ในหลวง ร.9

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กษัตริย์นักการทูต เผยหน้าที่ของประมุขคือ ทำให้ต่างชาติรู้ว่าคนไทยมีมิตรจิตมิตรใจ

ในหลวง ร.9
ในหลวง ร.9

อีกสิ่งหนึ่งที่คนไทยหลายคนได้เห็นตลอดหลังในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตคือ การแสดงความอาลัยจากกษัตริย์หลายประเทศ รวมถึงผู้นำทั่วโลก นั่นแสดงให้เห็นว่านอกจากพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยจะทรงพระปรีชาสามารถโดดเด่นในการพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นที่กล่าวขานต่อพื้นที่สื่อนอกแล้ว การสร้างมิตรผูกสัมพันธไมตรีของพระองค์ ซึ่งเปรียบเสมือนนักการทูตประจำประเทศไทยนั้นก็ทรงโดดเด่นไม่แพ้กัน

หากพินิจให้ดีแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระปรีชาสามารถด้านสื่อสารผูกสัมพันธไมตรีอันดีกับต่างประเทศมาโดยตลอด และถ้าหากใครยังจำปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่หลายสื่อทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงคนไทยด้วยกันเองต่างให้ความสนใจและเฝ้าติดตามข่าวเป็นพิเศษด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจและปลื้มปีติ นั่นก็คือพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2549 โดยพระราชพิธีนี้ได้มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจำนวน 25 ประเทศ จากทั้งสิ้น 29 ประเทศทั่วโลกมาร่วมราชพิธี ซึ่งถือเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆมากที่สุดในโลกครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

ในหลวง ร.9
ภาพ :วิกิพีเดีย

และเหตุการณ์สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ก็ได้มีพระมหากษัตริย์หลายประเทศทั้งแสดงความอาลัยจากประเทศของพระองค์ ทั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนถึงไทย อย่างสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก แห่งภูฏาน ที่มาพร้อมสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก และเจ้าชายน้อย จิกมี นัมเกล วังชุกหรือแม้แต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ก็ทรงส่งสาส์นส่วนพระองค์แสดงความเสียพระราชหฤทัยถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถ รวมถึงผู้นำทั่วโลกต่างๆ เช่น นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ประเทศญี่ปุ่น ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ฯลฯ ก็ได้มีการแสดงความอาลัยต่อการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวไทย รวมถึงกล่าวถึงพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ที่นำพาความเจริญและความสุขสู่ชาวไทยอย่างแท้จริง

หลายคนอาจเกิดความคิดสงสัยว่าประเทศไทยเรานั้นเป็นประเทศเล็กๆหากเทียบกับประเทศอื่น แต่ทำไมประเทศไทย โดยเฉพาะกษัตริย์ไทยนั้นต่างเป็นที่รัก เป็นที่รู้จักต่อกษัตริย์และผู้นำประเทศอื่นๆ แพรวจึงขอนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้ยามเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนต่างประเทศมาให้ได้ทราบกัน

แล้วจะรู้ว่าพ่อหลวง หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ของชาวไทยนั้น ทรงมองการณ์ไกลและทรงใส่พระทัยทำเพื่อประชาชนชาวไทยและประเทศไทยมาโดยตลอด

ในหลวง ร.9
ภาพ: นิตยสารแพรว ปีที่ 33 ฉบับที่ 774 (25 พ.ย. 54)

“การผูกน้ำใจกันไว้นั้น ธรรมดาญาติพี่น้องก็ไปเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ประชาชนนับแสนนับล้านจะไปเยี่ยมเยียนกันก็ยาก เขาจึงยกให้เป็นหน้าที่ของประมุขของประเทศในการเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ ข้าพเจ้าก็จะแสดงต่อประชาชนของประเทศเหล่านั้นว่า ประชาชนชาวไทยมีมิตรจิตมิตรใจต่อเขา และข้าพเจ้าจะพยายามเต็มที่เพื่อให้ฝ่ายเขารู้จักเมืองไทยและเกิดมีน้ำใจที่ดีต่อชาวไทย…”

(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานไว้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนต่างประเทศ)

ในหลวง ร.9
ภาพ: นิตยสารแพรว ปีที่ 33 ฉบับที่ 774 (25 พ.ย. 54)

“ข้าพเจ้าและสมเด็จพระบรมราชินีพร้อมด้วยพระเจ้าโบดวง ได้ไปชมเมืองนามือร์ ชาเลอร์รัว กังค์ และเมืองบูรจ์ ซึ่งในแต่ละเมืองดังกล่าว ประชาชนจำนวนมากได้มายืนเรียงรายเป็นทิวแถวตามฟากถนนที่เราผ่านไป การต้อนรับของประชาชนเหล่านั้นได้เป็นไปด้วยความกระตือรือร้น และด้วยความเป็นมิตรไมตรีอันดี ประชาชนชาวเบลเยียมโดยธรรมชาติเป็นผู้ที่ขยันหมั่นเพียรมาก ความกล้าหาญและการตัดสินใจของเขาในสงครามโลกทั้งสองครั้งที่แล้วมา ทำให้เขาได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่ง ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าและสมเด็จพระราชินีพักอยู่ในประเทศเบลเยียม พระเจ้าโบดวงได้พระราชทานความสนพระทัยเป็นส่วนพระองค์แก่เราเป็นอย่างดี และความเป็นกันเองของพระองค์ทำให้สะดวกสบายอย่างมาก…”

(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อคราวเสด็จฯไปทรงเยือนประเทศเบลเยียม 2503)

ในหลวง ร.9
ภาพ: นิตยสารแพรว ปีที่ 33 ฉบับที่ 774 (25 พ.ย. 54)

“…การไปต่างประเทศคราวนี้ก็ไปเป็นทางราชการแผ่นดิน เป็นการทำตามหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะเป็นประมุขของประเทศ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าในสมัยนี้ประเทศต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ ว่าชนทุกชาติเป็นญาติพี่น้องกันก็ว่าได้ จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งต้องผูกน้ำใจกันไว้ให้ดีด้วย”

(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานไว้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนต่างประเทศ)


ภาพ: นิตยสารแพรว ปีที่ 33 ฉบับที่ 774 (25 พ.ย. 54), วิกิพีเดีย

Praew Recommend

keyboard_arrow_up