รัฐธรรมนูญไทย ตลอดรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 (ตอนที่ 1)

ยุคเผด็จการอันยาวนาน
ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2502 มีเหตุการณ์ไม่สงบที่สําคัญเกิดขึ้นคือ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่งถึง 83 จากจํานวน 160 ที่นั่ง นับเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทน แต่ได้มีการชุมนุมประท้วงขึ้น โดยนิสิตนักศึกษาและประชาชนพากันกล่าวหาว่าการเลือกตั้งครั้งนั้น “สกปรก” เพราะมีการทุจริตอย่างชัดเจน การนับคะแนนในบางจังหวัดต้องใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน และในระหว่างนับคะแนนมีเหตุไฟฟ้าดับอยู่บ่อยๆ การประท้วงขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเหตุการณ์ไม่สงบ รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่นิสิตนักศึกษาก็พร้อมใจกันเดินขบวนไปยังทําเนียบรัฐบาลเพื่อเข้าพบนายกรัฐมนตรี ขอให้ประกาศว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
ระหว่างนั้นมีการร้องคัดค้านการเลือกตั้งในหลายจังหวัด จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์เข้ายึดอํานาจจากรัฐบาลจอมพล ป. ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เหตุการณ์จึงสงบลง และได้เชิญนายพจน์ สารสิน อดีตเอกอัครราชทูตและนักธุรกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้ลาออก เพื่อให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นไม่นานนักจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กลับมาปฏิวัติอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และเข้าดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเมื่อปี พ.ศ. 2502 และมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจํานวน 240 คน เพื่อทําหน้าที่นิติบัญญัติและยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
แต่ในทางการเมืองต้องถือว่าเป็นสมัยเผด็จการ เพราะไม่มีสภาซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และไม่มีกลไกควบคุมรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีอํานาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร สามารถใช้อํานาจในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการได้เอง รัฐบาลขณะนั้นก็มักออกแถลงการณ์อยู่เนืองๆ โดยใช้ข้อความว่า “คณะปฏิวัติและรัฐบาลนี้” ควบคู่กันไป แต่ในภาพรวมถือว่าประเทศมีการพัฒนามากขึ้น เช่น มีการกระจายความเจริญออกไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ถึงกับมีการตั้งมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด มีการตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ออกพระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ ประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยกเลิกการสูบฝิ่นและจําหน่ายฝิ่น
ในช่วงเวลา พ.ศ. 2511 – 2514 นี้ มีเหตุการณ์สําคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2513 มีประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี โดยเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงพระราชฐานันดรศักดิ์เสมอด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้าในพระบรมราชวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเฉลิมพระนาม
สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2514 มีพระราชพิธีรัชดาภิเษก เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสวยราชสมบัติมาบรรจบครบ 25 ปี และในวันที่ 21 ธันวาคม มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 ให้จัดตั้งนครหลวงกรุงเทพธนบุรี โดยรวมจังหวัดพระนครกับจังหวัด
ธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรก การจัดการปกครองนี้ได้ผันแปรมาเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เรียกว่า
กรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงเวลาการปฏิวัติ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา คณะปฏิวัติได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้น เพื่อใช้อํานาจแทนรัฐบาลและรัฐสภา การออกกฎหมายในขณะนั้นได้ตราขึ้นในรูปของประกาศของคณะปฏิวัติ ลงนามโดยหัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งมีการประกาศใช้ถึง 364 ฉบับ จนกระทั่งมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรจําเป็นต้องจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร รัฐบาลจึงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลนําเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่การยกร่างได้ดําเนินล่าช้าและยาวนาน ไม่เป็นที่พอใจของนิสิตนักศึกษาและประชาชน
ที่มา : บทความพิเศษ นิตยสารแพรว ฉบับที่ 895 ปักษ์วันที่ 10 ธันวาคม 2559

Praew Recommend

keyboard_arrow_up