ทริปในดวงใจนิรันดร์ เจาะลึกสวิตเซอร์แลนด์ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท รัชกาลที่ ๙

CIMB Preferred Memorable trip 2017 สวิตเซอร์แลนด์ ดินแดนที่อยู่ในใจนิรันด์ ร่องรอยความทรงจำแห่งราชสกุลมหิดล ทริปในดวงใจนิรันดร์ เจาะลึกสวิตเซอร์แลนด์ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท รัชกาลที่ ๙

สวิตเซอร์แลนด์ ดินแดนในดวงใจของใครหลายคน ไม่ได้มีแค่ยอดเขาสูงที่สุดในยุโรป ชีส และช็อคโกแลตเท่านั้น แต่ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 8 ล้านคนนี้ยังมีส่วนสำคัญต่อชีวิตวัยเยาว์ของพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งซึ่งทรงคุณมหาศาลต่อประเทศไทยและการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกด้วย CIMB Preferred ร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พาลูกค้า คณะเล็กๆ 12 ชีวิตเดินทางสู่สวิตเซอร์แลนด์ในทริปพิเศษย้อนรอยไปเมื่อกว่า 80 ปีก่อนเพื่อค้นหาร่องรอยของพระมหากษัตริย์นักพัฒนาของโลกพระองค์นี้ โดยมีคุณกอบลาภ โปษกฤษณะ และ สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ จากสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ในพระอุปถัมภ์ฯ เป็นมัคคุเทศก์พิเศษ บรรยายเกร็ดความรู้ตลอดการเดินทาง

หากพูดถึงแผ่นดินเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ที่ไม่เพียงเป็นแผ่นดินที่มีความสำคัญในเรื่องการศึกษา การเรียนรู้ในมิติต่างๆ ที่หลากหลายเท่านั้น หากยังเป็นแผ่นดินที่เปรียบประดุจบ้านหลังที่สองของพระราชาผู้อยู่ในดวงใจของคนไทยทั้งปวง หลายคนต้องนึกถึง “สวิตเซอร์แลนด์” อย่างแน่นอน ซึ่งที่นี่ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อชีวิตวัยเยาว์ของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงคุณมหาศาลต่อประเทศไทยและการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก

และในโอกาสนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของผสกนิกรชาวไทย ด้วยพระเกียรติกึกก้องเป็นที่ประจักษ์ชัดไปทั่วโลก CIMB Preferred ได้พาลูกค้าของธนาคารคณะเล็กๆ เดินทางสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในทริปพิเศษ เพื่อย้อนรอยพระมหากษัตริย์ในดวงใจ

โรงแรม Royal Savoy ที่พักระดับ6ดาวที่ CIMB Preferred เตรียมไว้ต้อนรับคณะผู้เดินทาง

ในเช้าวันหนึ่งของฤดูใบไม้ร่วง ต้นไม้เริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีแดงและสีทอง ให้สีสันแปลกตา ทริปในดวงใจนิรันดร์ได้เริ่มต้นขึ้น ณ วัดศรีนครินทรวราราม เมืองอาเรา ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินซูริคประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นวัดไทยในสถาปัตยกรรมไทยแท้ๆ ในช่วงฤดูหนาววัดนี้จะถูกปกคลุมด้วยหิมะ ทำให้มองเห็นได้แค่หน้าบันและยอดหลังคาสีทองอร่าม สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนีได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนตั้งต้นก่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา และในปี พ.ศ. 2536  ได้ถูกยกให้เป็นวัดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชนทุกสัญชาติที่อาศัยอยู่รอบๆ เมืองนี้

วัดศรีนครินทรวราราม

ภายในพระอุโบสถด้านตรงข้ามพระประธานถูกตกแต่งประดับประดาไว้อย่างสวยงาม ด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของครอบครัวราชสกุลมหิดลทุกพระองค์ที่วาดด้วยฝีมือศิลปินไทย  แทรกด้วยภาพกิจกรรมต่างๆของประชาชนและชุมชนโดยรอบ โดยภาพของคนไทยและชาวสวิสที่ปรากฎในจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ หลายคนมีตัวตนอยู่จริง  โดยจะสังเกตได้จากภาพวาดใบหน้าที่เหมือนจริงเอามากๆ

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระบรมสาทิสลักษณ์ของครอบครัวราชสกุลมหิดลทุกพระองค์ที่วาดด้วยฝีมือศิลปินไทย
ศาลาไทย ณ เมืองโลซานน์

จากวัดศรีนครินทรวราราม ชาวคณะทุกคนก็ได้มุ่งหน้าสู่เมืองโลซานน์ อันเป็นสถานที่ที่ครอบครัวราชสกุลมหิดลเคยพำนักอาศัยอยู่เป็นระยเวลานานถึง 17 ปี

โลซานน์เป็นเมืองหลวงของแคว้นโวด์ แคว้นใหญ่อันดับ 3 ของสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่ริมทะเลสาบเจนีวา หรือที่ชาวสวิสเรียกว่า ลัค เลอมง ใกล้ชายแดนฝรั่งเศส ภาษาที่ใช้ในแถบนี้จึงใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก นั่นเป็นเหตุว่าทำไม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงตรัสภาษาฝรั่งเศสได้คล่อง และเป็นภาษาที่ทรงใช้คุยกับพระเชษฐภัคคินี และพระเชษฐาเมื่อยังทรงพระเยาว์เสมอๆ

ร่องรอยของพระองค์ในเมืองโลซานน์ยังมีให้พวกเราชาวไทยได้ตามรอยอีกมาก เริ่มจากสถานที่ประทับที่ตั้งอยู่บนถนนทิสโซต์ เป็นอพาร์ทเมนต์หมายเลขที่ 16 ที่ยังคงสภาพเดิมไม่ผิดเพี้ยน เรายังคงได้เห็นรั้วเหล็กดัด เห็นประตูอพาร์ทเมนต์หมายเลข 16 และหากเดินอ้อมไปด้านหลังจะพบระเบียงที่รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ เคยทรงทำความสะอาดในภาพเก่าที่เราเห็นกันอยู่

สถานที่ประทับ บนถนนทิสโซต์ อพาร์ทเมนต์หมายเลขที่ 16

ข้ามถนนมาฝั่งตรงข้าม เป็นร้านถ่ายภาพเดอยอง (Atelier de Jong Photographie) ที่สมเด็จย่าทรงพาพระโอรสพระธิดามาฉายพระฉายาลักษณ์เป็นประจำ จริงๆ ร้านนี้เดิมอยู่อีกถนนหนึ่ง แต่ตอนหลังย้ายมาอยู่ตรงกันข้ามกับ อพาร์ทเมนต์ที่เคยประทับโดยบังเอิญ แม้จะเป็นวันอาทิตย์ แต่มาดามเดอยองก็มาเปิดร้านให้พวกเราเข้าไปชมเป็นพิเศษด้วยการติดต่อจากสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ ในพระอุปถัมภ์ฯ และได้ไปรับมาดามแบร์เชต์ เพื่อนบ้านของครอบครัวราชสกุลมหิดลในสมัยนั้นมาให้ได้พบและพูดคุยกับทุกคนถึง แม้จะอยู่ในวัย 94 ปี แต่มาดามแบร์เชต์ยังดูแข็งแรงมาก พูดจารู้เรื่องแม้จะหลงๆ ไปบ้าง แต่ยังจำครอบครัวราชสกุลมหิดลได้ดี

มาดามแบร์เชต์ เพื่อนบ้านของครอบครัวราชสกุลมหิดล

บ้านอีกหลังหนึ่งของครอบครัวราชสกุลมหิดลในโลซานน์ คือ วิลล่าวัฒนา (Villa Vadhana) ที่ทุกพระองค์ย้ายมาประทับหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นบ้านเดี่ยวมีบริเวณกว้างขวางมากกว่าเดิมแต่ก็เป็นแค่บ้านไม่ได้โอ่อ่าเป็นคฤหาสน์หรือพระราชวัง ปัจจุบันอาคารเดิมถูกรื้อถอนไปสร้างเป็นอพาร์ทเมนต์ให้เช่า แต่ยังคงใช้เลขที่ 51 เหมือนเดิม ยังคงมองเห็นพื้นที่ที่เคยเป็นสวนผลไม้และผักที่ครอบครัวราชสกุลมหิดลปลูกต้นพีช แพร์ และผักต่างๆ ด้วยพระองค์เองเช่นเดียวกับครอบครัวชาวสวิสทั่วไป

 

ไม่ไกลกันนั้น เป็นสถานรับเลี้ยงเด็กชองโซเลย์ (Champ Soleil) เนิร์สเซอรี่แห่งแรกสุดที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพาพระโอรสพระธิดามาฝากเลี้ยงร่วมกับเด็กทั่วไปเมื่อแรกมาถึงสวิตเซอร์แลนด์ ที่นี่เป็นอาคาร 3 ชั้นหน้าตาธรรมดา ซึ่งที่แห่งนี้ยังคงรับเลี้ยงเด็กทั่วไปและเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษเช่นเดิม

มาถึงสถานที่ทางด้านการศึกษาซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก กับ โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอ ลา สวิสโรมองด์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) โรงเรียนประถมและมัธยม ที่มีห้องเรียนขนาดเล็กสำหรับนักเรียนไม่เกิน 20 คน ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นสถานที่แห่งแรกที่บ่มเพาะพระราชอัจฉริยภาพด้านช่างไม้จนทำให้พระองค์ทรงต่อเรือใบได้ด้วยพระองค์เอง และได้ทรงทำการจดสิทธิบัตรไว้ด้วย รวมถึงทรงส่งเสริมให้ชาวไทยเรียนด้านอาชีพเพื่อให้มีทักษะประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้ตามที่เห็นในโครงการตามพระราชดำริต่างๆ เพราะการศึกษาในสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาทักษะอาชีพวิชาช่างต่างๆ ควบคู่กับด้านวิชาการ

เข้าเยี่ยมชมโรงเรียน เอกอล นูแวล เดอลา สวิสโรมองด์ โดยมีผู้อำนวยการ โรงเรียน Mr. Sebastien Troyen ให้การต้อนรับ

ชั้นบนของอาคารเรียนมีห้องนอนของเด็กประจำ ในห้องมีเตียงนอนและชั้นวางหนังสือ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยประทับที่ชั้น 3 เพียงแต่ไม่ทราบว่าเป็นห้องไหน เพราะพระองค์ประทับในโรงเรียนเหมือนเด็กสามัญชนธรรมดาทั่วไป จึงไม่ได้มีการจัดการเรียนหรือบันทึกอะไรเป็นพิเศษให้ได้เห็นกัน และปัจจุบัน ทางโรงเรียนได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนครูกับโรงเรียนไกลกังวลเป็นประจำทุกปีตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในด้านการส่งเสริมการพัฒนาการศึกษา

คุณประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และคณะมอบของที่ระลึกให้แก่ Mr. Sebastien Troyen ผู้อำนวยการ โรงเรียน เอกอล นูแวล

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะที่ประทับ หรือสถานที่ศึกษาของพระองค์ที่ได้ไปเยี่ยมชม สะท้อนให้เห็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีว่าทรงต้องการเลี้ยงพระโอรส พระธิดาอย่างสามัญชน และนี่อาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าพระทัย และเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง เนื่องจากพระองค์ท่านก็เคยใช้ชีวิตอย่างคนสามัญชนมาก่อน ยิ่งในสมัยที่ยังทรงพระเยาว์ เป็นช่วงสงคราม อาหารการกินและข้าวของต่างๆ ขาดแคลน ก็ต้องทรงใช้ชีวิตอย่างประหยัดเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แบบไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งพระราชจริยวัตรที่แสนจะเหมือนคนธรรมดาเหล่านี้ เป็นที่สังเกตได้ชัดจนสื่อในสวิสได้เคยรายงานเมื่อครั้งเสด็จเยือนสวิสอย่างเป็นทางการไว้ว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระราชจริยวัตรเหมือนชาวโลซานน์ธรรมดาคนหนึ่งนั่นเอง

อีกสถานที่หนึ่งซึ่งไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง นั่นคืออาคารปาเลส์ เดอ รูมีน (Palais de Rumine) เป็นสถาปัตยกรรมยุคฟลอเรนทีน-เรอเนสซองต์ ที่สร้างในปลายศตวรรษที่ 19 เคยเป็นมหาวิทยาลัยโลซานน์ก่อนที่จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องสมุดเมื่อมหาวิทยาลัยย้ายออกไปนอกเมือง

 

ภายในอาคารกว้างขวางและยังคงความขลัง ด้านหลังเป็นสะพานที่ทอดข้ามไปอีกฝั่งซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของคณะนิติศาสตร์ สถานที่ทรงศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากทรงขึ้นครองราชย์แล้ว

นอกจากอาคารต่างๆ แล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์ในทริปนี้คือการได้พบกับเมอร์ซิเออร์ดาเนียล โชแบร์ (Daniel Chaubert) อดีตหัวหน้านายสถานีรถไฟปุยดูซ์ แซซบร์ (Gare Puidoux-Chexbre) วัย 88 ปี ที่อุตส่าห์ขับรถมาหาชาวคณะที่สถานี และได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อปี 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จเยือนยุโรป 14 ประเทศ อย่างเป็นทางการ ทรงเช่าวิลล่าฟลองซาเลย์ไม่ไกลจากสถานีไว้สำหรับเป็นที่ประทับระหว่างปฏิบัติพระราชกรณียกิจ  เมอซิเออร์โชแบร์เล่าว่า ตอนนั้นเขาตื่นเต้นมากเพราะไม่เคยรับเสด็จเจ้านายมาก่อน วันหนึ่งหลังเที่ยงคืนรถไฟพระที่นั่งจากเยอรมนีจะเข้าจอดที่ชานชาลาที่ 2 ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เมอซิเออร์โชแบร์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่นายสถานี วันนั้นต้องปล่อยให้รถไฟวิ่งเลยสถานีไปนิดหนึ่งแล้วจึงค่อยสับรางให้รถไฟถอยกลับมาเทียบชานชาลาที่ 1 ที่เตรียมปูพรมแดงไว้รับเสด็จให้พอดีเป๊ะ และแม้จะดึกดื่นเท่าไร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถไม่ได้ทรงแสดงความเหน็ดเหนื่อยให้เห็น และยังคงแย้มพระสรวลตลอดเวลา ซึ่งภาพนั้นยังคงตรึงอยู่ในความทรงจำของเมอร์ซิเออร์โชแบร์จนถึงวันนี้

สถานีรถไฟปุยดูซ์ แซซบร์ พร้อม เมอร์วซิเออร์ดาเนียล โชแบร์ อดีตหัวหน้านายสถานีรถไฟ ปุยดูซ์ ที่ปฎิบัติหน้าที่นายสถานีวันที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี เสด็จเยือนสวิสต์ อย่างเป็นทางการ

รอบๆ เมืองโลซานน์ ยังคงมีร่องรอยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะเดอนองตู (Parc du Denantu) ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งศาลาไทยที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และใกล้ๆ กันก็เป็นรูปปั้นลิง 3 ตัวปิดหู ปิดตา ปิดปาก ที่ทรงเคยฉายพระรูปด้วยเมื่อทรงพระเยาว์

ส่วนในแถบลาโวซ์ (Lavaux) ซึ่งเป็นไร่องุ่นมรดกโลก ที่ชาวคณะได้แวะรับประทานอาหารกันที่ร้าน โอแบร์ช เดอลอง (Auberge de l’Onde) ที่พระองค์เคยเสด็จมาเสวยพระกระยาหาร คลินิกเซซิล (Clinique Cecil) โรงพยาบาลเอกชนที่ ทรงประทับรักษาพระเนตร  โรงแรมแบลวู ปาลาซ  (Bellevue Palace) ในกรุงเบิร์น ที่ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยลายพระหัตถ์ที่พระราชทานให้แก่โรงแรม จัดวางอยู่ร่วมกับภาพถ่ายของบุคคลสำคัญของโลกที่เคยมาเยี่ยมเยือนโรงแรมแห่งนี้

นอกจากสถานที่ที่เคยเสด็จและประทับแล้ว ยังมีร่องรอยอื่นที่สะท้อนถึงความทรงจำที่ดีต่อพระองค์ เช่น กรอบรูปพระปรมาภิไธย ภปร. ที่ทำจากช็อคโกแลตโดยฝีมือของเจอราลดีน มูลเลอร์ มาราซ เชฟประจำ Cailler ที่เคยมาอยู่เมืองไทยถึง 4 ปี และประทับใจในความรักที่คนไทยมีต่อพระองค์จนได้จัดทำกรอบรูปนี้ขึ้นเพื่อร่วมฉลองครบรอบ 70 ปี การครองราชย์กับคนไทยทั้งประเทศ

 

Exclusive workshop : คุณกอบลาภ โปษกฤษณะ นายกสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ในพระอุปถัมภ์ฯ ร่วมทำ”ช็อกโกแลตต้มยำ” เมนูพิเศษที่ทางร้าน Laderach ร้านช็อกโกแล็ตเลื่องชื่อในเมืองเวย์เว่ย์ เคยทำถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙

ด้วยสถานที่ ร่องรอยต่างๆ จากวันวาน และผู้คนที่เคยใกล้ชิดพระองค์ท่าน ทำให้การเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้เป็นทริปในดวงใจนิรันดร์ที่ทำให้ทุกคนที่ได้ไปเยือนที่นี่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า การใช้ชีวิตอย่างสามัญชนในสมัยยังทรงพระเยาว์มีบทบาทมากเพียงไรต่อพระจริยวัตร และทำให้พระองค์ท่านเข้าพระทัยและเข้าถึงประชาชนทุกคน และทรงงานหนักเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน สมกับที่ทรงเป็น “พลังแห่งแผ่นดิน” อย่างแท้จริง

การออกเดินทางตามรอยพระบาท รัชกาลที่ 9 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้งนี้ จบลงด้วยความประทับใจ และเชื่อว่าทุกคนที่ได้ร่วมทริปคงมีความรู้สึกเดียวกัน นั่นคือความ “คิดถึง” ที่มีต่อพระองค์ ซึ่งแม้ระยะเวลาในการตามรอยพระบาทครั้งนี้จะไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นบุญอย่างที่สุดที่ได้ไปรับรู้และสัมผัสเรื่องราวของบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มค่าที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม การส่งมอบบันทึกการเดินทางอันสุดพิเศษของ CIMB Preferred สำหรับลูกค้าในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ CIMB Preferred มอบให้ลูกค้าได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์อันล้ำค่า เผื่อว่าใครอยากร่วมสัมผัสเรื่องราวดีๆ เช่นนี้ รวมถึงกิจกรรม และสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย ก็สามารถติดตามได้ที่ www.cimbpreferred.com   

Praew Recommend

keyboard_arrow_up