Kids on the slope

เอาใจแฟนหนังญี่ปุ่น ลิสต์ 6 ข้อพิเศษ ก่อนไปชม Kids on the slope

Kids on the slope
Kids on the slope

เอาใจแฟนภาพยนตร์ญี่ปุ่นกันอีกรอบในเดือนนี้ เมื่อการ์ตูนในตำนานของนิตยสารรายเดือน Flowers ที่เคยได้รับรางวัล “Shogakukan Manga” ครั้งที่ 57 และรางวัลชนะเลิศ “Kono Manga ga sugoi!” ปี 2009 ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Kids on the slope ซึ่งมีกำหนดฉายในไทยวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 นี้

คว้านักแสดงเด่นในญี่ปุ่นมาเล่นพร้อมกันถึง 3 คน สำหรับภาพยนตร์ญี่ปุ่น Kids on the Slope ที่ได้ จิเน็น ยูริ (Chinen Yuri) รับบท นิชิมิ คาโอรุ, นาคางาวะ ไทชิ (Nakagawa Taishi) รับบท คาวาบุจิ เซ็นทาโร่ และ โคมัตสึ นานะ (Komatsu Nana) รับบท มุคาเอะ ริตสึโกะ

Kids on the slope

โดยเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของนักเรียนมัธยมปลาย นิชิมิ คาโอรุ ที่สูญเสียพ่อไปจนต้องย้ายมาอาศัยอยู่กับญาติที่เมืองซาเซโบะ จังหวัดนางาซากิ คาโอรุต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว จนกระทั่งได้พบกับหนุ่มเกเรย้อมผมแดงที่ใครๆ ต่างเกรงกลัวอย่าง คาวาบุจิ เซ็นทาโร่ และ มุคาเอะ ริตสึโกะ เพื่อนร่วมห้องผู้มีจิตใจอ่อนโยน ซึ่งการมาพบกันของ 1 สาว 2 หนุ่มนี้ก็มีทั้งเรื่องความรัก มิตรภาพ รวมถึงเรื่องดนตรีแจ๊ส ที่นักแสดงต้องฝึกเล่นเครื่องดนตรีอยู่ประมาณ 10 เดือน เพื่อให้แสดงในฉากได้ออกมาสะกดใจคนดูกันเลย นอกจากนี้ยังมีนักแสดงสมทบท่านอื่นๆ อาทิ ดีน ฟุจิโอกะ, มาโนะ เอรินะ, นากามุระ ไบจาคุ, ยามาชิตะ โยริเอะ, มัตสึมุระ โฮคุโตะ จากวง SixTONES ค่ายจอห์นนี่ และ โนมากุจิ โทรุ

Kids on the slope
ฉบับการ์ตูน
Kids on the slope
ฉากในการ์ตูนเทียบกับฉากถ่ายทำหนังจริง ต้องใส่ใจรายละเอียดมากๆ

ในส่วนของการกำกับนั้น ได้ผู้กำกับ มิกิ ทากาฮิโระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับภาพยนตร์วัยรุ่น ที่เคยฝากผลงานดังมาแล้วก่อนหน้านี้มากำกับ ไม่ว่าจะเป็น Tomorrow I Will Date With Yesterday’s You และ Hot Road ซึ่งผู้กำกับก็ได้เลือกการเล่าเรื่องผ่านทัศนียภาพอันงดงาม ที่ได้ยกกองไปถ่ายทำกันทั่วภูมิภาคคิวชูของญี่ปุ่นกันเลย เรียกว่าได้เสพทั้งเรื่องดนตรีไพเราะ ฝีมือนักแสดง และภาพของหนังที่สวยกันแน่นอน 

ก่อนจะได้ไปชมกันนี้ แพรวดอทคอม ก็ขอลิสต์ 6 ข้อพิเศษ เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง Kids on the slope ที่มีทั้งเรื่องราวการถ่ายทำ รายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามในเรื่องนี้มาให้ได้ทราบกันก่อน เรียกว่า รู้ก่อน พอชมแล้วจะยิ่งได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น


1. ถ่ายทำที่เมืองซาเซโบะ จังหวัดนางาซากิ อย่างในต้นฉบับ!

Kids on the slope

ภาพยนตร์ Kids on the slope ถ่ายทำกันที่เมืองซาเซโบะ จังหวัดนางาซากิเป็นหลักอย่างในต้นฉบับการ์ตูน ดังนั้นจิเน็น ยูริ กับ นาคางาวะ ไทชิ ที่รับบท นิชิมิ คาโอรุ และ คาวาบุจิ เซ็นทาโร่ จึงต้องแสดงให้ได้ใกล้เคียงและเข้าถึงตัวละครในต้นฉบับ

วันที่ 28 เมษายน 2560 เป็นวันแรกของการถ่ายทำ โดยฉากแรกเริ่มที่ศาลเจ้าคาเมะยามะฮาจิมังกู เรื่องนี้ 2 หนุ่มได้ทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรกหลังจากเคยแสดงเรื่อง “Hell Teacher Nube” มาก่อน โดยจิเน็นมาในมาดหนุ่มแว่นชุดนักเรียนสีดำ ส่วนนาคางาวะใส่เสื้อกล้ามลายขวางสีแดงขาว ดูแล้วเข้ากันมากจริงๆ พอมีนาคางาวะอยู่ จิเน็นที่เป็นคนขี้อายก็ดูอุ่นใจขึ้น ทางทีมงานและนักแสดงสื่อสารกันได้ดีขึ้นก็เพราะนาคางาวะ ทำให้ช่วยจิเน็นในเรื่องการเข้าถึงตัวละครได้เร็วขึ้นด้วย 

ฉากนี้จะเป็นฉากที่เซ็นทาโร่มีเรื่องกับพวกนักเรียนหัวไม้ เพราะอยากระบายที่รู้ว่ายูรินะที่เขาชอบมีใจให้กับเฮียจุนที่เขารักเหมือนพี่ชาย พอถึงคิวต่อสู้นาคางาวะเล่นได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ และดูสมจริงถึงขนาดได้รับคำชมว่า “ตอบสนองไว เคลื่อนไหวดี!” แต่สิ่งที่ทำให้เราตกใจคือตอนที่จิเน็นเข้าไปห้ามว่า “เซ็น! หยุด!” เพราะมันทำให้มิตรภาพอันแน่นแฟ้นของคาโอรุกับเซ็นทาโร่ดรอปลง ผู้กำกับมิกิเลยแนะให้จิเน็นส่งเสียงเตือนด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนขึ้น

เราคิดว่าที่ผู้กำกับมิกิเริ่มถ่ายทำวันแรกจากฉากปะทะอารมณ์ของคาโอรุและเซ็นทาโร่ เพราะต้องการให้จิเน็นและนาคางาวะแสดงได้เข้าขากันยิ่งขึ้น ซึ่งมันก็ผ่านไปได้อย่างงดงาม เป็นการเริ่มต้นถ่ายทำที่ราบรื่นของ Kids on the slope


2. แสงที่ส่องสว่างความหมายของความรักและมิตรภาพ

Kids on the slope

ใน Kids on the slope มีการพบเจอแห่งโชคชะตาสำหรับตัวละครหลักคาโอรุอยู่ถึงสองครั้ง คือกับเซ็นทาโร่และกับริตสึโกะ ก่อนถ่ายทำ ผู้กำกับมิกิได้บอกนักแสดงเกี่ยวกับมิตรภาพของคาโอรุและเซ็นทาโร่  ฉากที่ทุกคนรู้จักกันดีก็คือฉากที่ทั้งคู่พบกันครั้งแรกบนดาดฟ้า เราไปถ่ายทำกันที่โรงเรียนหญิงล้วนเซวะ ที่ตั้งอยู่บนเนิน ซึ่งมองเห็นวิวโดยรวมของเมืองซาเซโบะ ตอนที่ถ่ายฉากนี้มีเมฆปกคลุมเล็กน้อย แต่ก็มีช่วงที่พระอาทิตย์ส่องในฉากที่จิเน็นและนาคางาวะปรากฏตัว เป็นแสงเจิดจ้าที่สาดลงมาซึ่งตรงตามบทที่ว่า “มีแสงสาดมาทางประตูที่ออกไปสู่ดาดฟ้า”

ฉากแสงสวยๆ เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในผลงานของผู้กำกับมิกิ และวันนั้นก็เป็นอีกวันที่ผู้กำกับมิกิเนรมิตแสงอันงดงามนั้นออกมา โดยในฉากนี้จะเป็นวันที่คาโอรุเพิ่งย้ายเข้ามา ก็เลยยังไม่มีเพื่อน เขาเลยหนีขึ้นไปบนดาดฟ้า พอไปหยุดอยู่ตรงทางเข้าก็พบกับเซ็นทาโร่ที่แอบมานอนกลางวันอยู่ ฉากนี้ทั้งคู่ได้พบกัน แต่ดูไปก็เหมือนฉากความรักที่พระเอกได้พบนางเอก และตามเนื้อเรื่อง คาโอรุจะต้องตกใจที่เจอเซ็นทาโร่ครั้งแรก ซึ่งจิเน็นก็แสดงความรู้สึกนั้นผ่านทางสีหน้าได้อย่างดี แต่ตอนที่เซ็นทาโร่ยื่นมือไปหาคาโอรุที่มาเจอตัวเองแอบหลับ ทีมงานต้องให้จิเน็นเข้ามาใหม่ในรอบหลัง รอบแรกเซ็นทาโร่ช่วยคาโอรุ รอบหลังเป็นคาโอรุที่ช่วยเซ็นทาโร่ เป็นฉากที่แสดงนัยยะของความรักที่ผู้กำกับมิกิบอกไว้

การพบเจอครั้งที่สอง คือตอนที่ได้พบกับนางเอกริตสึโกะในห้องเรียน ซึ่งทีมงานไปถ่ายกันที่โรงเรียนมัธยมต้นฮานะโซโนะ เมืองซาเซโบะ วันแรกที่คาโอรุย้ายมาเรียน เขารู้สึกอึดอัดที่มีคนนินทาเป็นภาษาถิ่นที่ไม่คุ้นเคย แต่ก็มีคนที่เข้ามาคุยกับเขานั่นก็คือ ริตสึโกะ ที่รับบทโดย โคมัตสึ นานะ เพื่อให้ดูสมจริงและใกล้เคียงต้นฉบับ ทีมงานเลยเติมฝ้าให้เธอดูเหมือนริตสึโกะ ฉากนี้สาวใจดีอย่างริตสึโกะจะต้องส่งยิ้มให้คาโอรุ และคาโอรุต้องตกหลุมรักเธอตั้งแต่แรกพบ ทั้งจิเน็น ผู้กำกับ และทีมงานที่นั่งอยู่หน้าจอถึงกับชมกันใหญ่ว่า “น่ารักเกินไปแล้ว” และนี่ก็คือสองฉากที่เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพและความรักของคาโอรุ


3. สตูดิโอชั้นใต้ดิน สถานที่กำเนิดดนตรี สถานที่ซึ่งเชื่อมใจพวกเขา

Kids on the slope

ทีมงานเซ็ตฉากสตูดิโอดนตรีชั้นใต้ดิน “ร้านแผ่นเสียงมุคาเอะ” ที่โรงงานคานายะเซย์เซน เมืองบุนโกะทาคาดะ จังหวัดโออิตะ เมื่อลงบันไดมายังห้องใต้ดินก็จะพบกับ เปียโน กลองชุด และดับเบิลเบส เป็นห้องที่สร้างด้วยผนังอิฐคลาสสิกที่สึกกร่อนเป็นจุดๆ ข้างในมีบรรยากาศสบายๆ บรรดานักแสดงเลยใช้เป็นที่ผ่อนคลายยามว่าง รวมไปถึงใช้ซ้อมเล่นดนตรีด้วยกันระหว่างรอเข้าฉาก

“พอไบจาคุ ที่รับบท ซึโตมุ พ่อของริตสึโกะเริ่มเล่นดับเบิลเบส กลองของนาคางาวะก็เริ่มบรรเลง ตามด้วยทรัมเป็ตของ ดีน ฟุจิโอกะ และเปียโนของจิเน็น” ฉากที่สร้างขึ้นมานี้ทำให้ได้ดื่มด่ำไปกับสถานที่ซึ่งใช้ฝึกซ้อมดนตรีของพวกเขาอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ด้านโคมัตสึที่เล่นเป็น ริตสึโกะที่ได้ชมการแสดงของพวกเขาสดๆ ถึงกับบอกว่า “เห็นทุกคนเล่นดนตรีด้วยกันครั้งแรกแล้วขนลุกมาก เหมือนเป็นคนฟังที่ได้นั่งเก้าอี้พิเศษเลยค่ะ” ทางจิเน็นกับนาคางาวะเองก็ใช้เวลาฝึกซ้อมเปียโนกับกลองชุดอยู่หลายเดือน ถึงแม้จะซ้อมเฉพาะเพลงที่ใช้แสดง แต่การที่จะให้ผู้ชมสนุกไปกับการเล่นดนตรีแจมของพวกเขา นาคางาวะกล่าวว่า “ก่อนอื่นเราต้องสนุก พอเข้าถึงความเพลิดเพลินของการเล่นดนตรี ก็จะเกิดเป็นเวลาแห่งความสนุกที่แท้จริง”

และในภาพยนตร์ที่มีฉากเล่นดนตรีส่วนใหญ่ก็มักใช้ผู้แสดงแทน แต่โปรดิวเซอร์ของเราเชื่อมั่นในตัวนักแสดงและกล่าวว่า “ไม่ต้องใช้คนแสดงแทนหรอก ทุกคนเล่นดนตรีได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้เรื่อง La La Land หรือ Whiplash อยู่แล้ว”

ฉากเล่นดนตรีที่เป็นไฮไลท์อีกอย่าง คือตอนที่เฮียจุนซึ่งเป็นเหมือนแรงบันดาลใจของคาโอรุและเซ็นทาโร่เล่นกับวง ในบาร์ดนตรีแจ๊สที่นางาซากิ ฉากนี้ไปถ่ายกันที่ร้านดนตรีแจ๊สที่ชื่อว่า Tin Pan Alley” เมืองนางาซากิ ที่นั่น ดีน ฟุจิโอกะได้ร้องเพลง “But not for me” ไว้ได้อย่างไพเราะสะกดใจผู้ฟัง นับว่าเป็นภาพสุดวิเศษที่สะท้อนผ่านกล้อง และผู้ชมก็จะได้รับฟังเพลงฮิตหลายเพลงจากคาโอรุและเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง “Morning”, “Itsuka Oujisama ga”, “My Favorite Things”, “But not for me” เป็นต้น


4. ร้านแผ่นเสียงมุคาเอะที่สร้างขึ้นตามแบบอาคารยุคโชวะขนานแท้

Kids on the slope

มีอีกที่หนึ่งที่ทีมงานไปถ่ายทำกันคือ ย่านโชวะ เมืองบุนโกะทาคาดะ จังหวัดโออิตะ ย่านโชวะเป็นย่านค้าขายที่ได้รับความนิยมในยุคหลังๆ ที่นี่ถูกสร้างขึ้นมาในปีเฮย์เซย์ที่ 13 (2001) ตามแบบย่านค้าขายของปีโชวะที่ 30 (1954) ภาพยนตร์เรื่อง “Miracles of the Namiya General Store” ที่ฉายไปก่อนหน้านี้ก็เคยมาถ่ายทำกันที่นี่

ในครั้งนี้ทางเราได้ดัดแปลงร้านจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้เป็นร้านแผ่นเสียงมุคาเอะ ซึ่งรวมเอาแผ่นเสียงต่างๆ ไว้กว่า 5,000 แผ่น มีฉากที่นาคางาวะต้องขี่ฮอนด้าไปตามเมือง เขาได้พูดถึงประสบการณ์ล้ำค่านี้ว่า ตื่นเต้นมากครับเหมือนได้ย้อนไปในยุคนั้นเลย ฉากที่คาโอรุโทรชวนริตสึโกะไปเดทก็ถ่ายทำกันที่ย่านโชวะ โดยโทรศัพท์ที่คาโอรุใช้โทรไปที่บ้านของริตสึโกะกับร้านมุคาเอะเป็นโทรศัพท์หยอดเหรียญสีแดงรุ่นที่ต้องหยอดเหรียญสิบเยนไม่รู้กี่เหรียญต่อการโทรหนึ่งครั้ง เพราะในยุคนั้นยังไม่มีทั้งมือถือและสมาร์ทโฟน ในฉากนี้จิเน็นตั้งใจเป็นพิเศษ เขาใช้น้ำเสียงแสดงให้เห็นว่าประหม่า ตื่นเต้น หายใจไม่ทั่วท้อง เพราะแอบชอบริตสึโกะ

พอได้วันที่จะไปเดทกับริตสึโกะ คาโอรุก็ตอบกลับไปอย่างนิ่งๆ ว่า “….อื้ม ก็ดีนะ ได้สิ” แต่ในใจลึกๆ เขาดีใจมากจนแทบจะกระโดดโลดเต้น ซึ่งจิเน็นก็แสดงได้อย่างมีเสน่ห์สุดๆ แบบที่ต้นฉบับบรรยายไว้ว่า “กำมือดีใจเบาๆ ด้วยความสมหวัง” นอกจากนี้สิบวันสุดท้ายของการถ่ายทำในเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่ร้อนมากอย่างกับฤดูร้อน ร้อนจนเหงื่อตก ระหว่างถ่ายทำ ผู้กำกับมิกิคงอยากให้เราหายร้อนหายเหนื่อยเลยพูดกับทีมงานและนักแสดงเป็นภาษาถิ่นว่า “ไปหาไอติมกินกัน!” ทำเอาเฮลั่นกันยกกอง


5. การถ่ายทำสุดหินกับ “เนิน” ที่เป็นสัญลักษณ์ของภาพยนตร์

Kids on the slope

ในการ์ตูนต้นฉบับคาโอรุกล่าวว่า “หมอนั่นวิ่งขึ้นเนินที่น่ารังเกียจไปอย่างสบายๆ ” นี่คือฉากที่พาทีมงานไปสู่เรื่องราวในปี 1966 ถึงแม้จะเป็นเนินที่น่ารังเกียจแต่ก็งดงาม ทั้งยังสะท้อนภาพความทรงจำที่ตัวละครเคยมีร่วมกับบรรดาคนสำคัญ ทีมงานเลยต้องใส่ใจกับฉากที่ตัวละครต้องพบกับเนินที่เป็นสัญลักษณ์ของเรื่องเป็นพิเศษ

โดยเลือกใช้ทางลาดก่อนที่จะถึงโรงเรียนมัธยมปลายซาเซโบะคิตะอย่างในต้นฉบับ เป็นทางลาดที่ต้องค่อยๆ เดินไต่ขึ้นไปอย่างทุลักทุเล ถนนกว้างประมาณสามก้าวครึ่ง แค่เดินคู่กันก็แทบไม่มีที่ว่างแล้ว สองข้างทางก็มีบ้านเรือนเรียงราย เลยลำบากต่อการขนกล้องและอุปกรณ์ เป็นสถานที่สุดหินในการถ่ายทำก็ว่าได้ โดยฉากนี้จะเป็นฉากหลังเลิกเรียน ระหว่างที่คาโอรุกับริตสึโกะกำลังจะกลับ เซ็นทาโร่ก็ตะโกนเรียก ริกโกะ! ไปก่อนนะ!” จากนั้นก็หันไปมองคาโอรุแล้ววิ่งหายไป ทั้งจังหวะหันหน้าจังหวะสบตา มันยากนะที่ต้องแสดงในขณะที่วิ่งลงเนินไปด้วย แล้วถ้ารวมที่ซ้อมเท่ากับว่านาคางาวะต้องวิ่งลงไม่ต่ำกว่า 15 รอบเลยล่ะ

นอกจากนี้บทสนทนาของคาโอรุกับริตสึโกะ จิเน็นกับโคมัตสึก็ต้องคุยเหมือนไม่ได้เตี๊ยมกันไว้ให้เหมือนในต้นฉบับ ประโยคที่ตะโกนตอบนาคางาวะว่า โทษนะ เซ็น! ไม่ได้ตั้งใจ!” อันนี้ก็ไม่ผ่าน ต้องเดินขึ้นเนินอยู่หลายรอบ และบทสนทนาธรรมดาๆ นี้ก็ทำให้เราสัมผัสได้ว่าพวกเขาก็สนิทสนมกันไม่ต่างจากตัวละครทั้งสามเลย หลักๆ ของการถ่ายทำที่ซาเซโบะก็ประมาณนี้ ที่นี่เป็นสถานที่ทรงพลัง และเป็นช่วงเวลาที่ตราตรึงใจมากจริงๆ ถึงขนาดที่ว่าพอถ่ายทำเสร็จ บรรดานักแสดงต่างบ่นด้วยความเสียดายไม่อยากกลับโตเกียว


6. การเล่นดนตรีแจมในงานโรงเรียนที่สะกดใจผู้ชม

Kids on the slope

“2 ชั่วโมงพิเศษ ฉากตัดสินแพ้ชนะฉากที่จิเน็น, นาคางาวะ และผู้กำกับมิกิ รู้สึกเครียดที่ต้องเอาให้อยู่ คือฉากแสดงดนตรีในงานโรงเรียนที่เราใช้นักแสดงสมทบถึง 400 คน สั่งคัต 70 ครั้ง รวมแล้ว 2 ชั่วโมง เป็นฉากที่ทีมงานมิกิ ซึ่งปกติดูใจเย็นถึงกับตื่นเต้นด้วยความเครียด แต่อย่างไรเสีย มันก็เป็นความเครียดในแง่บวก โดยฉากนี้จะเป็นฉากที่คาโอรุกับเซ็นทาโร่เคืองกันอยู่ เซ็นทาโร่เลยไปตีกลองให้กับวงร็อคในงานโรงเรียน แต่อยู่ๆ ไฟก็ดับ เขาเลยต้องเปลี่ยนไปเล่นแจมกับคาโอรุ เราถ่ายจากนี้โดยให้ทั้งคู่เล่นไปตามเสียงดนตรีที่เราอัดเตรียมไว้ กว่ากล้องจะหมุนได้มุมที่ใกล้เคียงที่สุด ก็ต้องเช็คสเต็ปการใช้นิ้ว รวมถึงเช็คเรื่องอื่นๆ อยู่หลายรอบ

ความยากอีกอย่างคือระหว่างที่ถ่ายคัตของเปียโนอันหนึ่ง คัตของกลองชุดอันหนึ่ง ก็ต้องให้ดูว่าทั้งคู่เล่นเข้ากันด้วย  ความจริงเราก็ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ทุกครั้งที่ถ่ายฉากดนตรีเสร็จก็จะรู้สึกมึนๆ ทางจิเน็นไปซ้อมเปียโนมาสิบเดือน แต่ไม่ได้ฝึกอ่านชีทดนตรี อาศัยการฝึกจับเสียงโน้ต แล้วก็เรียนรู้จากการสังเกตเวลาครูผู้สอนขยับนิ้วตอนเล่นเปียโน จิเน็นบอกกับเราด้วยว่า พักนี้ผมชอบเล่นเพลงโปรด ไว้ถ้าเก่งกว่านี้คงได้แสดงสดให้ดูครับ” 

ทางนาคางาวะในแต่ละวันก็สู้แบบทุ่มสุดตัว เขาแกร่งนะ แต่รู้สึกว่าจะปล่อยขีดจำกัดของตัวเองออกมาได้ก็ต่อเมื่อถึงยามที่ถึงขีดสุดจริงๆ เวลาทำอะไรก็ตั้งใจทำเต็มที่อย่างที่ไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง หลายเดือนที่เขาซ้อมมามันเห็นผลชัดเจนเมื่อถึงคราวแสดงจริง ทำให้เราให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพในการเล่นดนตรีในฐานะนักแสดงของเขา ซึ่งมันถูกถ่ายทอดผ่านเพลงที่พวกเขาเล่นแจมกันอย่าง “My favorite things” “Itsuka Oujisama ga” และ “Morning” ที่ทำให้ทีมงานถึงกับตัวสั่นเทิ้ม เพราะเสียงฮือฮาของผู้ชมในตอนนั้น

โดยฉากดนตรีนี้จะอยู่ที่ประมาณห้านาที แน่นอนว่าใช้ทักษะของตัวนักแสดงล้วนๆ ไม่มีผู้แสดงแทน พอจบการเล่นแจมห้านาที ทั้งโรงยิมก็กึกก้องไปด้วยเสียงปรบมือ ที่ไม่ได้ปรบให้เพราะงานสร้าง แต่ปรบให้เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันตราตรึงใจ การเล่นแจมครั้งนี้ช่วยให้คาโอรุกับเซ็นทาโร่คืนดีกัน ขณะเดียวกันก็ทำให้ริตสึโกะที่เฝ้าดูพวกเขามาตลอดรู้สึกอุ่นใจขึ้นเยอะ เหมือนเป็นการเล่นแจมของพวกเขาทั้งสามคน โคมัตสึเล่าว่า เรื่องนี้แสดงยากค่ะ กลุ้มใจตลอดว่าควรแสดงยังไง แต่พอได้เห็นทั้งคู่ซ้อมเล่นใกล้ๆ ก็รู้สึกได้รับแรงบันดาลใจไปด้วย และในฉากนี้หลังจากที่ริตสึโกะพูดว่า “My Favorite Things…..” น้ำตาเธอก็พรั่งพรูออกมาพร้อมกับรอยยิ้มอันอ่อนโยนของเธอ

Kids on the slope

นับว่าแต่ละฉากที่ออกมาสวยงามบนหน้าจอให้ได้ชมกันนั้น ผ่านการทำงานที่ใส่ใจรายละเอียดอย่างหนักจากทุกๆ ส่วนเลยทีเดียว ใครที่เป็นแฟนนักแสดง รวมถึงแฟนหนังญี่ปุ่น ห้ามพลาดเชียว

 

 


เรียบเรียงโดย: บะหมี่กุ๊งกิ๊ง_แพรวดอทคอม
ข้อมูลและภาพ: Kids on the slope

Praew Recommend

keyboard_arrow_up