แพ้สารเคมี

เตือน!! ใช้มากไปไม่ดี 4 สารตกค้างใกล้ตัว ภัยร้ายในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว อันตรายกว่าที่คิด

Alternative Textaccount_circle
แพ้สารเคมี
แพ้สารเคมี

วันนี้ แพรวดอทคอม มีเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับสารที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมาบอกสาวๆ นะคะ อยากให้อ่านและใส่ใจกับข้อมูลดีๆ เพื่อตัวเอง เพื่อผิวพรรณที่ดี จะได้ไม่มีอะไรระคายเคืองซ้ำเติมผิวและเงินที่ลงทุนซื้อเพื่อดูแลผิวได้ เพราะผิวหนังเปรียบเสมือนกำแพงด่านหน้าที่คอยปกป้องร่างกายจากภายนอกรวมถึงเชื้อโรคต่างๆ ยิ่งในเด็กทารกการยึดติดกันของเซลล์ยังไม่แข็งแรงมาก ทำให้ผิวหนังเกิดตุ่มน้ำได้ง่าย และมีโอกาสติดเชื้อได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่ จนเมื่อโตขึ้นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยรอบด้าน ในการดูแลป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายตัวเองได้ง่าย อาทิ สร้างสภาวะการเป็นกรดของผิวหนังที่พอดี (pH 5) ช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย หรือกระทั่งแบคทีเรียประจำถิ่นคอยยับยั้งแบคทีเรียกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรค ฯลฯ

แต่ก็ใช่ว่าจะเป็น “กำแพงผิว” ที่แข็งแกร่งเสมอไป ตราบที่เรายังนำพาสารเคมีต่างๆ ให้แทรกซึมเข้าร่างกายในชีวิตประจำวัน ทั้งในรูปแบบ “ประทินผิว” หรือ “รักษา”  ฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือ รู้เท่าทันจะได้ป้องกันได้ โดย 4 สารที่ควรเฝ้าระวัง และอาจก่อให้เกิดอันตราย หากใช้ในปริมาณที่เกินกำหนด (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ฉบับที่ 4 เล่มที่ 132 หน้า 16 ฉบับปรับปรุงปี 2559) มีตัวใดบ้าง อ่านตามนี้ได้เลย!!

  1. โซเดียมลอริลซัลเฟต (SLS)

เป็นสารที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ช่วยให้สิ่งสกปรกและคราบไขมันหลุดออกได้ง่าย ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหลายชนิด เช่น สบู่ แชมพู ครีมล้างหน้า และยาสีฟัน จากการวิจัยพบว่าหากความเข้มข้นของสารที่ใส่ในผลิตภัณฑ์มีปริมาณมากเกินไป อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณที่สัมผัส โดยการระคายเคืองจะเพิ่มขึ้นตามความเข้มข้นของสารที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ยังมีรายงานในสัตว์ทดลองพบว่าความเข้มข้นของสาร SLS ในปริมาณที่สูง จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดสิว และถ้าล้างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาร SLS ออกช้าหรือไม่ล้างออก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา จากที่มีการแชร์ข่าวทางโซเชียลมีเดีย และอีเมล์ลูกโซ่ถึงภัยจากสาร SLS ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดๆ สรุปชัดเจนเรื่องสาร SLS และความเสี่ยง

ในการเกิดมะเร็ง คนในประเทศไทยยังคงให้ใช้สาร SLS ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ โดยต้องมีความเข้มข้นที่ใช้ได้ปลอดภัยในปริมาณที่กำหนด ผู้ที่มีประวัติแพ้สาร SLS ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารนี้ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุไว้ว่า SLS-Free หรืออาจเลือกใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเป็น Sodium Laureth sulfate หรือ SLES ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า SLS และยังไม่มีข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการเป็นสารก่อมะเร็ง

  1. สารกลุ่มพาราเบน เป็นสารกันเสีย 

มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรีย ป้องกันไม่ให้เครื่องสำอางเสียง่าย นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์อาบน้ำ แชมพู ครีมนวดผม ครีมบำรุงผิวหน้า ครีมโกนหนวด น้ำยาดัดผมถาวร ยาสีฟัน และยาระงับกลิ่น เนื่องจากเคยมีรายงานผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม และตรวจพบพาราเบนในเซลล์มะเร็ง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพาราเบน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพาราเบนจะก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่ ในประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขยังรับรองให้ใช้สารในกลุ่มพาราเบนได้ 4 ชนิดในปริมาณที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากมีข้อถกเถียงกันถึงความปลอดภัยของพาราเบน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารชนิดอื่นที่ผลิตจากธรรมชาติเป็นสารกันเสียแทน โดยไม่มีส่วนผสมของพาราเบน หรือ Paraben-free

3. เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (MIT) เป็นสารกันเสีย 

มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ ในแชมพู ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ครีมอาบน้ำ เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง และผ้าเช็ดทำความสะอาดสำหรับเด็ก MIT เป็นสารที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดการแพ้ได้ง่าย สำหรับประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมให้ใช้ MIT ในความเข้มข้น ที่กำหนด และให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น

4. ไตรโคลซาน

เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น สบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาสีฟัน เครื่องสำอาง มีฤทธิ์ช่วยลดหรือป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย มีประสิทธิภาพในการป้องกันเหงือกอักเสบ แต่หากใช้ปริมาณที่เกินกำหนดจะทำให้เกิดพิษ มีรายงานในสัตว์ทดลองว่าทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อผิดปกติ มีผลกับการทำงานของหัวใจ และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไตรโคซานเป็นระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยา

ปัจจุบันสารเคมีเหล่านี้ยังคงถูกใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่จำหน่ายในเมืองไทย บางครั้งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้และมีสารระคายเคืองตกค้าง  แต่การดูแลผิวหนังให้สะอาดและมีสุขภาพดีในทุกๆ วัน  เป็นสิ่งจำเป็น ทำให้บางครั้งการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากความคุ้นเคย ราคาและโปรโมชั่น โดยไม่ได้อ่านฉลากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ อาจได้รับสารเคมีบางอย่างโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลผิวหนังอโศก เสริมว่า “การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ควรอ่านฉลากทุกครั้ง เพื่อดูส่วนผสมของสารที่อาจเกิดอันตราย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควรมีค่าความเป็นกรดด่างใกล้เคียงผิวหนัง มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และวันเดือนปีที่ผลิต รวมถึงวันหมดอายุที่ชัดเจน หากเป็นผลิตภัณฑ์ของเด็ก ควรผ่านการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับเด็กและทารก ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือสารกันเสียที่อาจเป็นอันตรายต่อผิว”

ภาพ : Pexels

Praew Recommend

keyboard_arrow_up