8 ช่างภาพระดับผู้บริหาร ร่วมกับ เอท ทองหล่อ จัดโชว์ภาพถ่ายขาว-ดำ ช่วยเหลือคนตาบอด

ต่างสาขาอาชีพแต่มารวมตัวกันเพราะใจรักการถ่ายภาพและต้องการช่วยเหลือสังคม จึงได้เกิดนิทรรศการภาพถ่ายสีขาวดำ เอท เอเลเมนท์ (8 Elements) ในพื้นที่ไลฟ์สไตล์มอลล์หรูใจกลางกรุงที่ เอท ทองหล่อ (Eight Thonglor) และรายได้จากนิทรรศการนี้ยังสมทบทุนช่วยเหลือมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

นิทรรศการ 8 Elements เริ่มเปิดให้ชมกันแล้วตั้งแต่วันนี้-10 ธันวาคม 2560 ณ Eight Thonglor ย่านสุขุมวิท ชั้น G สิ่งที่ทำให้เกิดนิทรรศการนี้เกิดจากความคิดที่ว่า ภาพถ่ายไม่ได้ให้เพียงความสวยงามเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดแบ่งปันช่วยเหลือสู่สังคมได้ทางหนึ่ง โดย 8 ช่างภาพผู้ประสบความสำเร็จระดับบริหาร ยังได้นำผลงานระดับมาสเตอร์พีซของตัวเองมาร่วมโชว์ ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายรูปภาพและหนังสือ จะมอบให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อีกทั้งยังมีเหล่าเซเลบริตี้ คนดัง เดินทางมาร่วมชมผลงานจำนวนมาก อาทิ หนิง-ปณิตา ธรรมวัฒนะ, อลิชาภูริ หิรัญพฤกษ์, หม่อมหลวงกอกฤษต กฤดากร, ปาริสา อิศรเสนา ณ อยุธยา ฯลฯ

สำหรับนิทรรศการ 8 Elements จาก 8 ช่างภาพฝีมือดีระดับผู้บริหารจากต่างสาขาอาชีพจะเป็นใคร และผลงานมีความหมายเช่นไร ไปทราบพร้อมกับแพรวดอทคอมกันเลย

1.อนุวัต บูรพชัยศรี

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอบริษัทเอ็มอีซีกรุ๊ป, กงสุลกิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐโปแลนด์, เลขานุการคณะกรรมการสถาบันการธนาคารสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าของนามแฝงช่างภาพที่ใช้ชื่อว่า Eyeshadow ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อครั้งที่ถูกรับเลือกให้ไปจัดแสดงอยู่ที่ Leica Gallery ประเทศสิงคโปร์และผลงานชิ้นชิ้นโดดเด่นของเขามีชื่อว่า EMBRACING THE LIGHT “ผมชอบแสงเงา และสีขาวดำ โดยคอลเลกชั่นที่เลือกมาแสดงครั้งนี้จะเป็นภาพคนทั้งหมดซึ่งมีแสงเงามาเป็นส่วนประกอบหลักในการถ่าย โดยแต่ละภาพก็จะแสดงอารมณ์แตกต่างกันออกไป แต่จะมีกลิ่นอายความดิบแฝงอยู่ เพราะผมไม่เคยแต่งภาพเวลาถ่ายก็จะจบที่หลังกล้องเลย”

2.ภาคภูมิ หัศบำเรอ 

กรรมการบริหารบริษัท แอทเทเลียร์ พี จำกัด เจ้าของผลงาน สะพานเทียบเรือ เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา “ผมเป็นแค่นักท่องเที่ยวหนึ่งคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ เพราะฉะนั้นภาพของผมก็จะมีทั้งภาพวิวทิวทัศน์ สถาปัตยกรรม รวมถึงสตรีท แต่ภาพมาสเตอร์พีซที่เป็นสะพานเทียบเรือ ผมชอบเพราะโครงสร้างของภาพมันมีความแข็งแรง ทั้งองค์ประกอบของเส้นสาย จังหวะของน้ำที่กระฉอก และแสงเงาที่เกิดขึ้น เพราะการถ่ายแลนด์สเคป (Landscape) มันต้องใช้เวลา ในแต่ละสถานที่มันจะมีมุมที่แสงสวยตามระยะเวลาของมัน ต่างจากการถ่ายสถาปัตยกรรมที่สามารถถ่ายเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะให้แสงเงาในแต่ละเวลาต่างกันอยู่แล้ว”

3.ภูมิใจ อัตตะนันทน์ 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับผลงาน When Doves Cry ภาพที่เกิดขึ้นจากการนำภาพถ่ายจริงมาแต่งเติมเทคนิคการสร้างภาพให้เกิดเป็นภาพใหม่ที่ให้อารมณ์ที่แตกต่าง “เราชอบภาพมีความหมาย สามารถสื่อสารไปกระทบกับความรู้สึกของคนได้ ซึ่งเขาอาจจะรู้สึกเหมือนเราหรือต่างจากเราก็ได้ นั่นคือความสนุก คืออิสระในการชมงานอาร์ต ส่วนภาพมาสเตอร์พีซ When Doves Cry ชื่อนี้เป็นชื่อเพลงของวง Prince ศิลปินที่เราชื่นชอบ เราก็เลยสร้างภาพนี้ขึ้นมาตามอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง เพื่อรำลึกถึงวันที่เขาจากไป”

4.รชฏ อิศรางกูร ณ อยุธยา 

รองประธานอาวุโสฝ่ายขายและการตลาดทั่วโลก บริษัท นาราห์เฮิร์บ จำกัด ที่มาพร้อมผลงาน IF YOU WANT TO GO BIG, STOP THINKING SMALL “ปกติผมถนัดถ่ายสตรีท (Street) และภาพถ่ายขาวดำก็เป็นความท้าทายสำหรับผม เพราะมันจะไม่มีสีมาดึงดูดความสนใจ ครั้งนี้ผมเลยเลือกถ่ายภาพแลนด์สเคป (Landscape) ให้คนได้เห็นถึงความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติผ่านมุมมองของเรา ซึ่งคนส่วนใหญ่เวลาตั้งใจจะไปถ่ายภาพที่ไหนสักแห่ง มักจะไปถ่ายแต่ที่จุดหมายปลายทาง แต่สำหรับผมจะชอบถ่ายภาพระหว่างทางไปด้วย ซึ่งหลายครั้งภาพที่ดีที่สุดก็เป็นภาพระหว่างทาง ที่คนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็น”

5.วิชิรศักดิ์ เมธีวรกุลกิจ

รองประธานฝ่ายหุ้นค้าปลีก 1 ธนาคารซีไอเอ็มบี และช่างภาพที่ผลงานภาพถ่ายของเขาเคยได้รับเลือกจากเว็บไซต์ไลก้า ให้นำไปตีพิมพ์ลงบนหนังสือภาพของเยอรมันที่ถูกวางจำหน่ายไปทั่วโลก และครั้งนี้ผลงานมาสเตอร์พีซของเขามีชื่ว่า TE ANAU, New Zealand “ผมเป็นคนที่ชอบสะสมกล้องมาก่อน จนกระทั่งได้กล้องมาตัวหนึ่ง เป็นตัวที่เราชอบมากก็เลยเริ่มออกเดินทางและใช้กล้องนั้นถ่ายภาพไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าการถ่ายภาพเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เรารัก ส่วนภาพที่นำมาจัดแสดงจะเป็นภาพที่มีความทรงจำของผมอยู่ในนั้น อย่างภาพมาสเตอร์พีซที่เป็นแกะเดินบนถนน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกของการถ่ายแลนด์สเคป (Landscape) ผมเตรียมตัวไปอย่างดีตั้งใจว่าจะไปถ่ายภาพนี้ให้ได้ ในขณะที่ทุกคนบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากมากที่แกะจะเดินหลายๆ ตัวบนถนนแบบนั้น ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของผม”

6.เบญจ์เยี่ยม ส่งวัฒนา 

ซีอีโอแห่งบริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอาท์เล็ท จำกัด กับผลงานมาสเตอร์พีซที่มีชื่อว่า GOLDEN TEMPLE “การถ่ายภาพมันคล้ายกับกระบวนการหนึ่งในสมองของเรา เวลาที่เห็นอะไรสวยๆ เราจะสามารถจดจำรายละเอียดของภาพนั้นเอาไว้ได้อย่างแม่นยำมาก ดังนั้นการถ่ายภาพของเราก็คือการถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวของเราออกมาเป็นภาพถ่าย นำเสนอถึงอารมณ์ ความรู้สึกของเหตุการณ์ ณ ขณะนั้น เวลาหยิบภาพนั้นขึ้นมาดูมันจะพาเรากลับไปสู่ความรู้สึกในตอนนั้นได้ อย่างภาพมาสเตอร์พีซจะเป็นภาพวัดที่ญี่ปุ่นซึ่งมีวิวสวยมาก ภาพที่เราเห็นคือให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ด้วยมุมและองค์ประกอบภาพ มองเห็นเงาสะท้อนของวัดในน้ำ เลยรีบหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพนั้นไว้ทันที” 

7.ธนากร เตลาน 

ช่างภาพผู้สร้างสรรค์ศิลปะด้านไฟน์อาร์ต (Fine Art) ซึ่งผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เคยได้รับการคัดเลือกจากช่างภาพมืออาชีพให้นำไปเผยแพร่ที่ต่างประเทศมาแล้ว และผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซของงานนี้มีชื่อว่า FREEDOM TO EXPRESS “สไตล์ที่เห็นชัดเจนในงานของผมคือ แสง เงา และอารมณ์ ผมจะเน้น 3 สิ่งนี้เป็นหลักในการนำเสนอภาพออกมา และทุกภาพจะมีรายละเอียดของอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ และภาพที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้เป็นภาพไฟน์อาร์ตนู้ด (Fine Art Nude) ทั้งหมด ซึ่งสำหรับผมภาพนู้ดถ้าเรามองให้เป็นศิลปะ มองเห็นเป็นเส้นสายโครงร่างของมนุษย์ เห็นความอ้วน ผอม หรือรูปร่างอื่นๆ มองและจับความงามของมันให้ได้ คุณก็จะเห็นแง่มุมดีๆ ของมัน”

8.แพทย์หญิงอรอินทร์ เรืองวัฒนสุข

ปิดท้ายด้วยภาพมุมมองศิลป์ของแพทย์หญิง กรรมการบริหารบริษัท เอส.เอส.แมนูแฟคเจอริ่งจำกัด และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ ดร.สมชาย “เริ่มสนใจการถ่ายภาพตอนที่ไปเรียนที่ปารีส แล้วมีโอกาสได้เห็นงานของ Henri Cartier-Bresson เป็นภาพขาวดำที่สวยมาก เราไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนถูกหยุดเวลาเอาไว้ เราก็เลยเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่ตอนนั้นซึ่งมันทำให้เราได้หลุดเข้าไปอีกโลกหนึ่ง เราชอบถ่ายภาพชีวิตคน ชอบมองผู้คนที่กำลังมีความสุข แต่จะไม่เข้าไปรบกวนเขา เพราะเราเชื่อว่าช่วงเวลาที่ดีมีแค่ครั้งเดียว ถ้าผ่านเลยไปก็จะไม่กลับมาอีกแล้ว”

เก็บตกภาพเซเลบริตี้ คนดังที่มาร่วมชม

หนิง-ปณิตา ธรรมวัฒนะ
กระแต-ศุภักษร เรืองสมบูรณ์
ดิษยา กรกชมาศ
ภูริ หิรัญพฤกษ์

 


เรียบเรียงโดย: บะหมี่กุ๊งกิ๊ง_แพรวดอทคอม
ภาพ: นิทรรศการ 8 Elements

Praew Recommend

keyboard_arrow_up