ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพระปรีชาสามารถด้านดนตรี

“นั่นลูกศิษย์เรา” พระสุรเสียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ สุดประทับใจในชีวิตสายดนตรี

ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพระปรีชาสามารถด้านดนตรี
ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับพระปรีชาสามารถด้านดนตรี

เป็นเรื่องราวที่ดีที่ควรค่าแก่การบอกต่อ เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 มิได้ทรงสอนแค่การเล่นดนตรี แต่ทรงสอนการใช้ชีวิต เพื่อให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงหน้าที่ของตัวเองและมีสติอยู่เสมอ

อย่างที่ทราบกันนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระปรีชาสามารถ ถนัดและเชี่ยวชาญหลายด้าน ไม่เว้นแม้แต่ด้านดนตรี ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงเป็นต้นแบบให้แก่คนไทยหัวใจรักดนตรี ได้หลงรักในเสียงเพลงและพยายามฝึกฝนเล่นดนตรีตามรอยพ่อหลวงของแผ่นดินจนประสบความสำเร็จ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแซ็กโซโฟน
แซ็กโซโฟน เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดอย่างจริงจังมาตั้งแต่มีพระชนมพรรษาเพียง 14 พรรษา

ในหลวงรัชกาลที่ 9 สนพระราชหฤทัยเรื่องดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาวิชาดนตรีขั้นพื้นฐานอย่างจริงจังตามคําแนะนําจากพระอาจารย์อย่างเข้มงวดนานกว่า 2 ปี ทรงได้รับการฝึกฝนตามแบบการดนตรีอย่างจริงจัง เครื่องดนตรีที่พระองค์ท่านโปรดคือ เครื่องเป่าทุกชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต แล้วยังทรงกีตาร์และทรงเปียโนได้ด้วย พระองค์ท่านโปรดการทรงดนตรีมาก โดยเฉพาะดนตรีแจ๊ส ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีประเภทนี้มาก โดยหนังสือพิมพ์โฮโนลูลู แอดเวอร์ไทซิ่ง ได้ถวายพระนามว่าพระองค์ทรงเป็น “ราชาแห่งดนตรีแจ๊ส” เลยทีเดียว

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า ราชาแห่งดนตรีแจ๊ส

ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ทายาทของ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สมาชิกวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ได้มาเล่าถึงเรื่องราวที่เต็มเปี่ยมด้วยความทรงจำอันมีคุณค่า ที่เคยมีโอกาสเล่นดนตรีร่วมกับในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีความประทับใจที่ติดแน่นอยู่ในชีวิตของ ดร.ภาธร นั่นคือ พระสุรเสียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่รับสั่งกับเขาว่า “นั่นลูกศิษย์เรา”

“ตั้งแต่เริ่มจำความได้ คุณพ่อก็พาผมเข้าเฝ้าฯในหลวงรัชกาลที่ 9 ตอนนั้นอายุประมาณ 3 – 4 ขวบ ท่านเล่าว่า คืนก่อนจะไปเฝ้าฯ ผมซ้อมกราบเท้าคุณพ่ออยู่หลายรอบ (หัวเราะ) แต่พอถึงเวลาจริง เมื่อพระองค์ท่านเสด็จฯมาถึงห้องทรงวิทยุ อ.ส. ด้วยความเป็นเด็กและตื่นเต้น ผมจึงไม่ได้ก้มลงกราบ คุณพ่อตกใจ รีบถามใหญ่ว่าเพราะอะไร ผมตอบไปตามประสาเด็กว่า ตอนอยู่ที่บ้านคุณพ่อไม่ได้ใส่รองเท้า แต่พระองค์ท่านทรงฉลองพระบาท จึงไม่ได้กราบ เมื่อพระองค์ท่านทราบก็ทรงพระสรวล นั่นคือครั้งแรกในการเข้าเฝ้าฯของผม (ยิ้ม)

“จากนั้นเรื่อยมาทุกวันศุกร์ที่คุณพ่อไปเล่นดนตรีกับวง อ.ส. ครอบครัวผมได้เข้าเฝ้าฯอีกหลายครั้ง และสิ่งที่ผมซึมซับมาตลอดคือ บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่คุณพ่อเล่นเป็นประจำ กระทั่งผมอายุราว 12 ขวบ คุณพ่อพาไปเข้าเฝ้าฯอีกครั้ง ได้เห็นพระองค์ท่านทรงแซ็กโซโฟน ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้จักเครื่องดนตรีชนิดนี้เลย รู้แต่เพียงว่าเสียงที่เปล่งออกมาไพเราะมาก จึงอยากเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้เหมือนพระองค์ท่าน

“เมื่อกลับถึงบ้าน คุณพ่อเปิดกล่องใบใหญ่หยิบแซ็กโซโฟนออกมาให้ผมดู พร้อมกับเล่าว่า เป็นเครื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแด่คุณพ่อ ใช้ถวายการสอนแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อสมัยยังทรงเป็นนักเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา ผมถือว่ามีบุญมากที่มีโอกาสเริ่มหัดเล่นแซ็กโซโฟนด้วยเครื่องนี้ โดยเรียนกับคุณครูที่เป็นทหารอากาศ เพราะคุณพ่อบอกว่าพ่อลูกสอนกันเองไม่ถนัด

“เรียนอยู่เกือบปีก็ได้รับโอกาสเข้าร่วมเล่นในวง อ.ส. พระองค์ท่านทรงดนตรีตรงกลางวง คุณพ่อเล่นเปียโนอยู่ด้านขวา ส่วนผมเป็นกลุ่มเครื่องเป่า ก็จะอยู่อีกข้างหนึ่ง ผมจําได้แม่นว่าครั้งแรกที่ร่วมเล่นกับวงตื่นเต้นมากครับ เข้าไปถึงก็ได้โน้ตเพลงให้เล่นตามนั้นเลย ซึ่งความพิเศษของวง อ.ส. คือ เป็นวงไม่ใหญ่ คนไม่เยอะ แต่น่าสนใจตรงดนตรีที่พระองค์ท่านโปรดเล่นในขณะนั้นเป็นดนตรีบิ๊กแบนด์ ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี 15 – 20 ชิ้น แต่เรามีกันแค่ 10 คน ซึ่งวิธีที่พระองค์ท่านทรงทําคือ ใช้เครื่องอัดเสียงแบบเทปขนาดใหญ่อัดแยกเครื่องดนตรีทีละชิ้น กระทั่งได้เป็นเพลงที่รวมกันเป็นวงบิ๊กแบนด์จริงๆ  ถือเป็นเทคนิคพิเศษที่ทรงคิดและปรับใช้เอง ไม่มีใครทำได้ในสมัยนั้น (ยิ้ม)

“ชีวิตผมเปลี่ยนจากเด็กผู้ชายธรรมดากลายเป็นนักดนตรีที่มีนัดประจำทุก 2 ทุ่ม คืนวันศุกร์กับวันอาทิตย์ เป็นช่วงเวลาพิเศษของผมที่ได้เล่นดนตรีกับพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาส่วนพระองค์ ไม่มีพิธีรีตอง และเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ท่านทรงได้พักผ่อนจากการทรงงานมาทั้งสัปดาห์ จากนั้นพระองค์ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทุนการศึกษาส่วนพระองค์ให้ผมไปศึกษาต่อด้านดนตรีที่ต่างประเทศจนจบปริญญาเอก โดยทุกช่วงปิดเทอมผมจะกลับมาเข้าเฝ้าฯพระองค์ท่าน

“พระองค์ท่านมีพระเมตตามาก ทรงสอนดนตรีสมาชิกในวง ทรงแนะนำวิธีการเล่นต่างๆ ซึ่งตอนนั้นผมยังคงใช้อัลโต้แซ็กโซโฟนตัวเดิมที่คุณพ่อได้รับพระราชทานมา ต่อมาพระองค์ท่านพระราชทานเทนเนอร์แซ็กโซโฟนและอัลโต้แซ็กโซโฟนด้วย จนช่วงที่ผมเรียนปริญญาโท พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้ผมเล่นคลาริเน็ต จึงพระราชทานอีกเครื่องหนึ่ง และทรงพระเมตตาสอนด้วยพระองค์เอง

“เมื่อพระองค์ท่านเสด็จฯไปประทับที่หัวหิน วง อ.ส.จึงเปลี่ยนไปซ้อมทุกวันเสาร์แทน และไม่ว่าพระองค์ท่านจะเสด็จฯแปรพระราชฐานไปที่ใด พวกเราก็พร้อมจะตามไป ช่วงแรกแต่ละคนต่างขับรถยนต์ส่วนตัวไป แต่ช่วงหลังอายุมาก ขึ้นเลข 7 เลข 8 กันหมดแล้ว พระองค์ท่านจึงพระราชทานรถตู้ไว้ใช้สำหรับเดินทาง โดยผมรับหน้าที่ต่อจากคุณพ่อที่เป็นนายวง คัดเลือกว่าสัปดาห์นี้จะเล่นเพลงอะไรบ้าง โดยเฉพาะเพลงแจ๊สที่พระองค์ท่านโปรดเป็นพิเศษ

ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ เป่าแซ็กโซโฟน
ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี

“ครั้งที่ประทับใจที่สุดคือ งานเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นงานเลี้ยงภายใน จัดที่พระราชวังบางปะอิน พอช่วงดึก พระองค์ท่านจะทรงดนตรี แต่ปรากฏว่าไม่มีใครนำเครื่องดนตรีไปเลย มีเพียงผมที่นำแซ็กโซโฟนติดตัวไปด้วย พระองค์ท่านจึงรับสั่งให้ผมขึ้นไปเล่นก่อน ตอนนั้นแขกในงานต่างประหลาดใจว่าผมคือใครกัน แต่แล้วก็มีพระสุรเสียงมาจากโต๊ะของพระองค์ท่านว่า นั่นลูกศิษย์เราซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินพระองค์ท่านรับสั่งเรียกผมเป็นลูกศิษย์ ประทับใจมากครับ (ยิ้ม)

“ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ได้ถวายงานรับใช้ พระองค์ท่านทรงให้ความเป็นกันเอง ทรงพระเมตตา และทรงเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จในวันนี้ เพราะพระองค์ท่านมิได้ทรงสอนแค่การเล่นดนตรี แต่ทรงสอนการใช้ชีวิตด้วย ทรงเปรียบเทียบให้เห็นว่าการเล่นดนตรีในวงก็เหมือนกับการที่เราใช้ชีวิตอยู่ในสังคม ทุกคนล้วนมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ไม่มีใครเด่นกว่าหรือใหญ่กว่าใคร และพระองค์ท่านไม่เคยรับสั่งสักครั้งว่า เราเป็นกษัตริย์ เป็นหัวหน้าวง พระองค์ท่านทรงเป็นได้ทุกตำแหน่ง และทรงสอนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะทำอะไร เราต้องรู้หน้าที่ตัวเอง

เช่นเดียวกับการใช้ชีวิต ที่ต้องรู้หน้าที่ของตัวเองและมีสติอยู่เสมอ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงกลองชุด

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปียโน

ได้ฟังเรื่องราวแล้ว แพรวเชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระองค์ท่านในการเดินสายดนตรี

 

ที่มา : นิตยสารแพรว ปี 2559 ฉบับที่ 883 (10 มิ.ย. 2559)
ภาพ : Facebook – damnnakdontree

Praew Recommend

keyboard_arrow_up