รูป Unseen ในหลวง

มหัศจรรย์ Unseen รูปในหลวง คนไทยโชคดีกว่าใครในโลก

Alternative Textaccount_circle
รูป Unseen ในหลวง
รูป Unseen ในหลวง

ลลิสา จงบารมี อาร์ตคอลเล็คเตอร์

ลลิสา จงบารมี

“WE ARE THAI”
นอกจากฝีมือการวาดภาพแล้ว เธอยังมีสายตาเฉียบในการเสพงานศิลปะ เพื่อการเก็บสะสมในฐานะอาร์ตคอลเล็คเตอร์ตัวเอ้อีกด้วย และหนึ่งในหลายคอลเล็คชั่นที่เธอเก็บสะสมคือ พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากฝีมือหลากหลายของศิลปินระดับบรมครู

“ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ระหว่างที่ดิฉันเดินทางจากเมืองไทยจะไปซานดิเอโก มีสามีภรรยาชาวอเมริกันคู่หนึ่งซึ่งกลับจากการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย เขาถามดิฉันว่าเป็นคนไทยใช่ไหม และยังบอกด้วยว่าเขาอยากเกิดเป็นคนไทย เพราะทำให้ไม่รู้จักคำว่า ‘กำพร้าพ่อ’ เขาภูมิใจแทนคนไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพ่อหลวงของคนไทยทั้งประเทศ เป็นกษัตริย์ที่รักปวงชนชาวไทยซึ่งเปรียบเสมือนลูกทุกหย่อมหญ้า นาทีนั้นดิฉันรู้สึกขนลุก ภูมิใจ น้ำตาแทบไหล ขนาดคนต่างชาติยังพูดว่าเขาอยากเกิดเป็นคนไทย แม้ช่วงนั้นดิฉันยังอยู่ต่างประเทศ แต่ก็รู้สึกถึงความร่มเย็นและปลอดภัยด้วยพระบารมีของพระองค์ท่าน

“คนไทยอาจไม่ค่อยมีโอกาสคุยเรื่องเหล่านี้กันสักเท่าไร แต่เรามักได้สัมผัสคนที่อยากมีและอยากเป็นอย่างคนไทย เพราะฉะนั้นพวกเรามีบุญอย่างยิ่งที่เกิดมาในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ดิฉันภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย เพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ปกป้องคุ้มครองเสมอ เห็นพระองค์ท่านทีไรก็มีแต่ความภาคภูมิใจ

สองภาพไฮไลต์สุดประทับใจของคุณลลิสา
สองภาพไฮไลต์สุดประทับใจของคุณลลิสา (ซ้าย) ภาพข้าวสีทองที่พระองค์ท่านทรงปลูกที่ทุ่งหันตรา ผลงานอาจารย์ศุภกิจ อุตตรนคร (ขวา) ภาพผลงานอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ ในหลวงทรงแซกโซโฟน แนวแอ๊บสแตร็กต์คิวบิสม์

“ความที่เรารักพระองค์ท่าน แต่ไม่สามารถใกล้ชิดหรือสัมผัส พระบรมรูปจึงเป็นเหมือนตัวแทนของพระองค์ท่าน ในฐานะที่ดิฉันเป็นนักสะสมศิลปะ จึงเลือกสะสมพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านที่เขียนโดยศิลปินชื่อดัง ตั้งแต่ผลงานของอาจารย์แนบ โสตถิพันธุ์ ซึ่งไม่ค่อยเขียนรูปคน แต่ท่านเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงทรงแซกโซโฟน เป็นภาพแนวแอ๊บสแตร็กต์แนวคิวบิสม์ หรือผลงานของอาจารย์ศุภกิจ อุตตรนคร ศิลปินไทยซึ่งขายงานอยู่ที่เยอรมนีเป็นหลัก และไม่ค่อยได้วาดภาพแบบไทยเท่าไร แต่วาดภาพโครงการข้าวสีทองที่พระองค์ท่านทรงปลูกที่ทุ่งหันตรา เพื่อให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงเป็นที่รัก เป็นขวัญใจ และเป็นพ่อของเกษตรกรไทย ข้าวของพ่อหลวงเป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน และเสด็จฯไปทรงเกี่ยวข้าวที่ทุ่งหันตราด้วยพระองค์เอง เป็นพระบรมรูปที่เห็นแล้วรู้สึกกินใจคนไทย นอกจากนี้มีผลงานของอาจารย์สมยศ คำแสง ที่ปาดเครยองเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ชิ้นแรกและชิ้นเดียว

พระบรมสาทิสลักษณ์ที่สัมผัสได้ถึงพระเมตตาบารมีในสายพระเนตรและรอยแย้มสรวล
พระบรมสาทิสลักษณ์ของคุณลลิสาที่เชื่อว่าถ้าใครได้ชมแล้ว ต่างสัมผัสได้ถึงพระเมตตาบารมีในสายพระเนตรและรอยแย้มสรวลของพระองค์ท่าน

พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงระหว่างทรงพระผนวช ผลงานอาจารย์สมยศ คําแสง

“ผู้เสพงานศิลปะส่วนใหญ่ซื้อรูปเพราะชอบ แต่สำหรับดิฉันจะซื้อหรือสะสมรูปนั้นก็ต่อเมื่อสนทนากับเราได้ ทุกรูปที่ดิฉันซื้อจึงต้องมีชีวิตและลมหายใจ โดยที่เรามองภาพนั้นแล้วสามารถสื่อความรู้สึกถึงกันได้ เวลาดิฉันมองพระบรมสาทิสลักษณ์หลายๆ องค์ที่เลือกมา ล้วนสัมผัสได้ถึงพระเมตตาบารมีในสายพระเนตร รอยแย้มสรวลที่ส่งจากข้างใน ถ่ายทอดออกมาเป็นความห่วงใยประชาชน รักและเอื้ออาทรต่อประชาชน สิ่งนี้จึงกลายเป็นความผูกพันที่พวกเรามีต่อพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้นบ้านทุกหลังที่อยุธยาของดิฉันจึงมีพระบรมสาทิสลักษณ์พระองค์ท่านประดิษฐานไว้หมด เพราะรู้สึกว่าทรงเป็นเหมือนเทพประจำบ้าน มีพระองค์ท่านแล้วปลอดภัย มีพลัง เมื่อไรที่รู้สึกท้อ แค่มองแววพระเนตร จะรู้สึกเหมือนได้พลังกลับมา จนสะกดคำว่า ‘ท้อ’ และ ‘ปัญหา’ ไม่เป็น เพราะในหลวงรับสั่งเสมอว่า ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลัวหรือกลุ้ม

“ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกราบบังคมทูลถามพระองค์ท่านว่า ทรงท้อบ้างไหม มีรับสั่งตอบว่า…ฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นคือบ้านคือเมือง คือความสุขของคนไทยทั้งประเทศ โอ้โฮ เราอ่านแค่นี้ รู้สึกเลยว่าเราเป็นแค่ผู้นำครอบครัว ผู้นำองค์กรเล็กๆ จึงไม่กล้าพูดคำว่าท้อ ถ้ายังมีวันพรุ่งนี้ มีแสงตะวันขึ้น เราท้อไม่ได้ และดิฉันเชื่อว่าคนอีกมากมายที่เคยรู้สึกท้อ แต่เมื่อเห็นพระราชภารกิจของพระองค์ท่านแล้ว ทำให้ฮึดกลับมาสู้ได้อีกครั้ง ดิฉันพูดเสมอว่า คนไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่พึ่ง จึงเชื่อว่าคนไทยทำได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ หากเรารู้จักความมานะพยายาม อดทน และเปลี่ยนจากความฝันให้เป็นความจริงที่จับต้องได้

“ต่อให้วันนี้ไม่ประสบความสำเร็จ จงอย่าละ เลิก หรือถอย เพราะความพยายามนำมาซึ่งความสำเร็จ”

ภาพ : อั๋น


ภูดิท กรรณิการ์

ภูดิท กรรณิการ์
ภาพที่อยู่ในหัวใจคนไทย
ภูดิท กรรณิการ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ หนึ่งในพสกนิกรผู้จงรักภักดีที่เฝ้าเก็บสะสมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จนวันเวลาผ่านมากว่า 20 ปี พระบรมฉายาลักษณ์เหล่านั้นได้ต่อยอดให้เกิดสิ่งดีๆ ที่เขาตั้งใจมอบให้แก่คนไทยทุกคน รวมอยู่ในเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า  “In my heart ภาพที่อยู่ในหัวใจคนไทย”

พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ฝีมืออาจารย์ภูดิท

“เกิดจากศรัทธาในความดี ศรัทธาในแบบอย่างของการดำเนินชีวิตคู่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นกำลังพระทัยซึ่งกันและกัน แม้ในยามที่มีพระชนมพรรษามากแล้วก็ตาม ผมศึกษาหาข้อมูลว่าประชาชนสามารถทำเว็บเพจเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวได้หรือไม่ ซึ่งทางสำนักพระราชวังยืนยันว่า ถ้าเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สามารถทำได้

“ผมทำเว็บเพจนี้ตั้งแต่สองปีก่อน ด้วยความตั้งใจอยากอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ที่ผมเก็บสะสมไว้ตั้งแต่เด็กๆ โพสต์ให้คนอื่นได้ร่วมชื่นชมพระบารมี บางวันมีข้อมูลเพิ่มเติมก็ใส่เข้าไป อย่างวันนี้ผมจะนำพระบรมฉายาลักษณ์ในอดีตมาโพสต์ว่าเสด็จพระราชดำเนินไปที่ไหน อย่างไร นอกจากนี้ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ตามวัน เช่น อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระองค์ท่านทรงฉลองพระองค์ประจำสีของวันนั้นๆ พร้อมด้วยบทกลอนที่ผมแต่งเอง ถ้าวันไหนตรงกับวันสำคัญ ผมจะทำเป็นสกู๊ปพระราชประวัติด้วย ซึ่งมีบ้างที่บางวันลงพระบรมฉายาลักษณ์หนึ่งองค์แล้วเขียนว่าทรงพระเจริญ เพราะผมเพียงต้องการให้คนได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านเท่านั้นเอง”

ฝีมือการรีทัชภาพของอาจารย์ภูดิท

จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่วัยเด็ก ประกอบกับวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา ทำให้อาจารย์ภูดิทนำพระบรมฉายาลักษณ์มาตัดต่อเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด “เริ่มจากผมไปหาอาจารย์ท่านหนึ่งที่รักในหลวงเหมือนกัน แล้วได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งเสด็จฯไปจังหวัดสุโขทัย ขณะทรงยืนอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอสวรรคโลก บ้านเกิดของผม ซึ่งตามหามานานแล้ว ผมพยายามขออาจารย์ ซึ่งท่านไม่ให้ แต่อนุญาตให้นำไปก๊อปปี้ได้ จากนั้นไปพบหนังสือเล่มหนึ่งที่หอสมุดแห่งชาติ เป็นเหตุการณ์ครั้งที่เสด็จฯไปสวรรคโลกเหมือนกัน ผมจึงได้นำมาตัดต่อรวมกันในภาพเดียว แล้วอัดขยายใส่กรอบไว้ที่บ้าน

“ส่วนสององค์นี้นำมาแมตช์กันโดยบังเอิญ องค์แรกได้มาจากหนังสือที่ก๊อปปี้จากหอสมุดแห่งชาติ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ขาวดำ ครั้งเสด็จฯไปอุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2501 มาเจออีกองค์เป็นภาพสีที่ได้จากร้านถ่ายภาพในตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกัน แต่คนละเวลา ประมาณ พ.ศ. 2535 ผมจึงนำทั้งสองภาพมาไว้ด้วยกัน โดยให้ชื่อว่า ‘สองพระบรมฉายาลักษณ์ สองกาลเวลา’ ถือเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่สร้างความมหัศจรรย์ใจมาก ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์คู่องค์นี้ได้จากหนังสือหลายพันเล่มที่ผมก๊อปปี้ไว้ รวมทั้งผลงานที่ผมถ่ายเอง โดยเรียงตามพระชนมพรรษา อย่างองค์นี้ทั้งสองพระองค์ทรงยืนไกลกัน ผมจึงนำมาตัดต่อเป็นภาพคู่

“เมื่อ พ.ศ. 2533 งานฉลองพระชนมายุ 90 พรรษาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่พระตำหนักดอยตุง จังหวัดเชียงราย พระเจ้าอยู่หัวถวายบังคมและทรงจุมพิตสมเด็จย่า จากนั้นก็เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ผมรู้สึกอยากดูอีก จำได้ว่าผมพยายามเปิดดูทุกช่อง แล้วคิดว่าทำอย่างไรที่จะสามารถเก็บพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ได้ สมัยนั้นที่บ้านยังไม่มีวิดีโอ จึงขอให้แม่ซื้อวิดีโอให้ บอกว่าจะมาอัดข่าวในหลวง แม่ไม่เข้าใจเหตุผล จึงไม่ได้ซื้อให้ ทำให้ผมฝังใจมาตลอดว่าต้องซื้อให้ได้ จนได้มาเรียนที่กรุงเทพฯ ผมพยายามขอพ่อเพื่อแลกกับการทำความสะอาดบ้านทุกวัน ตอนนั้นวิดีโอเครื่องละเป็นหมื่นบาท

“หลังจากนั้นก็เริ่มอัดวิดีโอเก็บไว้หมด ขอให้เป็นพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่ปี 2536 ครั้งเสด็จฯเยี่ยมราษฎร ได้เห็นความงดงามของพระราชพิธี จนปัจจุบันมีเกือบ 200 ม้วน เหตุผลที่ยังคงใช้วิธีการอัดวิดีโอเพราะเก็บรักษาได้ดีกว่า ถ้าเป็นซีดีแล้วหากไม่ได้เก็บไว้ในห้องแอร์ อย่างเก่งอยู่แค่ 2 – 3 ปีก็เสีย ผมมีเครื่องเล่นวิดีโอ 5 – 6 เครื่อง กว่าผมจะตายก็ยังใช้ได้อยู่ ตอนนี้ผมแปลงเป็นดีวีดีไว้หมดแล้ว ตั้งใจก๊อปปี้สำรองไว้อีกชุดหนึ่ง เพราะถ้าโดนขโมยหรือไฟไหม้จะได้ยังมีต้นฉบับ

“อีกสิ่งหนึ่งที่คิดจะทำคือ อยากเขียนหนังสือ ‘เรื่องเล่าจากพระบรมฉายาลักษณ์’ เนื่องจากบางครั้งที่ได้พระบรมฉายาลักษณ์มา แต่ไม่ทราบว่าพระองค์ท่านเสด็จฯไปที่ไหน ผมพยายามรวบรวมข้อมูลไว้ มีเป็นปึกๆ พยายามจัดแบ่งเป็นโฟลเดอร์ให้เรียบร้อย

“ผมตั้งใจเก็บไปเรื่อยๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ตอนนี้เก็บน้อยลง เพราะภาพเริ่มซ้ำ สะสมไว้เยอะจนแทบไม่มีที่เก็บแล้ว คิดว่าบั้นปลายชีวิตผมคงมอบพระบรมฉายาลักษณ์ทั้งหมดให้หอสมุดแห่งชาติ ส่วนวิดีโอมอบให้หอภาพยนตร์แห่งชาติ แต่ในใจก็ยังหวง เพราะเกรงว่าเขาจะเก็บรักษาไม่ดี

“ผมเชื่อว่าจะมีสักวันหนึ่งที่ได้มีโอกาสโชว์ผลงาน จนเมื่อไม่นานมานี้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ประชุมกันว่าจะจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษาในปี 2559 โดยจะทำเป็นสื่อมัลติมีเดีย นำสื่อเก่าไปหาสื่อใหม่ แล้วใช้ทรัพยากรของผม ซึ่งจะกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯมาทรงเปิดงาน

“ผมเคยนั่งทบทวนชีวิตตัวเองตลอดเวลาที่ผ่านมา ถือว่าตัวเองโชคดีมากกับการได้ทำสิ่งเหล่านี้ ด้วยพระบารมีของพระองค์ท่าน ทำให้ผมได้พบเจอกับเพื่อนดี ชีวิตราบรื่น มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต

“ผมเชื่อว่าเกิดจากแรงศรัทธาและความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน”


ลูกน้ำ สุคนธ์ สีมารัตนกุล เมคอัพอาร์ติสต์

ลูกน้ำ – สุคนธ์ สีมารัตนกุล
ขอแค่ “พอเพียง”
เขาเป็นคนหนึ่งที่จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สะสมทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับพระองค์ท่าน ตั้งแต่พระบรมฉายาลักษณ์จากนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือโปสต์การ์ดเก่าๆ ซีดีเพลงพระราชนิพนธ์ แสตมป์ แผ่นพับ ฯลฯ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะได้มาแบบแจกฟรีหรือต้องใช้สตางค์แลกมา

“ความที่ชอบเก็บสะสมหนังสือมานานกว่าสิบปีแล้ว ซื้อหนังสือทุกประเภท ทั้งไทยและฝรั่ง พออ่านเสร็จจะเก็บเรียงในตู้หนังสืออย่างดี หรือถ้าซื้อแล้วขาดหนึ่งเล่มจะรู้สึกไม่สบายใจ ต้องหาให้ได้ครบทั้งปักษ์แรก ปักษ์หลัง ยิ่งเห็นอะไรเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวจะชอบเก็บ ตอนหลังหนังสือหลายเล่มมักทำเรื่องพิเศษเกี่ยวกับในหลวง เพราะฉะนั้นจะมีหนังสือเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวออกมาเยอะ หนังสือพิมพ์บางฉบับตีพิมพ์ในโอกาสพิเศษ เช่น โอกาสที่พระเจ้าอยู่หัวครองราชย์ครบ 60 ปี เป็นรูปใหญ่ ภาพคนไทยใส่สีเหลืองทั้งแผ่นดิน พระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯออกจากโรงพยาบาล ฯลฯ เรียกว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เห็นแล้วบ่งบอกเรื่องราว เป็นภาพในความทรงจำ จะซื้อเก็บเป็นตั้งๆ เก็บไปเรื่อยๆ

“จนตอนหลังมีจำนวนหนังสือมากขึ้น ไม่สามารถซื้อได้ทุกเล่ม ยกเว้นเล่มที่ดีไซน์แปลกๆ หรือมีรูปแบบการพิมพ์พิเศษ มีพระบรมฉายาลักษณ์ที่หาชมยาก หรือเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต จึงจะซื้อเก็บ อย่างเล่มนี้เป็นหนังสือที่สำนักพระราชวังจัดทำขึ้นมา เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ต้องสั่งจอง พอทราบข่าวจึงให้น้องที่ทำงานในวังสั่งจองให้ เป็นภาพพระราชประวัติแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ การทรงงาน หรือมีพระราชกรณียกิจอะไรบ้าง หรือช่วงที่พระองค์ท่านเสด็จขึ้นครองราชย์ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป จนครบปีที่พระชนมพรรษา 80 พรรษา ทำเป็นภาพถ่ายขาวดำอัดบนกระดาษ ใส่กรอบแบบโบราณทำด้วยมือ ซึ่งคงหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ทุกครั้งที่หยิบมาดูจะรู้สึกมีความสุข”

ไม่เฉพาะภาพถ่ายหรือหนังสือเท่านั้นที่คุณลูกน้ำเก็บสะสมอย่างดี แม้กระทั่งพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดโปสต์การ์ดที่หาได้จากตลาดนัดจตุจักร ซีดีเพลงพระราชนิพนธ์ แสตมป์ พระบรมฉายาลักษณ์ที่เขาตัดเก็บไว้ หนังสือแจกฟรี หรือแผ่นพับที่มีพระบรมราโชวาทของในหลวง ซึ่งดูจากสภาพเรียบกริบแล้ว คะเนว่าน่าจะได้รับการเก็บรักษาอย่างดี

“กระดาษแผ่นนี้เขียนว่า ‘ทำดีเพื่อพ่อ’ แม้จะเป็นแค่กระดาษใบเดียวที่ได้รับแจกตอนขับรถขึ้นทางด่วน แต่เมื่อพลิกด้านหลังและอ่าน สิ่งที่ได้ตามมามีค่าอีกมากมาย เพราะพระบรมราโชวาทของพระเจ้าอยู่หัวสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตได้หมด ถ้าเราทิ้งก็เหมือนกับกระดาษแผ่นหนึ่งที่ไม่มีค่า แต่ถ้าเราเก็บและได้อ่าน เราจะมีความรู้สึกว่ามีค่ามาก นอกจากเราจะปฏิบัติตัวตามที่พระองค์ท่านสอนแล้ว ยังสามารถบอกต่อคนอื่นได้อีก หรืออย่างหนังสือเล่มนี้แจกฟรี เป็นหนังสือธรรมะ ได้มาตอนทำบุญ หน้าปกเป็นพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จย่าทรงจุมพิตพระเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงรักและผูกพันกับแม่ เห็นแล้วประทับใจ เพราะฉะนั้นต้องเก็บ ไม่ทิ้งแน่นอน หรือพระบรมฉายาลักษณ์ขาวดำตอนทรงพระผนวช อยู่ปกหลังในของแมกกาซีนหัวนอก แม้จะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่เคยเห็นแล้ว แต่ไม่ได้คอนทราสต์สวยมากขนาดนี้ จึงตัดเก็บไว้ ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์องค์นี้ตั้งแต่ปี 2507 ทรงฉลองพระองค์เต็มพระยศ  เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ปกหลังในของวารสาร true ซึ่งแจกฟรีให้สมาชิก เราก็ยังตัดเก็บ ไม่รู้ว่าจะหาภาพนี้ได้จากที่ไหนอีก”

ถ้าถามว่าเขานำสิ่งไหนที่พระองค์ท่านทรงสอนไปใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด ได้คำตอบว่า “เรื่องความพอเพียง บางคนเห็นว่าเราอยู่ในวงการแฟชั่น ดูฟุ้งเฟ้อ แต่แฟชั่นก็คือแฟชั่น แต่สิ่งที่เราพอเพียงคือ เรามีความคิดอ่านที่คอยเตือนตัวเองว่าอะไรควรมากน้อยแค่ไหน  เช่น บางทีมีความรู้สึกว่าอยากได้โน่นได้นี่ แต่พอรู้สึกว่ามีเยอะแล้วนะ จะมีไปทำไมอีก เสื้อผ้า รองเท้าซูเปอร์แบรนด์ที่เราซื้อ เคยใช้มาหมดแล้ว จึงกลับมาอยู่ในความพอดี แต่ไม่ใช่ไม่ซื้อเลย คือซื้อแบบเบสิก ใส่ได้นาน ไม่ใช่ตัวละสามหมื่น ห้าหมื่น เมื่อก่อนมีสตางค์ไม่มาก แต่ซื้อของแพง ตอนนี้อาจมีเงินมากกว่าเมื่อก่อน แต่กลับไม่ซื้อ เพราะมีความรู้สึกว่า ‘พอ’ แล้ว เป็นสิ่งที่มาย้ำเตือนเรา

“อีกภาพหนึ่งที่ติดตามาตลอดคือ ภาพหลอดยาสีพระทนต์ของพระเจ้าอยู่หัวที่รีดใช้จนแบน ซึ่งพระองค์ท่านทรงทำให้เราเห็นถึงการใช้อย่างรู้คุณค่า เพราะฉะนั้นหลอดยาสีฟันของเราก็รีดจนแบนแต๋ บีบใช้จนหยดสุดท้ายเหมือนกัน คือถ้านำคำสอนของพระองค์ท่านมาวิเคราะห์ ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ใช้ได้จริง

“โดยเฉพาะเรื่องความพอเพียง ซึ่งไม่มียุคสมัย ไม่ว่าอยู่จุดไหน ฐานะอย่างไร สามารถนำมาปรับใช้ได้หมด ขอให้อยู่ในใจเรา และรู้ว่า ‘พอเพียง’ ของแต่ละคนคืออะไร”

 

เรื่องและภาพ : นิตยสารแพรว ปี 2557 ฉบับที่ 846 (25 พ.ย. 2557) 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up