ฉายเดี่ยวเที่ยว CROATIA (ตอนจบ 2)

Dubrovnik ดินแดนแห่ง King’s Landing

ใครที่เป็นแฟนซีรี่ส์ดังของ HBO เรื่อง Game of Thrones คงพอรู้ว่าดูบรอฟนิกนั้นเป็นสถานที่ถ่ายทำหลักสำหรับฉากเมืองหลวงคิงส์แลนดิ้งที่เป็นศูนย์กลางของเนื้อเรื่องอีกด้วย แต่ถึงไม่เคยดูดูบรอฟนิกก็ยังเป็นจุดหมายที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

1-2

ดูบรอฟนิกไข่มุกเม็ดงามแห่งทะเลเอเดรียติก อยู่ทางตอนใต้ของประเทศโครเอเชีย มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยชาวโรมันที่หนีการโจมตีของชาวสลาฟถอยร่นมายังพื้นที่ติดทะเลที่เต็มไปด้วยโขดหินแห่งนี้ และสร้างกำแพงขึ้นล้อมรอบเมืองเพื่อป้องกันข้าศึกกำแพงเมืองมีการต่อเติมจนสมบูรณ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 และกลายเป็นเมืองที่มีอำนาจในการควบคุมการเดินเรือในเขตทะเลเอเดรียติกเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและคาบสมุทรบอลข่านในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ทำให้ดูบรอฟนิกกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกด้าน มีฐานะการเงินร่ำรวย สามารถเนรมิตบ้านเรือนในเมืองให้งดงามราวกับภาพฝันได้

ฤดูใบไม้ร่วงในปี ค.ศ. 1991 กองทัพยูโกสลาฟเข้าประชิดพรมแดนโครเอเชีย ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าเขตตัวเมืองเก่าของดูบรอฟนิกซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะถูกโจมตี โดยในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1991 มีระเบิดตกลงกลางเขตเมืองเก่า บ้านเรือนและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก ก่อนสงครามสงบลงในอีก 8 เดือนต่อมา

โบสถ์นักบุญมาร์ค สังเกตบนหลังคาเป็นกระเบื้องสวยงามลายประจำเมืองของโครเอเชีย แดลเมเชีย และสโลวีเนีย
โบสถ์นักบุญมาร์ค สังเกตบนหลังคาเป็นกระเบื้องสวยงามลายประจำเมืองของโครเอเชีย แดลเมเชีย และสโลวีเนีย

หลังจากความช่วยเหลือในการบูรณะเมืองจากยูเนสโกนานหลายปีวันนี้ดูบรอฟนิกกลับมาเป็นไข่มุกเม็ดงามพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งฉันเดินออกจากที่พักตั้งแต่เช้าตรู่ จุดมุ่งหมายคือถนนสตราดุน (Stradun) ถนนสายหลักของดูบรอฟนิก มีความยาวเพียง 300 เมตร ทอดยาวสู่พิลีเกต (Pile Gate) ประตูทางเข้าหลักของเมือง

หลังจากหากาแฟและครัวซองต์อุ่นใส่ท้องเป็นมื้อเช้าแล้ว ฉันออกเดินอีกครั้ง มุ่งหน้าจากถนนสตราดุนสู่สปอนซาพาเลซ (Sponza Palace) สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เพื่อเป็นที่ทำการศุลกากรสำหรับชั่งตวงสินค้า ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของพ่อค้าในสมัยนั้น ภายในโถงกลางมีคำสลักเหนือซุ้มประตูหินเป็นภาษาละตินว่า

“Fallere nostra vetant et falli pondera. Meque pondero cum merces ponderat ipse deus.” “การคดโกงทางการชั่งตวงเป็นสิ่งผิดที่รับไม่ได้ ในยามที่ข้าตรวจสอบสินค้า พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงตรวจสอบข้าเช่นกัน”

ฉันเดินต่อมาไม่กี่ก้าวก็เจอเรกเตอร์สพาเลซ (Rector’s Palace) เป็นอาคารรัฐสภาและที่พำนักของผู้ปกครองนครในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 – 18 เป็นอาคารสไตล์กอทิกผสมผสานกับศิลปะแบบเรอเนสซองซ์และบาโรกที่ต่อเติมขึ้น ผู้ครองนครที่ว่านี้ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหมุนเวียนกันไปทุกเดือน ในอาคารนอกจากจะมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของมีค่าแล้ว ยังมีนิทรรศการแสดงภาพถ่ายขาวดำเหตุการณ์การโจมตีของกองทัพยูโกสลาฟในปี ค.ศ. 1991 อีกด้วย

อีกแห่งหนึ่งที่คนรักงานสถาปัตยกรรมไม่ควรพลาดคือ พิพิธภัณฑ์และพระอารามฟรานซิสกัน (Franciscan Monastery & Museum) ที่อยู่ไม่ไกลจากทางขึ้นกำแพงเมือง จากหน้าถนนสตราดุนเข้าไปทางแคบ ๆ ด้านในจะพบกับอาคารที่มีระเบียงรอบคอร์ตกลางอาคารสไตล์โรมัน ล้อมรอบสวนเล็ก ๆ ที่สร้างขึ้นเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 นับเป็นที่พักหายใจ หลบความวุ่นวายจากโลกภายนอกอย่างดีในอาคารเป็นที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ยา

ดูบรอฟนิกจากบนกำแพงเมืองเก่า
ดูบรอฟนิกจากบนกำแพงเมืองเก่า

ไฮไลท์ของดูบรอฟนิกที่พลาดไม่ได้คือ กำแพงเมืองเก่า (City Wall) มีความสูง 25 เมตร ที่ล้อมรอบเมืองอยู่ ค่าเข้าชมกำแพงเมืองนี้สามารถใช้เข้าป้อมแห่งนักบุญลอว์เรนซ์ (Fort Lovrijenac) ได้ด้วยและมุมที่มองมาจากป้อมนี้ก็จะมองเห็นวิวที่สวยงามของเมืองดูบรอฟนิกซุ้มประตูเหนือทางเข้าป้อมมีสลักคำขวัญประจำอาณาจักรของชาวรากูซ่าซึ่งเป็นผู้ที่ถือครองเมืองดูบรอฟนิกยามที่เมืองนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุดในด้านการเดินเรือและการค้าทางทะเล ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 – 16 ว่า “Non bene pro toto libertas venditur auro” “อิสรภาพเป็นสิ่งที่ประมาณค่าและซื้อหาไม่ได้ แม้ว่าจะมีทองทั้งหมดในโลกหล้ามาแลกก็ตาม”

ฉันใช้เวลาอยู่ที่ดูบรอฟนิกราว 3 วัน ยังรู้สึกเที่ยวไม่ทั่ว เพราะเมืองเล็ก ๆ นี้สวยงามไปทุกซอกมุม จากดูบรอฟนิกสามารถนั่งรถเลยออกไปเที่ยวบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างบอสเนีย – เฮอร์เซโกวีนา หรือมอนเตเนโกร ซึ่งในอดีตเคยเป็น คู่รบ หากแต่ปัจจุบันหันมาจับมือเป็นคู่ค้าร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หรือจะนั่งเรือออกไปเที่ยวเกาะใกล้เคียงอย่างลอครัม (Lokrum) แบบไปเช้า – เย็นกลับ หรือเลยออกไปค้างที่เกาะมิลเล็ต (Mljet) หรือคอร์ชูล่า (Kor ula) สักวันสองวันก็ได้

เมียงมอง Zagreb แบบแว้บๆ

ในที่สุดก็มาถึงวันสุดท้าย ฉันตื่นแต่เช้ามืด นั่งรถแท็กซี่ที่คุณป้าเจ้าของ Bed & Breakfast โทรศัพท์เรียกมารับถึงหน้าประตูบ้านตั้งแต่ตี 4 กว่าไปยังสนามบินดูบรอฟนิก เพื่อขึ้นเครื่องบินภายในประเทศไปยังกรุงซาเกร็บ เพื่อต่อเครื่องบินระหว่างประเทศกลับบ้าน สายการบิน Croatian Airlines พาฉันมาลงที่สนามบินซาเกร็บตั้งแต่ 7 โมงครึ่ง โชคดีที่พนักงานเช็กอินที่สนามบินดูบรอฟนิกช่วยทำเรื่องเช็กสัมภาระจากต้นทางดูบรอฟนิกไปกรุงเทพฯได้เลย ไม่ต้องมาทำเรื่องโหลดกระเป๋าที่ซาเกร็บอีกรอบ ทั้งที่เป็นของคนละสายการบินกัน แถมยังใจดีแนะนำว่ากว่าไฟลท์จะบินออกจากซาเกร็บก็บ่าย ยังพอมีเวลาที่ฉันจะแว่บเข้าไปเดินเล่นในเมืองได้นะ

Zrinjevac Park สวนสวยใจกลางซาเกร็บ
Zrinjevac Park สวนสวยใจกลางซาเกร็บ

จากสนามบินที่ซาเกร็บ ฉันจึงนั่งแอร์พอร์ตชัตเทิลบัสไปลงในเมืองแบบไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน พอถึงสถานีรถบัสในเมืองถามคนขับว่าจะต่อเข้าไปเที่ยวในเขตเมืองเก่าได้ไหม คุณลุงคนขับรถชัตเทิลบัสอุตส่าห์ไปรื้อแผนที่ท่องเที่ยวซาเกร็บมาให้พร้อมอธิบายว่าให้นั่งรถรางสาย 6 เข้าไปในจัตุรัสกลางเมือง แต่ย้ำว่าให้กลับมาที่ป้ายรถนี้ เพื่อขึ้นรถบัสกลับไปเช็กอินที่สนามบินไม่เกิน 11 โมงครึ่ง เพราะเดี๋ยวจะตกเครื่อง

ซาเกร็บเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของโครเอเชีย ดูจากแผนที่เขตเมืองเก่าของซาเกร็บแบ่งออกง่าย ๆ เป็นเขต Gornji Grad หรืออัปเปอร์ทาวน์ที่เต็มไปด้วยโบสถ์และตึกแลนด์มาร์คสำคัญ และเขต Donji Grad หรือโลเวอร์ทาวน์ที่เต็มไปด้วยแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์สำหรับผู้ที่รักงานศิลปะ

บันไดทุกเส้นมุ่งเข้าสู่สตราดุน ถนนสายหลักของเมือง
บันไดทุกเส้นมุ่งเข้าสู่สตราดุน ถนนสายหลักของเมือง

ฉันเริ่มการทัวร์ซาเกร็บด้วยการเข้าใน Cathedral of the Assumption of the Blessed Virgin Mary มหาวิหารขนาดใหญ่กลางจัตุรัสแคปตอล (Kaptol Square) อยู่ไม่ไกลจากจัตุรัสที่ลงรถรางออกจากโบสถ์ก็เดินเรื่อยมาจนเจอถนนทกาซิเซวา (Tkalciceva) ถนนสายหลักที่เต็มไปด้วยร้านรวง ก่อนมุ่งหน้าสู่ตลาดโดลัค (Dolac Market) ตลาดรวมผัก ผลไม้ และสินค้าท้องถิ่นจากพ่อค้าแม่ขายจากทั่วทุกสารทิศที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตอัปเปอร์ทาวน์และโลเวอร์ทาวน์ มีความคึกคักตั้งแต่เช้ายันบ่าย และเดินทะลุสโตนเกต (Stone Gate) เรื่อยไปจนถึงโบสถ์นักบุญมาร์ค (St. Mark’s Church) เพื่อชมกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ลายตราประจำของโครเอเชีย แดลเมเชีย และสโลวีเนีย ที่ต่อเติมขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1880 จนสวยงาม

ฮวาร์ในวันอากาศสดใส
ฮวาร์ในวันอากาศสดใส

ฉันนั่งรถรางสายเดิมกลับไปยังท่ารถชัตเทิลบัสเพื่อกลับไปยังสนามบินในใจเต็มไปด้วยความรู้สึกหลากหลาย พลางนึกย้อนไปถึงการเดินทางเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องขอบคุณโชคชะตาตัวเองที่พาให้มาพบกับเจ้าบ้านโครเอเชียที่แสนใจดี ให้ความช่วยเหลือเอื้ออาทรไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ตั้งแต่วินาทีแรกที่เท้าแตะพรมแดนจนถึงวินาทีที่จะลาจากกัน

ฉันพึมพำบอกตัวเองว่า สักวันหนึ่งเราคงได้พบกันใหม่

TIPS

ผลิตภัณฑ์จากลาเวนเดอร์ที่เกาะฮวาร์นั้นเป็นสินค้าท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ เนื่องจากเกาะฮวาร์เป็นแหล่งเพาะปลูกลาเวนเดอร์สำคัญของโครเอเชียใครที่ไปเยือนฮวาร์ในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิจะได้เห็นดอกลาเวนเดอร์อวดโฉมเบ่งบานในท้องทุ่ง โด่งดังขนาดที่มีการจัดงานลาเวนเดอร์เฟสติวัลในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีทีเดียวแนะนำมุมอร่อยในสปลิตมื้อกลางวัน ใครที่เดินเที่ยวอยู่ในตัวเมืองเก่าแล้วนึกหิว Trattoria Bajamont ตั้งอยู่ในตรอก Bajamontijeva ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระราชวังไดโอคลีเชียนเสิร์ฟกูลาชสไตล์แดลเมเชียแบบอร่อยลืมโลก ส่วนมื้อเย็นขอแนะนำร้านดัง Konoba Marjan ร้านอาหารทะเลเล็กๆ อยู่ลึกเข้ามาในซอย ห่างจากบรรดาร้านขายนักท่องเที่ยวที่เรียงรายอยู่ริมน้ำ ทำกันเองแบบครอบครัว เสิร์ฟอาหารทะเลสดๆ ที่ปรุงตามต้นตำรับแดลเมเชียแท้ๆ ใครอยากเดินเที่ยวชมดูบรอฟนิกแบบมีไกด์คอยบรรยาย แนะนำให้เข้าร่วมวอล์คกิ้งทัวร์ขนาดกลุ่มเล็ก ที่มีบู๊ธให้บริการด้านนอกกำแพงตรงประตูพิลีเกตมีทุกวัน วันละ 2 รอบไม่จำเป็นต้องจองล่วงหน้าไปเช็กรอบก่อนเป็นใช้ได้ใครอยากเห็นเมืองดูบรอฟนิกจากมุมสูงในวันที่อากาศดีท้องฟ้าโปร่ง แนะนำให้ใช้บริการเคเบิลคาร์จากบริเวณ Petra Krešimira IV นอกเขตกำแพงเมืองเก่าใช้เวลาราว 4 นาที เพื่อขึ้นไปถึงสถานีด้านบนซึ่งมีจุดชมวิวเมืองจากจุดนั้นเดินเลยขึ้นเนินไปไม่ไกล มีป้อม Fort Imperial ที่จักรพรรดินโปเลียนเป็นผู้สร้างตอนที่ฝรั่งเศสยึดครองดูบรอฟนิกปัจจุบันเป็น Homeland War Museum จัดแสดงนิทรรศการเรื่องสงครามยูโกสลาเวีย

 

ที่มา : คอลัมน์สารคดีท่องเที่ยว นิตยสารแพรว ฉบับที่ 864 ปักษ์วันที่ 25 สิงหาคม 2558

บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินของเว็บไซต์แพรว ห้ามผู้ใดนำไปคัดลอก ดัดแปลง หรือทำซ้ำ อนุญาตให้แชร์บทความนี้ได้จากลิ้งค์นี้เท่านั้น

Praew Recommend

keyboard_arrow_up