ความสุขแบบนี้…เฉพาะที่ Kiribati (ตอนที่ 1)

ประเทศคิริบาส (Kiribati) เป็นหมู่เกาะที่เกิดจากการทับถมของหมู่ปะการังกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ระหว่างออสเตรเลียและฮาวาย เรียกได้ว่าอยู่ไกลสุดขอบโลกเพราะอยู่ในเขตเวลาที่ 1 (First Time Zone) ดังนั้นเวลาที่นี่จึงเดินเร็วกว่าประเทศใดๆ ในโลก

3
โฮมสเตย์ตาบน เต เกเก้ อันแสนสงบ

ย้อนกลับไปเมื่อวันสิ้นปีของ ค.ศ. 1999 ขณะที่โลกทั้งโลกกำลังนับถอยหลัง (Countdown) เข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ประเทศเล็กๆ แห่งนี้โด่งดังเป็นพลุเพราะเป็นประเทศที่ได้โชว์การนับถอยหลังรับ ค.ศ. 2000 ก่อนใคร และคิริบาสก็นำการเต้นระบำพื้นเมืองที่สวยงามตระการตาและทรงพลังมาอวดชาวโลก…แน่นอนว่าทำให้คนอย่างผมเคลิบเคลิ้มถึงกับอยากไปเยือนแผ่นดินนี้ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

5
โบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมที่อลังการที่สุด

คิริบาสประกอบไปด้วยเกาะเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “อะทอลล์” (Atoll) ลักษณะแคบแต่ยาว ที่มีความกว้างเฉลี่ยเพียงครึ่งไมล์ และมีความยาวเฉลี่ยเพียง 20 ไมล์เท่านั้น อะทอลล์เหล่านี้เรียงรายกระจายตัวกินพื้นที่ในมหาสมุทรแปซิฟิกกว่า 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์หลายสำนักได้ประเมินไว้ว่า คิริบาสอาจจะจมหายไปจากโลกนี้ได้ภายใน 30 ปีจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ละลายและเพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก

8
เขตสุสานของครอบครัวจะล้อมบริเวณด้วยเชือกประดับธงสี

ระยะเวลา 30 ปีนั้นนับว่าไม่นานเลย นั่นหมายถึงว่า ลูกหลานเราหรือแม้แต่ตัวเราเองอาจต้องอพยพจากบ้านเกิดไปหาดินแดนที่อยู่ใหม่ ชาวอิคิริบาส (I – Kiribati) เจ้าของประเทศมองสถานการณ์ที่น่ากลัวเยี่ยงนี้อย่างไร นี่เป็นคำถามที่ทำให้ผมมุ่งหน้ามาหาคำตอบบนแผ่นดินนี้ด้วยตัวเอง

เกือบ 20 ชั่วโมงบินจากกรุงเทพฯ ในที่สุดเครื่องบินก็ร่อนลงสู่กรุงตาระวา (Tarawa) เมืองหลวงของคิริบาส สนามบินบอนริกิมีพื้นที่เล็กเท่ากับห้องแถวขนาดกลางสองคูหาเท่านั้น ผู้โดยสารนับร้อยชีวิตต้องพากันมาต่อแถวยาวเพื่อเตรียมยื่นหนังสือเดินทางบนลานบินนั่นเอง เสียงทักทายเจี๊ยวจ๊าวพร้อมมือน้อย ๆ ที่โบกต้อนรับอยู่ไหว ๆ ของเด็ก ๆ ที่มารอดูเครื่องบินขึ้น – ลงกันแน่นสนามบินเป็นความประทับใจแรกที่ผมมีต่อเกาะกลางมหาสมุทรแห่งนี้

“เมารี (Mauri)…ขอต้อนรับสู่คิริบาส” เจ้าหน้าที่ใจดีกล่าวอย่างยิ้มแย้ม พร้อมประทับตราดังโครมลงในหนังสือเดินทางของผมอย่างง่ายดาย ผมวางแผนการเดินทางไว้ว่า 3 คืนแรกนี้ผมจะค้างคืนในแถบตอนเหนือของตาระวา (North Tarawa) ส่วนอีก 4 คืนสุดท้ายจะกลับไปยังตอนใต้ (South Tarawa) เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพของประเทศนี้

ความสุขง่ายๆ ที่ “ตาบน เต เกเก้” (Tabon Te Keekee)

ตาบน เต เกเก้ เป็นโฮมสเตย์ที่สร้างอย่างเรียบง่าย ที่พักเป็นบ้านไม้หลังคามุงจาก ตั้งอยู่ในหมู่บ้านทางเหนือของตาระวาสิ่งที่เพลิดเพลินที่สุดในระหว่างที่ใช้เวลาที่นี่คือ การเดินสำรวจหมู่บ้านเพื่อทำความรู้จักกับวิถีชีวิตแบบอิคิริบาส

7
ฟาร์มเลี้ยงหอยมือเสือที่ตาระวา

ไม่ไกลจากโฮมสเตย์แห่งนี้มีฟาร์มเลี้ยงหอยมือเสือ (Giant Clam) ของชาวบ้านบริเวณหลังบ้านไม้มุงจากหลังเล็ก ๆ ดูแสนจะธรรมดานั้น มีบ่อซีเมนต์สี่เหลี่ยมผืนผ้าที่บรรจุน้ำทะเลใสสะอาดไว้เต็มเปี่ยม ในบ่อนั้นมีหอยมือเสือขนาดใหญ่มากหลายตัวนอนสงบอยู่ใต้น้ำ กาบเปิดออกเผยให้เห็นเนื้อข้างใน

“หอยพวกนี้อายุ 50 – 60 ปีแล้ว มาจากทะเลลึกและเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์” ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังขณะที่ชวนผมเดินไล่ดูไปตามบ่อซีเมนต์อื่น ๆ ที่อยู่ติด ๆ กันซึ่งเป็นบ่อลูกหอยวัยรุ่นขนาดเท่าฝ่ามือ กาบที่เปิดออกเผยให้เห็นเนื้อของหอยมือเสือที่มีสีสันสดใสอย่างน้ำเงินเข้ม ม่วงเข้ม ฟ้าเข้ม แม้แต่ลายแสดแซมดำ ไม่ก็เหลืองแซมดำ ดูไปก็เหมือนแปลงดอกไม้น้ำสีสวย

9
มาเนอาบา ศูนย์กลางของชุมชน

“หอยมือเสือที่นำไปตกแต่งแสดงในอะควาเรียมดัง ๆ ทั่วโลกมาจากฟาร์มหอยมือเสือแถว ๆ นี้ทั้งนั้นแหละ” พวกเขาเล่าด้วยความภูมิใจแต่ละวันที่ผมเดินเข้าไปในหมู่บ้าน ก็จะพบสภาพความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติ ผมชอบสภาพหมู่บ้านมาก ต้นไม้ใหญ่ ๆ อย่างสาเก มะม่วง มะพร้าวและเตยทะเลต้นโต ๆ ล้วนให้ความร่มรื่น ที่สำคัญคือเวลาเราเดินสวนกับใครต่อใครจะได้ยินคำทักทายว่า “เมารี”ที่ส่งให้มาพร้อมรอยยิ้ม

การสังเกตวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นเรื่องสนุก ผมอดไม่ได้ที่ต้องแอบยิ้มกับความเรียบง่ายของชีวิตคนที่นี่ตอนเช้ายังเห็นชาวบ้านนั่งซักผ้าด้วย “สบู่ซันไลต์” ในบ่อซีเมนต์ มีกะละมังวางเรียงกัน 3 – 4 ใบ ใส่น้ำซักน้ำล้างต่อ ๆ กันไป หรือเวลาทำกับข้าว เขาก็ยังก่อกองไฟกองใหญ่กันบนลานหน้าบ้าน ผัด ทอด ต้ม นึ่ง กันกลางแจ้งตรงนั้นเลย ที่นี่ยังเจียวน้ำมันหมูไว้ใช้ประกอบอาหารด้วยเหตุผลที่ว่า

“โอยยย…มันหอมกว่า อร่อยกว่าน้ำมันอื่น ๆ กินอาหารทั้งทีต้องให้อร่อยที่สุด”เรียกว่าความกลัวเรื่องคอเลสเตอรอลอย่างที่ว่ากันยังคืบคลานมาไม่ถึงที่นี่

ในหมู่บ้านมีศาลาหลังใหญ่ที่เรียกว่า “มาเนอาบา” (Maneaba หรือ Mwaneaba) ซึ่งเป็นศาลากลางหมู่บ้าน หลายแห่งยังคงเป็นหลังคามุงจาก รอบด้านเปิดโล่ง ไม่มีประตูหน้าต่าง มาเนอาบาเป็นเหมือนศูนย์กลางชุมชนที่มีไว้เป็นที่รวมสมาชิกหมู่บ้านเพื่อมาฟังการประกาศข่าวจะเป็นข่าวทางราชการหรือข่าวชาวบ้าน อย่างใครจะแต่งงานกับใคร วันนี้มีงานศพใครที่บ้านไหน ลูกใครเกิด ใครไม่สบาย ฯลฯ มาเนอาบาไม่เคยร้างราผู้คน ตลอดวันมีกลุ่มแม่บ้านนัดกันมานั่งสานเสื่อ เย็บผ้าหรือช่วยกันทำการฝีมือไปพร้อมกับนินทาสามีและลูก ๆ ส่วนหนุ่ม ๆ ก็แวะมานั่งคุยเฮฮา พร้อมกับส่งสายตาจีบสาว ๆ

10

อีกด้านหนึ่งของชีวิตชาวบ้านที่ตาบน เต เกเก้ คือความสนุกกับเพื่อนตัวน้อย นั่นคือเด็ก ๆ ชาวอิคิริบาสในหมู่บ้านนี้นั่นเอง ที่จะแวะมาเล่นกับผมเป็นประจำตอนช่วงบ่ายหลังโรงเรียนเลิก ตามสัญญาที่มีให้กันตั้งแต่วันแรกที่ผมมาถึง เกมสุดฮิตคือ ศึก “ปูหนีบปู” (Crab Fight) ซึ่งแต่ละคนจะไปไล่ล่าหาปูของตัวเองแล้วนำมาเปรียบขนาดกัน จากนั้นก็ขุดหลุมปล่อยเจ้าปูลงไปให้ไล่หนีบประลองกำลังกัน อีกเกมที่ชอบเล่นกันมากคือ การประดิษฐ์เรือใบจากกระป๋องน้ำอัดลม ที่นำมาดัดจนเป็นตัวเรือและใบเรือ จากนั้นนำไปปล่อยในแอ่งน้ำทะเล ลมที่พัดแรงตลอดเวลาจะพาให้เรือวิ่งฉิวลอยล่องไปบนผืนน้ำ ท่ามกลางการลุ้นของเจ้าของเรือที่ต้องการเห็นเรือของตนละลิ่วเข้าเส้นชัยก่อนใคร

เวลาค่ำที่ตาบน เต เกเก้ โฮมสเตย์เป็นเวลาแห่งความสงบ ตอนหัวค่ำแสงดาวมากมายนับล้านดวงนำความสดใสคืนสู่ผืนฟ้า พอตกดึกก็เป็นเวลาที่ดวงจันทร์มาทวงท้องฟ้ากลับคืนด้วยแสงนวลที่ส่องสว่างไปทั่ว…นั่นเป็นอีกหนึ่งความสุขที่ผมไม่มีวันลืมได้ลง

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับที่ 869 ปักษ์วันที่ 25 พศจิกายน 2558

Praew Recommend

keyboard_arrow_up