งดงามเหนือกาลเวลา…เรื่องราวข้างหลังภาพ 4 พระบรมสาทิสลักษณ์ มหาราชินี

ด้วยความสำนึกยิ่งในพระมหากรุณาธิคุณของมหาราชินี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง แพรวดอทคอม ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยด้วยการอัญเชิญ 4 พระบรมสาทิสลักษณ์อันประณีตงดงามจากฝีแปรงของ 4 จิตรกรไทยและต่างชาติ ที่ได้เขียนขึ้นถวายสักการะในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และด้วยความคิดที่ไม่เหมือนกัน

ทว่าสิ่งที่เหมือนกันของพระบรมสาทิสลักษณ์ทั้ง 4 องค์นี้คือ ล้วนมีจุดประดิษฐานอยู่ในพระราชวัง หรือบ้านของมหาราชินี และนี่คือเรื่องราวข้างหลังภาพพระบรมสาทิสลักษณ์แต่ละองค์ ที่ แพรวดอทคอม ขอนำมาบอกเล่า ดังนี้

พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถชื่อภาพ : ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’

เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าใบ

ปีที่วาด : พ.ศ.2503-2505

ขนาด : 272×150 เซนติเมตร

ที่ประดิษฐาน : พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

ศิลปิน : ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรชาวอินโดนีเซีย

ระเด่นบาซูกิเกิดที่ชวา ในครอบครัวสูงศักดิ์ เขาจึงมีโอกาสได้รับการปลูกฝังในเรื่องรสนิยมทางศิลปะมาตั้งแต่เล็ก เมื่ออายุ 18 ปี ได้เดินทางไปศึกษาศิลปะที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อกลับจากยุโรปก็ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมชั้นสูง ได้รู้จักทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และได้เริ่มเขียนภาพบุคคลผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้น ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคมอินโดนีเซีย และเป็นหนทางที่ได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย

ในระหว่างปี 2503 อันเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระทัยศึกษาแนวทางการเขียนภาพจิตรกรรมสมัยใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ระเด่นบาซูกิเดินทางเข้ามาเขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์เพื่อประดับไว้บนพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง

ผลงานของระเด่นบาซูกิในช่วงสิบปีที่พำนักอยู่ในราชสำนักไทย มีลักษณะของงานจิตรกรรมในแนวเหมือนจริงผสมแบบโรแมนติก แสดงออกด้วยสีสันที่หนักแน่น มีพลัง และอ่อนไหวคล้ายอารมณ์ฝัน โดยเขามักจะเน้นความสำคัญเฉพาะที่องค์ประธานของภาพ ด้วยการใช้แสงเงาคมชัดตัดกับส่วนหลังของภาพที่มีความเข้ม และมักจะสอดใส่อารมณ์โรแมนติกที่เป็นบุคลิกเฉพาะลงไป เช่น การแต่งพระวรกายให้ดูสูงเพรียวขึ้น สีพระฉวีมีความคมเข้มตามรสนิยมของชาวอินโดนีเซีย และส่วนหลังของภาพก็มักจะเขียนให้ดูกึ่งจริงกึ่งฝัน เพื่อให้ผู้ชมที่อยู่เบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์เกิดความรู้สึกคล้ายกับว่ากำลังถวายสักการะแด่องค์สมมติเทพ

ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ เสียชีวิตในวัย 78 ปี (วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536) ที่กรุงจาการ์ตา

ที่มาภาพ : หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก

 

พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถชื่อภาพ : ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’

เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าใบ

ปีที่วาด : พ.ศ.2505

ขนาด : 197×108 เซนติเมตร

ที่ประดิษฐาน : พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ศิลปิน : จูดี้ คาสซาบ จิตรกรหญิงชาวออสเตรเลีย

พระบรมสาทิสลักษณ์องค์นี้ รัฐบาลออสเตรเลียทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เมื่อครั้งเสด็จประพาสออสเตรเลียในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2505

การส่งภาพถึงกันเป็นวัฒนธรรมประเพณีของฝรั่งตะวันตกมาช้านานแล้ว ยุคสมัยหนึ่งสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษก็เคยทรงแสดงความเป็นมิตรไมตรีต่อสยามประเทศด้วยการส่งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์มาถวาย ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงจัดฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์และพระราชินีส่งถวายเป็นการตอบแทน

การที่รัฐบาลออสเตรเลียจัดถวายพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในครั้งนั้น นอกจากจะเป็นการแสดงความเป็นมิตรไมตรีที่ลึกซึ้งแล้ว ยังแสดงให้เห็นรสนิยมอันดีของผู้ถวาย รวมทั้งสะท้อนว่าได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดแล้วว่าพระมหากษัตริย์และพระมหาราชินีของไทยโปรดงานศิลปะในแนวทางนี้ด้วย

พระบรมสาทิสลักษณ์องค์นี้ มิใช่เขียนขึ้นเพียงให้เหมือนเท่านั้น แต่ยังถอดเอาพระบุคลิกภาพที่งามสง่าสมกับที่ทรงเป็นราชินีออกมาด้วย ทรงมงกุฎเพชร สร้อยพระศอ และพระกุณฑลเพชรส่องประกายระยิบระยับอยู่ท่ามกลางวรรณะทองอร่ามของฉลองพระองค์

จูดี้ คาสซาบ เป็นจิตรกรฝรั่ง จึงเขียนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง งามแตกต่างไปจากที่ระเด่นบาซูกิเขียน มีสีพระฉวีสว่างสดใส เธอกล้าหาญที่แสดงแสดงออกในฉลองพระองค์และส่วนหลังของภาพด้วยการใช้พู่กันและเครื่องป้ายปัดไปมา เหมือนกับว่าเธอกำลังเขียนภาพนามธรรมสมัยใหม่ รอยสีและพู่กันที่เคลื่อนไหวรุนแรงนี้ช่วยเน้นพระพักตร์ให้ดูงดงามและอ่อนหวานยิ่งขึ้น

จูดี้ คาสซาบ เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีก่อน(วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558) ด้วยวัย 95 ปี

ที่มาภาพ : หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก

 

พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถชื่อภาพ : ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’

เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าใบ

ปีที่วาด : พ.ศ.2519

ขนาด : 87×57 เซนติเมตร

ที่ประดิษฐาน : ศาลาว่าการสำนักพระราชวัง พระบรมมหาราชวัง

ศิลปิน : สนิท ดิษฐพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2532

อาจารย์สนิทเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของศาสตรจารย์ศิลป์ พีระศรี สมัยที่มหาวิทยาลัยศิลปากรยังเป็นโรงเรียนประณีตศิลปกรรม อีกทั้งยังศึกษาวิชาจิตรกรรมจากพระสรลักษณ์ลิขิต จิตรกรไทยคนแรกที่ได้ไปเรียนการเขียนภาพสีน้ำมันจากประเทศอิตาลี ในสมัยรัชกาลที่ 5

อาจารย์สนิทเข้ารับราชการในกรมศิลปากรเมื่ออายุเพียง 17 ปี เข้าร่วมแสดงงานครั้งประวัติศาสตร์กับกลุ่มจักรวรรดิศิลปิน ซึ่งก่อตั้งโดยนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ สด กูรมะโรหิต จัดแสดงผลงานที่ศาลาเฉลิมกรุงในช่วงปี 2492-2496

อาจารย์สนิทเขียนภาพเหมือนและภาพศิลปะด้วยสีน้ำ สีชอล์ก และสีน้ำมัน จนเป็นที่เลื่องลือในความสามารถ แต่ในการทำงานช่วงหลัง ด้วยความสำนึกจงรักภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและพระราชวงศ์ไทย อาจารย์จึงเขียนแต่พระบรมสาทิสลักษณ์เสียเป็นส่วนมาก โดยมีผลงานเด่นปรากฏอยู่มากมายหลายที่  ซึ่งพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ในฉลองพระองค์ผ้าทองอร่าม ประทับยืนท่ามกลางบรรยากาศของสีที่เย็นฉ่ำองค์นี้ ก็เป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่อาจารย์ภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก

อาจารย์สนิทได้รับการประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) เมื่อปี 2532 ขณะมีอายุได้ 67 ปี หลังจากนั้น 20 ปี จึงได้เสียชีวิตด้วยอาการเลือดออกในสมองแบบเฉียบพลัน

ที่มาภาพ : หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก

 

พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถชื่อภาพ : ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’

เทคนิค : สีน้ำมันบนผ้าใบ

ปีที่วาด : พ.ศ.2535

ขนาด : 66×52 เซนติเมตร

ที่ประดิษฐาน : พระตำหนักสิริยาลัย พระนครศรีอยุธยา

ศิลปิน : จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2543

หากเมื่อห้าสิบปีก่อนนี้เอ่ยนาม เหม เวชกร ว่าเป็นจิตรกรเอกของไทยแล้วไม่มีคนรู้จัก ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งคงเหมือนกับวันนี้ที่ถ้าเอ่ยนามอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต แล้ว ผู้ที่สนใจงานศิลปะจะบอกว่าไม่รู้จัก ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

อาจารย์จักรพันธุ์มีชีวิตอยู่ในโลกของศิลปะมาโดยตลอด เริ่มจากศึกษาเล่าเรียนด้านการวาดรูปโดยตรง จบมาแล้วก็มีอาชีพวาดรูป วาดได้ทั้งภาพจิตรกรรมสมัยใหม่และภาพจิตรกรรมไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์หุ่นเชิด และเป็นนักประพันธ์ที่มีแฟนอยู่ทั่วเมือง

พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์นี้ เป็นภาพที่งดงามที่สุดภาพหนึ่ง บรรยากาศของสีที่อบอุ่น อ่อนหวาน มีชีวิตชีวา เป็นบุคลิกภาพของจิตรกรหนึ่งเดียวคนนี้ ไม่มีใครเลียนแบบได้ คนที่เขียนรูปด้วยกันเท่านั้นที่จะรู้ดีว่าการเขียนภาพด้วยโครงสีภาพเป็นสีชมพูนั้น ถ้าไม่แน่จริงแล้วอย่าเขียน

ส่วนที่มาของพระบรมสาทิสลักษณ์นี้เริ่มต้นจากที่คุณสุทิน จิรมณีกุล ได้มาขอให้อาจารย์วาดภาพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเนื่องในวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา ปี 2535 อาจารย์เล่าว่าอาจารย์เริ่มต้นด้วยการหาพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาเลือกเป็นจำนวนมาก พบว่าประทับใจพระพระบรมฉายาลักษณ์ที่ผินพระพักตร์เล็กน้อย ส่วนฉลองพระองค์นั้นเปลี่ยนใหม่ ไม่ได้ใช้ตามพระบรมฉายาลักษณ์เดิม ซึ่งอาจารย์ใช้วิธีจัดหานางแบบเพื่อมาห่มสไบนั่งเป็นแบบให้เขียนจริง จะได้เห็นแสงเงาและรอยยับของผ้าได้ชัดเจน โดยใช้เวลาเขียนนานหนึ่งเดือน

ทั้งหมดนี้คือพระบรมสาทิสลักษณ์ มหาราชินี ที่งดงามเลอค่าหาใดเปรียบ และไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ยุคสมัย ความงามของภาพก็จะอยู่เหนือกาลเวลาตลอดไป


เรื่อง : พิษณุ ศุภนิมิตร

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 431

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ยลโฉม 6 มงกุฎอันทรงคุณค่า งดงามสมพระเกียรติ ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’

ยลโฉมเครื่องประดับ ‘สมเด็จพระพันปีหลวง-สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ’ ทรงเคยสวมใส่

เข็มกลัดสุดที่รัก ของขวัญล้ำค่า แทนความหมายลึกซึ้งใน ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’

Praew Recommend

keyboard_arrow_up