เสวนากับนักสะสมสองรุ่น ต่างยุคแต่มีใจรักของเก่าเหมือนกัน

1

เมื่อเร็วๆ นี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดกิจกรรมเสวนา เรื่อง “เปิดโลกนักสะสม” ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก เอนก นาวิกมูล นักเขียนและนักสะสมผู้มีชื่อเสียงจาก “บ้านพิพิธภัณฑ์” และ พัฒนพงศ์ มณเฑียร ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ “โอ๊ต มณเฑียร” ศิลปินหนุ่ม นักเขียน นักสะสม ผู้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์ฝันแห่งประเทศไทย” ที่ได้ร่วมกันบอกเล่าความเป็นมาและประสบการณ์ของการเป็นนักสะสมจนพัฒนาสู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย ซึ่งผู้เข้าร่วมงานต่างได้รับความรู้ ความเข้าใจในด้านการจัดเก็บสิ่งของให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล อีกทั้งยังได้รับแรงบันดาลใจให้เห็นถึงคุณค่าของการสะสมสิ่งของ ที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสะสมในอนาคตต่อไป

2

เอนก นาวิกมูล นักสะสมรุ่นใหญ่ เจ้าของวลีเด็ด “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” และผู้ก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์ สถานที่รวบรวมของโบราณควรค่าแก่การอนุรักษ์ต่างๆ ที่มีอายุเข้าสู่ปีที่ ๑๕ แล้ว กล่าวถึงความประทับใจที่มีโอกาสได้มาชมนิทรรศการ สะสมไว้ใช้เล่าเรื่อง ซึ่งสิ่งของหลายชิ้นที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสะสมนั้นให้ทั้งความเพลิดเพลิน และได้ความรู้ไปพร้อมกัน

เอนก เล่าความเป็นมาของการเป็นนักสะสมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณพ่อที่เป็นนักสะสม ดังนั้น  ฝาผนังของบ้านที่เคยอาศัยในสมัยเด็กๆ ที่ อ.ระโนด จ.สงขลา จึงมีภาพเก่าๆ เรียงรายเต็มผนัง รวมทั้งชอบเก็บสิ่งพิมพ์ เอกสารต่างๆ บวกกับความที่บ้านของเขาเป็นร้านขายหนังสือแบบเรียน รวมทั้งหนังสือต่างๆ อุปกรณ์เครื่องเขียน เสื้อผ้า และสินค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆ จากความผูกพันในวิถีชีวิตเมื่อสมัยอดีต รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่เคยใช้สอยในชีวิตประจำวันในสมัยเด็กๆ  กลายเป็นต้นทางที่นำไปสู่การสะสมสิ่งของต่างๆ ที่ทำให้ย้อนรำลึกและสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัย

3

“ของธรรมดาๆ ในสมัยก่อนที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็กลายเป็นของแปลกในสมัยนี้ อย่างสินค้าหลายๆ อย่างที่หาไม่ได้แล้วในยุคนี้ การเก็บสะสมของผมเริ่มต้นมาจากเพื่อนนำขวดน้ำมะเน็ดขวดมาให้เป็นขวดแรก และโดยความสนใจส่วนตัวก็เก็บข้าวของต่างๆ มาเรื่อยๆ บางครั้งก็มีผู้นำมาบริจาคให้ เมื่อของเยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่และช่วยกันคิดทำเป็นร้านรวงจำลองต่างๆ ขึ้นมา จนกลายเป็นบ้านพิพิธภัณฑ์ในทุกวันนี้   ผู้คนที่มาเที่ยวบ้านพิพิธภัณฑ์ก็มีทุกเพศทุกวัย เข้ามาเดินดูข้าวของและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอย่างสนุกสนาน และบางคนก็กล่าวว่าทำให้รำลึกถึงวัยเด็ก และของบางอย่างที่ตนคิดว่าไม่มีค่าและทิ้งไป ก็สามารถเก็บและนำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ บางคนก็กลับไปเริ่มเก็บข้าวของเครื่องใช้ของตนไว้ เรียกว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และเพิ่มคุณค่าให้ข้าวของที่กำลังจะกลายเป็นขยะได้อีกทางหนึ่ง”  นักสะสมคนดังกล่าว

4

แนวทางในการสะสมสำหรับผู้ที่สนใจ เอนก บอกเคล็ดลับว่าการเก็บของให้สนุกก็คือเริ่มจากสิ่งที่ตนสนใจและมีกำลังทรัพย์ เมื่อเริ่มมีแนวทางแล้วก็จะสนุกไปเอง โดยให้ลองเริ่มต้นจากของใกล้ตัวที่ไม่จำเป็นต้องมีราคาค่างวดมากมาย หรือต้องไปซื้อหาให้ยุ่งยาก อาจสะสมกล่องขนมธรรมดาๆ  แต่พอเก็บไว้สัก 20-30 ปี ก็จะกลายเป็นของที่หาไม่ได้แล้ว และทำให้ได้เห็นพัฒนาของรูปแบบบรรจุภัณฑ์ของขนมในยุคต่างๆ ด้วย

5

พัฒนพงศ์ มณเฑียร หรือ โอ๊ต มณเฑียร นักสะสมรุ่นใหม่ ที่พ่วงท้ายอีกหลากหลายบทบาท ทั้งนักวาดภาพประกอบ วิทยากร นักพิพิธภัณฑ์ ภัณฑารักษ์ และนักเขียน จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเรียนการสอนในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ จาก The Institute of Education, London ย้อนประวัติศาสตร์ของการสะสมสิ่งของโดยยกตัวอย่างภาพพิพิธภัณฑ์รูปแรกของโลกในศตวรรษที่ ๑๔ ซึ่งเป็นยุคที่คนเริ่มเดินเรือสมุทรเพื่อไปค้นพบดินแดนและประเทศใหม่ๆ  ทำให้ได้พบสิ่งของ สัตว์ พืชพรรณต่างๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เกิด        ตู้พิศวงซึ่งรวบรวมสิ่งของต่างๆ ที่วิทยาศาสตร์ในยุคนั้น ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าคืออะไร

6

“ในอดีตแน่นอนว่าการสะสมของเลอค่า ของแปลก ผู้สะสมต้องมีกำลังทรัพย์พอควร และการจะมีห้องนี้ในบ้าน ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสะสมสิ่งของอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการแสดงฐานะไปในตัว ดังนั้นวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์จึงเริ่มมาพร้อมกับการแสดงอำนาจทางการเงินที่สามารถครอบครองสิ่งของเหล่านี้ได้ วัฒนธรรมนี้ได้ต่อยอดกันมาถึงชนชั้นสูง ทั้งขุนนาง สถาบันกษัตริย์  อย่างประเทศอังกฤษที่จัด Great Exhibition ในปี ๑๘๕๑ ซึ่งเป็นนิทรรศการที่มีความยิ่งใหญ่มาก โดยจัดแสดงของที่หายากและสวยงาม รวมถึงโชว์นวัตกรรมต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นการโชว์เล่นๆ แต่แฝงนัยยะสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าอังกฤษคือ ศูนย์กลางของโลก เพื่อแสดงดุลอำนาจในรูปแบบหนึ่ง อีกทั้งของแต่ละชิ้นก็ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดี และเป็นการโชว์รสนิยมของผู้สะสมด้วย”

โอ๊ต มณเฑียร บอกต้นแบบการเป็นนักสะสมที่ได้รับมาจากคุณพ่อซึ่งเป็นนักเลงพระคนหนึ่งเช่นกัน ยิ่งพอได้ไปเห็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในต่างประเทศมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของการสะสม “ผมชอบสะสมหนังสือเก่า เพราะตั้งแต่สมัยเด็กๆ ชีวิตในโรงเรียนส่วนใหญ่จะอยู่ในห้องสมุด จึงมีเพื่อนเป็นหนังสือ และภาพพิมพ์ต่างๆ ที่ตกหลุมรักมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ พอโตขึ้นมาเลยชอบเก็บสะสมหนังสือเก่า และโบรชัวร์ต่างๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วย”

7

สำหรับเขาเสน่ห์ของการสะสมสิ่งของเหมือนเป็นเครื่องย้อนเวลาที่เชื่อมโยงเราเข้ากับอดีต ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด วิถีความเป็นอยู่ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันได้ ส่วนวิธีการเก็บรักษาของสะสมให้มีอายุยาวนาน สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ต้องรักให้มาก และเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อจะดูแลรักษาสิ่งของนั้นๆ ให้คงสภาพดีที่สุด

9

ก่อนจบการเสวนาครั้งนี้ อเนก กล่าวทิ้งท้ายการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจพิพิธภัณฑ์ว่า “ถ้าการไปพิพิธภัณฑ์ที่เห็นแต่ของโบราณซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงกับชีวิตปัจจุบัน ทำให้เด็กรุ่นใหม่อาจรู้สึกไกลตัว และเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความสนใจของเขา นอกจากของชิ้นนั้นจะเป็นของโบราณมากแล้วการนำแสนอก็ยังไม่สนุกอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้ามีการใช้ความรู้ในการจัดแสดงเข้ามาช่วยมากขึ้น มีสีสันหรือเทคโนโลยีเล็กๆ แบบง่ายๆ เช่น ดึง ชัก ผลัก โยก หรือใช้อิเลคทรอนิกส์เข้ามาช่วย ก็จะสร้างความน่าสนใจได้มากขึ้น”

8

ในขณะที่ โอ๊ต มณเฑียร เสริมว่า “พิพิธภัณฑ์เป็นมากกว่าการไปชมสิ่งของที่มีป้ายแสดงข้อมูล แต่เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ให้ความรู้ ความสนุก และความเพลิดเพลินไปในตัว และจากประสบการณ์ที่ได้เห็นพิพิธภัณฑ์ดังๆ ในต่างประเทศ หลายแห่งจะนำเทคโนโลยีมาใช้ค่อนข้างมาก เช่น แอพพลิเคชั่นต่างๆ  ที่ทำให้การชมพิพิธภัณฑ์เกิดความเพลิดเพลิน โดยนำอุปกรณ์ไอทีอย่างไอแพดหรือแท็บเล็ตมาใช้ประกอบในการชมเกิดเป็นภาพสามมิติ หรือให้วัตถุมีการเคลื่อนไหวโดยแสดงผลบนอุปกรณ์ไอทีได้ด้วย รวมทั้งอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ เพราะวัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่การอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเข้าใจและเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่ทุกคน”

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมครั้งต่อไป ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ เฟซบุ๊ก www.facebook.com/qsmtthailand อินสตาแกรม @queensirikitmuseumoftextiles

 

Praew Recommend

keyboard_arrow_up