เผยเคล็ดลับเช็คสุขภาพ สัญญาณเตือนเสี่ยง โรคหลอดเลือดสมอง

เผยเคล็ดลับเช็คสุขภาพ สัญญาณเตือนเสี่ยง โรคหลอดเลือดสมอง

กรุงเทพฯ 15 กันยายน 2558 – องค์การอัมพาตโลก (World Stroke Organization : WSO) รายงานว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของประชากรอายุมากกว่า 60 ปีทั่วโลก และยังเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ 5 ของประชากรที่อายุระหว่าง 15-59 ปี ซึ่งในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองกว่า 6 ล้านคน ถือว่ามากกว่าคนที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ วัณโรค และโรคมาลาเรียรวมกันซะอีก ทั้งนี้องค์การอัมพาตโลกคาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ. 2558 นี้ ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองถึง 6.5 ล้านคน

โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก โดยสังเกตอาการได้จากมีอาการชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า หรือบริเวณแขนขาครึ่งซีกของร่างกาย พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว น้ำลายไหล กลืนอาหารลำบาก มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก เดินเซ ทรงตัวลำบาก เป็นต้น
โรคหลอดเลือดสมอง
เภสัชกรหญิงวิชชุลดา ผรณเกียรติ์ ผู้เชี่ยวชาญจากเมก้า วีแคร์ กล่าวว่า “โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ถือเป็นโรคที่อันตรายมาก ดังนั้น เมก้า วีแคร์ ในฐานะผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพในประเทศไทย จึงอยากกระตุ้นให้คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพ และดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดนี้ โดยอันดับแรกเราต้องสำรวจพฤติกรรมของเราก่อนว่าเสี่ยงจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองหรือไม่ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ชอบทานอาหารฟาสต์ฟู้ด-ปิ้งย่าง เพราะปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองทั้งสิ้น หากเราไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว เราอาจจะต้องหมั่นตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำทุกปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น ถ้าพบต้องรีบปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อป้องกันการเกิดโรคได้”
โรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ที่เสี่ยงกับโรคหลอดเลือดสมอง ถ้ามีปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมดังนี้

  1. อายุมากขึ้น ทำให้ร่างกายต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ ได้ยากกว่าวัยหนุ่มสาว
  2. ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากอายุที่เพิ่มขึ้น เพราะภาวะความดันโลหิตสูงส่งผลให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกกว่าปกติ
  3. โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยสำคัญที่มักพบร่วมกับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
  4. โรคหัวใจ เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะโรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ
  5. การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุโดยตรงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และผู้ที่สูบบุหรี่ มากกว่า 40 มวน/วัน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 2 เท่าของผู้สูบบุหรี่น้อยกว่า 10 มวนต่อวัน
  6. ตามใจปาก ขาดการออกกำลังกาย “ฟาสต์ฟูด-ปิ้งย่าง” อาหารก่อสารพัดโรคร้าย คนอเมริกันเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดกันเยอะ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะรับประทานเนื้อสัตว์พวกวัวและหมูมาก
  7. การดื่มสุรา ผลของแอลกอฮอล์ต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองขึ้นกับปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ดื่ม พบว่าผู้ที่ดื่มปานกลางจนถึงดื่มหนัก มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนปกติ ในขณะที่ผู้ที่ดื่มปริมาณน้อยอาจช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

เภสัชกรหญิงวิชชุลดา อธิบายเพิ่มเติมว่า “หากเราตรวจพบว่าเราเสี่ยง หรือเริ่มมีอาการโรคหลอดเลือดสมองแล้ว เราควรปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยทันที แต่หากเรายังไม่พบปัจจัยเสี่ยง เราก็ควรต้องดูแลสุขภาพและหาแนวทางป้องกันการเกิดโรค โดยควรควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ให้ได้ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สำคัญ ควรเลือกรับประทานอาหารอย่างสมดุล หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวาน มัน และเลือกรับประทานปลามากๆ โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก อย่างปลาแซลมอน ปลาแองโชวี่ ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า เป็นต้น เพราะในปลาทะเลน้ำลึกมักพบกรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า-3 (Omega-3) ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญของร่างกาย ช่วยป้องกันโรคหัวใจและสมองขาดเลือดได้ เพราะกรดไขมันโอเมก้า-3 เป็นสารตั้งต้นของสารกลุ่มไอโคซานอยด์ (Eicosanoids) ที่มีส่วนช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงมีส่วนช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดและช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น จึงช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ”

จะเห็นได้ว่าการดูแลสุขภาพไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราหันมาใส่ใจเรื่องการบริโภคอย่างสมดุล ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพ เพียงเท่านี้ เราก็จะมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรคภัยทั้งปวง

เรื่อง : แพรวดอทคอม
ภาพ : เมก้า วีแคร์

 

ติดตามอัพเดตเรื่องราวต่างๆจากนิตยสารแพรวให้สนุกยิ่งขึ้นได้ที่

www.facebook.com/praewmagazine

Instagram : @praewmag

และติดตามอ่าน แพรว E-Magazine ได้แล้ววันนี้เพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น

  • Praew E-magazine
  • NaiinPann
  • Ookbee

Praew Recommend

keyboard_arrow_up