเหล่านี้อยู่ในนิทรรศการที่ชื่อว่า “คีตรัตนบรมราชานุสรณ์ ธ สถิตกลางใจราษฎร์นิรันดร์” โดยเครื่องดนตรีส่วนพระองค์ทั้งหมดมีประวัติที่น่าสนใจอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ที่ทรงเห็นความสำคัญในด้านดนตรี ที่นอกจากจะทำให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญทุกครั้งที่พอมีเวลาว่างหลังจากปฏิบัติพระราชกรณียกิจแล้ว ดนตรียังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยพัฒนาคนและสร้างความสามัคคีให้คนในชาติอีกด้วย

เครื่องดนตรีส่วนพระองค์
King Alto Saxophone “เป็นแซ็กโซโฟนที่ผลิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แซ็กโซโฟนเครื่องนี้มีความผูกพันกับครอบครัว อ.แมนรัตน์ เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้ อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เพื่อถวายการสอนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เมื่อครั้งพระองค์ท่านยังทรงเป็นนักเรียนในโรงเรียนจิตรลดา ในปี พ.ศ.2498 หลังจากที่ อ.แมนรัตน์ ไม่ได้เล่นแล้ว ก็เก็บเครื่องนี้ไว้เป็นอย่างดีที่บ้าน ซึ่งเป็นเครื่องแรกที่ ดร.ภาธร เล่นและเครื่องนี้เองก็ยังเป็นเครื่องที่ ดร.ภาธร นำไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานทุนให้ไปเรียนดนตรีตั้งแต่ยังเด็ก จึงเกิดความผูกพันกับเครื่องนี้มาก ปัจจุบันเครื่องนี้ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว เพราะ ดร.ภาธร อยากจะเก็บไว้ในสภาพที่ดี”
เครื่องดนตรีส่วนพระองค์
Jazzophone Trumpet “คุณสันติ พรประเสริฐ เจ้าของหจก.รีแพร์โมดิฟายด์แอนด์ซัพพลายส์บายบอยซ์ เป็นผู้ประดิษฐ์ Jazzophone ขึ้นพิเศษเพื่อทูลเกล้าถวายให้กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สามารถทรงทรัมเป็ตได้โดยไม่ต้องยกพระกรขึ้น เมื่อนำมาทูลเกล้าถวาย พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยในการปรับแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ในขณะที่พระองค์ทรงประทับอยู่ที่ รพ.ศิริราช”
เครื่องดนตรีส่วนพระองค์
Vibratosax limited edition #009 “คุณ ปิยพัชร์ ธัญญะกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัทไวเบรโต จำกัด ผู้ผลิตแซ็กโซโฟนขึ้นจากพลาสติก ประเภทโพลิคาร์บอเนตเป็นรายแรกของโลกได้ทูลเกล้าถวาย Vibratosax limited edition #009 ให้กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อใช้ทรงดนตรีในช่วงที่ทรงประทับอยู่ที่ รพ.ศิริราช เนื่องจากแซ็กโซโฟนประเภทนี้ จะมีน้ำหนักเบากว่าแซ็กโซโฟนทั่วไป”
เครื่องดนตรีส่วนพระองค์
Selmer Mark VI Alto Saxophone “เครื่องดนตรีส่วนพระองค์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานให้ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ ในปี พ.ศ.2532 เป็นเครื่องที่สองต่อจาก King Alto Saxophone เพื่อใช้ในการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา”
เครื่องดนตรีส่วนพระองค์
Piano Upright Steinway “เปียโนเครื่องนี้อยู่ในห้องส่งวิทยุ อ.ส.วันศุกร์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสมอ จนเมื่อครั้งที่ อ.แมนรัตน์ ครบรอบวันเกิดปีที่ 72 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงตอบว่า เปียโน หลังนี้ข้าพระพุทธเจ้าเล่นมา 50 ปี จึงเกิดความผูกพันเป็นอย่างมาก ต่อมาไม่นานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงรับสั่งให้ส่งเปียโนไปให้ช่างจูนซ่อม และพระราชทานให้ อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ถึงที่บ้าน”
เครื่องดนตรีส่วนพระองค์
Stainer Baritone saxophone “วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ร่วมกันสั่งผลิตพิเศษเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบาริโทนแซ็กโซโฟนแบบประทับนั่งได้ โดยบริษัท Stain ประเทศบราซิล ซึ่งมีตัวเดียวในโลก”
เครื่องดนตรีส่วนพระองค์
Yamaha Trumpet “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชทานให้ ดร.ภาธร ให้ในปี พ.ศ.2538 ก่อนหน้านั้นไม่นาน มีศิลปินอเมริกันที่ชื่อว่า Benny Carter มาเปิดการแสดงที่ประเทศไทยและได้มาเล่นถวาย ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่คนในโลกที่สามารถเล่นได้ทั้งแซ็กโซโฟน และทรัมเป็ตได้ เพราะวิธีการเล่นนั้นแตกต่างกัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้หนึ่งที่สามารถเล่นได้ทั้ง 2 เครื่อง และในช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ทรงทรัมเป็ตเหมือนกัน จนมีอยู่วันหนึ่งท่านก็เสด็จมาที่ห้องส่ง อ.ส.วันศุกร์ พร้อมกับทรัมเป็ตตัวนี้ และทรงพระราชทานให้ ดร.ภาธร แล้วรับสั่งว่า Benny Carter ซึ่งพระองค์ท่านหมายความว่าให้ ดร.ภาธร เล่นได้ทั้งแซ็กโซโฟน และทรัมเป็ต ปัจจุบัน ดร.ภาธร นำเอาไปแกะลวดลายอย่างสวยงามและเก็บไว้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้สำหรับผู้สนใจสามารถไปชมนิทรรศการ “คีตรัตนบรมราชานุสรณ์ ธ สถิตกลางใจราษฎร์นิรันดร์” ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 11 ธันวาคม 2559 ณ ควอเทียร์แกลเลอรี่ ชั้น M ดิ เอ็มควอเทียร์

Praew Recommend

keyboard_arrow_up