“ทรงเรียบร้อย ทรงเป็นช่างฝีมือดี ฉลองพระองค์จะไม่เลอะสีหรือกาวเลย” เรื่องเล่าจากรั้ววัง

“…ในหลวงรัชกาลที่ ทรงเรียบร้อย แล้วทรงเป็นช่างฝีมือดี ฉลองพระองค์จะไม่เลอะสีหรือกาวเลย…” 

 

เรื่องราวแสนพิเศษจากเหล่าทายาทของผู้ที่เคยถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ อย่างใกล้ชิด ถ่ายทอดเป็นความประทับใจส่งต่อมายังรุ่นลูก และพวกเขายังได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

สืบเนื่องมาจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต และหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี พระธิดาและพระโอรสของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กับหม่อมเจ้าหญิงพรพิมลพรรณ (วรวรรณ) รัชนี ได้ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาทั้งสององค์

“ท่านพ่อทรงเป็นนักกีฬามาตั้งแต่ยังทรงเป็นนักเรียน ทรงกีฬาแทบทุกชนิด แต่โปรดเรือใบเป็นพิเศษ ทรงต่อเรือใบเอง โดยทรงซื้อแบบเรือใบ (Pattern) มาจากเมืองนอก หาซื้อไม้อัดมาตัดตามแบบแล้วประกอบเป็นลำเรือขึ้นมา เมื่อต่อเป็นลำเรือสำเร็จแล้ว ท่านพ่อทรงนำไปแล่นที่ทะเลหัวหิน เวลานั้นทรงเรือกรรเชียงเพื่อทรงออกพระกำลังในตอนเช้า เมื่อพระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นท่านพ่อทรงเรือใบที่ต่อเอง ก็มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯและรับสั่งว่า อยากทรงเรือใบ และจะทรงต่อเรือเอง ตั้งแต่นั้นท่านพ่อได้เข้าเฝ้าฯที่วังสวนจิตรลดา เพื่อร่วมต่อเรือใบกับพระองค์ท่านจนเรือใบลำแรกสำเร็จ และพระราชทานนามว่า “ราชปะแตน”

“ท่านพ่อทรงนิพนธ์ในหนังสือตอนหนึ่งว่า ’…ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเรียบร้อย แล้วทรงเป็นช่างฝีมือดี ฉลองพระองค์จะไม่เลอะสีหรือกาวเลย…’ ขณะที่ท่านพ่อเลอะเต็มตัวไปหมด ต่อมาทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯเริ่มทรงเรือใบด้วย ซึ่งตอนนั้นดิฉันพอมีพื้นฐานด้านการเป็นลูกเรืออยู่บ้าง เพราะติดตามท่านพ่อไปพัทยาทุกสัปดาห์ ซึ่งดิฉันและน้องๆพอจะแล่นเรือใบเป็นจากการที่เคยเป็นลูกเรือของท่านพ่อกันทุกคน เวลานั้นในหลวงรัชกาลที่ ๙ และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯทรงเรือใบประเภทเอนเตอร์ไพร้ส์ ซึ่งมีผู้เล่นสองคน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเรือใบกับท่านพ่อดังที่รับสั่งว่า ท่านพ่อเป็นทั้ง ‘ครู’ ภาษาไทย (Teacher) และ ‘ครูว์’ ภาษาอังกฤษ (Crew ลูกเรือ) ของพระองค์ท่าน”

การได้ตามเสด็จทรงเรือใบนี้ ทำให้มีเหตุการณ์ที่ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต เมื่อปี พ.ศ. 2506 คุณหญิงนาวอายุได้ 24 ปี

“ตอนนั้นไปส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯทรงแข่งเรือใบไปสวนสนประดิพัทธ์ จำได้ว่าคุณแม่เป็นลูกเรือของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ส่วนท่านพ่อทรงเรือใบประเภทโอเค (International OK Class) ที่เล่นคนเดียว ไม่ต้องมีลูกเรือ

“ครั้งนั้นพระองค์ท่านไม่ทรงมีลูกเรือ ทรงหันมาหาลูกเรือ แล้วทรงชี้มาที่ดิฉันให้มาทำหน้าที่ลูกเรือถวาย รู้สึกตื่นเต้นมากที่สุดในชีวิต ระหว่างทำหน้าที่เป็นลูกเรือราชปะแตนถวายรู้สึกประหม่ามาก…เมื่อเรือพระที่นั่งราชปะแตนแล่นผ่านหมู่เรือรักษาการณ์ ทหารเรือทั้งลำตั้งแถวถวายความเคารพ ดิฉันตื่นเต้นมาก ดูแถวทหารเรือในเรือรักษาการณ์ แล้วดูใบเรือ คอยดึงคอยผ่อนไม่ให้ใบเรือสะบัด บางครั้งก็ต้องขึ้นไปถ่วงนอกเรือไม่ให้เรือเอียง แต่ในที่สุดผลการแข่งขันทรงได้ที่สอง รางวัลเป็นไฟแช็กสลัก ‘วันเพ็ญ 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดัจฉราพิมล’ ดิฉันยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดีจนทุกวันนี้

“เมื่อขึ้นฝั่งหลังจบการแข่งขัน พระองค์ท่านมีรับสั่งเล่าให้ใครๆฟังถึงดิฉันว่า ‘เขานั่งหน้าอย่างนี้ (คุณหญิงนาวทำคิ้วขมวด) ตลอดเวลา’ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมที่ดิฉันไม่เคยลืมเลือน”

จนเมื่อปี พ.ศ.2538 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร ช่วงเดียวกับงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ดิฉันได้ไปร่วมงานพระบรมศพแทบทุกวัน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อดิฉันคราวได้ตามเสด็จไปทรงสกีที่เมืองซาเนนโมเซอร์ (Saanenmõser) สวิตเซอร์แลนด์

untitled
หม่อมราชวงศ์ดัจฉราพิมล รัชนี

“วันหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ รับสั่งกับดิฉันเรื่องน้ำท่วมว่า ‘จะให้ช่วยไปถ่ายรูปมาว่าน้ำท่วมที่ตรงไหนบ้าง’ เวลานั้นดิฉันใช้กล้องถ่ายรูปธรรมดาของตัวเอง ภาพจึงออกมาเบลอๆ ไม่ชัด จึงพระราชทานกล้อง Minolta พร้อมกับทรงสอนอย่างละเอียด จากนั้นก็เริ่มถ่ายรูปทูลเกล้าฯถวายทุกวัน ทรงให้การบ้านว่ามีพระราชประสงค์ทอดพระเนตรอะไรตรงไหน ดิฉันก็ไปถ่ายมาถวาย

“บางครั้งมีรับสั่งว่า ‘ไปดูตอม่อถนนบางนา-ตราด’ด้วยความไม่รู้ก็กราบบังคมทูลถามว่า ต้องไปถึงจังหวัดตราดเลยไหมเพคะ รับสั่งกลับมาว่า ‘ไม่ต้องถึง’ (หัวเราะ)

“วันรุ่งขึ้นก็ตรงไปใต้สะพาน สำรวจตอม่อทุกสะพานถนนบางนา-ตราด ทำให้พบปัญหาว่าบางแห่งที่น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้เพราะมีคนไปสร้างบ้านอยู่ใต้สะพานขวางทางน้ำไหล บางแห่งก็ทิ้งกองโฟมไว้ จึงกั้นทางน้ำ ตอนไปดูสภาพน้ำท่วมที่ถนนเจริญนครและจรัญสนิทวงศ์ น้ำท่วมสูงมาก ต้องถอดรองเท้าลงเดิน ก็ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับชาวบ้านแถวนั้นว่าต้องการอะไร จนมาถึงบ้านริมคลองบางกอกน้อยหลังหนึ่งตรงข้ามวัดศรีสุดาราม เป็นของคุณยายเล็ก หนูพิมพ์ทองบอกว่า อยากได้เรือท้องแบน เพราะน้ำเข้าบ้านจนไม่มีที่นอน ดิฉันก็กลับมากราบบังคมทูล วันรุ่งขึ้นก็พระราชทานเรือท้องแบนหนึ่งลำ คุณยายเล็กซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมาก แม้น้ำจะลดเป็นปกติแล้ว คุณยายก็ยังคงนอนบนเรือท้องแบนนั้นจนวันสุดท้ายของชีวิต…

“หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นก็โปรดเกล้าฯให้ดิฉันมาช่วยงานที่มูลนิธิโครงการหลวง ปัจจุบันเป็นเลขานุการประธานมูลนิธิโครงการหลวงประจำกรุงเทพฯ รองประธานคณะกรรมการฝ่ายการตลาดและที่ปรึกษาฝ่ายงานหัตถกรรม มูลนิธิโครงการหลวง เป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมที่ชีวิตนี้ได้ถวายการรับใช้ และเป็นบุญของชาวไทยที่มีพระมหากษัตริย์เช่นพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้…”

ที่มา : นิตยสาร แพรว ปี 2559 ฉบับที่ 883 (10 มิ.ย. 59)
ภาพ : Thailandimage

Praew Recommend

keyboard_arrow_up