พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เปิดพระราชนิพนธ์แรก ฉบับเต็ม… เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์

พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์

วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ 

เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ก่อนที่จะออกเดินทาง เราไปที่วัดในพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งที่อยู่ในเมือง เข้าไปในโบสถ์แล้วจุดเทียน (เทียนไขเราดีๆ นี่เอง) เอาดอกไม้ที่ข้าหลวงจัดมาให้บูชาพระ สมภารเจ้าวัดนี้เป็นคนคนเดียวกันกับที่ได้เคยต้อนรับเราเมื่อคราวมาเที่ยวที่แล้ว ที่วัดนี้เองเมื่อ ๘ ปีมาแล้ว พี่ชายของข้าพเจ้าได้มาปลูกต้นจันทน์…บนแท่นที่บูชายังมีรูปถ่ายเป็นรูปพี่ที่เคยมาด้วยกัน กำลังตั้งท่าปลูกอยู่ทีเดียว สมภารได้นำเราไปยังต้นจันทน์ต้นนั้น คาดว่าจะใหญ่โต แต่ดูไม่เจริญงอกงามเสียเลย สูงยังไม่เกินสองฟุต.

เมื่อออกมาจากวัด มีประชาชนกลุ่มหนึ่งมาคอยเฝ้า บางคนยกมือขึ้นไหว้อย่างไทยๆ เรา บางคนตบมือ บางคนตะโกนออกมาด้วยความพออกพอใจ มาถึงสนามบินเวลาประมาณ ๙.๐๐ นาฬิกา เราลาข้าหลวงและภริยาผู้มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน และให้ความเอื้อเฟื้อต่อเราเป็นอย่างดี แล้วขึ้นเครื่องบินจากมา.

การเดินทางเป็นไปอย่างปกติ สจ๊วตนำอาหารมาให้เรากินตามเวลามิได้ขาด บางทีก็ได้รับรายงานจากนักบิน แสดงด้วยแผนที่ให้เห็นว่าเดี๋ยวนี้เราอยู่ตรงไหน บางทีก็รายงานอากาศที่เราจะต้องประสบในเบื้องหน้า ตลอดจนความเร็ว และระยะสูงของเครื่องบิน ฯลฯ เป็นการเดินทางที่สะดวกและสบายดี…

ในตอนจวนจะถึง อากาศไม่สู้ดีเหมือนที่แล้วมา เพราะมรสุมกำลังตั้งเค้า แต่เรากำลังจะถึงการาจีอยู่แล้ว เพราะเครื่องบินบินเร็วทำเวลาได้ดีมาก เมื่อบินอยู่เหนือเมือง มองดูรอบๆ ลักษณะเป็นทะเลทรายเราดีๆ นี่เอง ช่างไม่มีชีวิตจิตใจเสียเลย ที่ตั้งเป็นเมืองขึ้นได้ก็เพราะเป็นท่าเรือใหญ่ อยู่ในทำเลที่เหมาะ เครื่องบินลงถึงพื้นดินเมื่อเวลา ๑๗ นาฬิกา บินมาได้ ๘ ชั่วโมง มีพวกข้าราชการมาคอยรับอยู่ ขึ้นรถตรงไปศาลาว่าการของรัฐบาล เป็นแขกของข้าหลวงเช่นเดียวกับที่เกาะลังกา.

พรุ่งนี้เราจะต้องบินเป็นระยะทางไกล ฉะนั้นจึงอยากจะนอนแต่หัวค่ำสักหน่อย แต่ว่าต้องกินข้าวกับข้าหลวงและคณะ จำต้องสนทนาปราศรัยถึงเรื่องที่ไม่มีเรื่องเหมือนที่พวกฝรั่งนิยมกัน กว่าจะได้พักผ่อนหลับนอนก็เกือบสองยาม เราเพลียมาก รู้สึกว่าหลับได้อย่างง่ายดาย.

วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

ในหลวงเสด็จฯกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิทเซอร์แลนด์

จากศาลาว่าการรัฐบาลไปสนามบิน รถวิ่ง ๒๐ นาที ผ่านเข้าไปในย่านการค้าในเมือง มีข้อที่น่าสนใจและพึงสังเกตอยู่บ้างคือ – พบคนนอนหลับอย่างสบายอยู่ข้างทางและตามประตู พวกที่ตื่นลุกขึ้นล้างหน้าที่ท่อน้ำใกล้ๆ กับที่นอน และเขาทำกันอย่างนี้ในบริเวณที่มีตึกรามตามแบบสมัยใหม่ในย่านการค้าเช่นนั้น!

ประชาชนพลเมืองเหล่านี้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ขาดวิ่น สีของเสื้อผ้านั้นขาวหรือก็คงต้องเป็นสีขาวมาก่อน ที่มาแลเห็นเป็นสีเทาไปมากกว่าสีขาวนั้น ก็เพราะระคนปนไปกับฝุ่น นอกจากนี้ยังได้เห็นวัวศักดิ์สิทธิ์เดินท่องเที่ยวหาอาหารอยู่ตามท้องถนนหลวง จะไปไหนมาไหนไม่มีใครกล้าจะขับไล่ ไม่ว่าจะเกิดหิวขึ้นมาเมื่อไร พบร้านขายผักก็เดินเข้าไปเลือกกินได้ตามใจชอบ ส่วนเจ้าของร้านนั้น เมื่อวัวเข้าไปก็ถือว่าเป็นมงคล…

ถึงสนามบินเวลา ๘.๓๐ นาฬิกา และออกบินในทันทีที่มาถึง เครื่องบินบ่ายหัวตรงไปสู่ท้องทะเลด้วยอัตราความเร็ว ๓๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท้องฟ้าแจ่มกระจ่างจนสามารถมองเห็นเรือหาปลาเล็กๆ ในท้องทะเลได้ถนัด ทั้งๆ ที่บินอยู่สูงถึง ๒,๕๐๐ เมตร ข้าพเจ้าชอบเดินไปที่ที่นักบินขับบ่อยๆ และนั่งลงข้างๆ ตรงที่นั่งของนักบินสำรอง ช่างมีเครื่องบังคับหลายอย่างเสียจริงๆ บังคับปีก บังคับใบพัด เครื่องยนต์ ถังน้ำมัน และอื่นๆ อีกมาก ในตอนต้นๆ ออกจะงงๆ แต่นักบินเป็นคนที่สุภาพมาก ได้พยายามชี้แจงให้เข้าถึงเครื่องทุกๆ ส่วนที่มีอยู่.

ที่ข้อมือนักบิน สังเกตเห็นว่าผูกนาฬิกาไว้ถึงสองเรือน เรือนหนึ่ง ๖ นาฬิกา อีกเรือนหนึ่ง ๔ นาฬิกา แต่ของเราเองเป็น ๙.๓๐ นาฬิกา เขาอธิบายให้เข้าใจว่า ๔ นาฬิกานั้น เป็นเวลาที่กรีนิช (Greenich) ๖ นาฬิกานั้น เป็นเวลาที่กรุงไคโรที่เรากำลังจะไป และ ๙.๓๐ นาฬิกานั้นเป็นเวลาที่การาจี เราจะไปไคโรจึงเลื่อนเข็มถอยหลังกลับไปสามชั่วโมงครึ่ง.

ราวๆ เที่ยงเราบินอยู่เหนือทะเลทรายอาหรับ มีหลุมอากาศหลายแห่ง ฝรั่งเรียกว่า “bumps” เป็นลมสูงขึ้น เกิดจากความร้อนของทรายจากเบื้องล่างที่ถูกพระอาทิตย์แผดเผา หลุมอากาศเหล่านี้มีอยู่ตลอดทาง กระทั่งผ่านพ้นเขตต์ของทะเลทรายนั้นไป คือราว ๑๔.๓๐ นาฬิกา การผ่านหลุมอากาศวับๆ หวำๆ เช่นนี้ไม่มีความสบายเลย และความไม่สบายใจที่ทวีขึ้นเมื่อพวกประจำเครื่องบินเล่าให้ฟังว่า หากเราจำเป็นต้องร่อนลงยังท้องทะเลทรายนี้แล้ว ออกจะน่าวิตกอยู่มาก ที่ชาวพื้นเมืองเบื้องล่างนี้มิค่อยจะเป็นมิตรที่ดีของคนแปลกหน้านัก.

ล่วงไปอีกชั่วโมงหนึ่งก็ผ่านคลองสุเอซ กำลังมีเรือแล่นเข้าคลอง มีเรือรบขนาดหนักลำหนึ่งจอดอยู่ที่นั่น ขนาดของเรือลำนี้เห็นจะหนักกว่าเรือศรีอยุธยาประมาณ ๑๖ เท่า แม้กระนั้นมองดูช่างเล็กเสียเหลือเกิน เมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ไพศาลของท้องทะเลและความเวิ้งว้างของทะเลทรายอันมหึมานั้น.

เรามาถึงสนามบินอัลมาซ่า (Almaza) ใกล้ๆ กับกรุงไคโร หลังจากที่ทำการบินมาแล้วเป็นเวลา ๑๑ ชั่วโมง ๔๕ นาที เราเหน็ดเหนื่อยเพราะถูกรบกวนด้วยเสียงสนั่นหวั่นไหวของเครื่องบินด้วยหลุมอากาศ และด้วยความสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ทำเอาเรางงไปหมด…

เราไปพักอยู่ ณ โรงแรมที่ดีแห่งหนึ่ง และได้พักผ่อนอย่างสุขสำราญ ในตอนเย็นสมุหพระราชมณเฑียรของพระเจ้าฟารุคได้เชิญพระราชปราศรัยของพระองค์มา ข้าพเจ้าก็ได้สนองพระราชอัธยาศัยไปตามสมควร นอกประตูของห้องเรามีตำรวจอียิปต์ยืนยามอยู่ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลอียิปต์ได้จัดไว้เพื่อความปลอดภัยของเรา.

กรุงไคโรเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกสมัยใหม่ แต่เบื้องหลังของตึกเหล่านี้มีบ้านกระจอกงอกง่อยอยู่เป็นอันมาก บ้านเหล่านี้เป็นที่อยู่ของคนจน เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่และสัตว์อื่นๆ อีกตามถนน รถรางก็เต็มไปด้วยผู้คนเบียดเสียดยัดเยียดห้อยโหนกันจนไม่มีที่ว่าง และล้วนแต่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าปุปะไม่มีชิ้นดี เป็นผู้ชายทั้งนั้น เกือบไม่มีผู้หญิงปะปนอยู่ด้วยเลย คล้ายๆ กับที่การาจีอยู่มาก ผู้คนหลับอย่างแสนสบายตามสนามหญ้าข้างถนน รถยนต์มีมาก แต่เป็นรถรับจ้างที่ขับกันอย่างเร็วปรื๋อโดยมาก.

อ่านต่อหน้า 4

Praew Recommend

keyboard_arrow_up