เปิดพระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เรื่องหญ้าแฝกที่ทำให้สมเด็จย่าทรงหายเซ็ง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงรักและกตัญญูต่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ ยิ่งนัก ความข้อนี้เป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วในใจไทยทุกดวง

นั่นทำให้ที่ผ่านคนไทยได้รับรู้เรื่องราวที่ถ้าพูดในมุมชาวบ้านก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องราว ‘น่ารักๆ ระหว่างแม่กับลูก’ ของ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จย่าอยู่เนืองๆ

แม้กระทั่งเรื่องการทรงงานอันแสนหนักหน่วงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แต่หากพระราชภารกิจนั้นมีความเกี่ยวข้อง หรือเป็นการทรงงานร่วมกันระหว่างพระองค์กับสมเด็จพระบรมราชชนนีแล้วไซร้ ก็มักจะปรากฏเป็นหลักฐานที่ในวันนี้ได้กลายเป็นรอยจารึกอันงดงาม ตราตรึงอยู่ในหัวใจของคนไทย ดังเช่น พระราชดำรัสเล่าถึงความมหัศจรรย์ของหญ้าแฝก ที่พระองค์พระราชทานแก่ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และคณะผู้ปฏิบัติงานโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ความตอนหนึ่งว่า

“…น่ามหัศจรรย์ที่หญ้าเพียงบางชนิดได้ประโยชน์ในที่ต่างๆ หญ้าแฝกบางชนิดได้เกิดประโยชน์ในที่ลักษณะเป็นที่ราบ บางแห่งก็ได้ประโยชน์ในที่ต่างกัน เช่น บนภูเขา ดินลึกก็มี ดินตื้นก็มี เรื่องดินลึกนั้นได้ปรากฏว่ารากได้หยั่งลึกลงไปถึงห้าหกเมตร แล้วก็ลงไปได้ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่ได้นึกว่าหญ้าจะลงไปลึก ข้อสำคัญ หญ้านี้ได้หยั่งลงไปห้าหกเมตร และไม่ได้แผ่ออกไปข้าง ๆ แสดงว่าไม่ไปรังควานรากของพืชที่เป็นประโยชน์

“อันนี้ตอนต้น ได้ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนี ซึ่งท่านเวลานั้นทรงไม่สบาย ทำให้ท่านมีความเรียกว่าเซ็งในชีวิต ก็ได้ไปเฝ้าที่วังสระปทุม ซึ่งเวลานั้นบอกได้ว่าท่านใช้คำว่าเซ็งน่ะ ไม่เกินความหมายของสภาพของท่าน ได้ไปกราบบังคมทูลว่า เดี๋ยวนี้ขอแรงท่านทำประโยชน์กับพืชอย่างหนึ่ง ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั่วทั้งประเทศ ท่านรู้สึกว่าเกิดครึกครื้นขึ้นมา ท่านบอกว่ามีหรือ นึกว่าทำหมดแล้ว ศึกษาอะไรๆ หมดแล้ว เลยบอกเปล่า นี่เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาน้อย น้อยมาก ก็เลยเล่าให้ท่านฟังเรื่องความมหัศจรรย์ของหญ้าแฝก ซึ่งเป็นหญ้าธรรมดา แต่ว่ามีคุณสมบัติที่จะช่วยให้พืชในที่ต่างๆ มีประโยชน์ขึ้นมาอย่างมหัศจรรย์ คือว่าไม่ได้นึกเลยว่า จะใช้หญ้าธรรมดานี้มาทำให้การเพาะปลูกดีขึ้น ท่านก็บอกว่าจะไปทำที่ไหน ก็กราบบังคมทูลว่า ทำในที่ที่เคยทรงปฏิบัติ ก็คือในที่ภูเขาส่วนหนึ่ง ที่ภูเขานั้นก็คือที่ที่โปรดมาก ที่ดอยตุง ซึ่งถ้าไม่ได้ใช้หญ้าแฝกนี้ จะทำให้ที่แถวนั้นไม่เจริญ

“แล้วเจริญอย่างไร ก็ทำให้ที่ที่ตามปรกติเราเห็น ไม่หญ้าก็พืชต่างๆ ขึ้นไม่เป็นปรกติ หมายความว่าหญ้าไปคลุม ไปปกคลุมที่ ทำให้ที่นั้นไม่บริบูรณ์ แต่ว่าหญ้าแฝกนี้ ถ้าทดลองหญ้าแฝก ที่เป็นประโยชน์จากหญ้าแฝกหลายชนิดจะทำให้ดี ที่แถวนั้นเจริญดีขึ้น โดยทำให้ที่เหล่านั้นมีความบริบูรณ์ขึ้น ด้วยการเลือกหญ้าที่เหมาะสม และปลูกในทางที่เหมาะสม และปลูกในทางที่เหมาะสมที่ถูกต้อง จะทำให้ที่เหล่านั้นสามารถทำประโยชน์ได้ เราก็ทูลท่านว่า จะทำให้ที่เหล่านั้นมีความเจริญ จะใช้ประโยชน์ของที่นั้นได้ดีมาก แล้วเล่าให้ท่านฟังว่า จะทำให้ที่เหล่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเลือกที่ แล้วเลือกหญ้าที่เหมาะสม จะทำให้ที่เหล่านั้นเจริญงอกงามอย่างมหัศจรรย์ แล้วเล่าให้ท่านฟังว่ามีวิธีปลูกอย่างไร และวิธีเลือกหญ้าแฝกชนิดต่างๆ

“ท่านก็ตื่นเต้น แต่ท่านบอกว่า จะไปทำอะไรได้ ก็ทูลว่าถ้าทรงพร้อม ท่านไปเดี๋ยวนี้ก็ได้ ท่านก็ตื่นเต้น เลยเรียกคนของท่านบอกว่าเอ้าตกลง เดี๋ยวนี้แข็งแรงพอแล้ว จะไปได้ ความจริงท่านก็เพิ่งเริ่มแข็งแรง แต่ท่านครึกครื้นมาก ท่านบอกไปเดี๋ยวนี้เลย ลงท้ายหญ้าแฝกเป็นหญ้ามหัศจรรย์ที่ทำให้ท่านแข็งแรงทันที

สมเด็จย่าทรงนำเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เพื่อทอดพระเนตรศูนย์ศึกษาพัฒนาเพาะพันธุ์หญ้าแฝก ณ โครงการพัฒนาดอยตุง จ.เชียงราย พ.ศ. 2536

สมเด็จย่าทรงนำเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทอดพระเนตรลักษณะของหญ้าแฝกที่มีรากยาว แข็งแรง แผ่เป็นตาข่ายใต้ดิน สามารถยึดดินให้เกาะกันแน่น และลำต้นหรือกอแฝกยังช่วยดักตะกอนดินและชะลอความเร็วการไหลของน้ำ ณ บ้านอีก้อสี่หลัง (ปัจจุบันคือบ้านอาข่าสี่หลัง) เมื่อ พ.ศ. 2536
สมเด็จย่าทรงปลูกหญ้าแฝก ณ บริเวณไหล่ทางถนนตัดใหม่ดอยตุง กม. 18 จ. เชียงราย พ.ศ. 2538
หญ้าแฝกอายุ 3 เดือน รากยาว 3 เมตร จัดแสดงในท้องพระโรงของพระตำหนักดอยตุง เพื่อให้สมเด็จย่าทอดพระเนตร

“ในที่สุดเสด็จไปภายในไม่กี่วัน เสด็จไปดอยตุง แล้วก็ขอให้คนนำหญ้าชนิดต่างๆ มา เลยทูลว่าให้ไปปลูกหญ้าชนิดต่างๆ ในที่ต่างๆ เพื่อทดลอง บอกได้ว่าท่านครึกครื้นมาก รู้สึกท่านดีใจมากที่มีงานที่จะทำ เพราะเวลานั้นท่านกำลังเดือดร้อนในจิตใจ เพราะว่าหมอบอกว่าไม่ได้ เสด็จไปไม่ได้ ท่านก็บอกว่าทำไมจะไม่ได้ แล้วในที่สุดท่านก็ไป แล้วก็ไปเป็นคนภูเขา เสด็จไปได้อย่างประหลาด หมายความว่าท่านออกไปทันที ออกเดินน่ะ แล้วก็ออกไปปลูกหญ้าภายในไม่กี่วัน หญ้านั่นก็เจริญงอกงามออกมา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประหลาด…”

จริงๆ แล้วประโยชน์ของหญ้าแฝกในข้อที่ว่าปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งลดการชะล้างพังทลายของดิน เริ่มเป็นที่รับรู้ของชาวโลกก็เมื่อธนาคารโลกมีการรณรงค์ให้ใช้หญ้าแฝกในการแก้ปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๓ ทว่าก็ยังไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนออกมาขานรับว่าจะนำประโยชน์ที่ได้รับทราบไปพัฒนาให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงๆ จังๆ

กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงนำเรื่องหญ้าแฝกจากเอกสารของธนาคารโลกมาศึกษา ก่อนมีพระราชดำริขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก เริ่มจากการทดลองปลูก ขยายพันธุ์ จนนำไปสู่การแจกจ่ายให้ประชาชนที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ในการบำรุงดินและน้ำ

ดังเช่นทุกเรื่องทุกราว ขอเพียงอยู่ในความสนพระราชหฤทัย พระองค์จะทรงศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจังยิ่งยวด และทำให้กาลต่อมาคือวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ IECA ได้มีมติถวายรางวัล The International Merit Award แด่พระองค์ ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ

และวันที่ ๓๐ ตุลาคม ปีเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งธนาคารโลก ได้นำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายแผ่นเกียรติบัตรเป็นภาพรากหญ้าแฝก ชุบสำริด ซึ่งเป็นรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ (award of recognition) ในฐานะที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในประเทศไทย

 

ทีมาข้อมูล มูลนิธิมั่นพัฒนา www.tsdf.or.th

ที่มาพระบรมฉายาลักษณ์ : www.facebook.com/SomdejYa

Praew Recommend

keyboard_arrow_up