พิธีโบราณของช่างหลวง อัญเชิญเครื่องสดบางส่วน ไป จำเริญ(ลอย)น้ำ หลังถวายพระเพลิงฯ

หลังจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อค่ำคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา เช้าวันนี้ (27 ต.ค.60) เวลา 07.00 น. ทางสำนักพระราชวังได้ทำพิธี จำเริญ(ลอย)น้ำ โดยนำเครื่องสดพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ ไปลอยน้ำที่ปากคลองบางกอกใหญ่

ถือเป็นธรรมเนียมพิธีโบราณของเหล่าช่างหลวงที่มาอย่างยาวนาน สำหรับ พิธีจำเริญ(ลอย)น้ำ ที่ทางเพจ สัตตมาลี น้ำปรุงตำรับในวัง ได้นำข้อมูลที่ดีมาเผยแพร่ต่อประชาชนชาวไทย โดยหลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อค่ำคืนวานนี้ ในเช้าวันที่ 27 ตุลาคม 2560 เวลา 07.00 น. ทางสำนักพระราชวัง นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง และช่างฝีมือทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ ได้อัญเชิญเครื่องสดบางส่วน ที่หลงเหลือจากการถวายพระเพลิงฯ ไปจำเริญ(ลอย)น้ำ ที่ปากคลองบางกอกใหญ่

โดยเจ้าพนักงานสำนักพระราชวังได้อัญเชิญเครื่องสดประดับจิตกาธานลงมาจากพระเมรุมาศเมื่อเวลา 04.00 น. ห่อด้วยผ้าขาววางบนพานทอง มีทั้ง กาบกล้วย ดอกไม้ ม่านตาข่ายดอกไม้สด กรองดอกไม้จากเขตพระราชฐานชั้นใน ภู่กลิ่น พวงแขวนที่ประดับที่มุมของพระจิตกาธาน ลายแทงหยวกประดับชั้นรัดเอว ชั้นรัดเกล้า แล้วนำไปล่องเรือบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ หน้าป้อมวิไชยประวิทธิ์ ซึ่งเป็นคุ้งน้ำที่มีน้ำผ่านตลอดเวลา

จากนั้นนายช่างกล่าวคำบูชาขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า “ด้วยเพลิงฟ้าที่ได้จุดขึ้นในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว พระเพลิงฟ้ามีความร้อนแรง ความร่มเย็นแห่งสายน้ำของพระคงคาดับเพลิงฟ้าที่ร้อนแรงลุกโชติช่วงให้ดับสิ้น เพื่อความเป็นสิริมงคล ความร่มเย็นเป็นสุขของเหล่านายช่างที่มาถวายงาน และประเทศไทยต่อไป”

ต่อมา พล.ร.ต.เดชดล ภู่สาระ เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ ผู้ดูแลเกี่ยวกับเรื่องของสายน้ำโดยตรงเป็นผู้นำจำเริญน้ำ ตามด้วยเหล่านายช่างค่อยๆ หย่อนเครื่องสดทีละชิ้นลงในแม่น้ำ รวมถึงธูปเทียนดอกไม้ที่เป็นสีขาว เรียกว่าขันครู หรือขัน 5 เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์แห่งศีลและความดีงาม ที่ได้ใช้ในพิธีบวงสรวงสังเวยช่างเครื่องสดราชสำนัก โดยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็นำมาจำเริญน้ำด้วย และกระบวนนี้ถือเป็นการเสร็จสิ้นในการทำงานเครื่องสดถวายของเหล่าช่างหลวง

สำหรับพิธีนี้ได้มีการนำมาลอยน้ำบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ตั้งแต่สมัยพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี แต่เป็นการดำเนินการภายใน และพิธีนี้มีความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่โบราณจากปากครูถึงลูกศิษย์ว่า พระเพลิงที่ทรงจุดนั้นเป็นเพลิงฟ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ จะดับโดยการเป่าหรือใช้น้ำไม่ได้ ต้องดับโดยมหานทีสีทันดรที่มีเทวดาอารักษ์อยู่คือ พระแม่คงคา เพื่อความร่มเย็นและเป็นสิริมงคล ซึ่งนายบุญชัยได้กล่าวว่า พิธีนี้เป็นสิ่งที่ไม่อยากพบ ไม่อยากทำ ไม่อยากเห็น เพราะโอกาสที่จะทำคือต้องมีการสูญเสีย

ทั้งนี้ งานกรองดอกรักฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในชั้นเรือนยอดสูงสุดชั้นที่ 9 ที่ไม่ได้รับความเสียหาย จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะประชาชนจะได้ชมในงานนิทรรศการพระเมรุมาศที่จะขึ้นระหว่างวันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2560

 

ที่มาและภาพ: เพจ Facebook – สัตตมาลี น้ำปรุงตำรับในวัง

Praew Recommend

keyboard_arrow_up