“ประตูเทวาภิรมย์” พระทวารเชิญพระบรมโกศ ออกจากพระบรมมหาราชวังสู่ท้องสนามหลวง

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ที่หลายคนล้วนอยากจดจำและสัมผัสให้ได้มากที่สุดแม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้ามากแค่ไหนก็ตาม 

วันนี้ แพรวดอทคอม จึงจะพาไปรู้จัก “ประตูเทวาภิรมย์” ซึ่งเป็นหนึ่งในประตูชั้นนอกตามกำแพงพระบรมมหาราชวังจากทั้งหมด 12 ประตู โดยแต่ละประตูได้มีการตั้งชื่อให้สอดคล้องไล่เรียงกันไป และประตูเทวาภิรมย์นี้ก็นับเป็นประตูสำคัญในพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ เนื่องจากเป็นจุดแรกที่พระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จะเคลื่อนออกเพื่อมุ่งสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ประตูเทวาภิรมย์ เป็นประตูชั้นนอกอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ระหว่างป้อมมหาสัตตโลหะและป้อมทัศนนิกร ตรงข้ามกับท่าราชวรดิษ โดยมีชื่อสามัญว่า ประตูท่าขุนนางหน้าโรงทาน ซึ่งเมื่อถัดเข้ามาด้านในจะเป็นประตูชั้นในชื่อว่า ประตูศรีสุนทร สำหรับประตูตามกำแพงพระบรมมหาราชวังนั้นได้มีการสร้างและเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประตูเทวาภิรมย์ เป็นประตูวังหนึ่งเดียวที่ได้เปลี่ยนเป็นประตูยอดแบบใหม่ โดยเปลี่ยนจากประตูหอรบเป็นประตูยอด

สำหรับการอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศสู่พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ตามโบราณกาลจะอัญเชิญด้วยขบวนพระราชอิสริยยศ เรียกว่า ริ้วขบวน ซึ่งจะมีทั้งหมด 6 ขบวน ตามที่หลายคนได้เห็นผ่านสื่อหรือไปชมยังสถานที่จริงในวันซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเมื่อวันที่ 22-23 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยแต่ละขบวนได้มีการบูรณะตกแต่งราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ รวมถึงจะมีคนหาม คนฉุดชัดจำนวนมากเพื่อเคลื่อนขบวนให้งดงามประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์

พระยานมาศสามลำคาน

โดยในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ริ้วขบวนที่ 1 จะเชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผ่านทางประตูเทวาภิรมย์ จากนั้นใช้เส้นทางถนนมหาราช เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งไปยังถนนสนามไชย เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รวมระยะทาง 817 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

ตามด้วยริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปทางถนนสนามไชย ยาตราขบวนแห่เชิญพระโกศทองใหญ่ จากถนนสนามไชยเข้าสู่ถนนราชดำเนินใน จากนั้นขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่เชิญพระโกศทองใหญ่เข้าสู่ท้องสนามหลวง รวมระยะทาง 890 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยหลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของริ้วขบวนที่ 3-6 ตามลำดับ

 

 


ข้อมูล: http://www.kingrama9.th, หนังสือราชรถ ราชยาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ กรมศิลปากร และเว็บไซต์พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ภาพ: http://www.kingrama9.th, google street view, แพรวดอทคอม

Praew Recommend

keyboard_arrow_up