รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล เปิดค่าย 3D dtac Digital-Detox ติดอาวุธให้เด็กติดเกมซีซั่น 1

1
“ผมทำค่ายนี้ด้วยใจที่อยากจะทำ” รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล    เปิดใจ “จากที่คลุกคลีกับปัญหาเด็กและวัยรุ่นมายี่สิบปี เป็นที่ชัดเจนว่า นอกจากปัญหายาเสพติด ท้องในวัยรุ่นแล้ว ปัญหาเด็กติดเกม ติดคอมพิวเตอร์ ติดโทรศัพท์มือถือ ติดอินเทอร์เน็ต จัดเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่พ่อแม่ในประเทศไทยหนักใจ หลายครอบครัวมาปรึกษาผม ตั้งแต่คุยกับลูกไม่รู้เรื่อง บ้านร้อนเป็นไฟ ลูกเรียนเกรดตก ไม่เข้าสังคม ไม่เล่นกีฬา ไม่สุงสิงกับเพื่อนในชีวิตจริง  อ้างว่ามีเพื่อนในโลกออนไลน์ บางรายแค่แม่ดึงปลั๊กคอมพิวเตอร์ไม่ให้เล่นเกม จากเด็กว่านอนสอนง่ายกลายเป็นตาขวาง ปรี่เข้ามาจะชกแม่ พอแม่เรียกชื่อก็ชะงักมือ แล้วยกจอคอมพิวเตอร์ทุ่มลงพื้นแทน จนถึงเด็กชายคนหนึ่งอยู่ม.2 ติดเกมขั้นรุนแรง แม่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย นอนอยู่โรงพยาบาลใกล้เสียชีวิต แต่ลูกไม่สามารถดึงตัวเองออกจากเกมได้ จึงไม่เคยไปเยี่ยมแม่เลย กระทั่งแม่เสียชีวิต ระหว่างที่ตั้งศพสวด ลูกยังคงเล่นเกมจนไม่ไปร่วมงานแม้แต่เผาศพแม่ ในกรณีที่รุนแรงแบบนี้ ประสาทการรับรู้ทางการตัดสินใจและวิจารณญาณของเด็กเริ่มผิดเพี้ยนจากการอดนอน จนอาการเหมือนผู้ป่วยทางจิต ผมได้พบเด็ก 2-3 ครั้ง ให้คำปรึกษากับพ่อ พร้อมให้ยาเด็กไป แต่เขาไม่ยอมกิน จนกระทั่งอาการหนัก พฤติกรรมก้าวร้าวและอาละวาด พ่อจึงโทร.เรียกรถพยาบาล ปรากฏว่าเขาใช้อาวุธขู่ บุรุษพยาบาลจึงต้องกลับ

ด้วยเหตุนี้ทางสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดทำโครงการ HealthyGamer ขึ้นตั้งแต่พ.ศ.2549 เพื่อทำวิจัยหาทางป้องกันเด็กติดเกม และติดตามสถานการณ์ทุกปี พบข้อมูลที่น่าตกใจวาส ระหว่างเด็กติดเกมหนักๆ กับเด็กที่ติดสารเสพติด ไม่น่าเชื่อว่า จากการแสกนสมองพบว่าถูกทำลายเหมือนกันเป๊ะ ผมเห็นแล้วสลดใจ และที่ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นอีกก็คือ จากเมื่อก่อนเป็นเด็กชั้นมัธยมปลาย ตอนนี้กลายเป็นแค่ป.4 ก็ติดเกมแล้ว  ซึ่งผมไม่อยากให้ข้อมูลต้องจบอยู่แค่รายงานการวิจัย ไม่ได้มีประโยชน์ในวงกว้าง จึงนำเนื้อหามาย่อยทำเป็นเว็บไซต์ชื่อ Healthygamer.net โดยมีแบบทดสอบการติดเกม แบบวัดภูมิคุ้มกันเด็กติดเกม และแบบวัดคุณภาพชีวิตของผู้เล่นเกม เพื่อให้ผู้ปกครองได้ทดสอบพฤติกรรมลูกในเบื้องต้น รวมทั้งเด็กก็มีแบบทดสอบการติดเกม ตัวอย่างเช่น ฉันเล่นเกมจนลืมเวลา ฉันเล่นเกมเกินกว่าที่พ่อแม่กำหนด ฉันเคยโดดเรียนเพื่อไปเล่นเกม เกมทำให้ฉันเกิดปัญหาตามมา คำตอบมีตั้งแต่ ใช่เลย…น่าจะใช่  ไม่น่าใช่…หรือไม่ใช่เลย จากคำตอบเด็กจะรู้ว่า ตัวเองเข้าข่ายมีพฤติกรรมติดเกมหรือยัง

ปัญหาเก่ายังไม่เบาบาง ปัญหาใหม่ตามมาพร้อมๆ กับการมาถึงของสมาร์ทโฟน จากเด็กติดเกมที่มีแต่เด็กผู้ชาย กลายเป็นว่าเด็กผู้หญิงติดโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต จนถึงโซเชียลมีเดีย คือไลน์ เฟซบุ๊ก ซึ่งมีผลกระทบต่างกัน ติดเกมทำให้เสียการเรียน เสียสุขภาพ หากเป็นเกมที่ก้าวร้าวรุนแรง เด็กจะเลียนแบบท่าทางมาใช้ในชีวิตจริง อย่างที่เคยเป็นข่าว เด็กฆ่าปาดคอแท็กซี่ หรือล่าสุดล็อกคอแม่เฒ่าแล้วแทงคอ  ขณะที่สมาร์ทโฟนเป็นเรื่องของการถูกกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ แชร์ภาพ หรือโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสม ถูกคนแปลกหน้า หลอก เป็นพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงเรื่องทางเพศ เพราะฉะนั้นในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ เราจึงเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการติดอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียเข้าไปด้วย พร้อมกับทำการวิจัยเพิ่มเติม แล้วสิ่งที่เราได้รับสามารถตอบโจทย์ได้ว่า ตอนนี้พลังด้านมืดแรงกว่าพลังด้านบวกขนาดไหน เพียงแค่วันเดียวที่ผมลงประกาศเปิดค่ายเด็กติดเกมทางโซเชียลมีเดีย ในแฟนเพจของเครือข่ายพ่อแม่ มีครอบครัวสมัครเข้ามาเป็นพันคน ความที่เรารับได้จำนวนจำกัด จึงใช้แบบวัดการติดโซเชียลมีเดีย เพื่อคัดกรองเด็กก่อนมาออดิชั่นอีกรอบ เลือกเด็กที่ให้ความร่วมมือจริงๆ เพราะสิ่งที่ผมวิตกคือ ขณะที่พ่อแม่อยาก แล้วเด็กยินยอมหรือเปล่า ก็น่ายินดีว่า เด็กจำนวนหนึ่งยอมรับและอยากเลิก รู้ว่าเล่นต่อไปจะทำลายอนาคต แต่หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมก็ไม่สามารถเลิกได้ พอมีค่ายนี้จึงอยากมาร่วมกิจกรรม

ผมตั้งใจทำค่ายนี้ขึ้นเพราะสลดใจกับสังคมที่เสื่อมโทรมลงทุกวัน หากคิดว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา สังคมก็จมลงเรื่อยๆ จำได้ว่าเคยเข้าไปขอสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ มีทั้งตอบรับด้วยดี และปฏิเสธ กระทั่งได้คุยกับ ‘คุณอุ้ม อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของดีแทค พบว่าจุดประสงค์ของผมสอดคล้องกับโครงการ Safe Internet ของดีแทค ที่ให้ความสำคัญและสนใจที่จะปกป้องเด็กและเยาวชนจากพิษภัยของอินเทอร์เน็ต จึงเป็นโอกาสดีที่เราได้ทำงานร่วมกัน พร้อมกับค่ายนี้ก็เปิดเป็นครั้งแรกเช่นกัน
2
ผมเรียกว่า ค่าย Digital Detox เปิดค่ายวันที่ 10 พฤษภาคม 2558 แล้วหากดีท็อกซ์กันจริงๆ ต้องสัก 6 คืน 7 วัน ใช้สถานที่ที่เมืองโบราณ เราเรียกค่ายว่า ‘Cyber Adventure Camp Episode I’ ธีม Fight Back หรือฮึดสู้ เพราะเชื่อว่า เด็กเหล่านี้กำลังเพลี่ยงพล้ำตกเป็นทาสสิ่งเหล่านั้น เรามาเยียวยาและติดอาวุธเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันก่อนส่งเขากลับสู่สังคม เด็กทั้ง 60 คนมาจากหลากหลายที่ ตั้งแต่อยู่ในสลัมจนกระทั่งเป็นลูกซีอีโอในบริษัท มีตั้งแต่เด็กติดเฉพาะเกมและโทรศัพท์มือถือ จนถึงติดทั้งสองอย่างจำนวน 60 คน อายุ 13-17 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากการสัมภาษณ์ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเด็กจึงติดเกม บางคนมีสมาร์ทโฟน 2 เครื่อง พ่อแม่ให้โดยไม่ได้ตกลงหรือทำกติกาใดๆ ไว้ก่อน หลายคนใช้เวลาในหนึ่งวันเกิน 24 ชั่วโมง  สต๊าฟทั้งหมดเป็นจิตอาสา มีทั้งนักกิจกรรมบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ครูการศึกษาพิเศษ และนักศึกษาปริญญาโท รวมทั้งนักศึกษาแพทย์ เด็กจะถูกยึดอุปกรณ์สื่อสารตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเข้าค่าย ในแต่วันจะสนุกกับกิจกรรมเอ๊าต์ดอร์ กิจกรรมแอดเวนเจอร์ กิจกรรมสร้างสรรค์ผลงาน โดยกิจกรรมที่ถือเป็นหัวใจคือ การทำคลิป ภายใต้โจทย์ที่ว่า ให้คิดเปลี่ยนแปลงสังคมที่ไม่ชอบใจ ใช้ชื่อว่า A Little Clip…Flip The World กับกิจกรรม Creative and Drama Thinking มีโค้ชการแสดงมาสอนทำละครสั้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และต้องสื่อให้ได้ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรในตัวเขา

แล้วผมก็ไม่ผิดหวัง เมื่อวิทยากรถามเด็กคนหนึ่งว่า ได้อะไรจากการเข้าค่ายนี้ เขาตอบว่า ต้องใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีวิจารญาณ ใช้อย่างมีสติ คิดให้ช้า กดให้ช้าลง โอ้โฮ ความเหนื่อยจากที่เตรียมค่ายมา 6 เดือน อย่างน้อยมีเด็ก 1 คนจาก 60 คนที่จะเติบโตขึ้นมาแล้วทำฝันให้เป็นจริง ผมถือว่าคุ้มแล้ว ถึงอย่างไรก็อดห่วงไม่ได้ เพราะแม้ค่ายจะเปลี่ยนความคิดเด็กได้ แต่หากเขากลับไปอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเดิม พ่อแม่ยังคงทำแต่งาน ไม่มีกฏระเบียบในบ้าน โทรศัพท์มือถือ ไอแพด เครื่องคอมพิวเตอร์ยังมีมากกว่าจำนวนสมาชิก ผมเชื่อว่า 90 เปอร์เซ็นต์คงต้องกลับไปติดเกมใหม่ จึงจัดเวิร์คช็อปสำหรับผู้ปกครอง เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูก พร้อมกับติดตามเด็กเป็นระยะ

ถึงตรงนี้ผมกล้าฟันธงว่า ปัญหาเด็กติดเกมแก้ได้ แต่ไม่ง่าย และไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง ต้องสร้างกระแสให้สังคมตื่นตัวในทุกระดับ หัวใจสำคัญคือสถาบันครอบครัว ต้องให้เวลาและความรักความอบอุ่นกับลูก ต้องเลี้ยงลูกอย่างมีสติ ขณะที่ครูก็ต้องมีความรู้ในการติดอาวุธเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก อย่างในต่างประเทศก่อนที่เด็กจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ต้องผ่านหลักสูตรเรื่องความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อให้รู้ว่าข้อมูลอะไรที่เปิดเผยได้ เว็บไซต์ใดที่ไม่ควรเข้า กฏกติกามารยาทต่างๆ ปลูกฝังตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษา ในประเทศไทย ผมเห็นบริษัทผู้ให้บริการเครือข่าย อย่างดีแทคที่ตระหนักถึงพิษภัยของอินเทอร์เน็ต จัดเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Safe Internet คือเข้าไปให้ความรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ตกับครูและเด็ก จนถึงเยาวชน นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะบางโรงเรียนมีกฏว่า เด็กจะนำโทรศัพท์มือถือมาโรงเรียนต้องไม่เกิน 800 บาท รวมถึงภาครัฐที่เป็นหน่วยงานหลัก ทั้งกระทรวงไอซีทีที่รับผิดชอบเรื่องเกม กระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบในการบำบัด กระทรวงศึกษาธิการที่ต้องรับผิดชอบป้องกันตั้งแต่ต้น

ค่าย Digital Detox จะจุดประกายพลังบวกให้คนในสังคมให้มาช่วยกัน”

ผมอายุ 16 ครับ ติดเกมออนไลน์มาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ อยู่กับมันทั้งวันทั้งคืน สนุกตรงที่ในเกมเราสามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง ขณะที่โลกภายนอกเราทำไม่ได้ เบื่อเรียน สอบตกก็ไม่ไปซ่อม ปล่อยจนไม่จบม.3 แม่ชวนมาค่ายนี้ ตอนแรกสองจิตสองใจ กลัวไม่ได้เล่นเกม แต่พอเห็นว่าได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น จึงตัดสินใจมา คิดว่าน่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเราได้ เพราะช่วงหลังเหมือนเล่นเกมด้วยความจำเป็น ความที่ผมเล่นเกมนำคนเป็นแสนๆ จนขึ้นเป็นอันดับต้นของเกม แรกๆ ขอเงินแม่เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือไอเท็ม  เพื่อให้ได้เก่งกว่าคนอื่น พอแม่ไม่ให้ก็ใช้วิธีจ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือเลย แล้วให้แม่จ่ายตอนสิ้นเดือน เสียเงินไปเยอะ หากทิ้งกลางคันก็เสียดาย แต่พอมาค่ายไม่ได้เล่นก็ไม่รู้สึกอะไร กิจกรรมทำให้ผมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ได้ปลุกพลังความเป็นผู้นำที่หายไปนานให้กลับมาใหม่

กลับจากค่ายผมเรียนต่อกศน.อีก 2 เทอมเพื่อให้ได้วุฒิม.3 ตั้งใจว่าจะใช้อีกด้านของอินเทอร์เน็ตในการค้นหาความรู้ เพื่อทำความฝันที่อยากเป็นไกด์ให้เป็นจริง

ดิฉันกับสามีรับราชการทั้งคู่ มีลูกชาย 2 คน ภาพลูกชายคนโตที่จำติดตาคือ นั่งเล่นเกมมาตั้งแต่ ป.5 จนตอนนี้ม.3 แล้ว เราไม่อยากใช้วิธีการจำกัดชั่วโมง เพราะเด็กคงไม่แฮปปี้ พยายามให้เขาออกไปเล่นดนตรี เตะบอลบ้าง หรือใช้การมอบหมายหน้าที่ หากทำเสร็จแล้วจึงได้เล่นเกม ช่วงหลังรู้สึกว่าเขาพยายามรีบทำ เพื่อไปเล่นเกม แล้วเดี๋ยวนี้เกมทันสมัยมาก คิดว่าเขาพูดคนเดียวอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ปรากฏว่าเขากำลังเล่นเกมกับเพื่อนอีกบ้าน ยิ่งหนักขึ้นตอนเล่นเกมฟุตบอล พอแม่เรียกก็ผัดผ่อนว่ายังไม่จบแมทช์ ขัดไม่ได้ก็ฝากน้องชายเล่น แล้วพอเล่นไม่ถูกใจก็ดุน้อง จนมาถึงจุดที่ทนไม่ไหวคือเขาใส่หูฟัง ดิฉันเรียกก็ไม่ได้ยิน จนต้องนับ 1 ถึง 100 เพื่อไม่ให้โกรธ พอมีค่ายสำหรับเด็กติดเกม จึงพาเขามา เพราะอยากให้ได้เจอคนหลากหลาย ให้เขาเห็นว่าแต่ละคนมีความสามารถต่างกัน ที่สุดคืออยากให้เขารู้ว่า โทรศัพท์มือถือทำประโยชน์ได้มากกว่าเล่นเกม

Praew Recommend

keyboard_arrow_up