พระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์ของในหลวงรัชกาลที่ 9

พระอัจฉริยภาพในศาสตร์และศิลป์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยการวาดภาพตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาและฝึกหัดการวาดภาพด้วยการทรงซื้อตำราการเขียนภาพมาศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง และทรงฝึกหัดวาดภาพเรื่อยมา

กระทั่งเสด็จนิวัตประเทศไทยก็โปรดให้จิตรกรที่มีความสามารถเข้าเฝ้าฯเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อให้เหล่าศิลปินร่วมโต๊ะเสนอ และทรงให้แต่ละบุคคลวิจารณ์ผลงานฝีพระหัตถ์ ซึ่งทรงเปิดพระทัยรับคำติชมอย่างไม่มีอคติ

เมื่อพระองค์เสด็จฯไปยังที่ใดก็มักจะทรงนำกล้องถ่ายภาพติดพระองค์เสมอ โปรดที่จะถ่ายภาพบันทึกความก้าวหน้าของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่เนืองๆ และบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ทรงสนับสนุนให้ใช้การถ่ายภาพเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคม ไม่ใช่เพียงเพื่อบันทึกความสวยงามหรือเพียงเพื่อความรื่นเริงใจ ดังพระราชดำรัสว่า…

“ศิลปะเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาประเทศได้อีกทางหนึ่ง”

การถ่ายภาพยนตร์เป็นอีกพระอัจฉริยภาพหนึ่งของในหลวง โดยเมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครนั้น ทรงนำกล้องถ่ายภาพยนตร์มาทรงถ่ายประชาชนที่เฝ้าฯรับเสด็จอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ทรงริเริ่มให้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี คือ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ซึ่งได้มีการจัดฉายเพื่อหารายได้จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล โดยทรงนำไปช่วยเหลือพสกนิกรในด้านต่างๆ เช่น สภากาชาดไทย โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กิจกรรมป้องกันรักษาโรคโปลิโอ เป็นต้น

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยเรื่องดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาวิชาดนตรีขั้นพื้นฐานอย่างจริงจังตามคำแนะนำจากพระอาจารย์อย่างเข้มงวดนานกว่า 2 ปี ทรงได้รับการฝึกฝนตามแบบการดนตรีอย่างจริงจัง เครื่องดนตรีที่โปรดคือเครื่องเป่าทุกชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ต และยังทรงกีตาร์ ทรงเปียโนได้ด้วย โปรดการทรงดนตรีมาก โดยเฉพาะดนตรีแจ๊ส ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีประเภทนี้มาก โดยหนังสือพิมพ์โฮโนลูลู แอดเวอร์ไทซิ่ง ได้ถวายพระนามว่าพระองค์ทรงเป็น “ราชาแห่งดนตรีแจ๊ส”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ สำหรับการทรงดนตรีกับวงนี้ เพื่อพระองค์จะได้ทรงใช้เวลานี้เป็นการทรงพระสำราญพระอิริยาบถ และบรรเลงดนตรีออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ อ.ส.ที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารกับพสกนิกรของพระองค์ในอีกทางหนึ่ง

Praew Recommend

keyboard_arrow_up